แก๊งหลอกลงทุนระบาดโฆษณาผ่าน Facebook ทำกราฟิกเนียนใช้รูปผู้บริหาร-โลโก้บริษัท-ตลาดหลักทรัพย์ฯ อ้าง ก.ล.ต. สร้างความน่าเชื่อถือ ชูเงิน 1,000 ลงหุ้นยักษ์ แค่ 10-15 นาทีได้ผลตอบแทน 30-70% อ้างชื่อโบรกเกอร์-บจ. จริง แฉอาจได้จริงแค่ช่วงแรกหลังจากนั้นถอนเงินออกไม่ได้ ตรวจสอบกลับไปต้นทางพบถูกแอบอ้าง หลายบริษัทขึ้นข้อความเตือนระวังกลโกง
เชื่อว่าผู้ที่ใช้ Facebook ในช่วงที่ผ่านมา คงได้พบเห็นโฆษณาผ่าน Facebook เป็นภาพกราฟิกที่มีรูปผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย พร้อมด้วยข้อความเชิญชวนให้ร่วมลงทุน “เปิดโอกาสลงทุนหุ้นยักษ์ระดับโลกด้วยงบ 1,000” ทั้ง ปตท. CPF EGCO IRPC และยังมีโฆษณาในลักษณะนี้อีกหลายรูปแบบ เชิญชวนให้เข้าร่วมหาผลตอบแทนที่สูงภายในระยะเวลาอันสั้น ได้ผลตอบแทนสูง
แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญทั้งโควิด-19 ตามมาด้วยราคาพลังงานที่สูงจากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน เกือบทุกประเทศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน โฆษณาลักษณะนี้จึงดึงความสนใจของผู้คนได้ไม่น้อยให้เข้าไป ทั้งแค่การหาข้อมูล หรือหลวมตัวไปจนกลายเป็นเหยื่อ
ลวงแนบเนียน
การหลอกลวงด้วยช่องทางสื่อออนไลน์นับวันจะยิ่งแนบเนียนมากยิ่งขึ้น รอบนี้ลงทุนทำภาพกราฟิกที่สวยงาม นำภาพของผู้บริหารมาประกอบ พร้อมด้วยโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมลงทุน และยังมีรูปแบบของกราฟิกแบบอื่นๆ อีกหลากหลายรูปแบบ
จากการสอบถามไปยังแหล่งข่าวที่อยู่ในวงการตลาดทุนหลายราย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “หลอกลวง-พวกนี้เป็นมิจฉาชีพ”
เมื่อตรวจสอบเข้าไปที่เพจของผู้โพสต์จะพบว่า เป็นเพจใหม่ เพิ่งมีการโพสต์ภาพเพียง 2-3 โพสต์เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใดที่จะเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน แตกต่างจากบริษัทที่ให้บริการด้านซื้อขายหุ้น หรือกองทุนรวมที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากทางการ ที่ควรจะต้องเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก เปิดมานานจนเป็นที่ไว้วางใจ
ในเพจต้นโพสต์ที่ชักชวนลงทุนเกือบทุกแห่งที่โพสต์เพียงแค่ภาพคล้ายๆ กัน อีกทั้งยังเป็นเพจที่เปิดขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้น โดยใช้การโฆษณาผ่าน Facebook เป็นเครื่องมือเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เห็นในวงกว้าง
เป้าหมายของโพสต์คือ ดึงดูดให้ผู้สนใจกดเข้าไปในช่องทาง Messenger บน Facebook ซึ่งจะมีข้อความอธิบายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อความเหล่านั้นคล้ายเป็นชุดข้อความที่จัดเตรียมไว้ก่อนหน้าแล้ว จากนั้นจะชวนให้เข้าไปพูดคุยกันใน Line ให้ทั้งคำปรึกษา ตอบข้อข้องใจจนถึงการแนะนำให้ลงทะเบียนเปิดบัญชีลงทุน
ต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพกลุ่มนี้เตรียมข้อมูลมาดีมาก หลายคำถามที่สงสัย คำตอบที่ได้กลับมามีความน่าเชื่อถือ เช่น เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่จริง หรือเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จริง ใน Line สร้างโปรไฟล์ใช้โลโก้ของบริษัทที่มีอยู่จริง หรือมีรูปพนักงานที่ให้คำแนะนำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นบริษัทที่รับบริหารจริง จึงทำให้ดูน่าเชื่อถือไปหมด
อ้าง ก.ล.ต.-ล่อด้วยกำไร
จากการเข้าไปในระบบ Messenger หรือ Line ของเพจที่เชิญชวนลงทุนรายหนึ่ง พบข้อความแนะนำบริษัทและบริการดังนี้
บริษัทของเราทำการซื้อ-ขายหุ้นรายวัน หุ้นที่เราทำการซื้อ-ขายคือ หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทย และใช้สกุลเงินไทย (บาท) ในการซื้อขายหุ้นแต่ละตัว เปิดพอร์ตจดทะเบียนภายใต้การควบคุมของ ก.ล.ต. ขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
กำไรในการเทรดต่อรอบอยู่ที่ 30-70% ในการทำรายการเทรดลูกค้าเป็นคนเทรดเอง แต่ทางเราจะมีโบรกเกอร์คอยแนะนำตลอดระยะเวลาที่ลูกค้าทำรายการเทรดเพื่อสร้างกำไร เป็นการเทรดระยะเวลาไม่นาน เพียง 5-10 นาที ก็สามารถเห็นกำไรลูกค้าสามารถเบิกถอนได้ทั้งทุนและกำไรทันทีที่ทำรายการเทรดค่ะ
หากลูกค้ากดเทรดตามที่ทางโบรกเกอร์แจ้ง หากขาดทุนทางโบรกเกอร์ยินดีรับผิดชอบคืนทุนให้ลูกค้าทั้งหมดค่ะ
ลูกค้าไม่ต้องกังวลนะคะ ทางเราเป็นบริษัทที่เปิด ถูกต้องตามกฎหมายมีใบรับรองจากทาง ก.ล.ต. ค่ะ มีใบจดทะเบียนพาณิชย์ถูกต้องตามกฎหมายค่ะ
ส่วนรายอื่นๆ จะเป็นข้อความในลักษณะเดียวกัน ส่วนใครที่เข้าไปสอบถามใน Messenger หรือเข้าไปใน Line แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเปิดพอร์ตซื้อขาย จะมีข้อความส่งมาย้ำเพื่อเร่งให้เข้าไปลงทุนอยู่เรื่อยๆ
มิจฉาชีพตอบได้ทุกข้อสงสัย
ไม่ว่าคุณจะสงสัยอะไร มิจฉาชีพกลุ่มนี้จะตอบได้เกือบทั้งหมด เช่น โพสต์เตือนของบริษัทที่ถูกแอบอ้าง เขาตอบว่าพวกเขาโพสต์เองเพื่อเป็นการเตือนให้ระวัง ถือเป็นการตอบที่ฉลาดมาก เมื่อถามว่าบริษัทที่อ้างมานั้น ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ได้อย่างไร แต่มิจฉาชีพกลุ่มนี้โพสต์ภาพกลับมาเป็นใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
คนทั่วไปคงไม่ตรวจสอบต่อ แค่เขายันเรื่องใบอนุญาตมาก็คงพร้อมลงทุนกับเขาแล้ว
แต่เมื่อตรวจสอบกลับไปที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต.กลับไม่พบชื่อของบริษัทที่มิจฉาชีพแอบอ้างมา นั่นหมายถึงเอกสารที่มิจฉาชีพโพสต์กลับมานั้นเป็นของปลอม
หลายบริษัทถูกแอบอ้างชื่อ
MGR Online ได้ตรวจสอบกลับไปยังบริษัทที่ต้นโพสต์แอบอ้างมา ได้รับการปฏิเสธจากบริษัทที่ถูกใช้ชื่อแอบอ้าง โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ถูกแอบอ้างแจ้งว่า บริษัทเราได้ขึ้นข้อความเตือนให้สาธารณะได้ทราบว่าไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลกลุ่มนี้ อย่างเช่น
การแจ้งเตือนการฉ้อโกงในประเทศไทย เราได้รับทราบถึงกลโกงที่บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่เกี่ยวข้องซึ่งอ้างว่าเป็นบุคลากรของ UBS กำลังติดต่อกับประชาชนผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล หรือช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อเสนอแผนการลงทุนที่ฉ้อฉล เพื่อขอรับข้อมูลส่วนบุคคล หรือเพื่อให้การยืนยันการชำระเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต โปรดทราบว่า UBS Thailand ให้บริการเฉพาะลูกค้าสถาบันผ่านธุรกิจวาณิชธนกิจ
แหล่งข่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมามีคนโทร.มาสอบถามที่บริษัทอยู่ไม่น้อย บางคนได้รับความเสียหายจากมิจฉาชีพกลุ่มนี้ โดยสมัครเข้าไปลงทุน เมื่อโอนเงินไป สัก 10-15 นาทีจะโอนเงินกลับ โดยอ้างว่าเป็นผลตอบแทนที่ได้รับ เมื่อได้ผลตอบแทนดีภายในเวลาไม่กี่นาที เหยื่อส่วนใหญ่จะโอนเงินเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ โดยพนักงานปลายทางพยายามแนะนำว่าให้ลงทุนเพิ่ม แม้ได้ผลตอบแทนก็ไม่ต้องเอาเงินออก สมทบเพิ่มเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินออกมาได้
