เปิดหมดเปลือก นโยบายพลังงานไฟฟ้าที่ไม่สมเหตุสมผล ทำค่าไฟพุ่ง “สภาผู้บริโภค” ชี้ กกพ. ปล่อย กฟผ. เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กที่มีราคาสูง ทั้งที่ กฟผ.และผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งต้นทุนค่าไฟถูกกว่า มีกำลังผลิตล้นเหลือจนปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการถึง 50% ค่าใช้จ่ายอื้อ และต้องเสียเงินกินเปล่าให้โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Take or Pay “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ก่อให้เกิดหนี้ 83,010 ล้านบาท ผลักเป็นภาระประชาชนโดยหวังเร่งการขึ้นค่า Ft เดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ที่อาจทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยสูงถึง 6 บาทต่อหน่วย เพื่อล้างหนี้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นั้น นับเป็นการขึ้นค่า Ft ครั้งมหาโหดซึ่งอาจส่งผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นสูงสุดถึงหน่วยละกว่า 6 บาท
โดย 1 ใน 4 แนวทาง คือ ข้อเสนอของ กฟผ.ที่เสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ค่า Ft ขายปลีกเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% โดยอ้างว่าเพื่อนำรายได้จากค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นไปปลดภาระหนี้ของ กฟผ.ที่ต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 83,010 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2565
ทั้งที่หากสืบสาวลึกลงไปแล้ว ภาระหนี้ดังกล่าวล้วนเกิดจากนโยบายในการบริหารจัดการไฟฟ้าของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดูพิลึกพิลั่นและไม่สอดคล้องกับความต้องการพลังงานของภาคประชาชน รวมถึงต้นทุนที่ควรจะเป็น
จากข้อมูลของ "สภาองค์กรของผู้บริโภค" ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาพลังงานไฟฟ้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย.2565 ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ (หรือกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายให้ประชาชนทั้งประเทศ) รวมทั้งสิ้น 51,040 เมกะวัตต์ แต่จากนโยบายของรัฐบาลที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. ได้ ทำให้มีเอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในปัจจุบัน ณ เดือนเมษายนปี 2565 เหลืออยู่เพียง 30% หรือ 15,520 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนมีสัดส่วนถึง 70% โดยแบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPPs) 32% หรือ 16,124 เมกะวัตต์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPPs) 19% หรือ 9,439 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่นำเข้าจากลาวและแลกเปลี่ยนจากมาเลเซีย 11% หรือ 5,721 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) 8% หรือ 4,237 เมกะวัตต์
ขณะที่ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน) ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์เท่านั้น หมายความว่ามีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการถึง 20,000 เมกะวัตต์ หรือมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงกว่า 50% ขณะที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายจากการสำรองไฟฟ้าจะถูกแปลงออกมาเป็นค่า Ft และถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย
"สภาองค์กรของผู้บริโภค" ตั้งข้อสังเกตว่า ที่น่าแปลกคือ ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ.อยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วย (ตัวเลขปี 2558-ปัจจุบัน) แต่ กฟผ. กลับรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPPs) ในราคา 3 บาทกว่าต่อหน่วย ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ในราคาเกือบ 4 บาทต่อหน่วย แม้แต่ไฟฟ้าที่รับซื้อจากโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย สปป.ลาว ซึ่งควรจะมีราคาไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ. ยังอยู่ที่ 2.89, 2.79 และ 2.94 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ซึ่งล้วนแพงกว่าราคาค่าไฟฐานของ กฟผ. ทั้งสิ้น ราคาค่าซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินจากค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ. เหล่านี้จะถูกผลักมาอยู่ในค่า Ft ให้ประชาชนจ่ายเพิ่มนั่นเอง
อีกทั้งค่าซื้อไฟฟ้าจาก SPPs (ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตเป็นส่วนใหญ่) นั้นมีราคาต่อหน่วยแพงกว่าที่ซื้อจาก IPPs แต่ กฟผ.กลับมีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPPs มากกว่า เช่น ตัวเลขการซื้อไฟของ กฟผ.ในเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 พบว่า ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) จำนวน 17,554 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 3.736 บาท เป็นเงินรวม 65,586 ล้านบาท ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPPs) จำนวน 15,277 หน่วย ในราคาหน่วยละ 3.219 บาท เป็นเงินรวม 49,174 ล้านบาท ซึ่งขัดกับหลักการซื้อหาสินค้าโดยทั่วไปที่ควรเลือกรายที่เสนอราคาถูกกว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าเกินควร
“มีข้อมูลชี้ชัดว่า ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องเพราะไฟฟ้าล้นระบบ แต่ กฟผ. กลับไปซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ที่ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงกว่า ซึ่งบางรายเป็นเครือข่ายหรือเจ้าของเดียวกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPPs) ซึ่งถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดพลังงาน ภาคประชาสังคมจึงเกิดความเคลือบแคลงว่านี่คือการเลือกซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่แพงกว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่มบางรายหรือไม่ นอกจากนั้น กลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ยังมาร่วมทุนกับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการครอบงำด้านพลังงานโดยยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายหรือไม่” ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งศึกษาปัญหาพลังงานไทย ระบุ
อีกประเด็นที่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนคือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ แม้ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) โดยที่ผ่านมา รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่สนองตอบต่อความมั่นคงด้านพลังงานแบบสุดโต่งโดยไม่คำนึงถึงภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินควร ขาดความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อีกทั้งถูกซ้ำเติมในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดซึ่งส่งผลให้กิจการจำนวนมากต้องปิดตัวลง ทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยลดลง จึงมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่ง ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย โดยคาดว่าค่าภาระไฟฟ้าส่วนเกินนี้เป็นจำนวนเงินสูงถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าค่าไฟที่การไฟฟ้าฯ เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งปัจจุบันตัวเลขค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ.อยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วย 2. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft และ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งจุดที่เป็นปัญหาคือค่า Ft ซึ่งจะผันแปรไปตามต้นทุนดังนี้
1.ในส่วนของค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อจากเอกชนนั้น ถ้าราคาไฟฟ้าต่อหน่วยที่ซื้อจากเอกชนสูงกว่าราคาค่าไฟฐาน “ส่วนต่าง” ตรงนี้จะถูกผลักไปอยู่ในค่า Ft
2.ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากจากการสำรองไฟฟ้า
3.“ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ที่ถือเป็นเงินกินเปล่าที่ต้องจ่ายให้เอกชน
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวกลายเป็นหนี้ก้อนโตและภาระดอกเบี้ยของ กฟผ.ซึ่งค้างชำระค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน และแน่นอนว่าหนี้ก้อนนี้จะถูกผลักให้เป็นภาระของประชาชนในรูปของค่า Ft ให้ได้ไวที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแม้ที่ผ่านมา กฟผ.จะเรียกเก็บค่า Ft ในอัตราที่ไม่สูงมาก แต่หนี้ที่เกิดจากนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เน้นความมั่นคงแบบสุดโต่ง แต่ประชาชนต้องจ่ายแพงนั้น ล่าสุด กฟผ.ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กกพ. เพื่อจะเรียกเก็บจากประชาชนอย่างหนักในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 นี้ โดยการปรับเพิ่มขึ้น ค่า Ft เป็น 6.12 บาทต่อหน่วย เพื่อนำไปชำระหนี้ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 83,010 ล้านบาท ให้หมดภายในเดือนธันวาคม 2565 จึงเกิดคำถามว่าการดำเนินการในลักษณะนี้เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่?
“มีคำถามมากมายที่รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงพลังงาน กพช. กกพ. และ กฟผ.ต้องตอบ ว่าทำไมปล่อยให้ระบบไฟฟ้าของประเทศต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากมายขนาดนั้น ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือภาระของประชาชน โดยถูกใส่เข้าไปในค่า Ft ทำไม กกพ. จึงปล่อยให้ กฟผ.เลือกซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ราคาแพง แทนที่ กฟผ. จะผลิตเองหรือซื้อจากแหล่งที่ราคาถูกกว่า เมื่อ กฟผ. เลือกซื้อไฟฟ้าจากแหล่งที่มีราคาสูง แน่นอนว่าประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพง โดยส่วนต่างค่าไฟ (ต่อหน่วย) ที่เกินกว่าราคาค่าไฟฐานซึ่งอยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วย จะถูกผลักไปอยู่ในส่วนของค่า Ft ที่ถูกปรับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มันมีความผิดปกติในการกำหนดนโยบายและการบริหารงานในกิจการไฟฟ้าของประเทศที่รัฐบาลต้องจัดการแก้ไขโดยเร็ว แต่เมื่อไม่มีการแก้ไขหรือการแก้ไขเป็นอย่างล่าช้า กรรมจะตกอยู่กับประชาชน” ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