ทลาย “แก๊งชนบท” แก๊งเงินกู้นอกระบบสายอีสาน “พ.ต.อ.ภาดล” เผยแก๊งนี้แบ่งการทำงานเป็น 25 สาย ใช้รถโตโยต้า วีออส เป็นพาหนะ อาวุธคู่กายคือ “หนังสติ๊ก” ทีมทวงหนี้คัดจากคนนอกพื้นที่ โดยมีลูกหนี้ใน 6 จังหวัดภาคอีสานกว่า 1,500 ราย เงินหมุนเวียนต่อเดือนเกือบ 30 ล้านบาท พฤติกรรมสุดโหด หากขาดส่งจะ “ตัดยอด” และเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด ซึ่งลูกสมุนจะได้ค่าตัดยอดถึงครั้งละ 3,000 บาท พบมี “นายใหญ่” ในภาคกลางเป็นนายทุนและผู้สั่งการ
จากสถานการณ์พิษเศรษฐกิจ เงินเฟ้อพุ่งสูง น้ำมันแพง ข้าวของดาหน้าขึ้นราคาอย่างไม่หยุดยั้ง และคนจำนวนไม่น้อยต้องตกงานจากผลกระทบของโควิด ส่งผลให้ขณะนี้ “แก๊งเงินกู้นอกระบบ” ระบาดอย่างหนักในทุกพื้นที่ อีกทั้งแก๊งเหล่านี้ยังใช้เล่ห์กลที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนของขบวนการเงินกู้สุดโหดได้ จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจให้เดือดร้อนหนักขึ้นไปอีก
ภาคอีสานก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่แก๊งเงินกู้นอกระบบระบาดอย่างหนัก กระทั่งมีการร้องเรียนไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อให้มากวาดล้างปราบปราม
พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผกก.5 บก.ปอศ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากเราได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในภาคอีสานว่าเขาเดือดร้อนมาก ถูกแก๊งเงินกู้ข่มขู่คุกคามอย่างหนัก และไม่ใช่คนกู้อย่างเดียวที่เดือดร้อน ลามไปถึงครอบครัวเขาด้วย เราจึงส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบทำให้พบว่าในพื้นที่ภาคอีสานมีแก๊งเงินกู้แก๊งหนึ่งที่กำลังเหิมเกริมมาก โดยกลุ่มนี้ใช้เชื่อว่า “แก๊งชนบท” เป็นแก๊งเงินกู้นอกระบบที่เรียกเก็บเงินรายวันในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ขอนแก่น จ.อุบลราชธานี และ จ.นครราชสีมา โดยมี “นายใหญ่” อยู่ในภาคกลาง แก๊งนี้จะมีจุดเด่นตรงที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการทวงหนี้ และใช้หนังสติ๊กเป็นอาวุธ ซึ่งทีมทวงหนี้จะเป็นคนต่างถิ่นที่มีหน้าตาดุดัน พูดจาก้าวร้าวเพื่อข่มขู่ลูกหนี้ให้ยอมชดใช้หนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
แก๊งชนบทจะแบ่งการทำงานเป็น 25 สาย แต่ละสายจะมีหัวหน้าสายดูแลและเป็นผู้ถือเงิน และมีเลขานุการสายเป็นผู้ช่วย ซึ่งในแต่ละสายจะมีการบังคับบัญชาลดหลั่นกันไป โดยแต่ละสายจะปล่อยกู้ 3-4 จังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และในแต่ละจังหวัดจะมีหลายสาย โดย "นายใหญ่" จะวางว่าแต่ละสายจะให้ใครคุมและมีลูกน้องกี่คน พร้อมทั้งให้หัวหน้าสายไปตระเวนซื้อรถยนต์โตโยต้า วีออส ปี 2003-2007 ซึ่งเป็นรถรุ่นเก่า จากจังหวัดต่างๆ มาให้ทีมงานใช้เป็นพาหนะในการทวงหนี้
“แต่ละโต๊ะ หรือแต่ละสายของแก๊งชนบทจะมีหัวหน้าใหญ่และเลขานุการสาย ถัดจากหัวหน้าใหญ่จะมีหัวหน้ารองซึ่งคุมสายย่อยลงไป อย่างโต๊ะที่เราจับกุมคือโต๊ะชิดชล กับโต๊ะขามเรียง ซึ่งพักอยู่ที่ จ.มหาสารคาม ในส่วนของโต๊ะชิดชล มีรถยนต์ที่ใช้เก็บเงินกู้อยู่ 14 คัน ซึ่งหัวหน้าใหญ่คุมอยู่ แล้วให้หัวหน้ารองคุมคนละ 4 สาย แต่ละสายมีรถ 3-4 คัน อย่างสายที่ 1 จะวิ่งจากมหาสารคามไปเชียงยืน ไปร้อยเอ็ด เข้าขอนแก่น แล้วย้อนกลับเข้าที่พักที่มหาสารคาม ส่วนโต๊ะขามเรียง มีรถยนต์ที่ใช้เก็บเงินกู้อยู่ 10 กว่าคัน แต่สายนี้จะใช้ทั้งรถวีออสที่นายใหญ่ส่งมา และรถกระบะโหลดเตี้ยซึ่งเป็นรถส่วนตัว แล้วแต่ละคันจะติดสติกเกอร์คำว่าชนบทไว้ท้ายรถ ซึ่งหัวหน้าสายที่เราจับได้เนี่ยตรวจสอบแล้วทั้งสามี และภรรยามีการครอบครองรถยนต์โตโยต้า วีออส ปี 2003-2007 อยู่เกือบ 20 คัน ส่วนหัวหน้ารองแต่ละคนมีรถรุ่นดังกล่าวอยู่ในครอบครองคนละ 6-7 คัน” พ.ต.อ.ภาดล ระบุ
พ.ต.อ.ภาดล ชี้ว่า เหตุที่ทีมทวงหนี้ของแก๊งชนบทต้องเป็นคนต่างถิ่นเพราะ “นายใหญ่” กลัวว่าทีมงานจะเอาเงินไปปล่อยกู้ให้ญาติพี่น้องแล้วเก็บเงินไม่ได้ แล้วชิ่งหนี โดยทีมงานจะมาจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุดรธานี สกลนคร ยโสธร รวมถึงทีมจากจังหวัดในภาคกลาง เช่น อุทัยธานี ซึ่ง “นายใหญ่” ส่งมาคุมแก๊งชนบทซึ่งเป็นสายงานภาคอีสาน ซึ่งในการปล่อยกู้ของแก๊งชนบทนั้นแต่ละสายอาจจะปล่อยกู้ให้ลูกหนี้คนเดียวกันก็ได้ เนื่องจากการกู้เงินของลูกหนี้จำนวนไม่น้อยจะเป็นลักษณะกู้เงินจากเจ้าหนี้เจ้าแรกมาลงทุน หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อหาเงินใช้หนี้ไม่ทันก็กู้จากเจ้าที่สองมาใช้หนี้ก้อนแรก แล้วก็กู้จากเจ้าที่สามมาใช้หนี้ก้อนที่สอง เป็นวัฏจักรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ลูกหนี้บางคนต้องใช้หนี้รายวันรวมแล้วถึงวันละ 5,000 บาทเลยทีเดียว
โดยอัตราดอกเบี้ยที่แก๊งนี้ปล่อยกู้จะอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อ 24 วัน หรือร้อยละ 25 บาท/เดือน หรือร้อยละ 303 บาท/ปี ซึ่งวงเงินที่ปล่อยกู้ครั้งแรกหากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะอยู่ที่ 6,000-10,000 บาท แต่หากมีกิจการหรือทำงานเป็นหลักแหล่ง เช่น เป็นเจ้าของร้านส้มตำ ขายของชำ เป็นพนักงานบริษัท วงเงินที่ปล่อยกู้ครั้งแรกจะอยู่ที่ 20,000 บาท ซึ่งหากลูกหนี้รายใดใช้หนี้หมดแล้วแก๊งเงินกู้ก็มักชักชวนให้กู้ซ้ำอีก
“การเรียกเก็บหนี้จะเก็บเป็นรายวัน และมีวงรอบการเก็บอยู่ที่ 24 วัน เช่น ปล่อยกู้ 10,000 บาท จะเก็บหนี้วันละ 500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,000 บาท แต่ที่โหดร้ายมากคือหากระหว่างที่ส่งเงินกู้ใน 24 วันเนี่ยหากวันใดวันหนึ่งขาดส่ง แก๊งเงินกู้จะถามว่าจะให้ตัดยอดไหม คือวันที่ไม่มีก็ไม่ต้องส่ง แต่เงินทั้งหมดที่ส่งไปแล้วจะเท่ากับศูนย์ และเริ่มนับหนึ่งใหม่ พอเริ่มส่งใหม่แล้วขาดส่งอีก ก็เริ่มนับหนึ่งใหม่อีก ทำให้ลูกหนี้ไม่มีทางหลุดจากวังวนแก๊งเงินกู้ได้สักที ซึ่งหากมีการตัดยอดคนที่เก็บเงินกู้จะได้เงินพิเศษถึง 3,000 บาทต่อการตัดยอด 1 ครั้งเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ การจะตัดยอดได้ลูกหนี้จะต้องส่งเงินไปแล้วอย่างน้อย 6 วัน ถ้ายังไม่ถึง 6 วันแล้วไม่มีจ่ายก็จะถูกแก๊งนี้ข่มขู่คุกคามให้หาเงินมาจ่ายให้ได้” พ.ต.อ.ภาดล ระบุ
สำหรับวิธีการทวงหนี้ของแก๊งชนบทนั้น พ.ต.อ.ภาดล อธิบายว่า ไม่แตกต่างจากแก๊งเงินกู้ทั่วไปคือใช้วิธีข่มขู่คุกคามหรือกดดันให้ลูกหนี้จ่ายเงินให้ได้ เช่น ไปตามถึงที่ทำงานของลูกหนี้ ถ้าติดต่อไม่ได้ก็จะติดต่อไปทางญาติ พี่น้อง คนใกล้ชิด หรือหัวหน้างาน โดยอาจจะกดดันทางผู้บังคับบัญชาของลูกหนี้ให้พูดคุยกับลูกหนี้ให้ใช้หนี้เงินกู้ ซึ่งสาเหตุที่แก๊งเงินกู้สามารถเข้าถึงญาติและคนใกล้ชิดของลูกหนี้ได้เพราะก่อนจะกู้เงินลูกหนี้จะต้องให้ข้อมูลส่วนตัวตามที่แก๊งเงินกู้ระบุ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ปัจจุบัน สถานที่ทำงาน เบอร์โทร. ซึ่งทำให้แก๊งเงินกู้สามารถตรวจสอบต่อไปได้ว่าญาติพี่น้องเป็นใคร หัวหน้างานชื่ออะไร ร้านค้าตั้งอยู่ตรงไหน จึงตามไปข่มขู่คุกคามได้ โดยในการไปทวงหนี้แต่ละครั้งนั้นแก๊งชนบทจะไปกัน 2 คน คนหนึ่งเป็นคนขับรถยนต์ อีกคนลงไปทวงหนี้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ก็จะแจ้งให้หัวหน้าสายลงไปจัดการ
ที่น่าแปลกคือแก๊งนี้จะใช้ “หนังสติ๊ก” เป็นอาวุธ ซึ่งน่าจะเพราะเป็นอาวุธที่ไม่เกิดเสียงดังเวลาก่อเหตุหรือข่มขู่คุกคาม จึงไม่เป็นที่สนใจของชาวบ้าน เช่น เวลาบุกไปบ้านลูกหนี้ก็จะยิงหนังสติ๊กไปที่หลังคาบ้าง กระจกหน้าต่างบ้าง ให้ลูกหนี้ตกใจกลัว หรืออีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของแก๊งซึ่งใช้ชื่อว่า “ชนบท” เพราะหนังสติ๊กเป็นหนึ่งในอาวุธที่คนอีสานใช้ล่าสัตว์ อีกทั้งวิถีชีวิตของแก๊งนี้จะออกแนวลูกทุ่ง ชอบตีไก่ตามซุ้มต่างๆ
“แก๊งนี้เหิมเกริมมาก บางครั้งบุกไปถึงที่ทำงานของลูกหนี้และกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ออกจากห้องทำงาน ขณะที่เพื่อนที่ทำงานก็ไม่กล้าช่วยเพราะแก๊งพวกนี้จะใช้เสียงข่มขู่ รวมถึงหน้าตาดุดันน่ากลัว ลูกหนี้บางคนกู้เงินจากแก๊งชนบทอย่างเดียว ปีหนึ่งยังไม่หมดหนี้เพราะถูกตัดยอดตลอด หรือใช้หนี้หมดแล้วก็มาชวนให้ไปกู้อีก” พ.ต.อ.ภาดล กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าที่ผ่านมา "แก๊งชนบท" ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ไปแล้วรวมกว่า 1,500 ราย เงินหมุนเวียนตกวันละ 30,000-35,000 บาท/สาย/วัน ถ้าคูณ 25 สาย ก็ตกวันละเกือบๆ 1 ล้านบาท เท่ากับว่าแก๊งนี้มีเงินหมุนเวียนต่อเดือนเกือบ 30 ล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับเรื่องการกวาดล้างจับกุมแก๊งเงินกู้นอกระบบแก๊งนี้นั้น พ.ต.อ.ภาดล เปิดเผยว่า หลังจาก บก.ปอศ.ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งชนบท ทางทีมงานจึงได้ลงไปเฝ้าดูพฤติกรรมพบว่าพวกนี้จะแยกกันเช่าที่พักตามพื้นที่ที่ค่อนข้างเปลี่ยวไม่มีผู้คน จากนั้นก่อนออกเดินสายปล่อยกู้และเก็บเงินกู้หัวหน้าสายจะนัดรวมตัวลูกทีมที่ปั๊มน้ำมันบ้าง ที่หน้าร้านสะดวกซื้อบ้าง ในทุกๆ เช้าเพื่อแจกจ่ายเงินที่ใช้ในการปล่อยกู้ให้รถแต่ละคัน ก่อนที่จะปล่อยแถว ตกเย็นจะมารวมตัวกันเพื่อส่งเงินให้หัวหน้าสายและรับเบี้ยเลี้ยง โดยล่าสุดได้มีการจับกุมสมาชิกแก๊งชนบทไปแล้ว 26 ราย และกำลังติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เหลือมาดำเนินคดีต่อไป รวมถึงกำลังขยายผลไปสู่การจับกุม “นายใหญ่” ที่เป็นเจ้าของแก๊งเงินกู้นอกระบบในพื้นที่ภาคกลางด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะได้ตัวมาดำเนินคดีเร็วๆ นี้
“ปัจจุบันแก๊งเงินกู้นอกระบบมีอยู่ทั่วประเทศ และมีหลายแก๊งหลายก๊วน ซึ่งหัวหน้าแก๊งบางแก๊งก็เคยทำงานกับแก๊งเงินกู้รายใหญ่มาก่อน แล้วแยกตัวมาตั้งแก๊งของตัวเอง บางแก๊งอย่างแก๊งชนบท ก็วิวัฒนาการจากแก๊งหมวกกันน็อกมาใช้รถยนต์แทน ซึ่งแก๊งเหล่านี้นายใหญ่ หรือนายทุนของแต่ละแก๊งจะเป็นคนไทย ซึ่งต่างจากแอปเงินกู้ซึ่งนายทุนเป็นคนจีน ดังนั้นลักษณะการติดตามจับกุมจะไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นแก๊งเงินกู้รูปแบบไหนถ้าสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนเราจะไม่ปล่อยไว้อย่างแน่นอน” ผกก.5 บก.ปอศ. ระบุ