xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ถ้านายกฯ ยังเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลาย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ระบุราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้คนไทย “จนลง” เตือน หากประชาชนเข้าตาจนจะลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาล ด้าน “รศ.ดร.ณดา” ชี้การลงทุนขยายตัวยาก เหตุราคาพลังงาน-ค่าแรงขึ้น การบริโภคภาคครัวเรือนหดตัว จากราคาสินค้าแพง การใช้จ่ายภาครัฐลดลงเพราะมีภาระหนี้ แต่ส่งออกและท่องเที่ยวยังมีหวัง ขณะที่ “อดีต รมว.คลัง” ชี้รัฐบาลต้องหยุดใช้เงินกู้แบบล้างผลาญ หยุดการ “กู้มาแจก” ซึ่งกำลังนำประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

ในภาวะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายอย่างปรับตัวสูงขึ้น สินค้าและบริการพาเหรดกันขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ที่เบนซินขึ้นไปถึงลิตรละ 45 บาทกว่า ขณะที่ดีเซลอยู่ที่ลิตรละประมาณ 35 บาท ค่าไฟฟ้า ซึ่งขึ้นราคามหาโหด จากการปรับขึ้นค่า Ft ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 4.03 บาทต่อหน่วย เป็น 6.12 บาทต่อหน่วย แก๊สหุงต้ม (ขนาด 15 กก.) ที่ปรับขึ้นราคาถึงถังละ 15 บาท ทำให้ราคาขยับจากถังละ 378 บาท ไปอยู่ที่ 393 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าขนส่งแล้วทำให้ประชาชนต้องซื้อแก๊สหุงต้มในราคาที่สูงถึงถังละ 400 กว่าบาท ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี และล่าสุด กระทรวงแรงงานประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ 65 จังหวัด ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท โดยเริ่มมีผลในวันที่ 1 ต.ค.2565 นี้

ทำให้ประชาชนต่างหวั่นวิตกว่าต่อจากนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยจะเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด?

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาแก๊สหุงต้มที่ปรับตัวสูงขึ้นล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง คนจนได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นการซ้ำเติมประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ได้ประโยชน์มีแค่บริษัทพลังงาน และผู้ถือหุ้นซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ดังนั้น รัฐบาลต้องระมัดระวังในการอนุมัติให้ขึ้นราคาสินค้าเหล่านี้

ซึ่งราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อนจะส่งผลให้คนไทยจนลงเรื่อยๆ เพราะเงินที่หามาได้จำเป็นต้องนำไปใช้จ่ายเป็นค่าพลังงานในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อคนไทยจนลง ประเทศไทยก็จนลงด้วย และเมื่อประชาชนเข้าตาจนจะลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาล ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะจะช่วยให้กลุ่มที่มีรายได้น้อยมีรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น สามารถสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้

“ต้องพูดตรงๆ ว่าการบริหารราคาพลังงานของรัฐบาลแย่มาก ทั้งที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารจัดการเพื่อให้กำไรของพวกเสือนอนกิน หรือบริษัทที่ผูกขาดพลังงานลดลง และช่วยลดภาระของประชาชน แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำเลย แทนที่จะไปลดกำไรของกลุ่มทุนผูกขาด กลับโยนภาระให้ประชาชนทั้งหมดผ่านการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยบอกว่าเป็นการพยุงราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่จริงๆ แล้วเป็นการสร้างภาระหนี้ให้ประชาชน ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนน้ำมัน คือกู้เงินมาใส่กองทุนน้ำมันเพื่อให้กลุ่มทุนได้กำไรเท่าที่ต้องการ แล้วโยนภาระให้ประชานใช้หนี้” นายธีระชัย ระบุ


การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี อดีต รมว.คลัง มองว่า ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อนั้นหากปรับขึ้นมากไปจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงต้องปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับขึ้นพรวดพราดแบบสหรัฐฯ ทำให้ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยยังอ่อนตัวอยู่ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว

เวลาที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นนั้นแน่นอนว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ดังนั้น แต่ละประเทศจึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรง แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยในช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ได้ร้อนแรง แต่เป็นปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าประเภทพลังงานและปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ดีถ้าเราขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากๆ จะทำให้การบริหารเศรษฐกิจทำได้ยาก ผลกระทบจะตกกับผู้มีรายได้น้อย

“คิดว่าการที่แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่มากนักและในอนาคตเชื่อว่าหากแบงก์ชาติจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกคงไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่ต้องทำควบคู่กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล” นายธีระชัย กล่าว

รศ.ดร.ณดา จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ด้าน รศ.ดร.ณดา จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประเมินสภาวะเศรษฐกิจไทยไทยในปีนี้ ว่า สามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างชัดเจน โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ว่าขยายตัวกว่าร้อยละ 2.5 เพิ่มจากไตรมาสที่ 1 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.3 สำหรับไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงไฮซีซันซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยจำนวนมาก ส่งผลให้ไทยมีรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มีหลายปัจจัยที่เป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าเกษตรต่างปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งไทยยังมีเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะมีผลต่อการลงทุน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีทิศทางที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะควบคุมเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นั้นจะมีผลต่อการลงทุนในประเทศด้วยเพราะเงินทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ แรงกดดันทางเศรษฐกิจของไทยจึงมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 ไม่ดีนัก


รศ.ดร.ณดา ชี้ว่า หากประเมินจากเครื่องจักร 4 ตัวที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกและภาคบริการ จะพบว่า

1) การลงทุนของภาคเอกชนยังเป็นไปได้ยาก อาจมีการขยายตัวบ้างแต่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเจอแรงกดดัน 3 เรื่องพร้อมๆ กัน คือ ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ ตรงนี้ทำให้นายจ้างอาจจะควบคุมต้นทุนด้านการจ้างงาน

2) การบริโภคภาคครัวเรือนเริ่มลดลง ซึ่งการจะกระตุ้นการบริโภค หรือเพิ่มการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนทำได้ยาก เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อมีน้อยลง อีกทั้งยังเจอปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมากตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดเป็นต้นมา

3) การใช้จ่ายภาครัฐ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแม้ภาครัฐจะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายงบประมาณแบบขาดดุล มีการกู้ยืมมาเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด แม้ความสามารถในการหารายได้จะสูงขึ้น แต่ด้วยความที่ภาระหนี้สาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้นมากพร้อมกับภาระดอกเบี้ย การที่รัฐจะใช้งบประมาณขาดดุลแบบต่อเนื่องยาวนานและเป็นจำนวนมากคงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของการรักษาวินัยทางการคลัง ดังนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐคงทำได้ไม่มากนัก

4) ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวมีแนวโน้วที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงซึ่งทำให้ราคาสินค้าของไทยในสายตาต่างชาติมีราคาถูกลง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมองว่าสามารถเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยในราคาถูกจึงเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยว โดยเฉพาะไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ต้องมีมาตรการดูแลและป้องกันโรคระบาดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายโรค ทั้งโควิด ฝีดาษลิง ไข้มะเขือเทศ ดังนั้น การส่งออกและภาคการท่องเที่ยวจึงน่าจะเป็นตัวดึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

“จะเห็นว่าเครื่องจักร 4 ตัวทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะทุกตัวมีข้อจำกัด คงมีแต่ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกจึงน่าจะเป็นตัวดึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.7-3.0 ซึ่งสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.7-3.2 แต่ด้วยสถานการณ์ดอกเบี้ยก็ดี ราคาน้ำมันก็ดี ราคาสินค้าก็ดี ภาวะเงินเฟ้อก็ดี อัตราการเติบโตไม่น่าจะไม่ถึงร้อยละ 3” รศ.ดร.ณดา กล่าว


อย่างไรก็ดี ปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังวิตกกันคือตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยที่ปรับตัวสูงแบบก้าวกระโดด อดีต รมว.คลัง ชี้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กู้เงินซึ่งถือเป็นหนี้สาธารณะมาแจกให้ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค เช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งแม้ว่าเงินส่วนหนึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อย แต่เนื่องจากเป็นการแจกเงินแบบกว้างขวาง ไม่ได้เจาะจงเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ

ซึ่งหากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นชุดปัจจุบันและรัฐบาลในอนาคตถ้ายังคงสร้างหนี้เพื่อนำมาใช้อุปโภคบริโภค นอกจากจะส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแล้ว และมีปัญหาเงินเฟ้อจะเพิ่มแล้ว แบงก์ชาติไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และแม้ปัจจุบันตัวเลขหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) จะยังไม่สูงมาก แต่หากรัฐบาลยังกู้เพื่อบริโภคอย่างต่อเนื่องอาจทำให้รายได้ที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นด้วย

นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลกู้เงินแล้วนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความงอกเงย เป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถในการหาเงินของประเทศ อย่างนี้ไม่เป็นไร แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กู้มาแล้วนำมาลดแลกแจกแถม เป็นไปเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคอย่างเดียว ถ้าทำไปเรื่อยๆ มีแต่แย่ เงินหมุนรอบเดียวแต่ไม่ได้ก่อให้เกิด Productivity ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำมาหากิน ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง รายได้จากภาษีอากรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือรัฐบาลใหม่ต้องทบทวนการใช้เงินแบบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลต้องหยุดการใช้เงินกู้แบบผลาญ ใช้เงินแบบเผาทิ้ง แค่กู้มากินมาใช้ ซึ่งตรงนี้ต้องเลิก ถ้าไม่เลิก การแก้ปัญหาจะวนอยู่ในอ่าง สาละวันเตี้ยลงไปเรื่อยๆ สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศจะแย่ลงเรื่อยๆ เป็นหนี้หัวโต และกลายเป็นประเทศที่ล้มละลายในที่สุด แน่นอนว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงหวังอะไรมากไม่ได้ เพราะนโยบายต่างๆ คงจะเหมือนเดิม คงเหมือนกับลงบันไดเลื่อนไปเรื่อยๆ ประเทศเข้าใกล้การล้มละลายไปเรื่อยๆ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกมาครบ 8 ปีแล้ว ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีทีมเศรษฐกิจใหม่ อาจจะมีสายตามองเห็นธรรม” อดีต รมว.คลัง กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น