เจาะทีมเศรษฐกิจก่อนศึกเลือกตั้ง “พลังประชารัฐ” ไร้มือดี หลัง “4 กุมาร” ลาออก “เพื่อไทย” วาง “เศรษฐา ทวีสิน” นำทีม ศก. ด้าน “ภูมิใจไทย” อนุทิน ลุยเอง ขาย นโยบายพักหนี้-ไฟฟ้าเพื่อประชาชน ฝ่าย “ก้าวไกล” ชงทีมเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ชาติพัฒนา ดึง “กรณ์-กอร์ปศักดิ์” ปิดจุดอ่อน ขณะที่มือเศรษฐกิจระดับหัวกะทิ คือจุดแข็ง “พรรคสร้างอนาคตไทย” “ไทยสร้างไทย” ของเจ๊หน่อย ชู “สุพันธุ์” เป็น หน.ทีม ศก. ส่วนทีม ศก.ของ “ประชาธิปัตย์” ยังน่าห่วง
ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งการปิดตัวของธุรกิจ ปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้าและพลังงานที่ขึ้นไปไม่หยุดหย่อน รวมถึงอุทกภัยที่กำลังซ้ำเติมคนไทยในทั่วทุกภูมิภาคอยู่ในขณะนี้ ขณะที่การเลือกตั้งเลือกตั้งครั้งใหม่ใกล้จะมาถึง แต่ละพรรคการเมืองจึงหันมาให้ความสำคัญกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ซึ่งถือว่าเป็นความหวังที่สามารถเรียกคะแนนจากประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพง
ขณะที่ประชาชนอยากรู้ว่าแต่ละพรรคจะวางตัวทีมเศรษฐกิจอย่างไร? ได้คนที่มีฝีมือมาบริหารหรือไม่? เพื่อเป็นข้อมูลที่พวกเขาจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า
ทีม ศก.จุดอ่อน “พลังประชารัฐ”
เริ่มจากพรรคการเมืองใหญ่ในฐานะแกนนำรัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” ที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หากถามถึงทีมเศรษฐกิจของพรรคนี้คนส่วนใหญ่ต่างพูดตรงกันว่า “นึกไม่ออก” เนื่องด้วยหลังจากที่ทีมเศรษฐกิจทีมเก่า นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วย 4 กุมาร ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่ง และลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะปัญหาขัดแย้งภายใน ดูเหมือนพลังประชารัฐจะไม่มี “มือเศรษฐกิจ” ที่เป็นหน้าเป็นตาให้พรรคอีกเลย
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงได้ทาบทาม นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และอดีตเอ็มดี ธนาคารกสิกรไทย มาเป็นทีมเศรษฐกิจ โดยนั่งเก้าอี้ รมว.คลัง แต่ทำงานได้เพียง 27 วัน ก็ตัดสินใจลาออก บิ๊กตู่จึงแต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาล คสช.เป็น รมว.คลัง ขณะที่ตำแหน่งรองนายกด้านเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน ซึ่งเป็นโควตาของพลังประชารัฐนั้น ได้แต่งตั้งลูกหม้อ ปตท. “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ให้มากุมบังเหียน โดยนายสุพัฒนพงษ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการและกรรมการกำกับดูแลกิจการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อมานั่งควบตำแหน่งดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นว่ายุคที่สุพัฒนพงษ์ เป็น รมว.พลังงาน ทั้งราคาน้ำมันและราคาแก๊สหุงต้มกลับปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้พลังประชารัฐถูกโจมตีอย่างหนัก
ขณะที่ช่วงปลายเดือน เม.ย.2565 พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศเปิดตัว “นายชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรค ว่าจะเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของพรรค อีกทั้งระบุว่า จะมีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ เข้ามาเสริมทีมด้วย จึงมีข่าวสะพัดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้านายชาติชาย ถูกวางตัวให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของพลังประชารัฐ แต่ล่าสุดนายชาติชาย ออกมาปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น และขณะนี้ตนยังไม่ได้รับการทาบทาม การแต่งตั้ง หรือสมัครเป็นสมาชิกในพรรคพลังประชารัฐแต่อย่างใด เพียงแต่ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจแก่พรรคเป็นครั้งคราวเท่านั้น
จึงต้องติดตามต่อไปว่าในห้วงเวลาที่ภาพจำของประชาชนคือ รัฐบาลภายใต้การนำของพลังประชารัฐ “ติดลบ” เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการเลือกตั้งครั้งใหม่ใกล้เข้ามาทุกที “พรรคพลังประชารัฐ” จะสามารถเสาะหาทีมเศรษฐกิจที่มีฝีมือมาเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับคืนมาได้หรือไม่?
ลือสะพัด “เศรษฐา” นำทีม ศก.เพื่อไทย
ตามด้วยแกนนำฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งผลสำรวจจากนิด้าโพลล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.2565 พบว่า เป็นพรรคที่มีคะแนนนิยมสูงสุด อีกทั้งเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อของ “อุ๊งอิ๊ง” หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังมาเป็นอันดับ 1 โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร ซึ่งบ่งชี้ว่า “นโยบาย” และความเป็น “ชินวัตร” คือแต้มต่อของพรรคเพื่อไทย
แม้ปัจจุบันผู้ที่มีบทบาทในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคของเพื่อไทยคือ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รองหัวหน้าพรรค และรองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ โดยมี ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ด้วยดีกรีปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ University of Illinois at chicago สหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ในการรับราชการที่สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำให้เผ่าภูมิ มีมุมมองด้านการเงินการคลังที่แหลมคม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมานโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ล้วนผ่านกระบวนการคิดของ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งร่วมกับทีมยุทธศาสตร์พรรค โดยมี “หมอมิ้ง” นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มแคร์ และอดีตรักษาการผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ขับเคลื่อน
ขณะเดียวกัน การที่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” เข้ามารับหน้าที่ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นอกจากจะใช้ประสบการณ์ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านบริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกรรมการบริษัทธุรกิจในเครือ เช่น โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ โรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ สนามกอล์ฟอัลไพน์ โรงแรมเอสซี ปาร์ค ในการคัดเลือก “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจก้าวหน้ามาอยู่ในทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยแล้ว ยังสามารถใช้ความเป็น “ชินวัตร” ในการเรียกคะแนนนิยมจากแฟนคลับของพรรคเพื่อไทยด้วย
นอกจากนั้น พรรคเพื่อไทยยังมีมือเศรษฐกิจตัวจริงอย่าง “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการอสังหาฯ ซึ่งถูกวางตัวไว้ว่าจะอยู่ 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค และอาจเข้ามารับหน้าที่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” อีกตำแหน่งด้วย
“ภูมิใจไทย” ขายนโยบาย “พักหนี้-ไฟฟ้าประชาชน”
ขณะที่พรรคขนาดกลางซึ่งกำลังโตวันโตคืนและเป้าหมายที่จะเป็นรัฐบาลตลอดไปอย่าง “ภูมิใจไทย” นั้น “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ควบตำแหน่ง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” เอง โดยมีนักวิชาการและนักธุรกิจจากหลากหลายสาขา ทั้งด้านอุตสาหกรรม พลังงาน การค้าระหว่างประเทศ และนักการเงินการธนาคาร มาช่วยให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ประสงค์จะออกหน้าเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อธุรกิจ
สำหรับนายอนุทิน นั้นเรียกได้ว่ามีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย โดยหลังเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ กลับจากสหรัฐอเมริกา เขากลับมาบริหารบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นของครอบครัว ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ซิโน-ไทย ต้องล้มละลายจากการลอยตัวค่าเงินบาท แต่หลังจากนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ท้ายที่สุดนายอนุทิน ใช้เวลาเพียง 3 ปี สามารถปลดสถานะล้มละลาย และทำให้ ซิโน-ไทย ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง 1 ใน 3 ของประเทศ แม้เขาจะถอยออกมาจากอาณาจักรซิโน-ไทย นานแล้ว แต่ร่มเงาของนายอนุทิน ยังปกคลุมอยู่ นอกจากนั้น เขายังมีบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI บริษัทในเครือของซิโน-ไทย ที่ประกอบธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กและโครงสร้างเหล็กอีกด้วย
ขณะที่ ตระกูลชิดชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย มีประสบการณ์ทั้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจทางด้านพลังงาน จึงไม่แปลกที่ผ่านมา ภูมิใจไทยจะให้ความสำคัญกับนโยบายด้านพลังงาน
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงนั้น ภูมิใจไทยไม่ได้ขายทีมเศรษฐกิจ แต่มี “นโยบายเศรษฐกิจ” เป็นจุดขาย โดยภูมิใจไทยได้เริ่มโปรโมตนโยบายเศรษฐกิจที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 2 นโยบายหลักๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ได้แก่
1.พักหนี้ให้ประชาชน โดยจะให้สิทธิพักหนี้ในระบบคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นการพักหนี้แบบหยุดต้น ปลอดดอก เป็นเวลา 3 ปี ทั้งหนี้ธนาคาร หนี้สหกรณ์ หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถยนต์ หนี้ผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ และหนี้กองทุนหมู่บ้าน
2.ไฟฟ้าประชาชน โดยจะให้สิทธิคนไทยทุกครัวเรือนเข้าร่วมโครงการ “การไฟฟ้าประชาชน” โดยรัฐจะติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนทุกหลังคาเรือน (รวมแล้วประมาณ 21 ล้านหลังคาเรือน) โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้น ประชาชนเอาไว้ใช้เอง 40% ซึ่งจะช่วยให้แต่ละครอบครัวสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 450 บาทต่อเดือน ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตได้อีก 60% รัฐจะขายคืนให้การไฟฟ้าฯ เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้คืนค่าใช้จ่ายที่ได้ลงทุนไป ซึ่งเงินที่ใช้ในการติดตั้งโซลาร์รูฟนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ แต่จะใช้วิธีออกพันบัตรเพื่อระดมทุน
“ก้าวไกล” ชูทีมเศรษฐกิจรุ่นใหม่
สำหรับทีมเศรษฐกิจของ “พรรคก้าวไกล” ดูจะแตกต่างจากพรรคอื่นๆ อย่างชัดเจน เป็นภาพลักษณ์ของ “ทีมเศรษฐกิจรุ่นใหม่” ซึ่งมีนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันมารวมตัวกัน โดยมี “ศิริกัญญา ตันสกุล” อดีตนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ชูแนวคิดในการแก้ปัญหาทุนผูกขาด
นอกจากนั้น ยังมี “เดชรัต สุขกำเนิด” อดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีดีกรีปริญญาโทด้านการพัฒนาการเกษตรและชนบทจาก Institute of Social Studies ประเทศเนเธอร์แลนด์ และปริญญาเอกด้านการวางแผนและพัฒนาจาก Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Think Forward Center หรือศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ของพรรคก้าวไกล
ที่ผ่านมา “ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต” ได้มีการรวบรวมข้อมูลและศึกษาปัญหาทางเศรษฐกิจ ศึกษารากฐานความมั่นคงทางการเงิน และการดูแลผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า รวมถึงชูนโยบาย “อีสานสองเท่า” เพื่อพัฒนาภาคอีสาน โดยวางเป้าหมายที่ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว และความยากจนลดลงในปี 2575
แม้ถ้าเทียบกันตัวต่อตัวทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ที่ผ่านมา ได้ออกมาแสดงความเห็นและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง
“ทีม ศก.ประชาธิปัตย์” อ่อนแรง
ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเคยมีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีมือเศรษฐกิจขั้นเทพอย่าง “ดร.ซุป” หรือ “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” ซึ่งภายหลังได้รับคัดเลือกให้เป็นเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังก์ถัด (UNCTAD) และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) แต่ปัจจุบันประชาธิปัตย์ได้เกิดปัญหาแตกแยกภายในอย่างรุนแรง ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดภาวะ “สมองไหล” บรรดา ส.ส.และนักการเมืองที่มีฝีมือต่างทยอยตบเท้าลาออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ “ทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์” อ่อนเปลี้ยเพลียแรงลงอย่างชัดเจน
เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งชนะเสียงโหวตให้เป็นหัวหน้าพรรคหลังการลาออกของนายอภิสิทธิ์ ได้แต่งตั้ง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เป็นแกนทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจทันสมัย (New Economy) ทำให้บทบาทของ “กรณ์ จาติกวณิช” มือเศรษฐกิจระดับบิ๊กเนมของพรรคลดลง นายกรณ์ ซึ่งมีคะแนนมาเป็นอันดับ 3 ในการช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจประกาศลาออกหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติแต่งตั้ง “ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” เป็น "ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย" คนใหม่แทน ปริญญ์
ผศ.ดร.อิสระ นับเป็นเลือดใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “นายชวน หลีกภัย” เขามีดีกรีปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก Imperial College London (ทุน Marie Courie Fellowship ของสหภาพยุโรป) เป็นทั้งนักธุรกิจ และนักวิชาการ ดูแลธุรกิจครอบครัวด้านชิ้นส่วนยานยนต์ โดยร่วมทุนกับบริษัททั้งในภาคพื้นเอเชียและยุโรป มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมในต่างประเทศ งานด้านวิชาการ และเป็นอาจารย์พิเศษสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ก่อนจะผันตัวเข้าสู่เส้นทางการเมือง
อย่างไรก็ดี ดร.อิสระ เพียงคนเดียวคงไม่สามารถทำให้ทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาแข็งแกร่งได้ดังเดิม นอกเสียจากทีมเศรษฐกิจรุ่นเก๋าของพรรค อย่าง ศาตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายเกียรติ สิทธีอมร ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ซึ่งปรับบทบาทไปเป็นเบื้องหลังจะลุกขึ้นมาขับเคลื่อนทีมเศรษฐกิจของพรรค
ชาติพัฒนา ดึง “กรณ์ จาติกวณิช” ปิดจุดอ่อนทีม ศก.
