xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง ‘กทม.’ ไม่จมบาดาล! ชูแผนรับมือ 3 น้ำ ‘ซูฮก’ กรมชลฯ สร้างเกราะให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาแผนป้องกันน้ำท่วม กทม. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ และทีมผู้บริหาร กทม.เดินหน้าผลักดันทั้งภายในและภายนอกอย่างเร่งด่วน ชี้รอบนอกอยู่ที่กรมชลประทานจะเลือกแนวทางไหนดึงน้ำสู่อ่าวไทย ทางเลือกที่ 1 เจอวิกฤตเวนคืน ระยะทาง 40-50 กม.ใช้งบหลายหมื่นล้าน ก่อสร้าง 5-10 ปี ส่วนทางเลือกที่ 2 ใช้งบไม่ถึงหมื่นล้าน ระยะทางสั้นกว่า ใช้เวลา 2-3 ปี ระบายน้ำแบบรวดเร็ว ช่วยให้ กทม.โซนเหนือและโซนตะวันออก รวมถึงปริมณฑลรอด อีกทั้งเร่งเสริมคันกั้นน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงระดับ 3.80 เมตร พบฟันหลอ รีบอุดกระสอบทราย พร้อมเร่งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำตามแผน และทุ่มงบปี 2566 ทำ Pipe Jacking ทั้งคูคลอง ใต้ทางด่วน หรือจุดที่ระบายได้ต้องลงมือ และหาแก้มลิงเพิ่ม ระบุทุกแผนเพื่อให้คนกรุงเลิกกังวลว่า กทม.จะจมบาดาล ตามที่นักวิชาการคาด!

สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ปี 2565 ทำให้มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่าในช่วง 8 ปี 10 ปี หรืออาจถึง 20 ปี กทม.มีโอกาสเกิดมหันตภัยครั้งใหญ่ ถึงขั้น กทม.จมบาดาล! หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รีบดำเนินการหามาตรการรับมือวิกฤตครั้งนี้

โดยเฉพาะการออกมาแสดงความเห็นในทางวิทยาศาสตร์ของ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ว่าจากการติดตาม และศึกษาข้อมูลงานวิจัยในระดับโลกที่มีการศึกษากันนั้น ชี้ให้เห็นว่า กทม.และปริมณฑล มีความเสี่ยงสูงมากที่จะจมใต้น้ำ 100% เพราะปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นในหน้าฝน ขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงถาวร ซึ่งใน 30 ปีข้างหน้าจะสูงขึ้นอีก 30-40 เซนติเมตร จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะจากงานวิจัยพบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในลำดับ 7 เสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ทีมผู้บริหาร กทม. บอกว่า กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจและต้องรีบดำเนินการแก้ไขพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน และวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยในทางปฏิบัตินั้น ต้องมาวิเคราะห์น้ำที่จะเข้ามา กทม.ทั้งหมดมีด้วยกัน 3 น้ำคือ น้ำทะเลหนุน น้ำเหนือหรือน้ำหลาก และน้ำฝน ซึ่งต้องอยู่กับแนวโน้มของน้ำในแต่ละปีจะมีปริมาณมากน้อยหรือไม่ ส่วนกรณีน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ได้มีการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมด้านตะวันออกตามแนวพระราชดำริตามแนวถนนบริเวณด้านตะวันออกของ กทม.เพื่อป้องกันน้ำไหลบ่าจากพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันออกไว้เช่นกัน

“กทม.สร้างแนวคันที่ระดับ +2.50 ม.รทก.ถึง +3.50 ม.รทก. ส่วนบริเวณริมน้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งพระนคร ยาวไปจนถึงบางนา และฝั่งธนบุรี ริมคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กทม.เจอเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงได้มีการเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นที่ระดับ +2.80 ม.รทก.ถึง 3.50 ม.รทก. สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 3,000-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที”

แหล่งข่าวจากผู้บริหาร กทม.บอกอีกว่า วันนี้เราไม่ได้นิ่งนอนใจกับวิกฤตน้ำ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเรายังมีการเสริมคันกันน้ำให้สูงขึ้น จาก 2.80 ม.ไปถึง 3.80 ม. แต่บางช่วงตรงบริเวณริมแม่น้ำยังมีลักษณะฟันหลออยู่ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเกิดจากปัญหาต่างๆ ภายในพื้นที่ ต้องเร่งระดมใช้กระสอบทรายไปปิดให้หมด

“ถ้าสร้างเป็นเขื่อนถาวรย่อมจะดีกว่าการใช้กระสอบทรายไปอุด แต่บางพื้นที่ชาวบ้านไม่ให้เข้า เราใช้กฎหมายไปพูดคุย ก็ทำได้สำเร็จนะ ยกให้สูงในระดับ 3.8 ม. จะปิดน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนุน หรือน้ำเหนือจากเจ้าพระยาเข้ามาในพื้นที่ กทม. ทั้ง 2 ฝั่งได้สำเร็จ ซึ่งในปีนี้ กทม.จะใช้งบปี 2566 ไปดำเนินการปิดให้หมด”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจน้ำท่วมเขตมีนบุรี-หนองจอก
แต่การจะทำงานแก้วิกฤตน้ำได้สำเร็จนั้น กทม.จะทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องมีการประสานกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาล คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สน.ทช.) กรมชลประทาน กองทัพ รวมไปถึงจังหวัดปริมณฑล เพื่อทำให้การทำงานไร้รอยต่อ เพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์ของน้ำจะเป็นอย่างไร และเมื่อน้ำมาแล้วจะต้องมีทางเดินของน้ำหรือทางออกของน้ำจะไหลสู่อ่าวไทยได้อย่างไร โดยที่คน กทม.และคนปริมณฑลได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จึงต้องรู้ว่าพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมดของ กทม. อยู่ตรงไหน เรามีเครื่องมือ มีอุโมงค์ระบายน้ำ มีแก้มลิง มีคูคลองระบายน้ำ ที่เป็นทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ที่จะจัดการผลักน้ำออกไปอ่าวไทยได้อย่างไรในแต่ละโซน รวมไปถึงเราจะบล็อกน้ำจากน้ำเหนือได้อย่างไร”

ตรงนี้คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมผู้บริหาร กทม.ต้องวิเคราะห์ได้ จึงจะเดินได้ถูกทางเพราะการแก้ปัญหาน้ำไม่ใช่แก้เพียงปี 2565 นี้เท่านั้น เราจะต้องมองไปถึงระยะยาว ซึ่งเห็นแล้วว่าปัญหาน้ำใน กทม.มีจุดเสี่ยงอยู่ที่กรุงเทพฯ โซนเหนือ และกรุงเทพฯ โซนตะวันออก ที่นอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักแล้ว ยังรับน้ำจากการปล่อยน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลจากเจ้าพระยา ผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และแม่น้ำท่าจีน เข้าบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าพื้นที่รังสิต และเข้า กทม.ในที่สุด

“เรายกคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยาขึ้นมา 3.80 ม. จะช่วยไม่ให้น้ำที่ไหลลงเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุน ไม่ให้เข้า กทม.และฝั่งธนฯ ได้พอสมควร ต้องดูโซนเหนือและโซนตะวันออก ซึ่งเห็นปัญหาแล้วว่าถ้าเราทำทางลัดหรืออุโมงค์ระบายน้ำไปออกอ่าวไทยได้จะช่วยพื้นที่ตรงนี้ได้”

สำหรับพระเอกที่จะช่วยคน กทม.ได้ดีที่สุด คือกรมชลประทาน ที่มีหน้าที่ควบคุมการผันน้ำทั้งระบบว่าจะปล่อยไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ โซนเหนือและตะวันออก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้หารือกับกรมชลประทานแล้ว และยังเสนอไปยังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กอนช.เพื่อขอให้ทำอุโมงค์ระบายน้ำเพราะน้ำในพื้นที่เขตลาดกระบัง จะออกไปคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อออกบางปะกง เป็นไปได้ยากด้วยสภาพของพื้นที่ และอีกเส้นทางจะไปทางสุวรรณภูมิ ออกคลองสำโรง ประสบปัญหาในการระบายน้ำเช่นกัน จึงต้องระบายออกทางสถานีสูบน้ำพระโขนง

“จริงๆ แล้ว กอนช.มีแผนใหญ่ที่จะสร้างอุโมงค์คลองร้อยวา คือ ขุดทำเป็นแม่น้ำใหญ่ ระยะทาง 40-50 กม. แต่ติดเรื่องการเวนคืน และใช้งบมหาศาลใช้เวลาดำเนินการ 5-10 ปี เพื่อระบายน้ำที่มาจากอยุธยา รังสิต ไม่ต้องผ่านลาดกระบัง ไปออกอ่าวไทยได้เลย เราจึงเสนออุโมงค์ระบายน้ำซึ่งเป็นขนาดเล็ก จากคลองลำปลาทิว กับคลองประเวศ และสูบไปออกคลองร้อยคิว ที่มีระบบระบายน้ำของกรมชลประทานสามารถระบายได้ 100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีระยะทางประมาณ 19 กม. ใช้งบดำเนินการประมาณไม่เกินหมื่นล้าน ระยะเวลาก่อสร้าง 2-3 ปี”

โดยอุโมงค์ระบายน้ำที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสนอไปนั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยระบายน้ำไปยังลาดกระบัง สำโรง และสมุทรปราการ เพื่อลงอ่าวไทยได้รวดเร็ว

“ส่วนจะทำเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ หรืออุโมงค์ขนาดเล็กลง เพื่อดึงน้ำจากโซนเหนือผ่านเข้าอ่าวไทย อยู่ที่กรมชลประทานไปชั่งน้ำหนักดูว่าตรงไหนเสี่ยงกว่ากัน เพราะกรมชลเป็นเจ้าของงบประมาณ และ กอนช. จะตัดสินใจเลือก เพราะหากทำได้จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดีแน่นอน”



กรมชลประทานเร่งระบายน้ำจากเขตลาดกระบัง กทม. ลงสู่แม่น้ำบางปะกงผ่านประตูน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
แหล่งข่าวจากผู้บริหาร กทม. บอกว่า เรื่องนี้ต้องรอดูว่ากรมชลฯ จะเลือกก่อสร้างแบบไหน หากเลือกตามแผนงานที่เคยมีไว้ในแผนงานของ กอนช. สิ่งที่จะสาหัสและทำให้งานล่าช้าจะอยู่ที่การเวนคืนที่ดินที่มีระยะทางยาว เรียกว่ากรมชลฯ ต้องเลือดตาแทบกระเด็นแน่ๆ และเมื่อการเวนคืนเป็นอุปสรรคให้งานแก้ปัญหาน้ำล่าช้า น่าจะเลือกตามข้อเสนอที่กรมชลฯ ได้มีการคุยกันไว้กับ กทม. ซึ่งใช้งบประมาณถูกกว่า คาดว่าจะไม่ถึงหมื่นล้าน อยู่ที่ว่ากรมชลฯ คำนวณขนาดว่าจะเอาเท่าไหร่ 4 หรือ 5 เมตร ซึ่งการเจาะทำได้ไม่ยาก และไม่ช้า ขณะที่ กทม.คงเข้าไปช่วยอะไรไม่ได้ เนื่องจากอยู่นอกเขตพื้นที่ กทม.

ส่วนการที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือการป้องกันไม่ให้ กทม.จมบาดาลได้นั้น นอกจากที่จะทำระบบป้องกันด้านนอก ที่เวลานี้ กทม.มีเขื่อนรอบแม่น้ำเจ้าพระยา สูงตั้งแต่ 2.80-3.50-3.80 และตรงไหนยังเป็นฟันหลอ กทม.ก็รีบเข้าไปอุด รวมทั้งใน กทม.โซนเหนือ และโซนตะวันออก หากเราได้อุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งกรมชลฯ จะตัดสินใจเลือกดำเนินการจัดสร้างนั้น กทม.ต้องมาเร่งดำเนินการแก้ปัญหาภายใน กทม. คืออุโมงค์ระบายน้ำที่ กทม.มีอยู่ รวมไปถึงพื้นที่รับน้ำ ระบบคูคลองทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพเพื่อการระบายน้ำได้เช่นกัน

“รอบนอกในการแก้ปัญหาน้ำล้นเข้าใน กทม. เราได้พันธมิตรจากหน่วยงานต่างๆ ช่วยแล้ว ส่วนงานของเราต้องพร้อม ทั้งเส้นเลือดใหญ่พวกอุโมงค์ต่างๆ เร่งสร้างให้เสร็จเร็วขึ้น ส่วนท่อเส้นเลือดฝอยเราทำ Pipe Jacking ขุดเป็นทางระบายน้ำให้ได้ เช่น ขุดรอบใต้ถนน ใต้สะพานให้เป็นทางลัดน้ำสั้นๆ ประมาณ 1.80 หรือ 2 เมตรกว่าๆ เจาะเล็กๆ ทะลุกันไปให้หมด เราจะใช้งบปี 2566 ดำเนินการ”

แหล่งข่าวผู้บริหาร กทม. ย้ำอีกว่า ทุกเขตจะรู้ว่าบริเวณไหนมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมอยู่ตรงไหนบ้าง กทม.จะ Pipe Jacking เพื่อใช้เป็นทางลัดน้ำออกไปให้ได้มากที่สุด


ปัจจุบัน อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่ กทม.สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว 4 แห่งประกอบด้วย

1.อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 ตร.กม. มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายน้ำริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง

2.อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม. มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวางและดินแดง

3.อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. มีขีดความสามารถในการะบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วังทองหลาง และลาดพร้าว

4.อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตร.กม. มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต

ขณะเดียวกัน กทม.กำลังดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มอีก 6 แห่งในฝั่งพระนครและธนบุรี ความยาวรวม 39.625 กม. และมีประสิทธิภาพระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง และอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณปี 2566 อีก 2 แห่ง รวมงบประมาณกว่า 26,580,865 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้บริหาร กทม.ระบุว่า โครงการระบายน้ำทั้งหมดที่ กทม.มีการเตรียมการไว้ ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ อย่างอุโมงค์ระบายน้ำ คลองต่างๆ และคูคลองระบายน้ำ รวมไปถึงท่อระบายน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด กทม.จะต้องไปเร่งดำเนินการ โครงการไหนล่าช้าต้องไปดูเหตุใด จะได้รีบดำเนินการแก้ไข ส่วนคูคลองที่ตื้นเขินต้องไปจัดการไปลอกหรือทำ Pipe Jacking ในจุดที่เราเห็นว่าจะเป็นทางระบายน้ำได้

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงที่เรามีอยู่เพื่อใช้กักเก็บน้ำ หรือพักน้ำชั่วคราวเมื่อน้ำในคลองมีสภาพปกติ จึงจะมีการระบายออกจากแก้มลิง ซึ่งสามารถป้องกันน้ำท่วมและลดภาวะน้ำท่วมขังบนถนนได้ด้วย แม้จะมีอยู่จำนวนมากก็ตาม สำนักงานเขตต้องเข้าไปสำรวจว่าได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริในการเกิดขึ้นของโครงการแก้มลิงหรือไม่

“แก้มลิงมีประโยชน์ไว้รับน้ำ เขตต้องเข้าไปดูและบริหารน้ำแก้มลิงให้มีประสิทธิภาพ เมื่อฝนตก แก้มลิงจะช่วยชุมชนได้อย่างดี ที่เรามีอยู่ เขตต้องไปพิจารณาดูว่าเราจะหาแก้มลิงที่ไหนเพิ่มได้อีกหรือไม่ รวมถึงอาจพิจารณาหาแนวถนนบริเวณไหนยกระดับเป็นคันกั้นน้ำได้บ้าง”




ปัจจุบัน สำนักการระบายน้ำสามารถจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำไว้ได้แล้ว จำนวน 33 แห่ง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 13.54 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 30 แห่ง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 7.51 ล้านลูกบาศก์เมตร ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 3 แห่ง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 6.03 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำเพิ่มอีก 284,700 ลูกบาศก์เมตร

ขณะที่น้ำท่วม กทม.ในช่วง ก.ย.ปี 2565 เราจะพบว่าหมู่บ้านเอกชนจำนวนมากถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหมู่บ้านจัดสรรนั้นๆ เกิดขึ้นก่อนที่จะมี พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินปี 2535 บังคับใช้ หรือมีแล้วก็ตาม แต่เจ้าของโครงการละเลย หรือไม่ใส่ใจหลังปิดการขายพื้นที่โครงการไปแล้ว

“หมู่บ้านจัดสรรที่ประสบปัญหาแบบนี้อยากแนะนำให้คนที่อยู่อาศัย หรือถ้ามีนิติบุคคลบริหารต้องไปหารือกับเจ้าของโครงการ หรือ หารือกับสำนักงานเขตในพื้นที่ว่าจะมีทางออกอย่างไร หรือยกถนนในโครงการให้รัฐ กทม.จะสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือยกระดับถนนขึ้นได้บ้าง”

แหล่งข่าวผู้บริหาร กทม.ยืนยันว่า จะแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งเกิดจาก 3 น้ำ ทั้งน้ำหนุน น้ำเหนือ และน้ำฝนให้ดีที่สุด และอยากให้ประชาชนทุกคนอย่ากังวลที่มีข่าวว่า กทม.จะจมบาดาลในอีก 8 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ขอให้เชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมชลประทานสร้างเกราะป้องกันภายนอกให้คนกรุงเทพฯ แน่นอน ส่วนผู้บริหาร กทม.และข้าราชการ กทม.ทุกคนต้องเร่งจัดทำแผนป้องกันภายในให้มีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดเช่นกัน!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น