xs
xsm
sm
md
lg

แชร์ลูกโซ่ “ไม่มีวันตาย” Forex-3D แค่ลุ้นดาราติดคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบหลายปัจจัยเอื้อ “แชร์ลูกโซ่” ไม่มีวันตาย เปิดง่าย ไร้ตรวจสอบ กฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหา ต้องเสียหาย-แจ้งความ ถึงดำเนินคดีได้ ใครเตือนก่อนพังเจอฟ้องหมิ่นประมาท แม้ศาลพิพากษาเป็นพัน-หมื่นปี สุดท้ายจบที่ไม่เกิน 20 ปี ประพฤติตัวดี 7 ปีก็ได้ออก ชี้คดี Forex-3D ปลุกกระแสเพราะรอดูดาราติดคุก ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฝากความหวังรัฐบาล ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่

ไม่ว่าการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่จะเกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบปี หรือแม้กระทั่งกำลังเกิดฟ้องร้องเป็นคดีความเป็นข่าวโด่งดัง แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมีคนที่พร้อมจะเดินเข้าไปเป็นเหยื่อให้พวกที่ต้มตุ๋นเหล่านี้หลอกจนหมดเนื้อหมดตัว ยิ่งในยุค Social media การหลอกลวงยิ่งทำได้ง่าย สมจริง น่าเชื่อถือ สามารถหาเหยื่อได้กว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ

ข่าวออกกันโครมๆ ไม่อ่าน-ไม่ดูกันบ้างเหรอ? ถึงได้เข้าไปเป็นเหยื่อให้เขาหลอก หนึ่งในผู้ที่ติดตามคดีแชร์ลูกโซ่กล่าวว่า เราต้องยอมรับความจริงว่า การเสพข่าวหรือข้อมูลของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน คนที่เข้าถึงข้อมูล รู้ทันก็รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อ คนที่มุ่งหวังรวยเร็ว ไม่เคยอ่านข้อมูลข่าวสารและไม่ปรึกษากับคนที่รู้จริงๆ ย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อสูง

บางคนก็รู้ทั้งรู้ว่าหลอกลวง แต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดี หวังเอาชนะ กะว่าได้มาช่วงหนึ่งแล้วถอยออก แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้ว่ากิจการประเภทนี้จะปิดฉากลงเมื่อไหร่ อาจอยู่ยาวเป็นปี หรือสั้นๆ ไม่กี่เดือนก็เป็นไปได้ทั้งหมด ถ้าคุณเอาชนะได้ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าถอยไม่ทันก็เจ็บตัวเหมือนคนอื่น

แค่เอาเงินของตัวเองที่หามาได้มาลงทุนคงไม่เท่าไหร่ ผู้เสียหายจำนวนไม่น้อยไปชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเจตนาใดก็ตาม บางรายยอมกู้เงินจากแหล่งอื่นเพื่อมาลงทุน โดยคำนวณแล้วว่าคุ้มค่า เมื่อแชร์ล่มลงยิ่งกลายเป็นการภาระที่เพิ่มขึ้นไปอีก

บางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินทั้งเรื่องสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ด้วยความหวังว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะนำมาเป็นค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายกลายเป็นสูญทั้งผลตอบแทนและเงินต้น

ปัจจัยเอื้อแชร์ลูกโซ่

หลายคนอาจพูดว่าเพราะพวกเขาโลภ โลภเพราะได้ผลตอบแทนเหนือตลาด โลภจนลืมความเป็นจริง ลืมตรวจสอบว่าเป็นไปได้หรือไม่ แต่อีกสิ่งประการหนึ่งคือความไม่รู้ ไม่รู้ว่าที่ชักชวนกันอยู่นั้นถูกกฎหมายหรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่

คำถามที่สงสัยกันมากในฝั่งของผู้เสียหายคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐปล่อยให้มีการหลอกลวงได้อย่างไร ทำไมไม่สกัดบริษัทหรือธุรกิจที่หลอกลวงลักษณะนี้ก่อนเกิดความเสียหาย

โครงสร้างกฎหมายของไทยยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เราเป็นระบบกล่าวหา คือถ้ายังไม่เกิดความเสียหายจนถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดี เราไม่สามารถทำอะไรได้ หากแจ้งเตือนไปแล้วบริษัทนั้นเสียหายผู้เตือนก็จะถูกฟ้องกลับข้อหาหมิ่นประมาททันที ดังนั้น การดำเนินการเพื่อยับยั้งก่อนเกิดความเสียหาย จึงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

บ้านเรายังมีหลายจุดที่ต้องหาทางแก้ไข เริ่มกันที่แค่การขออนุญาตจัดตั้งบริษัท คุณจะแจ้งวัตถุประสงค์อย่างไรก็ได้ ทำตามหรือไม่ทำตามจุดประสงค์ที่แจ้งไว้ก็ไม่มีใครตรวจสอบ หรือพอทำกิจการหนึ่งแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เปลี่ยนธุรกิจแล้วขอแก้วัตถุประสงค์ก็มี หลายกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น จึงทราบภายหลังว่าธุรกิจที่ทำอยู่ไม่ตรงกับการขอจดแจ้งกับกระทรวงพาณิชย์

สูตรโกงไม่เปลี่ยน

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยสูตรในการหลอกลวงไม่ต่างกัน คือ 1.ได้ผลตอบแทนสูง 2.ต้องใช้เงินนำมาลงทุน 3.ช่วงแรกได้ผลตอบแทนตามที่โฆษณาไว้ 4.ผ่านไประยะหนึ่งเริ่มไม่ได้ผลตอบแทน 5.ไม่สามารถถอนเงินลงทุนได้ 6.ถ้าต้องการถอนเงินต้องจ่ายเงินเสียภาษี สุดท้ายเสียเงินใหม่ไม่ได้เงินเก่า

ที่ต่างออกไปเป็นเรื่องข้ออ้างในการลงทุน เขาจะอ้างลงทุนเห็ด มันสำปะหลัง หรืออะไรก็แล้วแต่ก็มีคนพร้อมลงทุนเพราะเหยื่อทุกรายดูที่ผลตอบแทนเป็นหลัก

เมื่อเส้นทางการเงินของแชร์เหล่านี้สะดุดลง ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัท เจ้าของมีทางเลือกคือหนีคดีไปต่างประเทศและไม่กลับเข้ามาเมืองไทยอีก หรือถ้าถูกจับกุมได้ ทรัพย์บางส่วนจะถูกอายัด

หัวขบวนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่ากิจการที่ทำอยู่ในลักษณะเงินต่อเงินนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งถ้าไม่มีเงินใหม่เข้ามาทุกอย่างจะต้องจบลง เขาคงไม่ซื่อสัตย์พอที่จะเก็บทรัพย์ทั้งหมดไว้กับตัว รายการไหนที่ผ่องถ่ายออกไปให้ยากต่อการติดตามได้พวกเขาก็ทำ

จะเห็นได้ว่าข่าวที่เกิดความเสียหายเป็นพันล้านบาทนั้น พอเอาเข้าจริงจากทรัพย์ที่อายัดได้เต็มที่ก็เหลือแค่หลักสิบหรือหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่ยากต่อการติดตาม ผู้เสียหายที่แจ้งความดำเนินคดีนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดมีการขายทรัพย์ที่อายัดแล้วนำมาเฉลี่ยให้ผู้เสียหายแต่ละรายได้คืนไม่กี่บาท บางคดีต้องใช้เวลานานหลายปี ด้วยเหตุนี้จึงมีบางคนที่ไม่ยอมแจ้งความ คือทำใจว่าไม่ได้คืนแน่ๆ

เคลียร์คนดังก่อนเสมอ

ด้วยระบบกฎหมายของไทยเป็นระบบกล่าวหา จึงต้องรอให้เกิดความเสียหายก่อนจึงจะสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ หากมีผู้เสียหายแต่ไม่ประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้เช่นกัน

