xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เอา "ทหาร" มารับใช้ "ตำรวจ" ผิด 100% เชื่อผู้ใหญ่รู้เห็น ลือสนั่น “ส.ว.ธานี” เอี่ยว ส.ต.ท.โหด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พ.ต.อ.วิรุตม์” และ “พล.ท.ภราดร” ต่างชี้ชัด “ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์” ยศแค่นายสิบ ไม่มีอำนาจขอกำลังพลข้ามหน่วย และการนำ “ทหารหญิง” ซึ่งเป็นทหารอาชีพมาเป็นคนรับใช้มีความผิดทั้งหน่วยทหารต้นสังกัด และตัวกรศศิร์ เชื่อเรื่องนี้ผู้ใหญ่รู้กัน “อดีตเลขาฯ สมช.” แย้ง ส.ต.ท.หญิง ไม่ลงพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้ จะทำงานการข่าวได้อย่างไร เชื่อเป็นการบรรจุแบบ “บัญชีผี” ขณะที่โซเชียลลือหนัก “ส.ว.ธานี” อาจเกี่ยวข้องกับ ส.ต.ท.หญิง ด้าน “เลขาฯ สถาบันปฏิรูปยุติธรรม” ยัน ได้ยินข่าวเช่นกัน

กรณีที่ “ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม” ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 ซึ่งอ้างว่าเป็นภรรยาของ ส.ว.ท่านหนึ่ง ทารุณกรรม “ทหารหญิงรับใช้” นานกว่า 2 ปี ถือเป็นเรื่องที่สร้างความหดหู่ใจให้สังคมไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะมีกระแสเรียกร้องให้ดำเนินคดี ส.ต.ท.หญิงดังกล่าวอย่างเด็ดขาดแล้ว ที่สำคัญยังมีอีกหลายประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงใจ แต่ดูเหมือนยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ประเด็นแรกคือ กรณีที่ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวน ขอตัวข้าราชการในสังกัดกองทัพไทยไปเป็น “ทหารรับใช้” ซึ่งถือเป็นการขอข้ามหน่วย สามารถทำได้จริงหรือ? อีกทั้งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่างนิ่งเฉย ไม่มีท่าทีที่จะชี้แจงเรื่องนี้แต่อย่างใด

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูล ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นการขอข้ามหน่วย ไม่มีระเบียบรองรับ อีกทั้งผู้ที่ขอยังมียศเป็นแค่นายสิบเท่านั้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทั้งตำรวจ ทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงนักการเมืองมีการนำข้าราชการทหาร ตำรวจซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนไปช่วยงานส่วนตัวอยู่ไม่น้อย ซึ่งถือเป็นการคอร์รัปชันด้านกำลังพล

“มันขอไม่ได้หรอก ไม่มีใครอนุมัติ เป็นแค่นายสิบจะขอทหารรับใช้ จะบ้าเหรอ แล้วขอข้ามหน่วยมันทำไม่ได้ ผบ.ตร.ก็ขอไม่ได้ เคสนี้สิบตำรวจโทอาศัยอำนาจ ส.ว.ซึ่งมีเพื่อน ส.ว.ด้วยกันที่เป็นอดีตนายทหารให้ช่วยดำเนินการ แล้วทำไมหน่วยงานทหารปล่อยให้ข้าราชการในสังกัดไปทำงานรับใช้อยู่บ้านตำรวจ อย่าว่าแต่บ้านตำรวจเลย บ้านนายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เอาไปรับใช้ไม่ได้ มันเป็นเรื่องขี้โกง แต่ทำกันเยอะแยะ เป็นเรื่องเลอะเทอะในระบบทหาร ตำรวจ ปัจจุบันองค์กรตำรวจ ทหารเป็นองค์กรที่ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจึงมีปัญหาการใช้อำนาจเกินขอบเขต” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า กรณีของทหารหญิงที่ถูกเรียกว่าทหารรับใช้นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นทหารรับใช้ เพราะทหารรับใช้จะมาจากทหารเกณฑ์ แต่ทหารหญิงคนนี้เป็นนายสิบที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร แต่ถูกเรียกไปใช้งานนอกหน่วย คือดึงตัวไปช่วยราชการแต่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าไม่ได้ไปทำงานให้หน่วยราชการรัฐ แต่ไปทำงานบ้านให้ตำรวจหญิง ที่สำคัญผู้ที่ขอเป็นแค่ระดับนายสิบ ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะการจะขอตัวข้าราชการจากหน่วยงานหนึ่งไปช่วยอีกหน่วยงานหนึ่งได้นั้นผู้ขอต้องมียศตำแหน่งพอสมควร ต้องเป็นระดับผู้บังคับหน่วย หรือระดับเจ้ากรม ถ้าเป็นระดับนายสิบความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์

“คือทหารอาจถูกขอตัวไปช่วยราชการ ถ้าต้นสังกัดไม่ขัดข้องก็ไปช่วยได้ คือถ้าเป็น กอ.รมน.ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการข่าวเพื่อความมั่นคงก็ดึงตัวไปช่วยข้ามหน่วยได้ ดึงตัวได้ทั้งทหาร ตำรวจ ส่วนดึงข้ามหน่วยระหว่างส่วนราชการด้วยกัน เช่น ทหารกับตำรวจก็ขอตัวไปช่วยได้แต่เป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตำรวจจะเอาคนของทหารไปช่วยงาน คือตัว ส.ต.ท.หญิงมีตำแหน่งใน กอ.รมน. แต่ทหารหญิงสังกัดโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงานด้านการข่าว การเอาตัวไปทำงานนอกหน่วยจึงน่าจะเป็นการรู้กันภายใน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่รู้กัน การเอาไปช่วยงานแบบเป็นกิจจะลักษณะที่มีคำสั่งแบบเป็นทางการของหน่วยทหารคงไม่มีหรอก เห็นไหมว่าตอนหลังทหารหญิงก็ลาออก ตัดตอนจบไป ไม่มีการพูดถึงว่าไปขอตัวมาช่วยงานได้อย่างไร น่าสังเกตว่าทหารหญิงไปทำงานบ้านให้ตำรวจได้ยังไง คือถ้ามีตัวเรื่องที่เป็นเอกสารจริงต้องระบุว่าเอาไปช่วยราชการ แต่พอเอาไปทำงานจริงกลับเอาไปใช้งานส่วนตัว ซึ่งตามระเบียบราชการแล้วทำไม่ได้ มีความผิด 100% ต้องไปดูว่าทหารหญิงมาด้วยคำสั่งอะไร ใครสั่ง” พล.ท.ภราดร ระบุ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือการเข้ารับราชการและการปฏิบัติหน้าที่ของ “ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์” ซึ่งดูพิลึกพิลั่น เนื่องจากกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครสอบเป็นนายสิบตำรวจไว้ชัดเจนว่า สายปราบปรามต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เกิน 27 ปี ส่วนสายอำนวยการและสนับสนุน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เกิน 35 ปี แต่ตอนเข้ารับราชการตำรวจ น.ส.กรศศิร์ มีอายุถึง 39 ปี ทำให้สังคมเคลือบแคลงว่าเป็นการเข้ารับราชการโดยผ่านการคัดเลือกตามขั้นตอนหรือไม่ หรือเป็นเด็กขอเด็กฝากที่ซิกแซ็กสอดไส้บรรจุเข้ามา?

อีกทั้งมีข้อมูลว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ อยู่ภายใต้สังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 และได้ถูกให้ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการรักษาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ไปทำในส่วนงานด้านงานข่าว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ กลับอยู่ที่ จ.ราชบุรีมาตลอด ไม่เคยลงไปทำงานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย จึงเกิดคำถามว่าเหตุใด ส.ต.ท.หญิง คนนี้จึงสามารถรับเงินเดือนโดยไม่ต้องทำงาน?

ซึ่งล่าสุด พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า จากการตรวจสอบ ส.ต.ท.หญิง ดังกล่าว เข้ารับราชการตำรวจเมื่อปี 2560 โดยใช้วุฒิ ปวส. ด้านบัญชี ซึ่งถึงแม้จะมีการระบุคุณสมบัติว่าอายุไม่เกิน 35 ปี แต่มีข้อยกเว้นตามกฎ ก.ตร. ให้สามารถดำเนินการได้เนื่องจาก “เป็นคุณบัติงานที่ขาดแคลน”

ขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เข้ารับราชการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ส่วนการที่ได้เข้าไปทำงานช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น ปัจจุบันถูกส่งกลับต้นสังกัดแล้ว และทำหน้าที่ประสานงานให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ท่านหนึ่งซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อ และหน้าที่นี้ก็ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานทุกวัน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แต่คำตอบดังกล่าวไม่ได้ทำให้สังคมหายเคลือบแคลงแต่อย่างใด แตกลับมีข้อสงสัยตามมาว่า “งานบัญชี” ไม่น่าจะเป็นตำแหน่งงานที่ขาดแคลน เพราะเป็นสาขาที่สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนเกือบทุกแห่งทำการเรียนการสอนอยู่แล้ว และแต่ละปีมีผู้ที่จบการศึกษาในสาขาบัญชีเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เพิ่งจะถูกส่งตัวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คืนให้กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ซึ่งเป็นต้นสังกัด ดังนั้น คำตอบของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ที่บอกว่า ส.ต.ท.หญิงทำหน้าที่ประสานงานให้ ส.ว.ท่านหนึ่ง จึงไม่ต้องเดินทางเข้าสำนักงานก็ฟังไม่ขึ้น

ขณะที่ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้ว่า การปฏิบัติงานด้านงานข่าวจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนอำนวยการที่สนับสนุนส่วนงานข่าว โดยจะเป็นงานด้านธุรการ เดินเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการข่าว และส่วนปฏิบัติการข่าว ซึ่งมีหน้าที่หาข่าว ประเมินสถานการณ์ และรายงานสถานการณ์ข่าว ส.ต.ท.หญิงซึ่งจบด้านบัญชีน่าจะไปทำงานในส่วนของฝ่ายอำนวยการ หรือหากจะทำงานในส่วนของการข่าวก็ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติการด้านการข่าว อย่างไรก็ดี กรณีนี้ตั้งข้อสังเกตได้เลยเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

สำหรับ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีอัตราการจัดกำลังส่วนอำนวยการ ส่วนกองกำลัง และส่วนสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร หรือที่เรียกว่าส่วนอำนวยการ ซึ่งโดยรวมมีอัตรากำลังอยู่ประมาณ 50,000 คน งบประมาณในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตกปีละ 10,000 ล้านบาท โดยใน 50,000 อัตราดังกล่าวจะหนักไปที่ฝ่ายกองกำลัง ประมาณ 40,000 อัตรา ซึ่งประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ พลเรือนซึ่งเป็นอาสาสมัคร และฝ่ายปฏิบัติการข่าว โดยฝ่ายการข่าวมีอยู่ประมาณ 700 คน ส่วนฝ่ายสนับสนุน หรือฝ่ายอำนวยการมีประมาณ 10,000 อัตรา

“แต่ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนอำนวยการหรือส่วนการข่าวก็ต้องลงไปทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้ จะนั่งอยู่บ้านที่ จ.ราชบุรีไม่ได้ เพราะฝ่ายอำนวยการต้องเข้าไปทำงานที่สำนักงาน ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการข่าวต้องลงไปหาข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่งั้นจะเอาข่าวมาจากไหน จะรู้ได้ไงว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงเป็นอย่างไร เมื่อหาข่าวได้แล้วต้องนำมาประมวลและรายงานไปยังส่วนกลาง กรณีของ ส.ต.ท.หญิงคนนี้หากสอบลึกลงไปจริงๆน่าจะเป็นการเอาชื่อเข้าไปบรรจุเพื่อให้ได้สิทธิ ซึ่งสมัยก่อนเขาเรียกว่าบัญชีผี อาจเป็นบัญชีผีแบบต่างตอบแทน เอาชื่อมาใส่เพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยง หน่วยงานไปบริหารเบี้ยเลี้ยงนั้น คนที่ปฏิบัติงานจริงได้เบี้ยเลี้ยงเต็ม ส่วนคนที่ไม่ได้ปฏิบัติงานอาจจะได้แค่บางส่วน แล้วส่วนกลางก็ได้บางส่วน แต่ตัวเองก็ได้สิทธิอื่นๆ ไป และหากตำแหน่งงานของ ส.ต.ท.หญิงเป็นงานฝ่ายปฏิบัติการข่าวต้องไปตรวจสอบว่าได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติการข่าวหลักสูตรใดบ้าง มีทั้งหลักสูตรการข่าวชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง เรื่องนี้ไปไล่ประวัติได้ เพราะงานด้านการข่าวต้องพรางตัวเข้าไปหาข่าวในพื้นที่ ต้องมีชั้นความลับ ลับปกติ ลับมาก ลับเข้มข้น ถ้าไม่รู้เรื่องพวกนี้ก็ทำงานไม่ได้” อดีตเลขาฯ สมช. ระบุ

“ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม” ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 ซึ่งทารุณกรรม “ทหารหญิงรับใช้” นานกว่า 2 ปี เข้ามอบตัว
อีกประเด็นที่สังคมสงสัยคือ ส.ว. ที่ “ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์” อ้างว่าเป็นสามีนั้น คือใคร? มีตัวตนจริงหรือไม่ และเป็นคนวิ่งเต้นให้ น.ส.กรศศิร์ ซึ่งเป็นเซลส์ขายรถ เข้ามามีตำแหน่งเป็น ส.ต.ท.หญิงในสังกัดตำรวจสันติบาลทั้งที่อายุมากแล้ว รวมถึงเดินเรื่องให้ทหารหญิงซึ่งเคยเป็นลูกจ้างร้านกาแฟของ น.ส.กรศศิร์ มาทำงานรับใช้ ส.ต.ท.หญิง ใช่หรือเปล่า และเป็นเพราะอิทธิพลของ ส.ว.คนนี้หรือไม่ที่ทำให้ ส.ต.ท.หญิงดังกล่าวสามารถนั่งอยู่กับบ้านและรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนฟรีๆ โดยไม่ต้องลงไปทำงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้?

ล่าสุด มีข่าวเล่าลือในโลกโซเชียลว่า บุคคลดังกล่าวมีชื่อที่แปลว่า “เมือง” บ้างก็เรียกว่า “ส.ว.ธานี” พร้อมทั้งบอกว่าเขาคนนี้เคยเป็นคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา ซึ่งช่วยเดินเรื่องขอความเป็นธรรมให้ “บอส อยู่วิทยา”

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ พ.ต.อ.วิรุฒน์ ที่ระบุว่า “ ได้ยินมาว่า ส.ว.คนนี้เป็นทนายความ และเชื่อมโยงกับคดีบอส อยู่วิทยา ด้วย”

อย่างไรก็ดี เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ต.ท.กรศศิร์ จะสามารถทำเรื่องดังกล่าวได้โดยไม่มีผู้ใหญ่ใช้อิทธิพลช่วยเหลือและเดินเรื่องให้ อีกทั้งเมื่อค้นข้อมูลย้อนไปพบว่า มีชื่อ น.ส.กรศศิร์ บัวแย้ม เคยผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรวุฒิบัตรการปฏิบัติงาน สนับสนุนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุ่นที่ 6 ของสถาบันพระปกเกล้า โดยประกาศของสถาบันพระปกเกล้า ที่ 32/2561 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ระบุว่า มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรม จำนวน 53 คน โดยชื่อ น.ส.กรศศิร์ บัวแย้ม ปรากฏในลำดับที่ 1

ขณะที่การเข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าวของสถาบันพระปกเกล้า ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมไว้เป็นการเฉพาะว่า ผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรต้องสามารถเข้ารับการศึกษาได้ตลอดระยะเวลาที่กำหนด และต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการประจำตัว ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2.ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ หรือเลขานุการ ประจำคณะกรรมาธิการ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าในช่วงเวลาดังกล่าว น.ส.กรศศิร์ เป็นผู้ช่วยสมาชิกสภานิติบัญญัติคนใดจึงสามารถเข้ารับการอบรมในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าได้ หรือใช้สิทธิของ ส.ว.ที่ถูกอ้างว่าเป็นสามีในการเข้าอบรม

ที่สำคัญสังคมเชื่อว่า ส.ว. คนนี้มีตัวตนอยู่จริง ส่วนจะเป็นใครนั้น? เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยังคงต้องช่วยกันหาคำตอบต่อไป!




กำลังโหลดความคิดเห็น