xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ “กรณ์” ย้ายเข้า “ชาติพัฒนา” ปิดจุดอ่อน 2 พรรค-ไม่เข้าข่ายครอบงำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นักวิชาการ” ชี้ปัจจัยที่ทำให้ “กรณ์” และสมาชิกพรรคกล้า ย้ายเข้า “ชาติพัฒนา” เผยเป็นการปิดจุดอ่อนที่ได้ประโยชน์ทั้งสองพรรค หมายสู้ศึกเลือกตั้ง ฟันธงไม่เข้าข่าย “ครอบงำพรรค” เพราะลาออกจากสังกัดเดิมแล้ว “รศ.ดร.พิชาย” ระบุหากชูนโยบายแก้ปัญหาราคาพลังงาน คะแนนนิยมจะเพิ่มขึ้น แต่จะทำได้จริงต้องเป็นพรรคขนาดใหญ่ ด้าน “รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” ลั่นประชาชนหมดศรัทธาต่อนโยบายการเมือง เหตุไม่มีพรรคไหนทำตามที่หาเสียง

กรณีที่ “นายกรณ์ จาติกวณิช” อดีตหัวหน้าพรรคกล้า ย้ายไปเป็นหัวหอกทีมเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนา พ่วงด้วย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า ที่ย้ายตามไปพร้อมกัน ได้สร้างความฮือฮาให้คอการเมืองเป็นอย่างมาก หลายคนอยากรู้ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้แกนนำที่ก่อตั้งพรรคกล้ามากับมืออย่างนายกรณ์ตัดสินใจเช่นนั้น?

และอะไรที่ทำให้ “นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา” ออกโรงเปิดดีลดึงนายกรณ์ มาเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค เป็นเพราะหมุดหมายที่จะชูธงเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นนโยบายหลักของพรรคชาติพัฒนาในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างเดียวเท่านั้นหรือไม่?

ที่สำคัญการประกาศจับมือระหว่างนายกรณ์และประธานพรรคชาติพัฒนาจะเข้าข่าย “ครอบงำพรรค” ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่? เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต่างจับตา

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้นายสุวัจน์ ประธานพรรคชาติพัฒนา ดึง นายกรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคกล้า ไปร่วมเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนา เนื่องจากพรรคชาติพัฒนามีฐานคะแนนเสียงแค่ในระดับ ส.ส.เขต แต่มีจุดอ่อนตรงที่ขาดบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับชาติที่จะเป็นแรงดึงดูดให้พรรค โดยเฉพาะคนที่มีฝีมือด้านเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถดึงคะแนนจากคนชั้นกลางให้สนับสนุนพรรคชาติพัฒนาได้ พรรคจะได้คะแนนเฉพาะในพื้นที่รอบนอก ดังนั้น คงมีการหารือกันในพรรค และไปดึงนายกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและมีชื่อเสียงระดับชาติมาเป็นทีมเศรษฐกิจเพื่อปิดจุดอ่อน

ขณะที่พรรคกล้า มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้มีฐานเสียงระดับเขตมากนัก มีฐานเสียงระดับเขตในกรุงเทพฯ อยู่บ้างแต่ก็น้อยมาก คือมีภาพในด้านกว้างอย่างเดียวแต่ขาดฐานระดับเขต นายกรณ์ คงประเมินแล้วว่าพรรคกล้าคงยากที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงเป็นเหตุผลที่นายกรณ์ ย้ายมาร่วมงานกับพรรคชาติพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นายกรณ์ ในการเข้าสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า
รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่าจะมีสมาชิกพรรคกล้าย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนาอีกหลายคน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อทั้งสองพรรค เนื่องจากเดิมชาติพัฒนาไม่ได้มีภาพระดับกว้างเลย โดยจะเห็นว่าการสำรวจความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองของ “นิด้าโพล” ในช่วงที่ผ่านมานั้น ผลโพลที่ออกมาไม่เคยปรากฏชื่อพรรคชาติพัฒนาแต่อย่างใด ขณะที่พรรคกล้านั้นมีชื่อปรากฏในโพลอยู่ ดังนั้นหากสมาชิกพรรคกล้าไปรวมกับพรรคชาติพัฒนา โดยในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะใช้ชื่อพรรคชาติพัฒนา หรือชื่อพรรคใหม่ เช่น พรรคกล้าพัฒนาชาติ ตามที่นายกรณ์ เสนอในแฮชแท็กทวิตเตอร์ ก็จะช่วยเติมเต็มและเป็นการปิดจุดอ่อนของแต่ละพรรค ทำให้พรรคที่เกิดจากการรวมกันมีโอกาสทางการเมืองมากขึ้น ในทางกลับกันถ้ายืนหยัดกับพรรคเดิม ทั้งพรรคชาติพัฒนาและพรรคกล้าต่างไม่มีโอกาสที่จะช่วงชิงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“เชื่อว่าการดึงคุณกรณ์ ไปร่วมงานจะทำให้พรรคชาติพัฒนามีคะแนนเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีคะแนนนิยมจากชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนคุณกรณ์ โดยจากผลโพลคุณกรณ์ มีคะแนนนิยมอยู่ประมาณ 6-7% การจับมือกันจึงเป็นความพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสนามเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งขันที่เข้มข้น และนอกจากคุณกอร์ปศักดิ์ ที่ตามคุณกรณ์ไปเข้าสังกัดพรรคชาติพัฒนาแล้ว หากคุณอรรถวิชช์ (อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า) หรือสมาชิกพรรคกล้าคนอื่นๆ ตามมาอีกโอกาสทางการเมืองของพรรคชาติพัฒนาจะเพิ่มขึ้น อย่างคุณอรรถวิชช์ มีฐานเสียงในกรุงเทพฯ ระดับหนึ่ง คะแนนของชาติพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ คงจะเพิ่มขึ้น และทำให้พรรคชาติพัฒนามีโอกาสทางการเมืองมากขึ้น” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

สำหรับวิธีในการรวมกันของพรรคกล้า และพรรคชาติพัฒนานั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า จะไม่ใช่การควบรวมพรรค เนื่องจากปัจจุบันพรรคชาติพัฒนามี ส.ส.ในสภา ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน จะยุบพรรคไปควบรวมกับพรรคอื่นไม่ได้ วิธีที่ทำได้คือนายกรณ์ และสมาชิกพรรคกล้าสามารถลาออกจากพรรคและย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา

รศ.ดร.พิชาย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรณ์ ไปร่วมแถลงข่าวกับนายสุวัจน์ เพื่อประกาศจุดยืนว่าจะเข้าทีมเศรษฐกิจกับพรรคชาติพัฒนา ว่า ไม่ถือเป็นการครอบงำพรรค เนื่องจากนายกรณ์ ยืนยันว่าได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคกล้าแล้ว อีกทั้งพฤติการณ์ไม่เข้าข่ายการชี้นำพรรคชาติพัฒนาแต่อย่างใด เนื่องจากนายกรณ์ แสดงท่าทีว่าจะเข้าเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนา ซึ่งต่างจากกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย แต่ในทางปฏิบัติยังมีบทบาทในการชี้นำการดำเนินงานของพรรคอยู่

“นายกรณ์ จาติกวณิช” อดีตหัวหน้าพรรคกล้า เคลื่อนไหวเรื่องปัญหาราคาน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นายกรณ์ ซึ่งเคยขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานมาอย่างต่อเนื่องอาจจะชูเรื่องการแก้ปัญหาพลังงานให้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนานั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า การชูประเด็นนี้จะทำให้พรรคชาติพัฒนามีโอกาสทางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุดคือเรื่องราคาพลังงาน เพราะชาวบ้านอยากให้ราคาพลังงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊สหุงต้ม หรือราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้มีโครงสร้างราคาที่ทำให้ราคาจำหน่ายสูงเกินจริง ถ้าพรรคการเมืองไหนชูประเด็นนี้และมีความแน่วแน่ว่าจะแก้โครงสร้างราคาพลังงานให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมมากขึ้นซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานลดลงมาระดับหนึ่ง จะได้ใจประชาชน

อย่างไรก็ดี ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นประชาชนไม่ได้มองประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จะดูภาพรวม การที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจต้องเป็นประเด็นที่แหลมคมและตรงกับความต้องการของประชาชนจริงๆ เช่นเดียวกับที่พรรคไทยรักไทย (หลังจากถูกยุบพรรคจึงเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคพลังประชาชน และเพื่อไทยในปัจจุบัน) เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต

“โครงสร้างราคาพลังงานเป็นโครงสร้างอำนาจที่แข็งมากและมีอิทธิพลมาก ดังนั้นแม้จะเสนอนโยบายนี้แต่ประชาชนอาจจะไม่เชื่อว่าสามารถทำได้จริง ที่สำคัญพรรคที่จะทำเรื่องนี้ได้จะต้องมีเสียงข้างมากในสภา พรรคเล็กๆ ไม่มีโอกาสที่จะทำ และปัจจุบันพรรคชาติพัฒนายังถือว่าเป็นพรรคขนาดเล็กอยู่ แม้ว่าสมาชิกพรรคกล้าทั้งหมดจะย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา คะแนนเสียงไม่รู้ว่าจะได้ถึง 15 เสียงหรือเปล่า” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การชูประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาพลังงานที่พรรคชาติพัฒนาอาจนำเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้านั้น ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนน้อยมาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียง เพราะที่ผ่านมาเมื่อได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วแต่ละพรรคไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้พรรคที่ให้ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือพรรคที่จ่ายเงิน มากกว่าจะเลือกจากนโยบายของพรรค

การขายนโยบายจะมีผลต่อการลงคะแนนเสียงของชั้นชนกลางที่อยู่ในเมืองหรือในกรุงเทพฯ แต่แทบจะไม่มีผลต่อคนที่อยู่ในชนบท ซึ่งฐานเสียงของพรรคชาติพัฒนานั้นส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่วนฐานเสียงที่เป็นชนชั้นกลางมีน้อยมาก โดยเฉพาะฐานเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นไม่มีเลย และแม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ คะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้เป็นกอบเป็นกำคือคะแนนเสียงจากชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ขณะที่คะแนนเสียงของคนชั้นกลางนั้นจะกระจัดกระจาย อีกทั้งคนที่ไปลงคะแนนเสียงมากที่สุดไม่ใช่คนชั้นกลางอีก แต่เป็นชาวบ้านตามชุมชน

“นโยบายจะมีผลต่อคะแนนเสียงต่อเมื่อนโยบายนั้นๆ ได้ทำไปแล้ว และประชาชนเห็นว่าเขาได้ประโยชน์จากนโนบายดังกล่าว ต่อมาพรรคการเมืองนำผลงานจากนโยบายนั้นๆมาใช้ในการหาเสียง อย่างเช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก็สามารถนำมาหาเสียงว่าทางพรรคได้ทำไปแล้ว ถ้าพรรคไม่ได้เสียงข้างมากก็ขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไม่ได้ แต่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือกจากนโยบายเพราะเขาหมดความเชื่อถือบรรดาพรรคการเมืองแล้ว นโยบายสวยหรูแต่เลือกไปแล้วไม่ทำอย่างที่พูด เขาเลยหันมาเลือกพรรคที่จ่าย คิดดูเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านยังหัวละ 1,000 บาทเลย แล้วเลือก ส.ส.จะหัวละเท่าไหร่” รศ.ดร.ณรงค์ ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น