“ผอ.ศูนย์ภัยพิบัติ” เตือนเฝ้าระวัง ก.ย.-ต.ค.ฝนหนัก ปริมาณฝนปีนี้ไม่ต่างจากปี 2554 ย้ำต้องคุมน้ำในเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ไม่ให้เกิน 70% ชี้อันตรายสุดหากฝนตกใต้เขื่อน แนะภาครัฐเร่งเจรจา-จ่ายค่าชดเชยชาวนาเพื่อผันน้ำลงพื้นที่แก้มลิงให้ทันต้น ก.ย. จี้ “สทนช.” เร่งออกแผนที่น้ำท่วม แจ้งประชาชนขนของขึ้นที่สูงก่อนน้ำมา ประสานทุกหน่วยเข้าช่วยเหลือ
จากพายุฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค.2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้นับว่าหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อย หลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก พิจิตร อยุธยา เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลทะลักเข้าสู่บ้านเรือนและย่านการค้า ประชาชนบางส่วนไม่สามารถขนย้ายสิ่งของได้ทัน ทำให้รถยนต์และข้าวของต่างๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก
ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าปัญหาน้ำปีนี้จะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือไม่? และเราจะรับมืออย่างไร?
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ถึงสถานการณ์น้ำในปี 2565 ว่า จากข้อมูลพบว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะรุนแรงกว่าปี 2564 เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้ 3 ประการ คือ
1)มีฝนตกสะสมตั้งแต่ต้นปี โดยฝนมาก่อนที่จะถึงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ปริมาณน้ำสะสมมีมากกว่าปกติ
2)ปรากฏการณ์ลานีญามีอิทธิพลรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี โดยคาดการณ์ว่าลานีญาจะรุนแรงขึ้นในช่วงประมาณเดือน ต.ค.
3)ในช่วงปลายปีอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดียมาปรับตัวสูงขึ้นในฝั่งเอเชีย ขณะที่ลานินญาในมหาสมุทรแปซิฟิก มาสูงขึ้นในฝั่งอินเดีย ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั้ง 2 ฝั่ง ตามหลักคือที่ไหนมีอุณหภูมิสูงจะมีความชื้นมากขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อกระทบกับความเย็นในร่องมรสุมจึงส่งผลให้ฝนตกหนักขึ้น
“จากภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียสจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 7% มหาสมุทรอินเดียอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซียลเซียส เมื่อรวมกับอุณหภูมิจากผู้คนและอาคารบ้านเรือนโดยรอบจึงทำให้ปริมาณฝนที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 15%”
รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่า จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไปฝนจะตกหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยจะหนักที่สุดในช่วง ก.ย.-ต.ค. โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะเท่ากับปี 2554 แต่จะเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ ถ้าปริมาณฝนเยอะแล้วบริหารจัดการไม่ดีความรุนแรงจะเหมือนปี 2554 ประเด็นสำคัญคือต้องบริหารไม่ให้น้ำเต็มเขื่อนหลักทั้ง 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ โดยระวังวังอย่าให้ระดับน้ำเกิน 70% ของปริมาตรรับน้ำในเขื่อน
“ปริมาณฝนในปีนี้มีแนวโน้มที่จะเท่ากับปี 2554 แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 2 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์น้อยกว่าปี 2554 คือปริมาณน้ำปีนี้อยู่ที่ 50% ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนเมื่อปี 2554 อยู่ที่ 70% ซึ่งยังเหลือพื้นที่อีก 20% จึงจะถือว่าวิกฤต หรือเท่ากับปริมาณน้ำ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรับปริมาณน้ำจากพายุที่เข้ามาได้ 3-4 ลูก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ระดับน้ำจะถึง 70% แต่กรณีที่จะทำให้สถานการณ์หนักคือถ้าฝนตกใต้เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งคือบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน เราจะรับมือยังไง เราไม่มีเครื่องมือเลย ถ้าตกลักษณะนี้อาจจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้เหมือนกันแต่สถานการณ์จะไม่หนักหนาเท่าปี 2554 เพราะเขื่อนทั้ง 2 แห่งไม่ได้ปล่อยน้ำเนื่องจากยังมีเนื้อที่รับน้ำเหลืออยู่ อีกทั้งภาครัฐยังกังวลว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะแล้งด้วย” รศ.ดร.เสรี ระบุ
ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ กล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่าในปี 2565 พายุจะเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 23 ลูก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ 8 ลูก จึงเหลืออีก 15 ลูก แต่ในจำนวนนี้มีโอกาสเข้าไทยแค่ 2-3 ลูก ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่และมีปริมาณน้ำฝนเท่าไร เพียงแต่คาดการณ์ได้ว่าจะมีความเสี่ยงมากหากฝนตกใต้เขื่อนซึ่งจะส่งผลให้น้ำจะท่วมหนักกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ส่วนพื้นที่ภาคอีสาน ปีนี้โคราชน้ำท่วมหนัก เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง ขณะที่ภาคใต้ตอนบน โดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร มีโอกาสสูงที่น้ำจะท่วมเช่นกัน
