เมื่อยังไม่ถูกจับ มิจฉาชีพลวงลงทุนดาหน้ายิงโฆษณา เริ่มเปลี่ยนกราฟิกลดหวือหวา แต่ยังย่ามใจออกโปรโมชันชิงรางวัลอ้างแจก 10 ล้าน เร่งเหยื่อเปิดพอร์ต ลงลึกถึง 3 แพกเกจลวง “ลงเงินมาก-ผลตอบแทนมาก” ใครสงสัยอ้างใบอนุญาต (ปลอม) ด้าน พอล-ภัทรพล ถูกแอบอ้างมากที่สุด แจ้งความตั้งแต่ปลายปี 64 แต่ไม่คืบ บางรายโดนไปแล้ว 6 ล้าน นักเรียนมัธยมยังโดน คาดปลายทางอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน
ในระหว่างที่หน่วยงานภาครัฐกำลังดำเนินการเพื่อหาทางสกัดกั้นเหล่ามิจฉาชีพที่หลอกลวงให้เหยื่อร่วมลงทุนในตลาดหุ้น ช่วงสุญญากาศอย่างนี้บรรดามิจฉาชีพโหมยิงโฆษณาผ่าน Facebook เพื่อหาเหยื่อมากเป็นพิเศษ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิจฉาชีพกลุ่มนี้ทำได้อย่างแนบเนียน ลงทุนทำกราฟิกแอบอ้างนำภาพผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ใช้ Logo ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาประกอบเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อ้างได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ปลอมโปรไฟล์บริษัทที่แอบอ้างในหน้า Line เสนอผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น จูงใจด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ได้ผลตอบแทน 30-70% ภายในระยะเวลา 10-15 นาที
“พอล” ภัทรพล-แจ้งความแล้ว
หนึ่งในบุคคลที่ถูกแอบอ้างมากที่สุดได้แก่พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ หนึ่งในดาราที่หันมาลงทุนด้านนี้และยังเปิดคอร์สสอนพร้อมด้วยหนังสือแนะนำด้านการลงทุน เมื่อตรวจสอบกลับไปที่พอล ภัทรพล ได้รับคำชี้แจงจากทีมงานว่า เพจที่ชักชวนลงทุนโดยใช้รูปภาพของพอล ภัทรพลนั้นเป็นเพจปลอม (แอบอ้าง)
พวกเราได้แจ้งความทุกเพจเป็นที่เรียบร้อย ข่าวสารที่ถูกต้องจะมาจากเพจหลักของพี่พอลเท่านั้นครับ เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพเยอะและปลอมเหมือนมาก รบกวนให้ทุกคนระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างจากเพจปลอมต่างๆ ที่แอบอ้าง หากเจอสามารถแจ้ง ban จากเฟซบุ๊ก หรือหากเป็นผู้เสียหาย แนะนำแจ้งความดำเนินคดีครับ
พร้อมทั้งแจ้งว่าทางเพจได้รับหลายพันข้อความต่อวัน จะไม่สามารถตอบกลับเป็นรายบุคคล ต้องขออภัยมากๆ ครับ ทั้งนี้ พอลภัทรพลได้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีเพจที่แอบอ้างดังกล่าว ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2564 และได้โพสต์คลิปเตือนภัยมิจฉาชีพตั้งแต่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันภาพของเขายังคงถูกกลุ่มมิจฉาชีพใช้แอบอ้างจนถึงวันนี้
แฉมิจฉาชีพลวงพอร์ต 3 ระดับ
MGR Online เข้าไปลึกถึงขั้นตอนการเปิดพอร์ตลงทุน พบว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะมีรายการเปิดพอร์ตแจ้งให้เหยื่อ 3 ระดับ และย้ำว่าทุกรายการจะมีโบรกเกอร์คอยแนะนำตลอดการเทรด แถมบางเพจยังรับประกันการขาดทุนอีกด้วย
เอกสารที่มิจฉาชีพแนะนำให้เหยื่อที่เข้าไป เริ่มที่ระดับ Basic แจ้งยอดลงทุน 1,000-5,000 บาท กำไร 10-30% ภายใน 15-20 นาที ระดับ Standard เงินลงทุน 10,000-30,000 บาท กำไร 10-50% ภายใน 15-20 นาที ระดับ Expertise เงินลงทุน 50,000-1,000,000 บาท กำไร 30-70% ภายใน 15-20 นาที
เหยื่อที่ลงทุนน้อยระดับ 1-5 พันบาทจะได้รับผลตอบแทนระหว่าง 10-30% ถ้าเพิ่มเงินหลัก 1-3 หมื่นบาท ช่วงของผลตอบแทนจะกว้างขึ้นเป็น 10-50% และถ้าเป็นระดับสูงเงินลงทุน 5 หมื่น-1 ล้านบาท ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-70%
นั่นเป็นตัวเลขที่เหล่ามิจฉาชีพอ้างขึ้นมา เป็นไปได้จริงหรือไม่ นั่นหมายถึงเหยื่อต้องโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว ยิ่งลงเงินมากโอกาสได้รับผลตอบแทนก็มากตามไปด้วย ขณะที่ตลาดหุ้นไทยการลงทุนเพียง 10-20 นาที แล้วได้ผลตอบแทนตามคำโฆษณาชวนเชื่อนั้นในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก ถือว่าสิ่งที่กล่าวอ้างมาสวนทางกับความเป็นจริง ยิ่งในช่วงที่ตลาดขาลง การทำกำไรจึงเป็นไปได้ยาก
แม้ในรูปแบบของการโอนเงินให้มืออาชีพบริหาร อย่างเช่นกองทุนรวมที่มีอยู่จริงนั้น การลงทุนยังต้องแยกเป็นประเภทที่ลงทุน กรณีที่เลือกลงทุนในตลาดหุ้นต้องขึ้นกับสภาพของตลาดหุ้นในขณะนั้นว่าเอื้ออำนวยหรือไม่ ไม่มีทางที่จะทำกำไรได้ตามที่กล่าวอ้างภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่นาที ขนาดมืออาชีพที่บริหารกองทุนบางครั้งก็ยังขาดทุน
“เราไม่อยากให้บุคคลทั่วไปถูกหลอก เพราะเงินทองเป็นของหายาก ท่านต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อน ตัวของผลตอบแทนที่มิจฉาชีพแอบอ้างมานั้นต้องถอยกลับมาใคร่ครวญให้ดีว่ามันเป็นไปได้จริงหรือไม่”
ข้อสังเกตมิจฉาชีพ
มิจฉาชีพกลุ่มนี้ถือว่าลงทุนทำการบ้านมาไม่น้อย มีการใช้เพจหลายเพจ อาจจะถึงหลักร้อยเพจเพื่อกระจายการโพสต์ออกไป มีภาพกราฟิกที่หลากหลาย แต่ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือพวกเขาใช้วิธีการซื้อโฆษณาผ่านทาง Facebook เห็นได้จากข้อความ “ได้รับการสนับสนุน” ใต้ชื่อผู้โพสต์ เพื่อให้ข้อความเชิญชวนดังกล่าวกระจายไปยังบัญชีผู้ที่ใช้ Facebook ได้เห็น
หลังจากที่สื่อเริ่มมีการนำเสนอข่าวเตือนภัยมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จากเดิมที่เป็นการชวนลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ด้วยเงิน 1,000 บาท ด้วยการนำเอาภาพผู้บริหารมาประกอบ ระยะนี้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการแค่โพสต์ชวนลงทุนในตลาดหุ้นพร้อมชูผลตอบแทนเป็นเงินปันผลสูง หลังจากที่หลายบริษัทที่ถูกแอบอ้างเริ่มดำเนินการทางกฎหมาย และเริ่มมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความมากขึ้น
ข้อสังเกตต่อมาตัวเพจมักเป็นเพจที่ตั้งขึ้นมาใหม่ มีการโพสต์ข้อความต่างๆ น้อยมาก แต่ระยะหลังเริ่มมีการเพิ่มโพสต์ หรือแชร์ Link ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่หน้าเพจนั้นจะไม่พบโพสต์ที่เชิญชวนลงทุน
เกือบทุกเพจที่ชักชวนลงทุนมักแจ้งเวลาทำการคือ 10.00-22.00 น. เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรเฉลียวใจ เพราะบริษัททั่วไปเวลาทำการจะอยู่ที่ 08.30-17.00 น. ที่สำคัญคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดรับคำสั่งซื้อขายระหว่าง 10.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดสำคัญปิดทำการ แต่เพจที่หลอกลวงเปิดทั้งเสาร์-อาทิตย์ แถมซื้อขายได้หลังเวลา 17.00 น.
ตอบคล่อง-ปลอมเนียน
เมื่อมีผู้สนใจเข้าไปสอบถามผ่านทาง Messenger จะถูกชวนให้เข้าไปในระบบ Line มีการปลอมภาพพนักงานใช้ Logo ของบริษัทที่แอบอ้างมาประกอบ ข้อสงสัยใดๆ ที่เหยื่อสงสัยมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะตอบได้ทั้งหมด
อย่างการแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจริงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏว่าบริษัทที่ถูกแอบอ้างได้ขึ้นข้อความเตือนว่าเป็นการหลอกลวง พวกเขาก็ตอบกลับมาว่า เขาได้โพสต์เองเพื่อเตือนให้ระวัง นับเป็นการสวมรอยอีกชั้นเพื่อให้ดูเหมือนว่าที่กำลังสนทนากันอยู่นั้นพวกเขาเป็นบริษัทที่ให้บริการลงทุนจริง
เมื่อถามแย้งกลับไปว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะรับลูกค้าซื้อขายหุ้นได้อย่างไร สิ่งที่ตอบกลับมาเป็นภาพใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ฯ ที่ออกโดยกระทรวงการคลังและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้เมื่อเห็นข้อมูลที่ยืนยันมาขนาดนี้ คงไม่มีใครสงสัยอีกต่อไป จากนั้นจะถูกชักชวนให้เข้าร่วมลงทะเบียน”
แต่ถ้าคนที่พอมีความรู้ในเรื่องการลงทุนอยู่บ้าง หากเข้าไปตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตค้าหลักทรัพย์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่าชื่อบริษัทที่แอบอ้างมานั้นไม่ได้รับอนุญาตเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์
อีกกรณีมิจฉาชีพได้แอบอ้างว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่จริงแห่งหนึ่ง แน่นอนว่าบริษัทนี้ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.จริง แต่ถูกแอบอ้างชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวจึงได้ขึ้นข้อความเตือนให้ระวังกลโกงลักษณะนี้
“ใครที่จะลงทุนจากการพบเห็นโฆษณาเหล่านี้ แนะนำให้ตรวจสอบกลับไปยังบริษัทที่มิจฉาชีพแอบอ้างชื่อ เกือบทั้งหมดจะปฏิเสธว่าบริษัทของเขาไม่มีธุรกรรมลักษณะนี้”
อย่างเรื่องเวลาเปิดทำการถึง 22.00 น.และเปิดให้บริการทั้งวันเสาร์-อาทิตย์นั้น คำตอบที่ได้รับคือพวกเขากำลังดูการลงทุนในต่างประเทศให้ ทั้งๆ ที่โฆษณาที่เชิญชวนนั้นเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คนที่เข้าไปแล้วควรสังเกตถึงสิ่งที่ย้อนแย้ง
หากลูกค้ารายใดที่เข้าไปสอบถามแล้วเงียบไป พวกนี้จะมีข้อความอัตโนมัติส่งเข้ามาย้ำอยู่เรื่อยๆ ทั้งการชวนให้เข้าไปพูดคุยกันในระบบ Line เร่งให้ลงทะเบียนเปิดพอร์ตลงทุนกับพวกเขา
ออกโปรโมชันล่อเหยื่อเพิ่ม
สำหรับคนที่เข้าไปสอบถามทั้งใน Messenger และ Line เมื่อคุณยังไม่ได้ลงทะเบียนเปิดพอร์ตแล้วนิ่งเงียบหายไป ไม่สอบถามเพิ่มเติม นอกจากข้อความเร่งรัดที่มิจฉาชีพเหล่านี้ส่งมาตอกย้ำแล้ว ยังพบว่า พวกเขายังส่งโปรโมชันล่อใจเข้ามาให้ เช่น
โปรโมชันสำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเปิดบัญชีซื้อขายตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-31สิงหาคม 2565 นี้เท่านั้น ลุ้นรับรางวัลของกำนัลจากทางบริษัท 20 รางวัล โทรศัพท์ไอโฟน 13 จำนวน 8 เครื่อง สร้อยคอทองคำ 8 เส้น รถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน 1 สิทธิต่อ 1 ท่านเท่านั้น
ขณะที่มิจฉาชีพอีกรายที่อ้างชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่าเป็นกองทุนเทรดหุ้น ออกโปรโมชันเทศกาลมหาเฮง “เฮงเปลี่ยนชีวิต” แจกใหญ่ขึ้นทุกสัปดาห์ มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท
ทางบริษัท xxx มีกิจกรรมที่น่าลุ้นสุดพิเศษให้ลูกค้าที่เข้าร่วมเทรดหุ้นของเรา ได้ลุ้นรับของรางวัล มูลค่าเงิน เราจะมีให้ลุ้นรับตามที่ระบบได้สุ่มมา หากลูกค้าท่านใดที่โชคดี ได้รับมูลค่ารางวัลไปเลย ตั้งแต่ 10,000, 50,000 และ 100,000 บาท
นี่คือวิธีการเร่งให้ลูกค้าตัดสินใจเปิดพอร์ต แน่นอนว่าย่อมมีบางคนที่หวังเรื่องของรางวัลพิเศษนี้ แต่มีข้อที่น่าสงสัยคือในเมื่อพวกเขาแอบอ้างเอาชื่อของบริษัทต่างๆ มาแล้วโปรโมชันที่ว่าจะเป็นจริงได้อย่างไร เขาก็ระบุออกมาแล้วว่าเป็นระบบสุ่ม จะมีคนได้รางวัลเหล่านี้จริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่มีคนที่หลวมตัวเข้าไปเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นแน่
นอกจากนี้ ยังมีการทำตลาดด้วยการแจกโบนัสเพิ่มสำหรับเงินลงทุน เช่น ลูกค้าทำการเปิดพอร์ต 1,000 บาท รับโบนัสทันที 130 บาท หรือโปรโมชันช่วงกระเเสหุ้นกำลังดี เปิดพอร์ตที่ 3,000 บาทรับโบนัสฟรี 1,300 บาท +กำไร 900 บาท หรือเปิดพอร์ตแรกที่ 5,000 รับโบนัสเพิ่ม 1,000 บาท (ฟรี)!! ต่อยอดฝากที่ 2 รับโบนัสเพิ่ม 20% ของยอดฝาก
นี่คือวิธีการที่กระตุ้นหรือเร่งให้ลูกค้ากลายเป็นเหยื่อให้มิจฉาชีพเหล่านี้
แจ้งความแล้วยังเงียบ
การโอนเงินเพื่อลงทุนนั้นจะเป็นชื่อบัญชีของบุคคลธรรมดา หรือบัญชีม้า ช่วงแรกเท่านั้นที่ท่านจะได้เงินที่อ้างว่าเป็นกำไรกลับมา (เงินต้นยังอยู่ที่มิจฉาชีพ) เมื่อได้ผลตอบแทนมากในระยะเวลาแค่ไม่กี่นาที ความโลภก็จะเพิ่มขึ้น บวกด้วยแรงเชียร์จากมิจฉาชีพให้เพิ่มเงินลงทุน ท่านจะโอนเงินก้อนโตให้พวกเขามากขึ้น สุดท้ายจะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ด้วยข้ออ้างต่างๆ
