xs
xsm
sm
md
lg

สกัดผีน้อยเข้า ‘เชจู’ ต้องผ่าน K-ETA วุ่นยึดเงินประกันหนีทัวร์ ที่แท้เป็นค่าลงร้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผีน้อยสบช่องใช้ "เชจู" ไม่ต้องลง K-ETA เข้าเกาหลีในคราบนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ขอเก็บค่าประกันโดดทัวร์เพิ่มอีก 1 หมื่น ใครโดน ตม.ปฏิเสธไม่ได้คืน คนเที่ยวจริงซวยไปด้วย วงในเผยรู้ๆ กันใครไปเพื่อโดด สูตรนี้มีมานานแล้ว ส่วนค่าหนีทัวร์หนึ่งในนั้นเป็นค่าเสียหายจากลูกค้าไม่ได้ลงร้าน เพราะทัวร์เชจูเป็นทัวร์ถูกลงร้านไม่ต่ำกว่า 5-6 ร้าน แนะถ้าเที่ยวจริงเลือกประเทศอื่นที่เงื่อนไขน้อย ล่าสุด เกาหลีปิดช่องใต้บังคับใช้ K-ETA ที่เชจูตั้งแต่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

จากกรณีที่กองตรวจคนเข้าเมือง ประเทศเกาหลีใต้ ปฏิเสธนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าประเทศเกือบยกลำของเครื่องบินที่เดินทางถึงเกาะเชจู ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2565 นับเป็นการสะท้อนถึงความเข้มงวดของทางการเกาหลีใต้ ที่ต้องการสกัดกั้นผู้ที่ต้องการเข้าไปค้าแรงงานแบบผิดกฎหมายในคราบของนักท่องเที่ยว

แถมยังมีเรื่องราวฟ้องร้องกันตามมา ระหว่างลูกทัวร์ที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้กับบริษัททัวร์ที่ให้บริการ

เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ทุกประเทศต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว เร่งผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดเอาเม็ดต่างชาติเข้ามาช่วยฟื้นกำลังซื้อในประเทศ เกาหลีใต้เป็นประเทศปลายทางยอดนิยมแห่งหนึ่งของคนไทยที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว รวมไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย

“เชจู” ช่องโหว่

ตอนที่เกาหลีใต้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับสิทธิไม่ต้องขอ Visa แต่ต้องลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ K-ETA ครั้งนี้ก็สร้างความฮือฮากันมากเพราะมากกว่า 90% ไม่ผ่านการอนุมัติ ทำให้หลายคนเปลี่ยนความสนใจหันไปมองหาประเทศที่ไม่เข้มงวด เดินทางสะดวก เวียดนาม สิงคโปร์จึงกลายเป็นประเทศที่หลายคนเลือกเดินทางในช่วงที่ผ่านมาเพื่อชดเชยช่วงที่ไม่สามารถเดินทางได้จากพิษโควิด

จากนั้นเกาหลีใต้มีนโยบายให้เกาะเชจูสามารถรับนักท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องลง K-ETA เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แต่เที่ยวบินจากไทยไปเชจูเริ่มเดือนสิงหาคม ทำให้เส้นทางเชจูกลายเป็นเส้นทางที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกเดินทาง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยจำนวนหนึ่งต้องการเดินทางไปทำงานนอกระบบที่เกาหลีใต้ เนื่องจากค่าแรงสูง มีทั้งเดินทางเองแต่เสี่ยงที่จะถูกสกัดจาก ตม.เกาหลีใต้ หลายคนจึงยอมเปลี่ยนรูปแบบด้วยการซื้อทัวร์มาในคราบนักท่องเที่ยว ใครดวงดีก็รอด วิธีนี้ใช้กันมาเป็นสิบปีแล้วเช่นกัน

ช่วงโควิด แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานผิดกฎหมายเดินทางกลับมาค่อนข้างเยอะ เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย แถมประตูที่เกาะเชจูเปิดกว้าง เที่ยวบินจากไทยไปเชจูจึงมีนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ จนเกิดปัญหาที่ ตม.เกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองเกือบยกลำ

แน่นอนว่าในจำนวนนี้อาจมีผู้ที่ต้องการไปท่องเที่ยวจริงๆ ถูกปฏิเสธเข้าประเทศรวมอยู่ด้วย กลายเป็นฝันร้ายของคนอยากเที่ยว


ให้เข้า-ไม่ให้เข้าอำนาจ ตม.

อันดับแรกเราต้องยอมรับกติกาสากลก่อน อำนาจในการอนุญาตให้บุคคลใดเข้าประเทศนั้นๆ อยู่ที่การพิจารณาของฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของประเทศนั้นเหมือนกันทุกประเทศ บริษัททัวร์ หรือไกด์ไม่มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ ตม.

