xs
xsm
sm
md
lg

‘บิ๊กตู่’ สั่ง ‘ครม.’ เร่งสร้างผลงาน-ลงพื้นที่ หวั่นเจอม็อบต้าน ‘แรมโบ้’ ชู 13 ผลงานปลุกคนรัก ‘ลุงตู่’!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาบิ๊กตู่ สั่งการในที่ประชุม ครม.ก่อนศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ให้ทุกกระทรวงต้องเร่งสร้างผลงานลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะ 7 กระทรวงหลัก ‘มท.-สธ.-ศธ.-อว.-ดีอีเอส-พม.-แรงงาน’ ต้องรีบดำเนินการ เพราะจากนี้ไปการลงพื้นที่จะต้องเจอม็อบต่อต้าน ส่งผลให้ทำงานยากขึ้น ยืนยันแม้สัญญาณใน พปชร.ยุบสภาก่อน มี.ค.2566 แต่ทุกคนต้องพร้อม ด้าน ‘แรมโบ้-อานนท์’ พรรคเทิดไท ชู 13 ผลงานรัฐบาลบิ๊กตู่ ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ มั่นใจบิ๊กตู่จะได้กลับมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี หรือ PMOC โพสต์คลิปผลงานรัฐบาลบิ๊กตู่ นำไปสู่เป้าหมาย#มั่นคง#มั่งคั่ง#ยั่งยืน ตอกเสาหลัก 3 รากฐานไทย!

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า การสิ้นสุดลงของตำแหน่งไว้วินิจฉัย และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.65 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น

จากนี้ไปเริ่มเข้าสู่โหมดของการวิเคราะห์ เจาะลึกในแง่ของมุมกฎหมายต่างๆ ว่า บิ๊กตู่ น่าจะมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ได้อีกหรือไม่? ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลว่าการสิ้นสุด 8 ปีจะอยู่ที่การนับวันดำรงตำแหน่ง 24 ส.ค.2557 จะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.2565

หรือจะเริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เม.ย.2560 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ซึ่งให้ ครม.เก่า เริ่มเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้ บิ๊กตู่ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย.2568

หรือจะนับจากวันที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เมื่อ 9 มิ.ย.2562 ตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีวาระครบ 8 ปี วันที่ 8 มิ.ย.2570

ส่วนบรรดากองเชียร์ที่รักบิ๊กตู่ ต่างเริ่มมีความหวังว่าบิ๊กตู่ จะได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะเป็นต่อได้อีกกี่ปีนั้น อยู่ที่ศาลจะวินิจฉัย ส่วนการที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น อย่างน้อยทำให้บิ๊กตู่ ได้พักผ่อน แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจจะ 1 หรือ 2 เดือนก็ตาม และยังช่วยลดแรงกดดันของม็อบกลุ่มต่างๆ ที่ชุมนุมขับไล่บิ๊กตู่ได้เช่นกัน




แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า สิ่งที่บิ๊กตู่ ย้ำในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา คือขอให้ทุกกระทรวงเร่งผลิตผลงานเพื่อพี่น้องประชาชน เพราะช่วงจากนี้ไปการลงพื้นที่ของรัฐบาลอาจจะต้องเผชิญแรงกดดัน หรือแรงต่อต้านจากม็อบกลุ่มต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ 7 กระทรวง ที่เคยมีการทำ MOU ในการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต พ.ศ.2565-2569 ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงแรงงาน ต้องร่วมมือกันทำงานให้มีผลงานออกมาต่อเนื่อง

“บิ๊กตู่ ต้องการสร้างสังคมและคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเน้นพัฒนาวัยเด็กหรือประถมวัย ต้องการสร้างงานให้คนเหล่านี้ อว.และแรงงานต้องเป็นหลัก เร่งผลิตงานให้ได้ เมื่อเข้าสู่วัยแรงงานเขาจะได้มีงานทำ และเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องไปดูไปจัดทำ คนสูงอายุที่มีศักยภาพยังทำงานได้ต้องมีงานป้อนให้เขา ส่วนในเรื่องบริการสุขภาพต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย 7 กระทรวงที่บูรณาการกันจึงต้องเร่งสร้างคน สร้างงานที่มีคุณภาพออกสู่สังคม”

นอกจากนี้ บิ๊กตู่ ยังได้เน้นย้ำในการพัฒนาประเทศตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปทุกพรรคต้องร่วมมือกันทำงานให้หนัก ลงพื้นที่กันให้มาก และเป้าหมายคือประชาชนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้สำเร็จ

“ถ้าเราสังเกตจะเห็นบิ๊กตู่ พี่น้อง 3 ป.และรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ถี่มาก เพราะพรรคเองไม่รู้ว่าจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้จะมีสัญญาณรับรู้กันในพรรคว่าน่าจะก่อนครบวาระเดือนมีนาคม 2566 ไม่กี่วันก็ตาม แต่ทุกคนต้องพร้อมเลือกตั้งตลอด ถ้ารัฐบาลมีผลงาน ทำงานให้ประชาชน โอกาสจะได้รับเลือกตั้งกลับมาย่อมเป็นไปได้สูง”




ขณะที่บิ๊กตู่ หลังศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น สังคมต่างจับตาดูกันว่าการประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 30 ส.ค.นั้น บิ๊กตู่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าประชุมหรือไม่ รวมไปถึงจะผลักดันผลงานอะไรออกมาในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ที่จะส่งผลดีต่อพื้นที่เลือกตั้งและประชาชนต่อไป

โดยต้องไม่ลืมว่าตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบิ๊กตู่ มีผลงานเชิงประจักษ์มากมายที่เป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลบิ๊กตู่ โดยเฉพาะโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ที่วันนี้กำลังเข้าสู่เฟส 5 จะเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ถือว่าเป็นโครงการที่โดนใจประชาชนมากที่สุด

โครงการคนละครึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนครึ่งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนวันละไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ในส่วนร้านค้าที่ร่วมโครงการจะมีรายได้เท่าเดิม คือครึ่งหนึ่งจากลูกค้า อีกครั้งหนึ่งรัฐบาลออกให้

“คนละครึ่งได้รับเสียงเชียร์เยอะ เพราะเป็นโครงการที่ประชาชนและร้านค้าขนาดเล็กได้ประโยชน์ แต่จะมีกระแสลบอยู่บ้างตรงที่ว่าร้านอาหารบ้างแห่งมีการปรับราคาสินค้าขึ้นบ้าง”

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ (แรมโบ้) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ด้านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ (แรมโบ้) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งวันนี้จับมือกับนายอานนท์ แสนน่าน ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันแห่งประเทศไทย และอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง 4 ภาค ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากการผลักดันของนายแรมโบ้ ได้ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายแกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงทุกภาค ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อ ‘พรรคเทิดไท’ เพื่อสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นรัฐบาลต่อไป

“เราสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่จนครบวาระ และต้องการให้ท่านได้เข้ามาบริหารประเทศอีก 1 สมัย เพื่อจะได้ช่วยเหลือประชาชนและพี่น้องเกษตรกรต่อไป เพราะตลอดเวลา 8 ปีตั้งแต่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ : คสช. จนถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2562 ได้สร้างผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะช่วยทำให้ประเทศก้าวหน้าและมั่นคง ทุกโครงการช่วยฟื้นฟูประเทศ ทำให้พี่น้องอยู่ดีกินดี จับต้องได้ทั้งนั้น”

แต่ถึงอย่างไรพวกเราต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะออกมาเช่นไรก็ตาม

แรมโบ้ บอกว่าโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลบิ๊กตู่ได้ทำขึ้นมานั้น พวกเราได้นำไปบอกให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ และทำความเข้าใจถึงผลงานของรัฐบาลที่พวกเราจะต้องสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาสานต่อโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะผลงาน 8 ปีที่บิ๊กตู่ทำไว้นั้น ประกอบด้วย

1.ขับเคลื่อนและสานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศและเป็นฐานการสร้างรายได้ การจ้างงาน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

พร้อมต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

2.โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ พัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย และ “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ


ในช่วง 4 ปีแรก (2561-2565) มีการเติบโตที่ดี และผลประโยชน์ตรงถึงประชาชน มีการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี ดึงเทคโนโลยีใหม่ ผ่านการลงทุน มีการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) มีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และมีการบูรณาการการลงทุนในชุมชน เป็นต้น

ที่สำคัญ ศูนย์นวัตกรรมสำคัญ เริ่มดำเนินการทั้ง EECi เสร็จระยะแรก กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV แบตเตอรี่ และ EECd ส่วน Digital Valley เปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 65 และนำไปสู่เป้าหมายของอีอีซี ในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-70) คือ เป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท (2566-70) โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท และ EEC น่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

3.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558-2562 ถึง 7.9% ต่อปี ดังนี้ ทางถนน จากปี 2557 มี 4,271 กิโลเมตร และปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด ทางราง จากปี 2557 ระยะทาง 4,073 กิโลเมตร ปัจจุบันมีแผนสร้างเพิ่ม ระยะเวลา 20 ปี จะมีระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม 5,640 กิโลเมตร

พร้อมสร้างสถานีกลางบางซื่อ เป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนทุกสายซึ่งจะมีความทันสมัยที่สุดในอาเซียน รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

ทางน้ำ เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 2557 ประมาณ 279 ล้านตัน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่พัทยา-หัวหิน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปีละ 4,000 ล้านบาท และทางอากาศ ปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 57 รองรับ 118 ล้านคน ปี 64 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน


4.โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยที่ 308 ล้านบิตต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก โครงการเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้านทั้งประเทศ โครงการสายเคเบิลใต้น้ำ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ พัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์

5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียมน้ำต้นทุนสำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้ง EEC รวมทั้งน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับทุกครัวเรือน การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผลลัพธ์ที่ได้รับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36,944 หมู่บ้าน ในปี 2556 และในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง

6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา ทั้งระดับอาชีวศึกษา เน้นเรียนจบมีงานทำ และระดับอุดมศึกษา มีการปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ปี 2562 ได้วางแนวทางส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

7.การแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อน EEC และเสริมทัพการศึกษายุคใหม่ ผลิตคนยุคใหม่เตรียมพร้อมสำหรับโลกปัจจุบัน และอนาคตรวมทั้งการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี


8.การแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤตโลก โดยในช่วงเริ่มการระบาดทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ

9.การรองรับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤตพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลได้ดูแลประชาชนเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ 10 มาตรการ ล่าสุด รัฐบาลได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้มีความไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อ โดยรัฐบาลบิ๊กตู่ ได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด


10.การแก้ไขหนี้ครัวเรือน รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยงเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ


11.นโยบายในการส่งเสริมและช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยทั่วกันภายในปี 2579 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลสั่งการให้การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สร้างบ้านเช่าราคาถูกราคา 999 บาท และสร้างบ้านพร้อมอาชีพ เพื่อช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยให้อยู่ได้

12.นโยบายประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตามปริมาณที่รัฐบาลเห็นว่าพอสมควร เช่น การประกันรายได้ในข้าว ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา เป็นต้น ซึ่งทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงขึ้นมาได้บ้าง

13.โครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการที่โดนใจประชาชนมากที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี หรือ PMOC ได้โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก พร้อมภาพคลิปวิดีโอผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ช่วง 8 ปีที่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลของคนไทย แตกต่าง ไม่แตกแยก และนำไปสู่ #มั่นคง #มั่งคั่ง #ยั่งยืน ตอกเสาหลัก 3 รากฐานไทย

นี่คือผลงาน 8 ปีของรัฐบาลบิ๊กตู่!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น