เมื่อเรารู้ว่าช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ปริมาณฝนจะมาก ปัญหาคือรัฐจะจัดการอย่างไร ตอนนี้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนน้ำเริ่มเข้าพื้นที่นาของชาวบ้านแล้ว และชาวนากำลังจะเกี่ยวข้าวในอีก 20 วันข้างหน้า จะจัดการทันหรือไม่ ส่วนพื้นที่แก้มลิงในแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนมีการปลูกข้าวอยู่ ซึ่งยังไม่รู้จะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ซึ่งในพื้นที่แก้มลิงต้องรอให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวก่อนจึงจะระบายน้ำเข้าไปได้
รศ.ดร.เสรี ชี้ว่า ที่จริงแล้วตอนนี้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องลงไปเจรจากับชาวนาแล้วว่าจำเป็นต้องระบายน้ำลงพื้นที่นาและจะจ่ายเงินชดเชยในอัตราที่ชาวนารับได้ ซึ่งไม่รู้ว่าชาวนาจะยอมหรือเปล่าเพราะอีกเดือนเดียวคือประมาณกลางเดือน ก.ย.ข้าวจะออกรวงแล้ว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ฝนตกหนักและน้ำท่วม เกษตรกรส่วนใหญ่จึงอยากจะเก็บเกี่ยวข้าวก่อนจึงจะยอมให้ปล่อยน้ำเข้านา ที่สำคัญคือถ้าอัตราที่จ่ายชดเชยไม่คุ้มชาวนาก็ไม่ยอม
“โดยทั่วไปภาครัฐจะต้องประเมินก่อนถึงฤดูฝนแล้วว่าปีนี้น้ำจะมามาก ไม่ควรให้เกษตรกรในพื้นที่แก้มลิงปลูกข้าวหรือพืชอื่นๆ เมื่อเขาปลูกไปแล้วหากรัฐจะพร่องน้ำไปยังแก้มลิงซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวบ้านต้องจ่ายชดเชยให้เขา หรือบางคนขุดขายทราย ถ้าพร่องน้ำเข้าไปเขาก็ขุดทรายไม่ได้ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรบ้าง จากที่ได้พบกับผู้อำนวยการที่ดูแลประตูน้ำต่างๆ ในภาคกลางเขาก็เหนื่อยเพราะเขาไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะหากมีปัญหาน้ำท่วมในที่นาจะมีม็อบมาร้องให้เปิดหรือปิดประตูน้ำ ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเจรจาทำความเข้าใจกับแต่ละพื้นที่ซึ่งประเมินแล้วว่าน้ำจะท่วม โดยต้องเจรจาให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือน ก.ย. เพื่อให้ทันกับมวลน้ำที่จะมามาก” รศ.ดร.เสรี กล่าว
สำหรับอุปสรรคในการรับมือกับน้ำท่วมในปีนี้นั้น รศ.ดร.เสรี มองว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาคือหน่วยงานรัฐบอกแค่ว่าภาคไหนฝนจะตกหนัก แต่ไม่ได้บอกว่าจุดไหนน้ำจะท่วม หลักการสำคัญในการรับมือกับน้ำท่วมคือเบื้องต้นต้องให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองก่อน ซึ่งเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ก็ต้องได้รับข้อมูล ถ้ารู้ว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมประชาชนจะได้ย้ายรถยนต์ไปจอดในที่สูง ยกอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นชั้นสอง แต่ในเมื่อไม่มีข้อมูลจึงเกิดภาพรถยนต์ถูกน้ำท่วมเสียหายเต็มไปหมด
อีกทั้งจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาตามตัวเลขของกรมอุตุนิยมวิทยานั้นไม่มีหน่วยงานใดที่นำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อวางแนวในการป้องกันและรับมือ
ดังนั้น ควรมีการประเมินภาวะน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนได้ทราบเพื่อเตรียมการรับมือล่วงหน้า ทั้งนี้ ปกติกรมอุตุนิยมวิทยาจะสามารถคาดการณ์ว่าฝนจะตกวันไหนได้ 3-5 วันล่วงหน้า ซึ่งหลังจากที่กรมอุตุฯ ประกาศออกมาแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับลูกโดยนำข้อมูลดังกล่าวไปแปลงเป็นปริมาณน้ำที่จะท่วม พร้อมทั้งระบุจุดด้วยว่าจะท่วมบริเวณใด จากนั้นส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งให้ประชาชนเตรียมรับมือ หรือหากจุดไหนต้องระดมพลเพื่อช่วยขนย้ายสิ่งของหรืออพยพผู้คนจะได้สั่งการได้ทันที แต่ปัจจุบันเราขาดข้อมูลตรงนี้ ดังนั้นความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาจึงสูงมาก
“ตอนนี้เรารู้ว่าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงสูงในช่วง ก.ย.-ต.ค. รัฐจึงควรจะประกาศแจ้งเตือนว่าพื้นที่ไหนบ้างเป็นพื้นที่เสี่ยง ยังมีเวลาอีกเกือบ 1 เดือน ประชาชนจะได้เตรียมขนย้ายข้าวของ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องประสานและร่วมกันทำงาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่บูรณาการการทำงานต้องสั่งการให้ชัดเจน ตอนนี้ สทนช.ต้องออกแผนที่น้ำท่วมให้ประชาชนรับทราบข้อมูลได้แล้ว ถ้าเกิดฝนตกหนัก ก.ย.-ต.ค. จุดไหนบ้างที่เสี่ยงน้ำท่วม ทำเป็นอินโฟกราฟิกออกมา แต่ตอนนี้ยังไม่มี ประชาชนก็เตรียมการอะไรไม่ได้” ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ แสดงความเป็นห่วง
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv