กทม.มั่นใจคนกรุงไม่เผชิญมหันตภัยน้ำท่วมเหมือนปี 2554 ยอมรับช่วงวิกฤตคือน้ำทะเลหนุน บางจุดชนกำแพงเขื่อนเจ้าพระยาที่สูงเกิน 2.80 ม.จนล้นออกมา ทำให้ กทม.ต้องเฝ้าระวังเต็มที่ เพราะหากมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก จะทำให้เกิดน้ำขัง ระบายออกไปไม่ทันเหตุตั้งปั๊มสูบออกเจ้าพระยาไม่ได้ เชื่อไม่เหมือนปี 2554 เพราะมีการประสานกรมชลประทานแจงน้ำเหนือเขื่อนยังไม่เต็ม และยังไม่มีการปล่อยน้ำลงมาสู่เจ้าพระยา พร้อมแจ้งการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำก่อน ขณะที่ กทม.มีเรดาร์ตรวจอากาศ 2 จุด และข้อมูลกรมอุตุฯ คอยแจ้งเตือน อีกทั้งพี่น้อง 3 ป.สั่งหน่วยงานกองทัพ-ฝ่ายปกครอง ช่วยประชาชนเต็มที่ แนะประชาชนสนใจเข้าดูข้อมูลเรดาร์ได้ที่ https://weather.bangkok.go.th/radar และ https://paipibat.com/ เพื่อป้องกันตัวเอง
ภาพมหันตภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ยังคงผุดขึ้นมาให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เคยได้รับผลกระทบเกิดความหวาดหวั่นว่าในปี 2565 นี้จะเกิดวิกฤตเช่นนั้นหรือไม่? โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่วันนี้มีฝนตกหนักเป็นเวลานานและมีน้ำท่วมขังสูงมากจนรถเล็กวิ่งผ่านไม่ได้ ประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับผลกระทบในการเดินทางอย่างมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ โซนเหนือ นนทบุรี และปทุมธานี
สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาสภาวะน้ำท่วม ไม่ว่าจะจากน้ำหลาก น้ำทะเลหนุน หรือปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักหรือฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานที่เกิดจากพายุลูกต่างๆ ถาโถมเข้ามานั้นคือความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ต้องการ
โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ฝนตกหนักมาก มีน้ำท่วมขังสูง สังคมได้เห็นภาพกองทัพบกส่งกำลังพลและนำรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ (FTS) ดัดแปลงให้ขึ้นลง สะดวก เข้าบริการรับส่งประชาชนในเส้นทางคมนาคม จุดเชื่อมต่อที่มีน้ำท่วมขังไปยังชุมชนบ้านเรือน พร้อมเตรียมกำลังพลไว้รับสถานการณ์ในพื้นที่เขตต่างๆ ที่ประเมินว่าอาจเกิดน้ำท่วมขังฉับพลัน และประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนในทุกพื้นที่
ดังนั้น เมื่อสอบถามไปยังผู้บริหารของ กทม.ถึงสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะเหมือนปี 2554 หรือไม่นั้น คำตอบที่ได้คือจากการวิเคราะห์และติดตามข้อมูล รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำแล้วต่างเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ทั้งนี้เพราะจากข้อมูลที่มีอยู่และการคาดหมายที่กรมอุตุนิยมวิทยาในช่วง 8-14 ก.ย.นี้ พบว่า จะต้องเฝ้าระวังในวันที่ 8-9 ก.ย.นี้มากที่สุด
ทั้งนี้ เพราะในวันที่ 8-9 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก อีกทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร
“ข้อมูลของกรมอุตุฯ เตือนให้ กทม. ต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมที่จะบริหารจัดการน้ำและช่วยเหลือประชาชน เพราะจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสมที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วน 10-14 ก.ย.ร่องมรสุมเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ กทม.ต้องเฝ้าระวังเพราะฝนอาจจะตกหนักและถ้าเจอช่วงน้ำทะเลหนุนสูงด้วยจะยิ่งประสบปัญหากันมาก”
ทำให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมงานทุกคนเตรียมพร้อมในการลงพื้นที่ตลอดเวลา และการไปแต่ละพื้นที่ไม่ได้ลงพื้นที่แบบไม่มีข้อมูลแน่นอน โดยนายชัชชาติ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ที่รับผิดชอบน้ำโดยตรง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งเคยคุมสำนักระบายน้ำมาก่อน ได้กางข้อมูลมาวิเคราะห์ ทั้งเรื่องเครื่องไม้ เครื่องมือที่มีอยู่ ระดับของพื้นที่ความสูง ความต่ำในแต่ละเขต และระดับของท่อระบายน้ำ คลอง แม่น้ำของ กทม.ทำให้รู้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อจะดึงน้ำท่วมขังออกไปตรงไหนได้บ้าง มานั่งวิเคราะห์เพื่อรู้ว่าเราจะจัดการปัญหาน้ำขังอย่างไรให้ได้ดีที่สุด
“วันนี้สิ่งที่ผู้บริหาร กทม.ทุกคนภูมิใจ คือการไม่มีปัญหาเรื่องของคนหรือข้าราชการดึงเกม เล่นการเมือง ปล่อยทิ้งเครื่องสูบน้ำไม่ดูแล เพื่อจะให้ผู้บริหารถูกสังคมด่า แต่กลับพบว่า ผู้อำนวยการเขต และพนักงานที่อยู่ในเขตที่เราคาดว่าจะมีฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมขังฉับพลัน ทุกเขตให้ความร่วมมือถึงขนาดไปนอนที่เขตเพื่อพร้อมจะลุยงานแก้น้ำท่วมตลอดเวลา”
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวผู้บริหาร กทม.บอกว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญสำหรับการแก้ปัญหามหันตภัยน้ำท่วมได้ดีที่สุด กทม.จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลปริมาณน้ำจากด้านบนที่จะมีการระบายลงมาจนมาถึงผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กทม.
“เราคุยกับกรมชลประทาน ทำให้ กทม.เชื่อว่าเวลานี้เราไม่เจอพร้อมกัน 3 น้ำแน่ คือน้ำทะเล น้ำเหนือ และน้ำท่วม เพราะเรื่องของน้ำเหนือปีนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว กรมชลฯ บอกว่าน้ำเหนือเขื่อนยังไม่เต็ม เขาไม่ได้ปล่อยลงมาจนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ ด้านทุ่งรังสิต และคุยเรื่องการเปิดปิดประตูน้ำซึ่งกรมชลฯ ช่วยในการควบคุมได้อย่างดี แต่สิ่งที่เรากลัวและต้องเจอคือ น้ำทะเลหนุน ปัจจุบันหนุนสูงจนจะมาชนกำแพงเขื่อนเจ้าพระยาที่ 2.80 ม.อยู่แล้ว และบางช่วงเริ่มล้นแล้ว เราจึงห่วง กทม.มาก และเมื่อมาเจอกับน้ำฝนจากพายุทำให้ตกหนักในปริมาณที่มากแบบไม่เคยมีมาก่อน และตกนิ่งในพื้นที่เสี่ยงจนระบายไม่ได้”
โดย กทม.คาดว่าถ้าน้ำทะเลหนุนช่วง 8-9 ก.ย.นี้ จากนั้นน้ำทะเลจะลง ก็จะจัดการบริหารน้ำฝนที่ตกหนักได้ดีขึ้นด้วยการใช้ปั๊มตัวใหญ่ๆ ดูดออกไป รวมไปถึงถ้าน้ำเหนือถูกปล่อยลงมาจะไปออกทะเลได้ โดย กทม.จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก
“ปีนี้การบริหารจัดการน้ำเหนือจะไม่เหมือนปี 2554 แน่นอน ปี 2554 มันเหมือนถูกทุ่มเข้ามา กทม.จนมีกระแสข่าวลือกันว่ารัฐบาลถูกหลอก แต่ปีนี้ขอให้ดูการทำงานของพี่น้อง 3ป. ที่มีความแตกต่างกันให้ดี เขาใช้กำลังทหารลงพื้นที่ตั้งแต่การขุดลอกคลอง จัดทำกระสอบทรายไว้พร้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในภาคกลาง กทม.และปริมณฑล เพื่อช่วยชาวบ้าน และให้ฝ่ายปกครองเร่งขับเคลื่อนช่วยป้องกันเต็มที่”
แหล่งข่าว กทม.บอกว่า ถ้าจะมองว่าพี่น้อง 3ป.ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีกลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่และสั่งการทหาร ฝ่ายปกครอง เร่งป้องกันน้ำท่วมครั้งนี้ เพื่อสร้างคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐอย่างมากนั้น ก็เป็นเรื่องที่คิดกันได้ แต่ถ้าเรามองด้วยความเป็นจริง จะรู้ว่าการที่พี่น้อง 3ป.ทำแบบนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังหวั่นไหวและกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนปี 2554 ให้รู้สึกบรรเทาความวิตกกังวลลงได้
“ต้องยอมรับบิ๊กป้อม ลึกและคมกว่า ได้ใจคนมากกว่าบิ๊กตู่ ไม่ใช่เรียกให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติไปพบ แต่ใช้วิธีการโทร.หาผู้ว่าฯ ชัชชาติ โดยตรง 2 ครั้ง บอกต้องการให้ช่วยอะไรให้บอก เพราะสถานการณ์น้ำท่วมเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน พร้อมส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยใน กทม.ทันที ส่วนบิ๊กตู่ ก็ไปดูพื้นที่อยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยรับทั้งน้ำทะเลหนุน แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำเหนือหลากเข้ามา และปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก”
ขณะเดียวกัน กทม.มีเรดาร์ตรวจอากาศของสำนักการระบายน้ำที่เราจะเห็นการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆอยู่ 2 แห่ง คือ เรดาร์ตรวจอากาศที่หนองแขม และที่หนองจอก ซึ่งเป็นโมเดลพยากรณ์ฝนล่วงหน้าของ กทม.และรายงานเมื่อ 8 ก.ย.เวลา 14.15 น. ฝนเล็กน้อยสลับปานกลาง อ.ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี อ.เมืองปทุมธานี อ.พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ต่อเนื่องฝนเล็กน้อยสลับฝนเบาบางปกคลุมพื้นที่ฝั่งพระนคร ยกเว้นเขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวา บางเขน และฝนเล็กน้อยสลับเบาบางทั่วฝั่งธนบุรี เคลื่อนตัวทิศตะวันตกเฉียงใต้ แนวโน้มคงที่ / ปริมาณฝนสูงสุดเขตหลักสี่ 75.5 มม.
แต่หากมองย้อนไปดูเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น กทม.ได้รายงานสถานการณ์ฝนตกในรอบ 24 ชั่วโมงวันนั้น กทม.มีฝนตกหนักโดยทั่วไป ปริมาณฝนรวมสูงสุดที่จุดวัดคลองบางบัว เขตบางเขน 178.0 มม. จุดวัดสำนักงานเขตหลักสี่ 124.0 มม. จุดวัดสำนักงานเขตพญาไท 99.0 มม. จุดวัดสำนักงานเขตห้วยขวาง 93.0 มม.จุดวัดสถานีสูบน้ำรัชดา-วิภาวดี เขตจตุจักร 90.5 มม. เป็นต้น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะเห็นว่ามีน้ำขังในปริมาณที่สูง รถเล็กผ่านไม่ได้ ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กระทั่งกองทัพบกได้ส่งรถทหารออกมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเกิดจากปริมาณฝนตกหนักทั้งสิ้น
สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปดูเรดาร์ตรวจอากาศของสำนักระบายน้ำได้ที่
https://weather.bangkok.go.th/radar และยังสามารถดูได้ที่ https://paipibat.com/
ซึ่งจะมีข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักระบายน้ำ กทม. เพื่อความสะดวกของประชาชนทั้ง กทม.และปริมณฑลที่ต้องการช่วยเหลือตัวเองในการเฝ้าระวัง อีกทั้งยังสามารถกดเข้าไปดูโมเดลพยากรณ์ฝนล่วงหน้าของ กทม. ใน 24 ชั่วโมงล่วงหน้า 10 วันได้ด้วย
นอกจากนี้ กทม.กำลังติดต่อขอความร่วมมือจากบริษัทญี่ปุ่น ให้มาติดตั้งเสาสัญญาณตรวจอากาศซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นสามารถคาดการณ์พายุ และลม เครื่องมือตัวนี้จะเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม จะเห็นภาพรวมของการเคลื่อนไหวในสภาพอากาศได้ดีขึ้น
“เรากำลังเจรจาบริษัทญี่ปุ่นขอให้มาติดตั้งให้เราฟรีไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ น่าจะได้ปีหน้า และจะมีเรื่องของเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะตามมา”
แหล่งข่าวบอกด้วยว่า วันนี้สิ่งที่ทีมผู้บริหาร กทม.ชุดนี้ สบายใจคือเรื่องของคนหรือข้าราชการ กทม.ที่ต้องเรียกว่าสามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้โดยไม่คิดว่า คนนี้เป็นคนของผู้บริหารคนเก่า จึงไม่ให้ความร่วมมือกับผู้บริหาร กทม.ทีมใหม่ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น ได้สะท้อนความร่วมมือและบุคลากร กทม.ได้เป็นอย่างดี เพราะทุกเขตมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมเพราะ กทม.ยังมีปัญหาใหญ่อีกที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขต่อเนื่องกับปัญหาน้ำท่วมคือปัญหาจราจร
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการจะแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมนั้นจะได้ผล เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนหนักอยู่ที่ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งวันนี้รัฐบาล 3ป.กองทัพบก กรมชลประทาน และทุกหน่วยงานต่างพร้อมช่วย กทม.ไม่ให้เผชิญมหันตภัยน้ำท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน!?
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv