“ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ” ม.หอการค้าไทย เผยผลศึกษาน้ำท่วมครั้งนี้กระทบเศรษฐกิจไม่มาก มูลค่าความเสียหาย 5,000-10,000 ล้านบาท แจง 6 ปัจจัยสนับสนุน “รศ.ดร.ธนวรรธน์” ระบุกระทบระดับจุลภาค ไม่ส่งผลต่อการส่งออก-ท่องเที่ยว-การบริโภค ยันไม่นำไปสู่วิกฤต ศก. เช่นปี 54 ด้าน “รศ.ดร.สมชาย” คาดปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3.4% แย่สุดไม่ต่ำกว่า 3.1% ส่วนส่งออกโต 8-10% ขณะที่ท่องเที่ยวขยายตัวถึง 80%
วิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าหลายปีที่ผ่านมา น้ำท่วมกระจายเป็นวงกว้าง ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำและริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ หลายพื้นที่บ้านเรือนจมน้ำอยู่นานนับเดือน ผู้คนต้องอพยพไปตั้งเต็นท์อยู่อาศัยบนท้องถนนเป็นการชั่วคราว พื้นที่เศรษฐกิจอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลถูกน้ำทะลักเข้าท่วมหลายจุด อีกทั้งดูทีท่าว่าปัญหาน้ำท่วมจะยังคงยืดเยื้ออีกนาน
ทำให้ประชาชนต่างวิตกว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2554 หรือไม่?
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม ณ ข้อมูลปัจจุบันว่า มูลค่าความเสียหายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากนัก เนื่องจากปัจจัยหลัก 6 ประการ คือ
1) น้ำท่วมครั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยรุนแรงมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นน้ำที่รอการระบายออก โดยพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณริมแม่น้ำและพื้นที่แก้มลิง
2) พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และน้ำที่ท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ท่วมอยู่ไม่นาน จึงไม่มีปัญหาด้านการผลิต ไม่มีการปิดโรงงานเพราะน้ำท่วม ไม่มีปัญหาการว่างงานตามมา
3) ผลผลิตการเกษตรได้รับผลกระทบไม่มาก โดยพื้นที่เกษตรซึ่งถูกน้ำท่วมไม่ได้ทำให้พืชผลเสียหายมากนักเนื่องจากส่วนใหญ่ท่วมขังไม่นาน เช่น ข้าว ถ้าน้ำท่วมนาน 2 สัปดาห์ยังอยู่ได้ อีกทั้งกรมชลประทานจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนปศุสัตว์ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีปัญหาไก่ตาย วัวตายจากน้ำท่วมเหมือนปี 2554
4) วิกฤตน้ำท่วมไม่ได้กระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทย อีกทั้งไม่ได้กระทบต่อเส้นทางการท่องเที่ยว ไม่กระทบกับการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน
5) วิกฤตน้ำท่วมไม่กระทบการส่งออกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย ตอนนี้การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นปกติ ไม่มีโรงงานใดมีปัญหาหรือต้องปิดกิจการเพราะผลกระทบจากน้ำท่วม โรงงานต่างๆ ยังสามารถเดินเครื่องผลิตได้เหมือนเดิม การส่งออกทั้งทางเรือและเครื่องบินยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
6) การบริโภคในประเทศยังเหมือนเดิม ผู้คนส่วนใหญ่ยังจับจ่ายใช้สอยและใช้ชีวิตเป็นปกติ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้จะกระทบในระดับจุลภาค คือ กระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำและประชาชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำ รวมถึงกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยและการค้าขายของประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่ในพื้นที่เขตเมืองน้ำถูกระบายออกค่อนข้างเร็ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้หายไปมากนัก ถ้าดูข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะพบว่าการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.จะเพิ่มพื้นที่นั้น ลดพื้นที่นี้ บางพื้นที่น้ำท่วมมาก บางพื้นที่น้ำท่วมน้อย หลายพื้นที่ท่วมไม่นาน
ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าผลกระทบจากน้ำท่วมจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมาเหมือนปี 2554 คือในปี 2554 ความเสียหายอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากปริมาณน้ำส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรม 7-8 แห่ง และน้ำท่วมขังนาน ขณะที่สนามบินดอนเมืองก็ถูกน้ำท่วม
“ณ ขณะนี้มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาท และไม่กระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ไม่ได้กระทบเส้นทางท่องเที่ยว ไม่กระทบต่อการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะส่งออก รวมถึงการค้าขายในประเทศ ประชาชนมีปัญหาเรื่องการเดินทางอยู่บ้าง แต่เราจะไม่เห็นภาพการปิดเส้นทางถนน ปิดเส้นทางรถไฟ ทำให้ขนส่งสินค้าและวัตถุดิบไม่ได้ หรือปิดสนามบินเพราะน้ำท่วมซึ่งกระทบต่อการส่งออก ไม่มีการปิดโรงงาน ดังนั้นความเสียหายทางเศรษฐกิจจึงไม่รุนแรงเท่าน้ำท่วมปี 54” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งระบุว่า ขณะนี้ยังประเมินความเสียหายทั้งหมดไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่สิ้นสุด แต่โดยภาพรวมแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมจะไม่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนต่อเศรษฐกิจของไทยมากนัก โดยในปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ระดับหนึ่ง ซึ่งครึ่งปีแรก เศรษฐกิจของไทยขยายตัว 2.4% จากการประเมินจึงคาดว่าครึ่งปีหลังอาจจะขยายตัวได้ถึง 3.5% โดยมีปัจจัยหนุน 3 ประการ คือ
1.การส่งออก ซึ่งพบว่าปีนี้การส่งออกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยมาก ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาส่งออกขยายตัวได้ 11% เพราะฉะนั้นตัวเลขการส่งออกทั้งปีอย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่า 8-10%
2.การท่องเที่ยว อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเล็กน้อย โดยจุดที่อาจจะได้รับผลกระทบคือการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่วนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยไม่มีผลกระทบ ซึ่งในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 5 แสนคน ขณะที่ปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 8-10 ล้านคน ดังนั้นเชื่อว่าการท่องเที่ยวโดยรวมจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 80%
3.การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากนัก
“จากปัจจัยดังกล่าว เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 3% กว่าๆ แต่ถ้าปัญหาน้ำท่วมขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรกร กระทบต่อการส่งออกสินค้าประเภทอาหารและผลไม้ แต่เชื่อว่าไม่มาก และกระทบการท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่บ้าง ถ้าเราวิเคราะห์ไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะขยายตัว 3.3-3.4% ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจจะทำให้การขยายตัวลดลงมา 0.1-0.2% ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ 3.1-3.2% แต่ปัญหาน้ำท่วมยังไม่จบก็ยังประเมินตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ อย่างไรก็ดี ที่แน่ๆ วิกฤตน้ำท่วมปีนี้ไม่ถึงขั้นที่จะเปลี่ยนตัวเลขเศรษฐกิจจากบวกเป็นลบอย่างแน่นอน” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
รศ.ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากนัก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว มีการคลายล็อกดาวน์ มีการจ้างงานมากขึ้น การบริโภคจึงเพิ่มขึ้นด้วย แต่อาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากนัก คืออยู่ที่ประมาณ 3%
ส่วนรายได้การใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ นานาประเทศมีการล็อกดาวน์เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนานนับปี ทำให้ผู้คนอัดอั้น เมื่อคลายล็อกดาวน์ มีการเปิดประเทศ ผู้คนจะหลั่งไหลไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่ผู้คนทั่วโลกอยากมาเที่ยว จะเห็นได้ว่าราคาตั๋วเครื่องบินของแทบทุกสายการบินปรับตัวสูงขึ้น แสดงว่ามีความต้องการในการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แม้ไทยจะเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ไม่กระทบต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่อย่างใด
“เนื่องจากมีน้ำท่วมแค่บางพื้นที่ และระบบการคมนาคมโดยรวมยังดีอยู่ สายการบินในประเทศยังบินได้ รถไฟ รถทัวร์ยังวิ่งได้ นักท่องเที่ยวยังมีความสะดวกสบายในการเดินทาง ก็ยังเดินทางมาเที่ยวอยู่ แค่เลือกไปเที่ยวจังหวัดที่ไม่มีน้ำท่วม เช่น ถ้าเชียงใหม่ท่วม ก็ไปเที่ยวภูเก็ต พังงา แทน หรือแม้แต่จังหวัดที่มีน้ำท่วมก็ไม่ได้ท่วมทั้งจังหวัด บางที่ท่วมแค่ 1-2 วัน ก็กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม ดังนั้นรายได้ที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” รศ.ดร.สมชาย ระบุ