เกือบทุกกรณีก่อนที่วงแชร์จะล่มหรือก่อนที่ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดี เจ้าของมักมีการเจรจาต่อรองกับผู้เสียหายก่อนแล้ว รายที่ตกลงกันไม่ได้จึงไปแจ้งความดำเนินคดี ทั้งนี้ภายในกลุ่มผู้เสียหายด้วยกันจะมีอำนาจต่อรองแตกต่างกัน คนดัง คนที่มีอำนาจมักจะได้รับการเคลียร์ปัญหาให้ก่อนเสมอ เช่น จ่ายคืนเป็นกรณีพิเศษแล้วจบเรื่อง แลกกับไม่พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นและไม่ดำเนินคดี

สูตรนี้ถูกใช้มาตลอด ที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการฉ้อโกง

อย่างกรณีของแม่ทีมรายหนึ่งที่มีลูกทีมอยู่จำนวนหนึ่ง แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นการชักชวนเข้ามาร่วมลงทุนหรือไม่ก็ตาม แต่หากลูกทีมเหล่านี้ไม่มีใครแจ้งความก็ไม่สามารถเอาผิดแม่ทีมได้ ซึ่งอาจเกิดจากการพูดคุย ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างกัน เงินที่ใช้มาได้ทั้งเงินส่วนตัวของแม่ทีม หรืออาจได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของบริษัท หากแม่ทีมรายนั้นเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอำนาจต่อรองสูง

การแจ้งความดำเนินคดีจึงเป็นเรื่องส่วนบุคคล ถามว่าเสียหายแล้วไม่แจ้งความมีหรือไม่ คำตอบคือมี เช่น กลัวถูกต่อว่าว่าโลภ-โง่ และอายที่ต้องมาเป็นข่าว โดยเฉพาะคนดังที่อาจมองว่าเงินที่สูญไปนั้นเล็กน้อย


ช่องว่างกฎหมาย

อีกประการหนึ่ง แชร์ลูกโซ่หรือ ธุรกิจที่หลอกลวงให้ลงทุนอาจระบุว่าลงทุนตลาดหุ้น ค่าเงินอัตราแลกเปลี่ยน (Forex) หรือคริปโตฯ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้อนุญาตไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการแจ้งเตือน อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. หรือกระทรวงการคลัง เพราะอำนาจอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องเกิดความเสียหายจนมีการแจ้งความก่อนจึงจะดำเนินการได้

ดังนั้น กลุ่มที่หลอกลวงเหล่านี้จึงไม่เคยสนใจหน่วยงานเหล่านี้ อย่าง Forex-3D อ้างเรื่องลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เปิดมาเป็นปีแต่ทางการก็ไม่สามารถสกัดกั้นได้ จนต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นมา ซึ่งวงของความเสียหายจริงนั้นมากกว่าตัวเลขที่หน่วยงานที่รับทำคดีแจ้งไว้

เมื่อถึงขั้นตอนของการลงโทษเจ้าของกิจการที่ฉ้อโกงบุคคลอื่น คดีในอดีตบางคดีศาลพิพากษาจำคุกเป็นพัน-หมื่นปี แต่สุดท้ายจะมาจบลงที่ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี หากประพฤติตัวดีได้รับอภัยโทษ 7 ปีเศษก็พ้นโทษได้ออกมาใช้ชีวิตปกติ

เตือนถูกฟ้องกลับ

ส่วนคนที่ต้องการเตือนทั้งบุคคล หน่วยงานรัฐ หรือสื่อมวลชนที่มองธุรกิจนี้ออกว่าหลอกลวง ก็ไม่สามารถนำเสนอเปิดเผยชื่อบริษัทนั้นได้ เนื่องจากยังไม่มีผู้เสียหาย และมักถูกเจ้าของบริษัทฟ้องในข้อหมิ่นประมาททันที

จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ตั้งกิจการขึ้นมาเพื่อหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ หรือลงทุนออนไลน์อาจจะหายไปแค่บางช่วงเท่านั้น เราจะพบเห็นอีกครั้งก็ตอนเป็นข่าวที่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ นั่นคือเกิดความเสียหายในวงกว้างแล้ว