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า มีเพื่อนคนหนึ่งถูกหลอกในลักษณะนี้โดนไป 6 ล้าน เอาเงินออกมาไม่ได้ เมื่อถามไปได้รับคำตอบว่าต้องเสียภาษีอีกจำนวนหนึ่งจึงจะถอนเงินออกมาได้ ด้วยความอยากได้เงินคืนก็โอนเข้าไปอีก สุดท้ายก็ไม่ได้เงินเก่า แถมเสียเงินใหม่เพิ่มเข้าไปอีก แค่นี้ก็ย้อนแย้งกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่ต้องเสียภาษี
บริษัทที่มีตัวตนจริงเขาไม่ทำการตลาดกันแบบนี้ ก่อนลงทุนต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นบริษัทจริงหรือไม่ ถูกแอบอ้างหรือไม่ อย่าลืมว่าเงินของคุณกว่าจะหามาได้ ต้องตรวจสอบจนมั่นใจที่เราจะให้ใครมาเอาเงินเราไป
สำหรับคนที่อยู่ในวงการลงทุนจริงๆ เราไม่ห่วง เพราะเห็นโฆษณาแบบนี้ก็พอจะเดาทางกันได้ และมีช่องทางในการตรวจสอบหลายวิธี แต่คนที่ไม่ค่อยรู้บวกด้วยความต้องการอยากสร้างผลตอบแทนที่ดีในยุคนี้ มิจฉาชีพตอบอะไรกลับมา ก็ไม่รู้ว่าจะตรวจเช็กว่าจริงหรือไม่ในช่องทางไหน พวกนี้จะกลายเป็นเหยื่อ หนึ่งในนั้นมีนักเรียนระดับมัธยมที่เห็นโฆษณาเหล่านี้ ไปกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาแล้วถูกหลอกนับหมื่นบาท
คนที่เสียหายเข้าแจ้งความกันแล้วหลายคน แต่การติดตามคดียังไม่มีความคืบหน้า เห็นได้จากพวกมิจฉาชีพยังคงยิงโฆษณาผ่าน Facebook ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจปรับเปลี่ยนกราฟิกไปบ้างเพื่อลดเป็นเป้าถูกตรวจสอบ
คาดปลายทางต่างประเทศ
ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าปลายทางของมิจฉาชีพกลุ่มนี้อาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่มีทีมงานคนไทยทำหน้าที่หลอกลวงให้อยู่ คล้ายๆ กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะไม่ว่าเหยื่อสงสัยอะไรพวกเขาตอบกลับได้ทั้งหมด ไม้ตายของพวกเขาคือโชว์ใบอนุญาตว่าบริษัทที่เขาแอบอ้างนั้นได้รับอนุญาตถูกต้อง ถือว่าแนบเนียนมากแม้กระทั่งตัวอักษรที่ใช้ใกล้เคียงกับข้อความเดิม แต่สิ่งที่เขาแอบอ้างมานั้นเป็นเท็จ
คนที่สอบถามข้อมูลอยู่เรื่อยๆ คงได้รับกราฟิกชักชวนในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ากราฟิกหลายๆ ตัวมีข้อความที่พิมพ์ผิด หรือใช้ถ้อยคำที่คล้ายกับการใช้โปรแกรมแปรภาษา อ่านแล้วค่อนข้างงง
มิจฉาชีพกลุ่มนี้ต้องมีความรู้เรื่องตลาดหุ้นของไทยดีพอสมควร อ้างภาพผู้บริหาร อ้าง Logo หน่วยงานรัฐ และตัวบริษัทได้ถูกต้องทั้งหมด ส่วนภาพใบอนุญาตนั้นปลอมได้แนบเนียน การตอบข้อสงสัยต่างๆ ทำได้รวดเร็วและดูมีหลักการ แต่ทั้งหมดคือวิธีการหลอกลวง
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv