xs
xsm
sm
md
lg

หลอกลงทุนในหุ้นระบาดหนัก! ตำรวจไซเบอร์-ก.ดิจิทัล-สภาผู้บริโภคเร่งสกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มิจฉาชีพ” มามุกใหม่ ปลอมเป็นโบรกเกอร์ หลอกลงทุนในหุ้นผ่าน FB อ้างชื่อ ตลาดหลักทรัพย์-บริษัทยักษ์ใหญ่-ดารา-นักการเงิน “ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์” ระบุเหยื่อส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านการเงิน ชี้ต้องเร่งสกัดบัญชีม้าของมิจฉาชีพ จับมือ กสทช. แบงก์ชาติ ธนาคารพาณิชย์ แก้ระเบียบ ใช้ 1 เครื่อง-1 ซิม-1 บัญชี E-Banking แนะผู้เสียหายแจ้งความผ่าน thaipoliceonline ด้าน “รมว.ดิจิทัล” เผย หากได้รับร้องเรียนจะสั่งปิด FB ที่ก่อเหตุทันที ขณะที่ “สภาผู้บริโภค” ประสาน ก.ล.ต .แก้เกมโบรกเกอร์ลวงโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ คนตกงานเพิ่มมากขึ้น ได้มีการต้มตุ๋นหลอกลวงรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยอาศัยจังหวะที่ผู้คนกำลังสิ้นหวังเสนอโอกาสและผลตอบแทนสูงลิบเพื่อจูงใจให้คนเหล่านี้ยอมควักเงินจากกระเป๋าไปลงทุนในธุรกิจบางอย่างด้วยหวังว่าผลตอบแทนที่ได้จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ล่าสุด ได้มีการ "หลอกลงทุนในหุ้น" ผ่านหน้า facebook โดยแอบอ้างว่าเป็นโบรกเกอร์ซึ่งมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และแนะนำให้ลงทุนให้หุ้นรายใหญ่ ในจำนวนเงินเริ่มต้นแค่ 1,000 บาท แต่ได้ผลตอบแทนสูงภายในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้มีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมากมาย

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.)
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างเร่งตรวจสอบและวางแนวทางการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) เปิดเผยว่า จากที่ได้ประสานกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างต่อเนื่อง ทราบว่ามีการหลอกลงทุนในหุ้นผ่าน facebook แต่ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความแต่อย่างใด ซึ่งวิธีการของมิจฉาชีพเหล่านี้คือจะสร้างข้อมูลและกระเป๋าเงินปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนซื้อขายหุ้นรายใหญ่ที่ได้ผลตอบแทนสูง ใช้โลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รูปของบุคคลที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ ดารานักแสดง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ทำให้คนที่มีความโลภหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ

โดยจากการคาดการณ์ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากที่ถูกหลอกให้ลงทุนในลักษณะนี้และมีมูลค่าความเสียหายรวมค่อนข้างสูง เนื่องจากเหยื่อเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนสูงภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากการหลอกลงทุนในหุ้นผ่าน facebook ดังกล่าวแล้ว ยังมีการหลอกลงทุนผ่านโซเชียลในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแชร์น้ำมัน แชร์ทอง Gold spot (การเทรดทองคำในตลาดโลก) คริปโตฯ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนอย่างมากเช่นกัน

“ผลตอบแทนที่มิจฉาชีพระบุหน้าเพจ facebook จะสูงกว่าปกติมาก วันนี้ลงทุนซื้อหุ้น 1,000 บาท รุ่งขึ้นบอกหุ้นขึ้น ได้กำไร 2,000 บาท ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เหยื่อจะลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลักพัน เป็นหลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน และสุดท้ายไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ส่วนใหญ่คนที่ถูกหลอกลงทุนคือคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการเงินการลงทุนและเล็งว่าจะได้ผลตอบแทนสูง อาจจะมีเงินเก็บอยู่ก็เอามาลง บางคนอยู่ในวัยเกษียณและเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้าย ซึ่งน่าสงสารมาก คือถ้าเป็นคนที่เล่นหุ้นจริงๆ เขาไม่เข้ามาซื้อขายหุ้นผ่าน facebook แบบนี้หรอก เขาจะซื้อหุ้น ปตท.เขาจะเทรดผ่านโบรกเกอร์ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทใหญ่ๆ จะออกหุ้นเพิ่มทุนจะประกาศผ่านสื่อ ไม่มาขายผ่าน facebook ข้อมูลเหล่านี้คนที่เล่นหุ้นเขารู้ ไม่มีนักเล่นหุ้นคนไหนถูกหลอกแน่นอน ผมยืนยัน คนที่ตกเป็นเหยื่อคือคนที่ไม่รู้เรื่องหุ้น ไม่เคยลงทุนมาก่อน” พล.ต.ท.กรไชย ระบุ

การหลอกลงทุนในหุ้นผ่าน facebook โดยนำโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาพของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มาแอบอ้าง
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวต่อว่า ในส่วนของดารา บุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถูกแอบอ้างเพื่อหลอกให้เหยื่อมาลงทุนซื้อหุ้นนั้นสามารถแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของ facebook และเครือข่ายได้ทันที เนื่องจากการกระทำลักษณะนี้ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากสถานีตำรวจในพื้นที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้เนื่องจากติดขัดทางเทคนิค ก็จะส่งเรื่องต่อมายังกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ

นอกจากนั้น ผู้ที่ถูกแอบอ้างและเหยื่อที่เสียหายจากการถูกหลอกในลงทุนในหุ้นยังสามารถแจ้งความผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline.com โดยผู้ที่จะแจ้งความต้องลงทะเบียนผู้ใช้งาน ยืนยันตัวตนด้วย OTP ผ่านอีเมลที่ใช้ลงทะเบียน จากนั้นเข้าสู่ระบบอีกครั้ง แล้วกรอกข้อมูลผู้เสียหาย ข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย โดยจะได้เลขรับแจ้ง (Case ID) จากระบบรับแจ้งภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นศูนย์บริหารการรับแจ้งความ (Admin) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะติดต่อกลับเพื่อแจ้งว่าได้รับข้อมูลการแจ้งความแล้ว และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นฝ่ายสังเคราะห์การรับแจ้งความออนไลน์จะแจ้งให้ผู้เสียหายทราบถึงความคืบหน้าในการทำคดี เช่น ได้ประสานกับสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว ให้ผู้เสียหายไปพบพนักงานสอบสวนชื่อนั้นชื่อนี้ ได้ประสานไปยังธนาคารที่แก๊งมิจฉาชีพเปิดบัญชีเพื่อให้ทำการอายัดบัญชีดังกล่าว

“กรณีที่ถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อลงทุนในหุ้นนั้น วิธีการที่เร็วที่สุดคือแจ้งความผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline.com เพราะจะมีผู้บริหารการรับแจ้งความอยู่ ซึ่งเขาจะเร่งประสานกับธนาคารเพื่ออายัดบัญชีที่รับโอนเงิน ส่วน สอท.จะเป็นหน่วยสนับสนุนและดำเนินการในส่วนที่ตำรวจพื้นที่ไม่สามารถทำได้ เช่น ต้องการรู้ว่าผู้ที่เปิด facebook เป็นใคร ต้องการข้อมูลเส้นทางการเงินของผู้ที่เปิด facebook หลอกลวง หรือเส้นทางการเงินเจ้าของบัญชีที่เหยื่อโอนเงินไปลงทุนซื้อหุ้น ตำรวจในพื้นที่ก็ประสานมายัง สอท.ให้ตรวจสอบให้ ส่วนการสั่งปิดเพจ facebook ที่หลอกลวงนั้นเป็นอำนาจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สอท.จะแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ หรือขออำนาจศาลสั่งปิด” ผบช.สอท.ระบุ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พล.ต.ท.กรไชย ชี้ว่า ปัญหาสำคัญในการจัดการกับมิจฉาชีพที่หลอกลงทุนในหุ้น รวมถึงแก๊งที่หลอกเหยื่อให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆผ่านสื่อโซเชียล คือการอายัดเงินของเหยื่อที่โอนไปยังบัญชีของมิจฉาชีพซึ่งทำได้ยาก เนื่องจากบัญชีที่เหยื่อโอนไปให้บัญชีแรกนั้นเป็น "บัญชีม้า" (บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นซึ่งมิจฉาชีพนำมาใช้เป็นช่องทางในการรับเงินและถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดออกไป) จากนั้นเงินจะถูกโอนต่อไปยังบัญชีที่ 2 บัญชีที่ 3 บัญชีที่ 4 ซึ่งเป็นบัญชีม้าเช่นเดียวกัน ก่อนจะโอนไปยังบัญชีที่ 5 ซึ่งเป็นบัญชีตัวจริงของมิจฉาชีพ โดยการดำเนินการดังกล่าวสามารถทำได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ

ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะสามารถสกัดแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ได้คือการแก้ไขระเบียบในการเปิดบัญชีธนาคารผ่าน E-Banking ซึ่งติดตั้งและดำเนินการบนโทรศัพท์มือถือ โดย สอท.ได้ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งกำกับดูแลคลื่นความถี่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนแนวทาง “One Number - One Person - One E-Banking” คือให้โทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่องใส่ซิมได้เบอร์เดียว และมีบัญชีธนาคารออนไลน์ได้เพียงบัญชีเดียว ซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพไม่สามารถเปิดบัญชีม้าหลายๆ บัญชีบนมือถือเครื่องเดียวกัน แล้วโอนเงินจากบัญชีม้าบัญชีที่ 1 ไปบัญชีที่ 2, 3, 4 ได้อย่างรวดเร็วแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

“เดี๋ยวนี้มีบัญชีม้าอยู่ในมือถือเครื่องเดียวกันถึง 5 บัญชี พอเหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่ 1 ปุ๊บ มิจฉาชีพก็โอนต่อไปยังบัญชีที่ 2, 3, 4, 5 ภายในเวลาแค่แป๊บเดียว และกว่าธนาคารจะตรวจสอบและอายัดแต่ละบัญชีได้เงินก็ถูกโอนออกไปหมดแล้ว ทำให้ E-Banking กลายเป็นช่องโหว่ในการก่ออาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งจากที่ สอท.เสนอแนวทาง One Number - One Person - One E-Banking ไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทาง ธปท.ก็เห็นด้วย แต่ต้องไปปรับเปลี่ยนระเบียบเล็กน้อย คือถ้าเปิดบัญชีม้าไม่ได้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือแก๊งที่หลอกลงทุนผ่านโซเชียลก็จบหมด” พล.ต.ท.กรไชย กล่าว

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า หากมีผู้ร้องเรียนมายังกระทรวงดิจิทัลฯ ว่าได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลงทุนในหุ้น โดยการชักชวนผ่าน facebook เราจะเข้าไปตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสั่งปิด facebook ดังกล่าวทันที แต่ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา

นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค
ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของภาคประชาชน เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันวางแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตนเพิ่งแจ้งประเด็นเรื่องการหลอกลงทุนในหุ้นผ่าน facebook ต่ออนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้สภาองค์กรผู้บริโภคทำการแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เนื่องจากตนเชื่อว่ามีโอกาสที่ผู้บริโภคจะหลงเชื่อและได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้อนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกได้อย่างไร โดยคาดว่าน่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ตนได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ รวมทั้งกรณีที่มีการนำโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแอบอ้างหวังสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ เพื่อให้ ก.ล.ต.เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

“การหลอกลงทุนในหุ้นแบบนี้ถือว่าเป็น Scam (ลักษณะการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต) รูปแบบหนึ่ง คือเมื่อก่อนสแกมเมอร์จะใช้วิธีหลอกให้รักแล้วชักชวนให้ลงทุน แต่ปัจจุบันจะหลอกให้ลงทุนโดยตรงเลย แก๊งพวกนี้เจะตกปลาโดยเอาเหยื่อมาล่อ และต่อเหยื่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ปลาตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งเหยื่อที่เอามาล่อคือเงินของคนที่ลงทุนไปนี่แหละ ลงทุนไป 1,000 ได้กลับมา 500 เหยื่อก็หลงดีใจว่านี่คือกำไร แต่ลืมไปว่าที่จริงแล้วยังไม่ได้ทุนคืนด้วยซ้ำ ยังขาดอีก 500 จึงจะเท่าทุน คนที่ตกเป็นเหยื่อคือคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยเกษียณซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความมั่นคง และกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการหารายได้ ต้องการสร้างฐานะ อยากรวยเร็วๆ” นายจิณณะ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น