xs
xsm
sm
md
lg

“หมอรามาฯ” ชี้ตัวเลขผู้ป่วยกัญชาเพิ่มหลังเปิดเสรี หวั่นเยาวชนปุ๊น ทำ “สมองลีบ-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แพทย์รามาฯ” กว่า 1,000 คน ผนึกกำลังจี้รัฐบาลหยุดกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ ชี้เสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม กระตุ้นเด็ก-เยาวชนหันมาเสพกัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้น ส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพ ด้าน “สมาคมจิตแพทย์” พบทำให้เนื้อสมองน้อยลง ความจำเสื่อม ซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย “ผศ.นพ.สมิทธิ์” ตั้งข้อสังเกตไม่ได้ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ ติงหากจะให้ใช้เพื่อสันทนาการต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน ขณะที่ภาคประชาสังคมแคลงใจ รัฐไร้มาตรการควบคุม เอื้อธุรกิจกัญชาและพวกพ้องฟันกำไรมหาศาลหรือไม่?

นับเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับแถลงการณ์ของแพทย์และศิษย์เก่าแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการ “ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที” พร้อมทั้ง “จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย” ซึ่งล่าสุดได้มีแพทย์ อาจารย์แพทย์ และศิษย์เก่าร่วมลงชื่อแล้วกว่า 1,000 คน ขณะที่ Change.org ได้ออกแคมเปญ “ชะลอกัญชาเสรี ขอกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เด็กใช้กัญชาออกมาก่อน” ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 15,000 คน

เนื่องจากหลายฝ่ายเห็นว่าหลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้กัญชา-กัญชงพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 หรือที่เรียกกันว่า “ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด” เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 แต่กลับไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่ชัดเจนออกมาควบคุมการใช้และจำหน่ายกัญชา ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะอาการป่วยในคนที่แพ้กัญชาซึ่งผสมในอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ที่ผลิตและขายอาหารดังกล่าวไม่มีความรู้และไม่มีใบอนุญาต หรือการจำหน่าย และการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการกันอย่างโจ่งแจ้งทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้มีวัยรุ่นอยากรู้อยากลองไปหาซื้อกัญชามาเสพเป็นจำนวนมาก บรรดาผู้ปกครองจึงหวั่นวิตกว่าลูกหลานของตนเองจะติดกัญชาจนไม่เป็นอันศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งยังมีกรณีเหตุสลดที่เกิดจากหนุ่มเมากัญชาขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรแหกด่าน ไปชนรถอีกคันหนึ่ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

จึงมีความเป็นไปได้ที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเปิดเสรีกัญชาออกไปก่อน จนกว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง จะผ่านการพิจารณาของสภาฯ และมีผลบังคับใช้ จะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของบรรดาคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งกำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้รัฐบาลอยู่ในขณะนี้

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวทางในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า หลังจากรวบรวมรายชื่อในส่วนของโรงพยาบาลรามาธิบดีเสร็จแล้ว จะเปิดเผยความคืบหน้าให้สาธารณชนรับทราบผ่านจดหมายเปิดผนึก นอกจากนั้น ในส่วนของ "เครือข่ายนักวิชาการและภาคเอกชนต้านยาเสพติด" อาจจะยื่นเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประชาชน เช่น นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเรียกร้องให้มีการ “จัดกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย”

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์นั้นประเทศไทยใช้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2562 โดยปัจจุบันมีคลินิกกัญชาอยู่มากมายทั้งที่เป็นของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ที่สำคัญยังเป็นการปลดล็อกที่เสรีเกินกว่า “การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์” ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการรณรงค์ของภาคประชาชน และแพทย์พื้นบ้านที่เรียกร้องให้ถอดกัญชาจากยาเสพติดก่อนหน้านี้อีกด้วย

“ถ้าอ้างว่าปลดล็อกกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ อันนี้ไม่ใช่แน่ เพราะกัญชาเพื่อการแพทย์ในประเทศไทยนั้นมีมาหลายปีแล้ว ปัญหาคือการเปิดเสรีกัญชาของประเทศไทยในขณะนี้ถือว่าเสรีที่สุดในโลก แม้แต่ประเทศที่มีนโยบายกัญชาเสรีเพื่อสันทนาการยังมีการควบคุมมากกว่าประเทศไทย เช่น ห้ามขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามสูบกัญชาต่อหน้าเด็ก พกกัญชาไปในที่สาธารณะได้ไม่เกินกี่กรัม ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ด้วย โดยประเทศเหล่านี้ออกกฎหมายควบคุมก่อนที่จะประกาศปลดล็อก แต่ของไทยประกาศปลดล็อกโดยยังไม่มีกฎหมายควบคุม ซึ่งถือว่าผิดหลักการของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งถ้าจะใช้กัญชาเพื่อสันทนาการควรมีการพูดคุยกันก่อนว่าตกลงเราจะเปิดเสรีเพื่ออะไรกันแน่ ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่มายด์เรื่องเสรีเพื่อสันทนาการนะ แต่เสรีเพื่อสันทนาการแบบเสรีเกินไปนี่มันผิดครับ” ผศ.นพ.สมิทธิ์ ระบุ


จากข้อมูลพบว่า การใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการสามารถทำได้ในบางประเทศเท่านั้น เช่น จอร์เจีย แคนาดา ศรีลังกา แอฟริกาใต้ อุรุกวัย สเปน และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา โดยจะมีรายละเอียดและข้อห้ามที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศสเปนห้ามบริโภคกัญชาในที่สาธารณะ จอร์เจียและแอฟริกาใต้ห้ามจำหน่าย แต่สามารถครอบครองและบริโภคกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ประเทศอุรุกวัยกำหนดให้ต้องซื้อกัญชาจากตัวแทนจำหน่ายของรัฐและไม่มีการจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นมี 37 รัฐที่อนุญาตให้ชาวอเมริกันที่มีอาการป่วยบางอย่างสามารถใช้กัญชาได้ตามใบสั่งยาจากแพทย์ และในจำนวนนี้มี 18 รัฐ ที่อนุญาตให้ชาวอเมริกัน อายุ 21 ปีขึ้นไปสามารถครอบครองและใช้กัญชา “เพื่อสันทนาการ” ได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณ และการใช้ในที่สาธารณะที่แตกต่างกันไป

ประเด็นหนึ่งที่แวดวงการแพทย์วิตกกันมากคือ ปัญหาความเจ็บป่วยจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง ผศ.นพ.สมิทธิ์ ระบุว่า ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากแพทย์ทั่วประเทศ พบว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศปลดล็อกกัญชาเสรีปรากฏว่ามีเคสที่แพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ปรึกษาเข้ามายังศูนย์พิษวิทยาฯ เกี่ยวกับกรณีผู้ป่วยอันเนื่องจากผลข้างเคียงของกัญชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่าหลังจากปลดล็อกกัญชาเพียง 1 สัปดาห์ มีจำนวนเคสที่ป่วยเพราะผลข้างเคียงของกัญชามากเท่ากับเคสที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาในระยะเวลา 1 เดือน เช่น มีอาการใจสั่น ง่วงซึมรุนแรง หรือมีอาการทางจิตเวช ซึ่งข้อมูลนี้เฉพาะที่มีการปรึกษากับศูนย์พิษวิทยาฯ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของกัญชาแต่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หรือแพทย์ที่ทำการรักษาไม่ได้ปรึกษาเข้ามายังศูนย์พิษวิทยาฯ อีกจำนวนไม่น้อยก็เป็นได้

“นอกจากนั้นยังมีผลวิจัยจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC หน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้จัดทำรายงานจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับยาเสพติด พบว่า ประเทศที่เปิดเสรีกัญชาจะมีจำนวนคนที่ใช้กัญชามากขึ้น ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวมาจากประเทศที่เปิดเสรีกัญชาภายใต้การควบคุม จึงเกิดคำถามว่าแล้วประเทศไทยซึ่งเปิดเสรีกัญชาโดยไม่มีการควบคุมอะไรเลยจะมีคนใช้กัญชาเพิ่มขึ้นมากขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการใช้กัญชาแบบไม่ถูกต้องมากขึ้น คนป่วยจากผลข้างเคียงของกัญชาก็ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วยด้วย” ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลจาก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยจากการได้รับกัญชาในช่วงระหว่างวันที่ 9-15 มิ.ย.2565 ที่ปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี มีจำนวนทั้งสิ้น 14 คน ขณะที่ตลอดเดือน มิ.ย.2564 และตลอดเดือน มิ.ย.2563 มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา 21 คน และ 15 คน ตามลำดับ


ผศ.นพ.สมิทธิ์ มองว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการซึ่งพบว่ามีมากขึ้นหลังจากเปิดเสรีกัญชา เพราะจะส่งผลให้ขนาดสมองของเด็กและเยาวชนลดลง และที่สำคัญยังทำให้เกิดอาการทางจิตเวช ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้ส่งผลทันที แต่ส่งผลในอนาคตอย่างแน่นอน แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็ไม่ได้ผล จะเห็นได้ว่ามีการขายกัญชาเพื่อสันทนาการกันเกลื่อนและไม่เคยมีผู้ค้ารายใดถูกจับกุม ถามว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ค้าเหล่านี้จะไม่ขายให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ในเมื่อไม่มีหน่วยงานใดลงมาควบคุมการขายกัญชาเพื่อสันทนาการ

สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ที่ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ หรือประกาศควบคุมการทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่นนั้น ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเสพกัญชาได้ เพราะเยาวชนสามารถแอบเสพที่ไหนก็ได้ และคงไม่มีใครเสียเวลาไปแจ้งความเพราะเหม็นควันกัญชา ดังนั้น หากจะเปิดเสรีให้ใช้กัญชาเพื่อสนทนาการได้ต้องมีการออกกฎหมายควบคุมการขาย โดยกำหนดว่าการขายกัญชาเพื่อสันทนาการต้องมีใบอนุญาต และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องจัดให้มีการทำประชามติหรือมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก่อน

“ประเด็นสำคัญคือจะมีคนที่มีอาการซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นจากผลของการเสพกัญชา และมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้นเพราะกัญชาสัมพันธ์กับโรคเหล่านี้ เนื่องจากกัญชาไปกระตุ้นสารสื่อประสาทในสมองทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ทำให้อยากฆ่าตัวตาย ซึ่งเรื่องนี้มีงานวิจัยอยู่มากมาย มีรายงานของ UN ที่สรุปว่ากัญชาทำให้เกิดอาการซึมเศร้ามากขึ้น และในคนที่ใช้กัญชาเป็นประจำจะส่งผลให้เป็นโรคจิตเวชมากขึ้น ดังนั้น การใช้กัญชาจึงจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ใช่เปิดเสรีแบบไม่มีข้อจำกัดอย่างของไทย” ผศ.นพ.สมิทธิ์ ระบุ

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นพ.สุจิระ ปรีชาวิทย์ โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ซึ่งกล่าวในการเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เมื่อเดือน พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ว่า สาร THC ในกัญชาส่งผลต่อสมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้การถอดรหัสพันธุกรรมและการสร้างโปรตีนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดอาการโรคจิต มีหูแว่ว หวาดระแวง โรคซึมเศร้า มีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังทำให้โรคจิตเวชเดิมแย่ลง ทั้งโรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล และ PTSD ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้และติดสารเสพติดชนิดอื่นด้วย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
ขณะที่ สมาคมจิตแพทย์ ได้ระบุถึงผลกระทบของกัญชาต่อสมองเด็กและเยาวชน ไว้ดังนี้

1.ส่งผลให้การทำงานของสมองแย่ลง เนื้อสมองน้อยลง ความจำสั้น-เสื่อมในระยะยาว ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำลง คิดวิเคราะห์ถดถอย ขาดสมาธิ การเรียนรู้-ผลการเรียนที่แย่ลง

2.เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

3.เสี่ยงเป็นโรคจิตเภท หูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง

4.เพิ่มความเครียด อาการแพนิก และภาวะวิตกกังวล

5.อยู่ในสภาวะมึนเมาจนเกิดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น อุบัติเหตุจราจร พลัดตกที่สูง พฤติกรรมทางเพศที่ขาดการป้องกัน เป็นต้น

6.เสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย ผลการเรียนตกต้องออกจากระบบโรงเรียน

7.เสพติดกัญชาจนหมกมุ่น ละเลยกิจกรรมสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย

8.ส่งผลต่อสุขภาพเมื่อใช้ในปริมาณสูง ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ และอาจถึงขั้นหมดสติได้

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน ม.ค.2565 ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด

โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญที่น่าสนใจประเด็นหนึ่ง คือ “ห้ามใช้แบบสันทนาการ” เว้นแต่ในพื้นที่ที่กำหนดซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อน และควบคุมไม่ให้มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

แต่ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และบรรดา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา กลับไม่มีการระบุเรื่อง “การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ” แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น “ข้อห้าม” หรือ “การกำกับดูแล”

ขณะเดียวกัน ประกาศกระทรวงสาธาณสุขซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 และมีผลบังคับใช้ 17 มิ.ย.2565 หลังปลดล็อกกัญชา ก็ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญหาเพื่อสันทนาการแต่อย่างใด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
จึงเกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อ “การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ” คือประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมและปัญหาอาชญากรรมที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง หรือปัญหาต่อสุขภาพและจิตประสาทของผู้เสพ ซึ่งแน่นอนว่าภาระในการรักษาผู้ป่วยดังกล่าวย่อมต้องเป็นของบุคลากรทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข เหตุใด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ศึกษาและขับเคลื่อนเรื่องกัญชามาโดยตลอด จึงไม่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด “ข้อห้าม” ในการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือออกมาตรการควบคุมการใช้เพื่อสันทนาการอย่างเหมาะสม รวมถึงไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่นายอนุทิน เสนอต่อสภาฯ ด้วย เรื่องนี้มีอะไรแอบแฝงหรือไม่?

ขณะที่ภาคประชาสังคมต่างสงสัยว่าเหตุที่รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขปล่อยให้เกิดสุญญากาศหลังประกาศปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด เป็นเพราะต้องการเอื้อให้ธุรกิจปลูกกัญชาสามารถขายกัญชาได้จำนวนมากๆ ทำกำไรได้มหาศาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจดังกล่าวมากกว่าการปลูกกัญชาเพื่อนำใช้ทำยารักษาโรคเพียงอย่างเดียวหรือไม่?

ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาคือ “น.ส.ชิดชนก ชิดชอบ” บุตรสาวของ นายเนวิน ชิดชอบ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุรีรัมย์ ที่มีความสนิทสนมอย่างเหนียวแน่นกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งตำแหน่งทางการเมืองของเขาคือหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดย น.ส.ชิดชนกได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชา และดำรงตำแหน่งประธานวิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะลงทุนลงแรงปลูกและศึกษาเรื่องกัญชง-กัญชาอย่างจริงจังแล้ว วิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดิน 36 ไร่ติดกับสนามช้างฯ เซอร์กิต ยังก่อสร้างโรงงานสกัดกัญชง-กัญชามูลค่าหลักร้อยล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องได้ปลายปีนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งที่ผ่านมา “นโยบายของรัฐบาล” กับ “ความสัมพันธ์ทางการเมือง” และ “ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” เป็นเรื่องยากที่จะแยกออกจากกัน!




กำลังโหลดความคิดเห็น