ไม่ต่างไปจากบริษัท อาซีฟา จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ข้อความเตือนภัย โปรดระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อบริษัท โดยนำตราสัญลักษณ์ของบริษัท รูปผู้บริหาร ตลอดจนข้อมูลหรือภาพต่างๆ ของบริษัทไปใช้บนช่องทางสื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อหลอกลวงให้ร่วมลงทุนซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของบริษัท จึงขอแจ้งให้ทราบว่าบริษัท อาซีฟา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าบริษัทไม่มีนโยบายการทำธุรกิจในลักษณะดังกล่าว ขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แอบอ้างชื่อบริษัทไปหลอกลวงประชาชน
ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท.ที่ถูกแอบอ้างนั้น เพจ Anti-fake news ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข่าวปลอมอย่าแชร์
จากกรณีที่มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยระบุว่าปตท. เชิญชวนนักลงทุนมือใหม่ ลงทุนด้วยงบ 1,000 บาท ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าเป็นการแอบอ้างใช้โลโก้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ซึ่งนำไปใช้ให้ประชาชนเกิดความสับสน ทั้งนี้ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ไม่ได้มีการเปิดลงทุนหุ้นในราคาเพียง 1,000 บาทแต่อย่างใด
ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
ก.ล.ต.เคยเตือน
ที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 แต่โฆษณาเชิญชวนลักษณะนี้ก็ออกมาอีกในระยะนี้ แถมมีความถี่และหลากหลายทั้งรายชื่อต้นโพสต์ ด้วยกราฟิกและข้อความที่ล่อใจ จนคนที่ไม่เฉลียวใจหลวมตัวเข้าไปติดกับ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แจ้งเตือนว่า ปัจจุบันมีมิจฉาชีพจำนวนมากอ้างตัวเป็น บล. บลจ. หรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตมาหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุน และสร้างความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง รวมถึงแอบอ้างชื่อ ภาพ หรือตราสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้มาลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่างๆ ผ่านหลายช่องทาง เช่น โทรศัพท์ ข้อความสั้น โซเชียลมีเดีย และช่องทางออนไลน์
สำหรับรูปแบบการชักชวนลงทุนที่เข้าข่ายหลอกลวงอาจมีลักษณะดังนี้ เสนออัตราผลตอบแทนการลงทุนที่จูงใจและสูงเกินจริง ที่มาของผลตอบแทนไม่ชัดเจน ให้ผลตอบแทนจากการชักชวนคนอื่นมาลงทุน รับประกันผลตอบแทนและอ้างว่าไม่มีความเสี่ยง แอบอ้างชื่อ ภาพ โลโก้หน่วยงานบริษัท หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อ ชักชวนให้ลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้ตรวจสอบได้ ให้ฝากหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา ไม่มีการรายงานหรือแจ้งยืนยันการลงทุน
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th และหากมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยให้แจ้งที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร.1207 หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกต่อไป หากมีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
ตรวจสอบให้ดีก่อนตกเป็นเหยื่อ
