xs
xsm
sm
md
lg

พิษ “เงินเฟ้อ” พุ่งไม่หยุด รัฐกดราคาน้ำมัน-จ่อขึ้นดอกเบี้ยสกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เงินเฟ้อแค่ 7.66% ยังพีกไม่สุด จับตาไตรมาส 3 สูงกว่านี้จ่ออาจลากยาวถึงปีหน้า กดค่าเงินบาทอ่อนยวบทะลุ 36 บาทแล้ว ส่งออก-ท่องเที่ยวบวก แต่นำเข้าน้ำมันแพงขึ้นเลี่ยงไม่พ้น กนง.ขึ้นดอกเบี้ยสกัด ขณะที่รัฐเจรจาโรงกลั่นกดราคาน้ำมันลง แนะประชาชนอย่าฟุ่มเฟือย ระวังมิฉจาชีพหลอกลวง

ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งก้าวกระโดดมา 2 เดือนติดจาก 7.1% ในเดือนพฤษภาคม และ 7.66% เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ทำเอาหลายฝ่ายกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับหลายๆ  ประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ผลักดันให้ราคาสินค้าในแต่ละประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนน้ำมัน

กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนของปี 2564 เพิ่มขึ้น 7.66% ถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ และสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยในปี 2565 เงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 5.28% มีนาคมเพิ่ม 5.73% เมษายนชะลอตัวลง แต่ยังเพิ่ม 4.65% และเดือนพฤษภาคม เพิ่ม 7.1%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ปัจจัยหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 39.97% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงถึง 39.45% ค่าไฟฟ้าเพิ่ม 45.41% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 12.63% ส่วนเงินเฟ้อรวม 6 เดือน มกราคม-มิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้น 5.61%

แม้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแน่ๆ หลังโควิดคลี่คลาย แต่ไม่คิดว่าจะมีปัจจัยเร่งเงินเฟ้อด้วยภาวะสงคราม ที่เริ่มเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 แม้จะล่วงเลยเข้าเดือนที่ 5 ของการสู้รบ แต่ดูเหมือนปัญหาระหว่างรัสเซียกับยูเครนคงไม่จบลงง่ายๆ เนื่องจากชาติมหาอำนาจฝ่ายประชาธิปไตยให้การสนับสนุนยูเครน


เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

ขณะที่ความเดือดร้อนจากราคาพลังงานก็สะท้อนกลับไปที่พลเมืองของประเทศที่ให้การสนับสนุนยูเครนเช่นกัน ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปล้วนประสบปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นแทบทั้งสิ้น

ตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับประชากรของประเทศที่สนับสนุนยูเครนว่าจะเรียกร้องต่อรัฐบาลชาติของตัวเองอย่างไร ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อแยกตัวออกมาแล้วต้องการจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งถือเป็นภัยต่อรัสเซีย ขณะที่ 2 แคว้นในยูเครนต่างลงมติจะขออยู่กับรัสเซีย แต่พี่ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการให้ยูเครนมาอยู่ในสหภาพยุโรปเพราะจะมีผลต่อยุทธศาสตร์กับรัสเซียที่ถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้าม

เกมนี้จึงไม่ใช่แค่มียูเครนเป็นเดิมพันเท่านั้นแต่ยังลากเอาประชาชนของทุกประเทศเข้ามามีส่วนรับความเดือดร้อนจากแนวคิดของขั้วมหาอำนาจของโลก

ผลพวงของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นผลักดันให้ต้นทุนการผลิตแทบทุกชนิดสูงขึ้นและถูกส่งต่อมาที่ราคาสินค้าปลายทาง จึงอยู่ที่บริโภคที่ต้องแบกรับภาระแม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามทางความคิดของชาติมหาอำนาจเลยก็ตาม

7.66% ยังไม่พีก

ทีมเศรษฐกิจมหภาคแห่งหนึ่งประเมินว่า เงินเฟ้อ 7.1% หรือ 7.66% ของไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนั้นยังไม่ใช่จุดสูงสุด อาจทำสถิติใหม่ได้ในช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.- ก.ย.) หรือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้อาจลากยาวข้ามไปถึงปี 2566 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่ทุกฝ่ายประเมินคล้ายกันว่า สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ลากยาวแน่ จากการที่หลายชาติหันมาหนุนยูเครน

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่มีใครควบคุมได้ ยกเว้นคู่กรณีที่สามารถยุติได้ด้วยการเจรจากัน ประเทศไทยและประเทศอื่นต้องแก้ปัญหานี้กันเอง แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นแบบพึ่งพากันจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากรัสเซียมีแหล่งพลังงานที่ส่งขายให้ยุโรป รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับยูเครน มีสินค้าหลายรายการที่ส่งออกให้ทั่วโลก

หากทั่วโลกต้องการดึงราคาพลังงานลงมาคงต้องพึ่งกลุ่มโอเปกให้เพิ่มกำลังการผลิต ไม่เช่นนั้นราคาน้ำมันจะคงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไป


ดอกเบี้ยขึ้นแน่

ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว การแก้ไขปัญหาจึงทำได้ยาก สูตรสำเร็จในการสกัดเงินเฟ้อที่ถือเป็นรูปแบบที่ทุกชาติทำกันคือ การขึ้นดอกเบี้ย ขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.5% การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงแตกว่าควรขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น การประชุมครั้งต่อไป 10 สิงหาคม 2565 มีความเป็นไปได้สูงที่กนง.อาจปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% คาดกันว่าตลอดปี 2565 ดอกเบี้ยนโยบายของเราน่าจะอยู่ที่ 1%

แม้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่หากปล่อยเงินเฟ้อไว้อย่างนี้จะมีปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่อ่อนลงไปเรื่อยๆ จนทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้ว ตรงนี้จะมีปัญหาในภาพรวมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและยังเป็นการเพิ่มให้ต้นทุนนำเข้าน้ำมันแพงขึ้นอีกด้วยปัจจัยของอัตราแลกเปลี่ยน

บาทอ่อน “ส่งออก-ท่องเที่ยว” บวก

ในภาวะที่ค่าเงินบาทอ่อนนั้นย่อมเป็นเรื่องดีกับภาคการส่งออกที่จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนและให้ผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว (in-bound) นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายน้อยลง ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศด้วยว่ามีความได้เปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน

แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนลงไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป เพราะยังต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ด้วย เขาก็เจอปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงเช่นเดียวกัน ในภาพรวมแล้วบาทอ่อนถือเป็นปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยว

ส่วนคนไทยที่ต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศเงินบาทอ่อนทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศปลายทางให้ดี

ดอกเบี้ยขึ้น-มีได้มีเสีย

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น ตัวดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงไกด์ไลน์ให้ธนาคารพาณิชย์ว่าจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยตามหรือไม่ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด สภาพคล่องของไทยล้นระบบ ธนาคารการเงินเกือบทุกแห่งลดดอกเบี้ยลง ไม่มีโปรโมชันเงินฝากใดๆ ออกมา หากสภาพคล่องเหล่านี้เริ่มลดลงจึงจะเริ่มที่ทำโปรโมชันเงินฝากออกมาด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละแห่ง อย่างช่วงนี้ทุกคนเริ่มมองว่าเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะออกหุ้นกู้เพื่อล็อกดอกเบี้ยต่ำ ในระยะนี้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน

ในทางกลับกันหากดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น หลายฝ่ายกังวลใจกับภาระหนี้ที่มีอยู่ โดยเฉพาะหนี้ระยะยาวอย่างที่อยู่อาศัย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคืออยู่ในสัญญาดอกเบี้ยลอยตัว หากดอกเบี้ยปรับขึ้นแล้วทำให้ส่วนของเงินต้นไม่เพียงพอ สถาบันการเงินจึงจะเรียกชำระเพิ่ม แต่ถ้าเงินต้นยังพอ ก็จะไปขยายระยะในการชำระหนี้ออกไปแทน เชื่อว่าสถาบันการเงินหลายแห่งพยายามหาวิธีช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้อยู่

ส่วนความกังวลดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น อาจทำให้กระทำต่อการตัดสินใจขยายธุรกิจนั้น หากปรับขึ้นไม่มากคงไม่ส่งผลมากนัก ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับกำลังซื้อหากรัฐสามารถสร้างความมั่นใจให้คนในประเทศกล้าจับจ่ายใช้สอยได้ ตัวดอกเบี้ยที่ขึ้นย่อมเป็นอุปสรรคไม่มากนัก

เงินเฟ้อจะมีทั้งฝั่งคนได้และเสีย เช่นเดียวกับดอกเบี้ยขึ้นหรือลง มีฝั่งที่ได้และเสียเช่นเดียวกัน


ลดเบนซิน 3 บาท

ในการคุมเงินเฟ้อไม่มีเครื่องมือตัวใดที่คุมได้อย่างชัดเจน การใช้อัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำได้ตลอด เพราะต้องเสี่ยงกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นเพื่อช่วยประคับประคองสถานการณ์นี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงมาลิตรละ 3 บาท มีผลวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ส่วนดีเซลรัฐบาลได้ตรึงราคาไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 35 บาท

นับเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหาอย่างราคาน้ำมัน ทำให้ราคาปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว ช่วยให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นโดยเฉพาะด้านความรู้สึกของประชาชน ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนปัญหาเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยคงเป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องกลับไปหารือกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

คุมรายจ่าย-เสริมรายได้

สำหรับภาคประชาชนสิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือรักษางานที่มีอยู่แล้วให้ดีที่สุด แม้ว่าอาจต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลงจากงานที่ทำอยู่เพราะการหางานใหม่ในยามนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายพยายามมองหาช่องทางในการเพิ่มรายได้ด้วยอาชีพเสริมอื่นๆ การใช้จ่ายต้องระมัดระวัง อะไรที่เลี่ยงได้ให้ชะลอออกไปก่อนไม่จำเป็นไม่ควรสร้างหนี้ก้อนใหญ่ที่มีภาระผูกพันหลายปี

ใครที่ต้องการเพิ่มรายได้ด้วยเงินออมที่มีอยู่ หากเป็นไปได้ควรเลือกแหล่งออมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แนะนำให้คำนึงถึงเงินต้นไม่สูญเป็นลำดับแรกแม้จะได้รับผลตอบแทนน้อยก็ตาม ซึ่งดีกว่าการถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพ เชื่อว่าจากนี้ไปสถาบันการเงินอาจมีการออกโปรโมชันเงินฝากออกมา แนะนำให้รออีกระยะหนึ่ง รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลรุ่นต่อๆ ไป

หากใครที่พร้อมเสี่ยงต้องการได้ดอกเบี้ยดีๆด้วยการลงทุนในหุ้นกู้ ควรเลือกบริษัทที่มีความมั่นคงเป็นหลัก เช่นเดียวกับกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อเพื่อการดำรงชีพควรเลือกสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตที่ถูกต้องเพราะดอกเบี้ยจะต่ำกว่าสินเชื่อนอกระบบ
เนื่องจากมีการควบคุมเพดานดอกเบี้ยจากรัฐและยังเป็นการป้องกันการถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น