xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นวิกฤตเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้ปี 2540 ชี้ ‘2 ยาแรง’ ฟื้นแน่แต่รัฐบาลไม่ทำกลัวฐานเสียงพัง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้นจะเข้าใกล้วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ได้หรือไม่? รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุถึงกลไกต่างๆ ของสหรัฐฯ ส่งผลต่อค่าเงินทั่วโลก และค่าเงินบาทอ่อนไปถึง 38.30 ชี้เศรษฐกิจไทยกระดื๊บๆ ไปเหมือนยุคต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทอาจทะลุ 40-45 ต่อดอลลาร์ เตือน ‘ราชาเงินผ่อน’ ที่ใช้ Non-bank สาหัสแน่ แนะต้องประหยัดทุกอย่างเพื่อเหลือเงินไว้ยังชีพ ด้านแหล่งข่าวจากคลังระบุ 2 ยาแรงแก้วิกฤตได้ชะงัก ต้องหยุดบิดเบือนราคาน้ำมันดีเซล และปรับดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นและต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นไทยเผชิญ 3 วิกฤตแน่ ขาดดุลเงินสะพัดต่อเนื่อง เงินทุนไหลออก และทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง แต่ทั้ง 2 วิธีทำได้แค่ฝัน เพราะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ!

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเรื่องค่าเงินบาทอ่อนที่วันนี้ทะลุไปถึง 38.30 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แห่ขึ้นราคา พร้อมกับเริ่มเห็นสัญญาณการปิดกิจการ การว่างงาน หรือการตกงาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้บรรดามนุษย์เงินเดือน คนรากหญ้าเกิดความตระหนักว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะคล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือไม่?และอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิด รวมไปถึงคนไทยจะต้องเร่งปรับตัวอย่างไรจึงจะรับมือและอยู่ได้ในท่ามกลางวิกฤตปัญหานี้

ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นหลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มาเป็นเวลาร่วม 3 ปี ทั้งภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก ล้วนแต่เป็นความหวังให้ประเทศไทยจะยังคงฟื้นตัวได้หรือไม่?

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ล่าสุดให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1 ต่อปี โดยมีผลทันทีนั้น จะสามารถแก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อนและแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้หรือไม่ ต้องติดตามดูผลที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะสิ่งที่น่ากังวลคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยใกล้เคียงกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการกดค่าเงินบาทได้เช่นกัน

เพราะความต่างระหว่างการปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ต้องยอมรับว่ามีช่องว่างมากที่สุด โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ปรับดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จะทำให้ช่องว่างถ่างออกไปอีก

โดยนโยบายของไทยเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25 ซึ่งของไทยอยู่ที่ .75 และ กนง.ปรับล่าสุดอีก 0.25 เป็น 1 บาท ซึ่งก่อนหน้านั้นจะห่างกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.2-2.50% แต่เฟดปรับขึ้นเมื่อ ก.ย. 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันเป็น 3.0-3.25% และคาดว่าถ้าสหรัฐฯ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เฟดอาจต้องใช้ยาแรงคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนอาจไปถึง 4 กว่า ๆ หรือ 5-6 ก็ได้ ซึ่งการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินทั่วโลก

ดังนั้น ค่าเงินบาทอ่อนของไทยจึงไม่สามารถพิจารณาเฉพาะปัญหาภายในประเทศไทยได้อย่างเดียว เนื่องจากต้นเหตุแท้จริงมาจากค่าเงินดอลลาร์ ที่ไทยเองใช้ค่าดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากเกินไป

“สหรัฐฯ แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการพิมพ์เงินออกมาใช้โดยไม่จำกัดจำนวน และการพิมพ์ดอลลาร์ของเขาไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสำรอง ซึ่งต่างจากบ้านเราที่ต้องดูเงินทุนว่า มีทองคำอยู่ไหม มีเงินตราต่างประเทศอยู่ในคลังของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีหรือมีน้อยก็พิมพ์ได้น้อย แต่สหรัฐฯ ไม่เกี่ยวเลย เขาอยากพิมพ์เท่าไหร่ก็ได้ ทำให้เขาอัดเงินดอลลาร์เข้าสู่ตลาดโลก”

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อย่างไรก็ดี ปัญหาการพิมพ์ดอลลาร์มากเกินไปและเมื่อเงินไหลไปกระจุกอยู่ในมือผู้มีอำนาจในปริมาณที่มากเกินไป คือมันล้น จนทำให้เกิดเงินเฟ้อ ค่าครองชีพแพง การว่างงาน เพราะเงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการบริโภคซื้อสินค้า ไม่ได้ไหลไปสู่คนในระดับกลาง-ล่าง แต่ถูกนำไปซื้อหุ้น คริปโตเคอร์เรนซี ทองคำ ซึ่งเป็นการนำกระดาษเงินไปซื้อกระดาษหุ้นนั่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ทำให้เกิดเงินเฟ้อจากคนบางกลุ่มที่ถือเงินมากเกินไป!

ขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในระดับสูง 8.3% ของสหรัฐฯ ถูกซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อ ที่มาจากแรงกดดันของต้นทุนนั่นคือต้นทุนน้ำมันแพงที่มีผลจากการที่สหรัฐฯ ไปคว่ำบาตรประเทศที่ผลิตน้ำมัน ทั้งอิหร่าน เวเนซุเอลา และรัสเซียที่ผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับ 3 ของโลก ส่งผลกระทบทำให้สินค้าต่างๆ แพงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้สหรัฐฯ ต้องปราบเงินเฟ้อให้ได้

“วิธีปราบเงินเฟ้อของสหรัฐฯ คือการทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จะมีคนจำนวนหนึ่งเอาเงินไปฝากธนาคาร และมีคนจำนวนหนึ่งเอาเงินไปซื้อพันธบัตรเก็บไว้ เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นหลังๆ จะมีผลตอบแทนตามดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยสูงดอกเบี้ยพันธบัตรก็สูงตาม คนกลับไปซื้อพันธบัตรมาก การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูดเงินกลับนั่นเอง

คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมหาศาล  อย่างเช่นปี 2021 มีงบประมาณรายจ่ายประมาณ 6.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีรายรับเพียง 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสหรัฐฯ ปิดการขาดดุลได้โดยการขายพันธบัตร

“สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเพราะต้องการดูดเงินกลับ ก็ต้องทำให้พันธบัตรมีผลตอบแทนสูง คือการออกพันธบัตรมาขายเพื่อปิดการขาดดุลงบประมาณ”

วิธีการของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเล็กๆ ตามมาค่อนข้างมาก เพราะเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้น และประเทศเราไม่ขึ้นตาม บรรดานักธุรกิจ หรือกลุ่มคนต่างๆ ก็จะเอาเงินออกไปซื้อพันธบัตร หรือนำเงินออกไปฝายธนาคารในสหรัฐฯ หรือไปฝากประเทศอื่นๆ ที่ดอกเบี้ยแพงกว่าบ้านเรา

แต่การจะนำเงินออกไปฝากหรือไปซื้อพันธบัตร จึงต้องนำเงินบาทไปแลกดอลลาร์ จนทำให้เกิดดีมานด์ต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งขึ้นได้

“ตรงนี้ทำให้เกิดดีมานด์ต่อดอลลาร์ทั่วโลกพุ่งขึ้นมา ทำให้ดอลลาร์พุ่งขึ้น แข็งขึ้น ทำให้เงินบาทอ่อน เพราะเราไปอิงกับดอลลาร์มากไป”


รศ.ดร.ณรงค์ บอกอีกว่า ที่มีการพูดว่าค่าเงินบาทอ่อนเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และคนทำงานต่างประเทศที่รับเงินค่าจ้างเป็นดอลลาร์ จะได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นนั้น อยากจะบอกว่าสิ่งที่เราพูดกันนั้นพูดแต่เฉพาะการส่งออก แต่ไม่ได้พูดถึงการนำเข้า ซึ่งปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 2 ไตรมาสเพราะการนำเข้ามากกว่าส่งออก

“ทุกสินค้าที่เราส่งออกไปจะมีมูลค่านำเข้าแฝงอยู่ และมากด้วย เช่น เราส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออกไป 100 บาท จะมีมูลค่าแฝงอยู่ 90 บาท รถยนต์ที่ผลิตบ้านเราและส่งออกไป ดูกันจริงๆ พวกบริษัทหล่านี้นำวัตถุดิบ นำอะไหล่แปลงโฉมและนำเข้ามา ไม่เว้นแม้สินค้าเกษตรก็มีต้นทุนแฝงจากปุ๋ย และยาฆ่าแมลง”

ดังนั้น ยิ่งบาทอ่อนการนำเข้าก็ยิ่งต้องใช้เงินบาทมาก จากเคยจ่ายดอลลาร์ละ 30 บาทก็เป็น 37-38 บาท และตัวนำเข้าหลักคือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแม้ประเทศไทยจะผลิตน้ำมันได้ แต่น้ำมันทุกหยดล้วนเป็นของผู้รับสัมปทาน ซึ่งถ้าเราไม่ซื้อเขาก็สามารถส่งออกไปได้ ส่งผลให้ไทยต้องซื้อน้ำมันแพงเช่นเคย

“ไทยกำลังพัฒนาปรับระบบอุตสาหกรรมเป็นดิจิทัล ทำให้ต้องซื้อเครื่องจักร ในขณะที่เงินบาทอ่อนซึ่งภาวะแบบนี้ทำให้เกิดภาวะ out flow เงินไหลออก ในรูปการนำเข้าเพิ่มขึ้นเงินไหลออก ในรูปการนำเงินไปฝาก เพิ่มขึ้น เงินไหลออกในรูปการเอาเงินไปซื้อพันธบัตรก็มีเพิ่มขึ้น”

อีกทั้งไทยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวหลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 มานาน แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจทั้งค่าเงิน เงินเฟ้อ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมามองที่จะพึ่งพาตัวเอง ไม่ให้คนของตัวเองออกไปท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น เราปักหมุดจะได้นักท่องเที่ยวจากจีนเข้าไทย แต่วันนี้จีนมีนโยบายต้องพึ่งตลาดภายในของตนเองเป็นหลัก นำเข้าให้น้อยลง และต้องการให้คนของเขาเที่ยวในประเทศมากขึ้น

“แบบนี้แล้วเราจะหวังส่งออกไปตลาดจีน หรือดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาได้หรือ เพราะจีนปักหมุดพึ่งตนเอง จึงกลายเป็นปัญหาภายนอกกลายเป็นแรงกดดันประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นขณะที่เราได้แค่ตั้งรับ หรือถ้าเรายังปักหมุดส่งออกเหมือนเดิม โดยลืมคิดไปว่าการส่งออกบ้านเรามันมี import content สูงมาก คุณจะส่งออก แต่คุณต้องนำเข้าวัตถุดิบ นำเข้าน้ำมัน นำเข้าเครื่องจักร โดยราคาพวกนั้นมันกำหนดไม่ได้ มันแปรปรวนไปตามตลาดโลก”

หรือถ้าจะมองตัวเลขส่งออกจากสินค้าเกษตร ต้องถามว่าสินค้าเกษตรตัวไหนที่เรายังชนะอยู่ มียางพารา ทุเรียน แต่ข้อมูลที่ปรากฏในขณะนี้อีก 2 ปีข้างหน้าจีนจะผลิตทุเรียนและส่งออกมาขายในตลาดโลกแล้ว ขณะที่ยางพาราจีนก็แปรรูปครองตลาดไปแล้ว

“เป็นที่รู้กันในวงธุรกิจการส่งออกของบริษัทต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเท่าไหร่ เขาเอาเงินกลับเข้ามาเมืองไทยหรือเปล่าเพราะบริษัทเหล่านี้มีสิทธิเอาเงินฝากไว้ต่างประเทศ ยิ่งเวลานี้ต่างประเทศดอกเบี้ยแพงกว่า ก็ไม่เลือกที่จะเอามาฝากเมืองไทยแน่”


ส่วนที่แบงก์ชาติออกมาบอกว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเราหายไป 6% แล้ว เป็นเพราะมีการเอาเงินบาทจากคลังไปแลกเป็นดอลลาร์มากขึ้น ดังนั้น ดอลลาร์หายไปจากประเทศ 6% ซึ่งทุนสำรองของไทยเมื่อสิ้นปี 2564 เคยสูงอยู่ที่ 2.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เวลานี้ทุนสำรองลดลงต่อเนื่องเป็น 2.26 แสนล้านดอลลาร์ และล่าสุดลดลงมาอยู่ที่  2.18 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ดอกเบี้ยขึ้นและเงินบาทไหลมาอยู่ 37-38 บาทต่อดอลลาร์

“ไปดูช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เงินบาทไปอยู่ที่ 37 ต่อดอลลาร์ แล้วลงมาจนถึง 45 บาท ทำให้เราต้องคิดกันว่าสถานการณ์เงินบาทขณะนี้มันกำลังกระดื๊บๆ ไปสู่ภาวะปี 2540 หรือไม่ หากรัฐบาลไม่ตั้งรับให้ดี แค่บรรยากาศต่างกับปี 40 เพราะตอนนั้นมันวืดทันที แต่เวลานี้มันกระดื๊บๆ ไป ถ้าไม่ขวางมัน มันก็ถึงอยู่ดี”

คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า เราไม่สามารถคาดการณ์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยทั้งเงินเฟ้อและเงินบาทจะอ่อนไปถึงที่เท่าไร เนื่องจากต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกเป็นองค์ประกอบสำคัญ

1.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นอย่างไรต่อไป

2.ปัญหาราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นหรือไม่ รวมไปถึงความต้องการใช้ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในทุกอุตสาหกรรม และยิ่งนำเข้ามากเท่าไหร่จะกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

3.ความยืดเยื้อในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลให้ปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้นและการผลิตบางอย่างหยุดชะงัก

4.สินค้าเพื่อการบริโภค อาหาร จะมีราคาแพงมากและอาจนำไปสู่วิกฤตขาดแคลนอาหารได้

5.การประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO เป็นการแสดงให้เห็นถึงการจับมือระหว่างรัสเซียกับจีน ในการประกาศขั้วเศรษฐกิจใหม่ Eastern Economic Block และมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงต่างๆ ในกลุ่มพันธมิตรด้วยกันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาค

“SCO ที่ประกาศไปนั้นต้องทำให้ประเทศไทยต้องคิด เพราะไทยปักหมุดเป็นประเทศส่งออกก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เพื่อผลประโยชน์ของเราให้มากที่สุด”


นอกจากนี้ การที่ไทยจะมีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่มั่นคงได้ รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างให้ประเทศไทยต้องพึ่งทั้งตลาดภายในด้วย จะเน้นพึ่งตลาดต่างประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ซี่งการพึ่งพาตลาดภายในท่ามกลางการแปรปรวนของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องปรับเศรษฐกิจครัวเรือนให้มีความสำคัญเท่ากับเศรษฐกิจธุรกิจ เพราะ GDP ครึ่งหนึ่งมาจากเศรษฐกิจครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั้งเรื่องเงินเฟ้อ และการการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่สุดและเห็นได้ชัดคือกลุ่มคนที่อยู่กับ ‘เงินผ่อน’ โดยเฉพาะใครก็ตามที่เลือกใช้บริการประเภท Non-bank คือผู้ที่ให้บริการสินเชื่อทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน น่าจะมีความเสี่ยงสูงพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มคนผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์จะได้รับผลกระทบในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแม้เพียง 0.25 สตางค์ ก็จะกระทบถึง 3 เท่าในยุคเศรษฐกิจแบบนี้คือเรียกว่ากระทบทุกกลุ่มจริงๆ

ทั้งนี้ เพราะรายได้ที่เคยได้รับเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วจะรู้ว่าไม่พอจริงๆ สินค้าขึ้นราคา อาหารการกิน ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น

สำหรับทางออกของกลุ่มมนุษย์เงินเดือนคนหาเช่ากินค่ำ และพวกรากหญ้านั้น รศ.ดร.ณรงค์ ยืนยันว่า มีหนทางเดียวคือจะต้องประหยัดขึ้นกว่าเดิมเพื่อความอยู่รอดแม้จะบอกว่าทุกวันนี้ก็ประหยัดแล้ว แต่ก็ต้องประหยัดให้มากกว่านี้อีก ลดฟุ่มเฟือยลงให้หมด อะไรไม่จำเป็นก็ต้องไม่ซื้อเพื่อให้มีเงินซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น และคิดหาทางสร้าง foodsecurity แหล่งอาหารที่มั่นคงด้วย

“ถ้าวิกฤตครั้งนี้กระดื๊บๆ เข้าใกล้ปี 2540 ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมาจริง เราจะแย่กว่าปี 40 เพราะปีนั้นแรงงานต่างๆ ยังกลับบ้านไปทำไร่ ทำเกษตร ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่วันนี้นาไร่ที่จะใช้ดำรงชีวิตไม่มีแล้ว ทำให้คนงานในกรุงเทพฯ มีภาวะเสี่ยงที่จะอดอาหารได้มากที่สุด”


ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากกระทรวงการคลัง บอกว่า จากการศึกษาและติดตามวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตเศรษฐกิจไทยนั้น
เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนปี 2540 แต่ค่าเงินอาจจะมีโอกาสเข้าใกล้ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 40 บาทต้นๆ ได้ และเงินเฟ้อยังจะคงอยู่ในระดับนี้ต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลมีทางออกในการแก้ปัญหาเพื่อลดวิกฤตครั้งนี้ทั้งเรื่องค่าเงิน และเงินเฟ้อ ที่จะส่งผลให้เงินไหลออกเพื่อนำไปฝากหรือไปซื้อพันธบัตรในต่างประเทศได้

แต่การที่รัฐบาลเลือกใช้  2 มาตรการนี้ แม้เชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและได้ผลที่สุด แต่ถือเป็นการใช้ยาแรงที่จะสร้างความเดือนร้อนให้ประชาชนสาหัสเช่นกัน ประกอบด้วย

1.ลดการบิดเบือนราคาน้ำมันดีเซลด้วยการลดการอุดหนุน ให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะไทยต้องนำเข้าน้ำมันที่เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อ และค่าเงินอ่อนที่เราเองคุมไม่ได้ ทั้งนี้ วิธีการนี้ถ้าทำได้จะทำให้ประชาชนได้รู้จักการประหยัดซึ่งเป็นแนวทางที่ดีมาก โดยอาจเริ่มจากการทยอยลดก็ได้

2.การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ .25 สตางค์ที่แบงก์ชาติกำลังดำเนินการอยู่นั้น จะสร้างความเจ็บปวดโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์อย่างสาหัสแต่จะทำให้คนประหยัดได้จริง

“เวลานี้น้ำมันมีการปรับราคาลงแต่อนาคตเราไม่รู้ว่าจะปรับขึ้นอย่างไร จะต้องชดเชยกันอย่างไร และเราคิดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุง แต่หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดการณ์สิ่งที่น่ากลัวและอาจเกิดขึ้นได้คือประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เงินจะไหลออกจากประเทศเพื่อนำไปฝากหรือไปซื้อพันธบัตรในต่างประเทศและทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลงต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ในการลดการบิดเบือนราคาน้ำมันและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแม้จะเป็นการแก้ที่ตรงจุดและได้ผลดีที่สุด แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาในทางทฤษฎีเพราะในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลอยู่ในช่วงจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ก็ไม่มีรัฐบาลไหนจะกล้าทำซึ่งเป็นการทำลายฐานเสียงตัวเอง

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่าวิกฤตเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เงินทุนจะไหลออกเพียงใด และค่าเงินบาทจะเข้าใกล้ปี 2540 จริงหรือไม่!?

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น