“ภูมิใจไทย” วางกลยุทธ์ชิงที่นั่ง ส.ส. ตั้งเป้า 125 คน เพื่ออัปไซส์จากพรรคขนาดกลาง สู่ “พรรคขนาดใหญ่” หวังดัน “อนุทิน” นั่งนายกฯ ดูด 29 ส.ส. เข้าสังกัด ฝั่งเพื่อไทยโดนไป 10 คน ดีล “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” ลุยเลือกตั้ง จ.พิจิตร วางตัว “ขุนพลเสื้อน้ำเงิน” คุมแต่ละภาค หมายยึดที่มั่นเหนือตอนล่าง ขยายจากอีสานใต้ไปอีสานเหนือ รวมถึงภาคกลาง ถิ่น ส.ส.เก่า ขณะที่ “ภาคใต้” มาแรง ประกาศกวาด 16 ที่นั่ง ด้าน “โฆษกพรรค” เผยจุดแข็งภูมิใจไทยคือ “นโยบายทำได้จริง”
เมื่อเจ้าของพรรคตัวจริงอย่าง “นายเนวิน ชิดชอบ” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุรีรัมย์ออกโรงเอง โดยกำชับกับผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยในงานวันเกิดของตนเองว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า “ให้ได้ ส.ส.120 คน”
พร้อมทั้งประกาศว่า “ถ้าการรณรงค์เลือกตั้งครั้งหน้าไม่สู้ให้นายอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตนจะลาออกจากครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย”
จึงเท่ากับเป็นการประกาศกร้าวว่าศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในต้นปีหน้านั้น “ภูมิใจไทย” จะขยับจากพรรคขนาดกลาง ก้าวขึ้นสู่การเป็น “พรรคขนาดใหญ่” เทียบเท่าพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ!
โดยภูมิใจไทยเน้นไปที่ ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงเห็นได้ว่าในขณะที่บางพรรคสรรหามือเศรษฐกิจมาเป็นจุดขายเพื่อเรียกคะแนนเสียง แต่พรรคสีน้ำเงินเน้นการลงพื้นที่และเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตในแต่ละจังหวัด ซึ่งการจะได้มาซึ่ง ส.ส.เขตนั้น “ภูมิใจไทย” จะดำเนินการภายใต้ 2 กลยุทธ์หลัก คือ พลังดูด และนโยบายที่ทำได้จริง
กลยุทธ์แรก คือ “พลังดูด” ซึ่งแน่นอนว่าการดูด ส.ส.หรือนักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นปึ้กจากพรรคการเมืองอื่นเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าย่อมมีโอกาสมากกว่าการส่งผู้สมัครหน้าใหม่ลงสู้ศึก ซึ่งพลังดูดของภูมิใจไทยนั้นไม่เป็นสองรองใคร เรียกได้ว่าเริ่มดูดตั้งแต่ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันเลยทีเดียว จากผลการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 ที่นั่ง และ ส.ส.เขต 39 ที่นั่ง รวมเป็น 51 ที่นั่ง แต่ต่อมามี ส.ส.ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีเสียบบัตรแทนกัน 3 คน อย่างไรก็ดี ด้วยพลังดูด ทำให้มี ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลพากันย้ายบ้านมาสังกัดภูมิใจไทยรวมแล้วถึง 14 คน ส่งผลให้ปัจจุบันภูมิใจไทยมี ส.ส.ทั้งหมด 62 คน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูมิใจไทยมีแรงดึงดูดสูง ก็ด้วยคติประจำใจของครูใหญ่เนวิน คือ “ใจถึงพึ่งได้” ใครที่อยู่ภายใต้ร่มเงาภูมิใจไทยจะได้รับการดูแลอย่างดี
ที่สำคัญขณะนี้มี ส.ส.ในสภาที่เปิดหน้าหรือมีทีท่าว่าจะย้ายไปสังกัดภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่น้อยกว่า 29 คน ซึ่งประกอบด้วย
ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน ได้แก่
1.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี (อีสานเหนือ)
2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ (อีสานใต้)
3. นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ (อีสานใต้)
4.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ (อีสานใต้) โดยย้ายเข้าภูมิใจไทยตามสามีคือ นายปวีณ แซ่จึง สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่พอใจที่นางสีนวล ของบจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ จนต้องไปของบจากพรรคภูมิใจไทยแทน
5.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา (อีสานตอนกลาง)
6.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย (เหนือตอนบน)
7.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก (เหนือตอนล่าง)
8.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก (ภาคกลาง)
9.นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา (ภาคกลาง)
10.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.
พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 7 คน ได้แก่
1.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท (ภาคเหนือตอนล่าง)
2.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก (ภาคเหนือตอนล่าง)
3.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ (อีสานตอนกลาง)
4.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี (ภาคกลาง)
5.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม (ภาคกลาง)
6.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี (ภาคกลาง)
7.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี (ภาคกลาง)
ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 5 คน ได้แก่
1.นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย (เหนือตอนบน)
2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย (เหนือตอนบน)
3.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี (ตะวันออก)
4.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
5.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 3 คน ได้แก่
1.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ (อีสานใต้)
2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี (อีสานใต้)
3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก (ภาคตะวันตก)
พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน คือ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี (อีสานตอนบน)
พรรคชาติพัฒนา 1 คน คือ นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร (ภาคกลาง)
พรรคเพื่อชาติ 1 คน คือ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน คือ นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นอกจากนั้น ยังมีการทาบทามอดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ให้มาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามภูมิใจไทย เพื่อสร้างโอกาสในการก้าวเข้าสู่การเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และที่น่าจับตาอย่างยิ่งคือ บิ๊กดีล ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้ส่งเทียบเชิญ “นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” ให้เข้ามาร่วมงานทางการเมือง เนื่องจากนายประดิษฐ์ มีประสบการณ์ในการสู้ศึกเลือกตั้งอย่างโชกโชน มีดีกรีเป็นอดีต รมช.คลัง และอดีต ส.ส.พิจิตรหลายสมัย ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เขาได้ร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ โดยในการเลือกตั้งครั้งหน้าภูมิใจไทยได้มอบหมายให้นายประดิษฐ์ ดูแลการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร
ขณะที่วงในระบุว่า “ภูมิใจไทยตั้งเป้าหมายไว้ถึง 125 ที่นั่ง โดยที่ผ่านมา ท่านเนวิน ได้มีการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค และว่าที่ผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย ทุกเดือน เพื่อประเมินสถานการณ์การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งหน้า พร้อมทั้งชี้ว่าเขตพื้นที่ต่างๆ ภูมิใจไทยมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ผู้สมัครของพรรคมีคะแนนนิยมมากน้อยเพียงใด และจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์อย่างไรจึงจะชนะใจประชาชน โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปตรวจสอบ”
ทั้งนี้ นายเนวินได้วางตัวขุนพลในการนำทัพสู้ศึกเลือกตั้งในภาคต่างๆ ไว้ดังนี้
ภาคเหนือ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รับหน้าที่เป็นแม่ทัพ
ภาคอีสานตอนบน มอบหมายให้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค และนายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นคนดูแล
ภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้รับผิดชอบ
ภาคใต้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค และนางนาที รัชกิจประการ เหรัญญิกพรรคภูมิใจไทย นำทีม โดยประกาศว่าจะกวาด ส.ส.ให้ได้ถึง 16 ที่นั่ง
ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรค จะรับผิดชอบเอง
ทั้งนี้ พื้นที่เป้าหมายของ “พรรคภูมิใจไทย" ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานตอนใต้ ภาคใต้ ซึ่งการช่วงชิงพื้นที่จากพรรคประชาธิปัตย์ดูจะไม่ยากนัก และภาคกลาง ซึ่งภูมิใจไทยมี ส.ส.เดิมอยู่พอสมควร
นอกจากตัวว่าที่ผู้สมัครซึ่งเป็นที่รู้จักและมีฐานเสียงหนาแน่นแล้ว กลยุทธ์ที่ 2 ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของพรรคภูมิใจไทย คือ “นโยบายที่ทำได้จริง” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าภูมิใจไทย มีนโยบาย 3 เรื่องหลัก โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ 1) ภาษีบ้านเกิด โดยให้ประชาชนเลือกได้ว่า 30% ของภาษีที่จ่ายไปจะให้นำไปพัฒนาพื้นที่ใด 2) พักหนี้ประชาชนรายละ 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี สำหรับหนี้ในระบบทุกประเภททั้งสถาบันรัฐและเอกชน 3) ไฟฟ้าประชาชน โดยรัฐจะติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนทุกหลังคาเรือน ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ ให้ประชาชนเอาไว้ใช้เอง 40% ส่วนอีก 60% รัฐจะขายคืนให้การไฟฟ้าฯ
“ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพวกเราคาดหวังว่าพรรคภูมิใจไทยจะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นพรรคขนาดใหญ่ จากเดิมที่เป็นพรรคขนาดกลาง ช่วงเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้จนสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของพรรค” โฆษกพรรคภูมิใจไทย ระบุ