ประการต่อมา คนไทยใช้ช่องทางความเป็นลูกทัวร์ในการหลบหนีเข้าเมืองมาโดยตลอด จึงทำให้กรุ๊ปทัวร์จากไทยถูกจับตาเป็นพิเศษ ขนาดคนดังในวงการบันเทิงก็เคยถูกเรียกเข้าห้องเย็นที่ ตม.เกาหลีกันมาหลายคน เมื่อเกาะเชจูเปิดเข้าเกาหลีโดยไม่ต้องลง K-ETA ตม.เขาก็รู้ว่าช่องทางนี้มีแรงงานไทยที่ต้องการเข้าเกาหลีมามากแน่ๆ จึงเข้มงวดในด่านนี้เป็นพิเศษ

ที่จริง ตม.เกาหลีเคยมีอยู่ที่ประเทศไทยคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง ถ้าสแกนพลาดจะไปวัดกันที่ปลายทาง คนที่เคยไปเกาหลีมาแล้วแบบท่องเที่ยวไม่กี่วันแล้วกลับนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะข้อมูลจะขึ้นปรากฏ แต่ประเภทที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศเลย เลือกเกาหลีเป็นที่แรกในช่วงนี้ หรือเคยลง K-ETA แล้วไม่ผ่าน เป็นลูกทัวร์แบบพักคนเดียว ประเภทนี้ ตม.จะเข้มงวดเป็นพิเศษ เท่าที่ทราบตอนนี้ ตม.เกาหลีดูไปถึงภูมิลำเนาของลูกทัวร์ว่ามาจากจังหวัดหรือภาคใดของไทย

ไกด์รับรองพลาด-แบนตลอดชีวิต

หนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดกับเส้นทางเกาหลีกล่าวว่า การซื้อทัวร์ทุกวันนี้ไม่มีใครเห็นหน้าใคร คนที่จะไปกับลูกทัวร์คือไกด์ ซึ่งจะเห็นลูกทัวร์เมื่อถึงวันเดินทาง แต่บางทริปอาจไม่มีไกด์ตามไป ด้วยประสบการณ์ที่ทำทัวร์เส้นทางนี้มา เราเห็นหน้าลูกทัวร์เราก็ประเมินได้แล้วว่าคนนี้โดดหรือไม่โดด แต่คงไม่ถูกทุกราย

คนที่แฝงตัวเข้าไปเป็นนักท่องเที่ยว แต่เป้าหมายคือต้องการไปค้าแรงงานที่เกาหลี ทุกคนต้องบอกว่า ฉันต้องการมาเที่ยว ตม.ทำแบบนี้ไม่ถูก ไกด์-บริษัททัวร์แย่ไม่ให้ความช่วยเหลือลูกทัวร์ 

ถามว่าทำไมไกด์ไม่ช่วยลูกทัวร์ เราไม่สามารถช่วยลูกทัวร์ได้ทุกราย เพราะเงื่อนไขในการเซ็นรับรองลูกทัวร์นั้น หากรับรองแล้วลูกทัวร์รายนั้นหนี ไกด์จะถูกทางการเกาหลีแบนตลอดชีวิต แต่เราจะดูบางรายที่มั่นใจว่าเขาเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ จึงเซ็นรับรองให้ ตอนนี้เส้นทางเชจูมีลูกทัวร์ในลักษณะที่แฝงมาทำงานเยอะ ไกด์มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน

ไม่อยากเจอปัญหาเปลี่ยนประเทศเที่ยว

โอกาสที่ ตม.จะสแกนพลาด ทำให้นักท่องเที่ยวจริงๆ ไม่ได้เข้าประเทศ หรือปล่อยแรงงานในคราบนักท่องเที่ยวผ่านไปได้ก็มีเช่นกัน อย่าลืมว่าช่วงโควิดแรงงานต่างชาติกลับประเทศไปเยอะ ในเกาหลีเองก็ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเช่นกัน รายที่หลุดรอดไปได้จะกลายเป็นแรงงานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งพวกเขาจะมีเครือข่ายอยู่แล้ว ขอให้ผ่าน ตม.ให้ได้เท่านั้น

ส่วนคนที่ต้องการท่องเที่ยวจริงๆ แต่ถูกปฏิเสธ เชื่อว่าคงเสียความรู้สึกไปไม่น้อย แต่ลองกลับไปตรวจสอบดูว่ามีอะไรบ้างที่น่าจะเป็นเหตุให้ ตม.ไม่อนุมัติ หรือถ้าไม่คิดอะไรมากก็ไม่ต้องสนใจเกาหลีอีกเลย เปลี่ยนเป้าไปเที่ยวประเทศอื่นแทน

การเลือกประเทศเพื่อท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องความชอบของแต่ละบุคคล การที่จะตัดสินใจเลือกประเทศที่จะต้องเที่ยวก็ต้องดูเรื่องเงื่อนไขในหลายๆ ด้านประกอบกัน ประเภทเข้ายาก เงื่อนไขเยอะ หรือประเทศปลายทางเหยียดเอเชีย เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ดีกว่าได้ไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า

“คนที่เคยไปทัวร์เชจูมาแล้วจะทราบดีว่า 4 วัน 2 คืน คุณจะต้องเข้าร้านค้าที่กำหนด 5-6 ร้านค้า ที่นั่นเป็นเกาะเล็กๆ สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งใช้เวลาเดินทางไม่นาน นี่จึงเป็นที่มาว่าทัวร์เชจูมีราคาค่อนข้างถูก อันนี้ก็แล้วแต่ลูกค้าจะตัดสินใจ”


แจ้งล่วงหน้าเก็บ 1 หมื่น

แต่ทัวร์เชจูที่เป็นปัญหาในเวลานี้คือมีเงื่อนไขเก็บเงิน 1 หมื่นบาทต่างหากไม่เกี่ยวกับราคาทัวร์ เพื่อเป็นการประกันว่าไม่หนีทัวร์ และจะคืนให้เมื่อเดินทางตามโปรแกรม พร้อมกับเรียกเก็บค่าทิปไกด์อีกราว 1,200 บาท ผู้ที่ถูกตม.เกาหลีปฏิเสธได้ร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นี่คือข้อความแจ้งเตือนให้ลูกค้าได้ทราบ เนื่องจากทางแลนด์เกาหลี ได้รับแจ้งเตือนหลายครั้งจากกองตรวจคนเข้าเมืองประเทศเกาหลีใต้ และจากสายการบิน เรื่องผู้แอบแฝงมาเป็นนักท่องเที่ยว แต่ไปด้วยวัตถุประสงค์อื่น เช่น ไปทำงาน แรงงานผิดกฎหมาย ดังนั้นโปรแกรม JEJU ทางแลนด์เกาหลีจำเป็นต้องเก็บค่าประกันเพื่อให้ลูกค้าไปกลับพร้อมกรุ๊ปเท่านั้น เป็นจำนวนเงิน (10,000 บาท/350,000 won) หากลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ เดินทางท่องเที่ยวพร้อมกรุ๊ปและกลับพร้อมกรุ๊ปตามโปรแกรมที่กำหนด สามารถขอรับเงินประกันนี้คืนเต็มจำนวน

ดังนั้น จึงใคร่ขอความร่วมมือจากลูกค้าปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว (ขอสงวนสิทธิไม่คืนเงินประกันกรณีลูกค้าไม่ผ่านกองตรวจคนเข้าเมือง หรือกรมแรงงานทั้งที่ประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้) หากท่านถูกเจ้าหน้าที่ตม.เกาหลีกักตัวไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างถูกกักตัวและส่งตัวกลับประเทศไทยลูกค้าจะต้องเป็นผู้ชำระเองทั้งหมด

จึงเป็นที่มาของการร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการท่องเที่ยว เพื่อขอคืนเงินที่เรียกเก็บเพิ่ม 1 หมื่นบาท และค่าทิปไกด์ 1,200 บาท รวมถึงมีการร้องไปถึงทนายความชื่อดังเพื่อขอให้ช่วยดำเนินคดี หลังจากที่ถูกตม.เกาหลีปฏิเสธจำนวนมาก

ก็น่าเห็นใจสำหรับผู้ที่ต้องการไปท่องเที่ยวจริงๆ ที่ถูกปฏิเสธเข้าประเทศ แถมยังต้องถูกยึดเงินประกันอีก 1 หมื่นบาทด้วย เรื่องนี้ทาง สคบ.รับทราบเรื่องแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบข้อมูล


แฉ 1 หมื่นรวมค่าลงร้าน

ทัวร์เชจู มีรายใหญ่ที่เป็นผู้ออกโปรแกรมและกำหนดราคาไว้ ทำตลาดทั้งขายเองและส่งให้เอเยนต์ทัวร์ช่วยขาย อย่างการร้องเรียนของลูกทัวร์ที่ถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีนั้น ลูกค้าซื้อกับใครก็ต้องร้องกับผู้ขายทัวร์รายนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่เก็บเงินหน้างานก่อนเดินทางจริงๆ คือรายใหญ่ที่ออกโปรแกรม ดังนั้นต้องไปไล่กันที่รายใหญ่ที่ออกโปรแกรม ซึ่งคนในวงการทราบว่าเป็นค่ายใด

ค่าประกันหนีทัวร์นั้นถูกหยิบยกขึ้นมาเพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นที่ตามมาจากการถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้ เช่น เรื่องค่าเครื่องบินหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ในตอนส่งตัวลูกทัวร์ที่ไม่ผ่าน ตม.กลับประเทศไทย

คนในวงการทัวร์กล่าวว่า “เขาพูดไม่หมด อย่างเรื่องตั๋วเครื่องบินถึงอย่างไรการไปกับทัวร์ก็ต้องมีตั๋วขากลับพร้อมอยู่แล้ว ไม่ได้จ่ายเพิ่ม อย่างมากอาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มจากเปลี่ยนวันเดินทาง การส่งกลับนั้นขึ้นอยู่กับสายการบินว่ามีเที่ยวบินมากน้อยแค่ไหน อาจได้กลับในวันที่ถูกปฏิเสธ วันรุ่งขึ้นหรือต้องกลับตามกำหนดเดิม”

เราประเมินว่าที่ต้องเรียกเก็บค่าประกันหนีทัวร์หลักหมื่นนั้น น่าจะเป็นค่าเสียโอกาสทางธุรกิจมากกว่า คนที่อยู่วงการทำทัวร์ย่อมทราบดีว่า ราคาที่ขายเชจูที่หมื่นต้นๆ นั้น ทำไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนอื่น แถมบางช่วงต่ำกว่าหมื่นบาท ต้นทุนจริงของเชจู 4 วัน 2 คืนเกินกว่า 2 หมื่นบาทแน่ๆ

ที่ราคาลงมาได้เป็นเพราะเงื่อนไขที่ลูกทัวร์ต้องเข้าร้านค้าที่กำหนด คนที่เคยไปแล้วจะทราบดีว่าช่วงเวลาสั้นๆ อย่างนี้ เขาจัดให้เข้าร้าน 5-6 แห่ง สินค้าบางอย่างเสนอขายแพงมาก แม้จะไม่บังคับซื้อ แต่ลูกทัวร์ที่ไปพอจะรู้วัฒนธรรมก็ซื้อบ้างในบางร้านที่ไม่แพงหรือใช้อยู่แล้ว ซึ่งทัวร์พาเข้าร้านส่วนใหญ่จะมีที่จีนและเกาหลีใต้เป็นหลัก

ในโปรแกรมทัวร์จะแจ้งเสมอว่าขอความร่วมมือลูกทัวร์เข้าร้านตามโปรแกรม ไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่ถ้าใครไม่เข้าร้านทางทัวร์ขอเรียกเก็บเงินเพิ่ม สูตรนี้คล้ายๆ กับทัวร์ 0 เหรียญ ค่าทัวร์ไม่แพงแลกกับต้องเข้าร้านที่กำหนด รายได้หลักขึ้นอยู่กับลูกทัวร์หากซื้อมากก็ดีไป

เมื่อลูกทัวร์ถูกปฏิเสธจาก ตม. จำนวนลูกค้าที่จะเข้าร้านตามโปรแกรมก็ลดลงไปมาก สูตรนี้เรียกเก็บเงิน 1 หมื่นบาท จึงน่าจะเป็นการแก้ปัญหาลูกทัวร์ถูกปฏิเสธเข้าประเทศ ช่วยให้ร้านค้าปลายทางเสียหายน้อย

“เงิน 1 หมื่นนั้นมีทั้งเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ และรวมไปถึงค่าเสียหายจากการที่ลูกทัวร์หายไปไม่ได้เข้าร้านค้าตามโปรแกรม เรายืนยันว่าลูกทัวร์ที่ถูกปฏิเสธ 1 รายมีความเสียหายเกินกว่า 1 หมื่นบาท” แหล่งข่าวในบริษัททัวร์ต้นทางให้ข้อมูล


อย่างไรก็ตาม ทางการเกาหลีใต้ได้กำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางไปเกาะเชจู ต้องลงทะเบียนผ่าน K-ETA และได้รับอนุญาตก่อนการเดินทาง เริ่ม 1 กันยายน 2565 แน่นอนว่าเป้าหมายจริงคือลดจำนวนผู้ที่จะหลบหนีเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความผิดหวังของผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวจริงๆ ที่ไม่ผ่าน ตม. และยังลดปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินประกันหนีทัวร์ของบริษัททัวร์ได้อีกทางหนึ่ง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น