ในขณะที่ “พรรคชาติพัฒนา” ซึ่งเดิมมีจุดอ่อนเรื่องทีมเศรษฐกิจ ได้มีการรีแบรนดิ้งพรรคใหม่ โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา ได้เชิญ “นายกรณ์ จาติกวณิช” อดีตหัวหน้าพรรคกล้า มาร่วมขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ด้วยเห็นฝีมือของนายกรณ์ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ที่ลุกลามมาจากสหรัฐอเมริกา นายกรณ์ สามารถแก้ไขวิกฤตด้วยมาตรการไทยเข้มแข็ง จนกระทั่งประเทศไทยฟื้นจากวิกฤตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก พลิกตัวเลข GDP จากติดลบ 2 หลักเป็นบวก 7.8% ภาคการส่งออกเติบโตก้าวกระโดด 28.5% จนนายกรณ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker : Financial Times คนแรกของประเทศไทย ดังนั้นในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ นายกรณ์ จึงเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น “ตัวแทน” ของชาติพัฒนา ในการกอบกู้วิกฤตดังกล่าว
อีกทั้งล่าสุดที่ประชุมพรรค กรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนายังได้มีมติแต่งตั้ง “นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคกล้า ให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจชาติพัฒนา” ซึ่งประสบการณ์ในการทำงานด้านเศรษฐกิจของนายกอร์ปศักดิ์ ก็ไม่ธรรมดา โดยเคยดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ จึงได้ร่วมงานและสนิทสนมกับนายกรณ์ กระทั่งภายหลังได้ไปร่วมงานกับพรรคกล้า
มือ ศก.ระดับเทคโนแครต จุดแข็ง “พรรคสร้างอนาคตไทย”
อีกพรรคที่น่าสนใจคือ “พรรคสร้างอนาคตไทย” ที่ล่าสุดเพิ่งจะเปิดตัว “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ในฐานะประธานพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยพรรคนี้ถือว่ามีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและล้วนแต่เป็นระดับเทคโนแครต เริ่มจาก ดร.สมคิด ซึ่งเป็นอดีตขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยนโยบายประชานิยมและนโยบายเศรษฐกิจหลายอย่างที่ประสบความสำเร็จในยุครัฐบาลทักษิณ ส่วนหนึ่งมาจากแนวความคิดของ ดร.สมคิด เขาผ่านงานด้านเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน ทั้งในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งยกทีมลาออกมาตั้งพรรคใหม่ในนามสร้างอนาคตไทย
คนต่อมาคือ “ดร.อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย มือเศรษฐกิจคนสำคัญ ที่ผ่านมาแล้วทั้งเก้าอี้ รมว.คลัง รมว.อุตสาหกรรม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่สำคัญเขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย ขณะที่งานภาคเอกชนเคยผ่านการบริหารสถาบันการเงินเอกชน เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เคยเป็นรองคณบดี ฝ่ายวิชาการและอาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ตามด้วย “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ผ่านงานด้านเศรษฐกิจมามากมาย ทั้งอดีต รมว.พลังงาน อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นอดีตที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม และกรรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
นอกจากนั้น พรรคสร้างอนาคตไทยยังทาบทามบุคลากรด้านเศรษฐกิจเข้ามาร่วมทีมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง ชูนโยบาย “5 สร้าง 5 แก้ไข” เพื่อเปลี่ยนอนาคตประเทศ ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองแรกที่มีความชัดเจนในนโยบายเศรษฐกิจซึ่งจะนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ไทยสร้างไทยชู “สุพันธุ์” เป็น หน.ทีมเศรษฐกิจ
ส่วนพรรคน้องใหม่อย่าง “พรรคไทยสร้างไทย” ซึ่งมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานพรรค ได้เปิดตัว “นายสุพันธุ์ มงคลสุธี” อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งหมดวาระ เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค” นายสุวพันธ์ นับเป็นนักธุรกิจมากความสามารถ ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC 2022) และประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ เกิดจากการเป็น SMEs ตัวเล็ก ขยายกิจการและเติบโตจนสามารถนำพาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชน ได้มากถึง 4 บริษัท และทั้ง 4 บริษัทไม่มีสัมปทานรัฐมาช่วยให้เติบโต ที่สำคัญบริษัทของเขามียอดขายหลายหมื่นล้าน เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์โดยเฉพาะในแง่ของเทคโนโลยีและธุรกิจ