Forex-3D ลุ้นดาราเข้าคุก

เรียนตามตรงว่าเรื่อง Forex-3D นั้นเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการฉ้อโกงเท่านั้น ก่อนหน้าเคยมีคดีฉ้อโกงแบบนี้มาแล้ว หรือหลังจากเกิดเรื่อง Forex-3D ก็มีวงแชร์อื่นๆ ถูกจับกุมเช่นกัน ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากคดีนี้มีดาราเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอยู่ในความสนใจของประชาชน ก่อนหน้านี้ดาราสาวพิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำไปแล้ว ตอนนี้หลายคนกำลังจับตาดีเจแมนและนักร้องสาวใบเตย (ภรรยา) ว่าจะเป็นอย่างไร

ที่ต้องหันกลับมาจับตาดูคดี Forex-3D อีกครั้ง เนื่องจากมีการเปิดเผยชื่อพระเอกดาวรุ่งของช่อง 3 อย่างกระทิง ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ เป็นระดับแม่ทีมใน Forex-3D และบอล กัมมัญญ์ นักแสดงอีกรายและยังเป็น Down line ของกระทิง ทั้ง 2 พร้อมด้วยเดิมพันว่าถ้าเขาผิดพร้อมเดินออกจากวงการบันเทิง สายนี้ยังมีนักร้องดังอย่างโต๋ ศักดิสิทธิ์ เวชสุภาพร รวมอยู่ด้วย

“คดีนี้คนทั่วไปแค่ลุ้นว่าดาราจะติดคุกหรือไม่เท่านั้น”

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า คือการแจ้งความหรือไม่แจ้งความนั้นถือเป็นสิทธิของผู้เสียหาย การอายหรือกลัวถูกต่อว่าว่าโง่หรือโลภ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ส่วนจะถูกครหาว่าเป็นหนึ่งในทีมชักชวนให้ลงทุนหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องชี้แจงต่อไป ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐาน เพราะแชร์ลูกโซ่แต่ละเจ้าจะวางระบบภายในไม่เหมือนกัน


ตั้งศูนย์ป้องกัน-ปราบปรามแชร์ลูกโซ่

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความว่า ผมเห็นข่าวเรื่องแชร์ลูกโซ่ Forex-3d ขอบอกเลยว่า ที่จับน่ะเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ผู้ร่วมขบวนการยังมีอีกเยอะ คนได้ประโยชน์ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายยังมีอีกมาก เทียบเคียงง่ายๆ คดีก่อนหน้าคดียูฟัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขออนุญาตศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 164 คน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้สั่งให้จำเลยชดใช้เงินคืนจำนวน 356,211,209 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ที่แจ้งความดำเนินคดี

ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกัน จะเห็นได้ว่าคดียูฟันผู้เสียหายแจ้งความน้อยกว่าคดี Forex-3d แต่ตำรวจในขณะนั้นขยายผลได้มากกว่า โดยดูการเชื่อมโยงเส้นเงิน อย่าลืมว่าแชร์ลูกโซ่พวกนี้มีคนเขียนโปรแกรมให้ ดังนั้นเวลาจ่ายเงินปันผลรายเดือน เส้นเงินจะเข้ามาในบัญชีเองทุกเดือน จะลงระบุไว้ใครเป็นพ่อทีมแม่ทีมใคร ดังนั้น นั่งเฉยๆ ไม่ชวนใครเงินก็เข้า คนประเภทนี้จะไปทุกวงแชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่ Forex-3d ก็เช่นกัน ดังนั้นผมขอให้ผู้เสียหายที่มีข้อมูลส่งไปให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ดีเอสไอสอบเพิ่มเติมได้ เพราะตอนนี้เลยขั้นตอนที่จะร้องไปยังดีเอสไอแล้ว

ผมขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรี เร่งจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ขึ้นมา ตามข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ส่งเรื่องปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประเทศชาติและประชาชน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH




กำลังโหลดความคิดเห็น