ชื่อว่าคนที่ถูกหลอกเมื่อเห็นแค่โฆษณาเชิญชวนบน Facebook ก็ค่อนข้างเชื่อ ยิ่งเมื่อเข้าไปใน Messenger การตอบข้อมูลต่างๆ ทำได้ดี ดูมีหลักการ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนมาก่อนจะคล้อยตามได้ง่าย มีการอ้างว่าเป็นบริษัทต่างๆ ซึ่งมีอยู่จริง เมื่อเข้าไปลงทะเบียนจะถูกกล่อมให้โอนเงินในรูปแบบต่างๆ
ที่จริงลองเข้าไปไล่ข้อมูลของต้นโพสต์ก็จะพอจับสังเกตได้ว่า พวกนี้เป็นมิจฉาชีพ เพราะถ้าเป็นของจริงต้องมีเรื่องราวที่มากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นเพจใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นมา
ดีที่สุดคือการตรวจสอบไปที่ต้นทางของบริษัทที่มิจฉาชีพเหล่านี้แอบอ้าง ซึ่งทุกรายต่างปฏิเสธทั้งสิ้น บริษัทที่ดูแลเรื่องการลงทุนจริงๆ แล้วเขาจะไม่หาลูกค้าด้วยวิธีการลักษณะนี้
เท่าที่ได้ตรวจสอบวิธีการของมิจฉาชีพกลุ่มนี้เหมือนเป็นการผสมผสานระหว่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บวกกับบ้านออมเงิน คือ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้หลากหลายวิธี เมื่อเหยื่อหลวมตัวเข้าไปแล้วจะคล้ายกับแนวทางของบ้านออมเงินคือได้ผลตอบแทนสูงกลับมาจริงในระยะแรก เมื่อลงเงินไปมากๆ แล้วก็จะถอนออกมาไม่ได้
ถ้าเก่งจริงทำไมใช้เงินคนอื่น
เป้าหมายของเหยื่อน่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุนน้อย แต่ต้องการผลตอบแทนสูงภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลหรือพิจารณาว่าอันไหนจริงหรือปลอมจึงมีจำกัด ต่างจากผู้ที่เคยลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของจริงหรือปลอม แม้มิจฉาชีพจะอ้างชื่อบริษัทที่มีอยู่จริงแต่คนที่มีความรู้เรื่องการลงทุนสามารถตรวจสอบได้
คนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดย่อมทราบดีว่า เจ้าของเงินเป็นคนเลือกหุ้น อาจมีบางกรณีที่ให้ทางบริษัทเทรดให้แต่จะมีข้อตกลงกัน หรืออาจใช้บริการของกองทุนรวม ประเภทที่ 10-15 นาทีแล้วได้กำไรมากๆ นั้นแม้แต่เซียนหุ้นเบอร์ต้นๆ ยังทำไม่ได้เลย แถมรับประกันเงินส่วนที่ขาดทุนซึ่งเป็นไปไม่ได้ในวงการนี้
อีกสิ่งหนึ่งต้องพิจารณา ถ้าเขาเก่งจริงอย่างที่กล่าวอ้างมานั้น เขาเทรดเอง สร้างกำไรมหาศาลให้ตัวเองไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องมาแบ่งให้ใคร ที่สำคัญคือพวกนี้ต้องใช้เงินคนอื่นเทรด ถามกลับว่าใจดีขนาดสร้างกำไรให้คนอื่นเชียวหรือ นี่คือสิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาเป็นมิจฉาชีพ
หรือการแอบอ้างชื่อโบรกฯ อย่าง UBS นั้น ถ้าไปตรวจสอบจะพบว่าทางบริษัทเขาได้แจ้งเตือนมาแล้ว และโบรกฯ นี้เป็นฝรั่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศเขาไม่ลงมาเล่นลูกค้าเปิดพอร์ตระดับ 1,000 บาทแน่
คืออยากให้คนที่เห็นโฆษณาเหล่านี้แล้วสนใจอยากลงทุน ใจเย็นๆ ตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน เขาอ้าง ก.ล.ต. ก็ลองสอบถามไปที่ ก.ล.ต. อ้าง ปตท.ก็ตรวจสอบกลับไป หรือตรวจสอบข่าวหลอกลวง ค้นบน Google ก็เจอ ทั้งตำรวจ PCT ก.ล.ต. ต่างออกมาเตือนแทบทั้งสิ้น
การลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตลาดที่มีอยู่นั้นในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปแทบไม่ได้ คุณอาจได้ผลตอบแทนแค่ในระยะแรก เพื่อให้ตายใจ เมื่อใดที่ลงเงินมากๆ พวกเขาก็หนี ถามว่าจะไปตรวจสอบหรือเรียกร้องเอากับใคร เพราะพวกนี้ปลอมทั้งหมด
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv