xs
xsm
sm
md
lg

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าชี้ออกกติกาเลือกตั้ง อย่ากลัวเงา (ใคร) จะชนะมากไป ติงต้องเป็นธรรม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้สูตรหาร 500 ในทางคณิตศาสตร์เป็นการสกัดแลนด์สไลด์ของพรรคการเมืองได้ แจงอยากให้ผู้ออกกติกาให้พรรคการเมืองเล่นต้องแฟร์และเป็นธรรม และอย่ากลัวเงา (ใคร) จะชนะมากเกินไป! เมื่อออกมาแล้ว หากผู้เล่น (พรรคการเมือง) จะใช้แท็กติกแต่อยู่ในกติกาเพื่อให้พรรคของเขาเป็นฝ่ายชนะจะไปโทษไม่ได้ เช่น ไปตั้งพรรค ข.เพื่อดึงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ติงตามหลักวิชาการควรเบอร์เดียวทั้งประเทศจะทำให้การเมืองพัฒนามากขึ้น ง่ายต่อการหาเสียง การจัดการ และประชาชนจดจำ มั่นใจเลือกตั้งครั้งหน้าแข่งเดือดทั้งด้านนโยบาย ทีมเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูประเทศ และตัวนายกฯ อีกทั้งปลุกคนให้ออกมาใช้สิทธิมากๆ สกัดคะแนนจัดตั้งของพรรคการเมือง!

ในที่สุดประเด็นสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แบบหาร 100 หรือ 500 ก็ได้ข้อยุติ หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.โดยมีมติไม่เห็นด้วยตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสียงข้างมากเสนอแบบหาร 100 ด้วยคะแนน 392 ต่อ 160 งดออกเสียง 23 ไม่ลงคะแนน 2

โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 ด้วยคะแนนเสียง 354 ไม่เห็นด้วย 162 งดออกเสียง 37
ไม่ลงคะแนน 4

ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นต่อไป ต้องใช้สูตรหาร 500 ในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งจะมีผลดีอย่างไรต่อระบบการเมืองไทยหรือไม่!




ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2564 แก้ไขแค่ 2 มาตรา คือกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการแก้สัดส่วน ส.ส.เขต 400 และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 ซึ่งในความเป็นจริงต้องพิจารณาถึง ส.ส.พึงมี ที่มีการถกเถียงในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบสัดส่วนผสม เพราะหลักคิดแบบสัดส่วนผสมนั้นเป็นการคิดโดยดูเจตจำนงของประชาชนว่าอยากให้แต่ละพรรคมี ส.ส.เท่าไหร่ เป็น ส.ส.พึงมี แล้วก็กลับไปดูว่าเขตได้เท่าไหร่แล้วจึงเอามาเติม

วิธีการนี้คือการคิดแบบสัดส่วนผสม ซึ่งจะไม่เหมือนกับวิธีคิดเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มี ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ

“ถ้าเราพูดถึง ส.ส.พึงมี และยังยึดเจตนารมณ์นี้อยู่ การใช้สูตรหาร 500 ก็เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะ 500 ไปหารจากจำนวนคนที่ลงบัตรใบที่สอง คือลงพรรคการเมืองก็แปลว่าประชาชนมีเจตจำนงที่อยากให้พรรคนี้มี ส.ส.กี่คน ดังนั้น ถ้าพรรคนี้มี ส.ส.เขตเกินแล้วก็จะไม่ได้ ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ”

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเมื่อไปกำหนด 400:100 ซึ่งสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ 100 น้อยเกินไป เพราะในหลายประเทศที่ใช้สัดส่วนผลมแบบนี้จะมี ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อจำนวนที่ใกล้กัน ยิ่งเราเอา 100 หาร ก็จะกลับไปใช้แบบปี 2540 คือแยกเป็น 2 บัญชี

“ถ้าเอา 100 หาร ใครได้กี่เปอร์เซ็นต์ก็ได้ไป ไม่เกี่ยวกับ ส.ส.เขต แม้จะได้ ส.ส.เขตมากแล้วก็ตาม เช่น พรรคนี้ได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 50% แล้วมาได้บัญชีที่ 2 อีก 60% ก็แปลว่าจะได้ 60 คนจาก 100 คน ทั้งๆ ที่ได้ ส.ส.เขตไปครึ่งหนึ่ง วิธีคิดแบบนี้คิดแบบแยกกัน แต่ถ้าคิดแบบสัดส่วน เอา 500 หาร พรรคได้ ส.ส. เขตไปแล้ว 50 และได้จากบัญชี 60 ก็จะได้เติมแค่ 10% ในส่วนต่าง”


เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บอกว่า คำว่า ‘ส.ส.พึงมี’ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การใช้สูตรหาร 500 มีส่วนถูกต้อง เพียงแต่ว่าการหาร 500 ในคะแนนของบัตรใบที่สอง ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้สัดส่วนบัญชีรายชื่อน้อยลง แต่จะส่งผลดีต่อพรรคเล็กๆ ได้มีโอกาสมากขึ้น

“กรณีหาร 100 มีคนลงคะแนน 35 ล้าน หาร 100 ถ้าใครได้ 350,000 ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน คิดตรงไปตรงมาซึ่งพรรคเล็กโอกาสจะได้น้อยมาก แต่ถ้าหาร 500 ใน 35 ล้านเสียง ก็จะได้ 70,000 คะแนน ก็มีสิทธิจะได้ ส.ส. 1 คน ตรงนี้จึงเป็นโอกาสของพรรคเล็ก”

แต่ปัญหาที่จะเกิดตามมาคือ เศษที่เหลือเท่าไหร่ เพราะไม่มีการพูดถึงขั้นต่ำ 1% หรือ 2% หรือเท่าไหร่ เพราะเมื่อปี 2540 ใช้ 5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร หากพรรคการเมืองใดได้ไม่ถึงก็ต้องตัดทิ้งไปและเอาคะแนนไม่ถึง 5% มารวมกันให้พรรคใหญ่

“ตัวอย่างคนลงคะแนน 35 ล้าน หาร 500 ต้องได้ 70,000 พรรคไหนได้ไม่ถึงก็ตัดทิ้ง ก็แปลว่า พรรคที่ได้รับสองหมื่น สามหมื่นก็ไม่ได้ ส.ส จึงต้องไปพูดถึงเกณฑฺ์ขั้นต่ำ ซึ่งถ้าไม่มี เราก็จะได้ ส.ส. หมื่นเจ็ด คือ มันจะทอน กลับไปกลับมา หยอดทีละพรรค สุดท้ายได้หมื่นเจ็ดเพราะมันหมุนถึงคุณ แล้วคุณมีคะแนน คุณไม่ได้ถูกตัดทิ้งก่อน ซึ่งหลักมันเป็นแบบนี้”

อย่างไรก็ดี หากมีการกำหนดขั้นต่ำไว้ พรรคไหนไม่ถึงก็ตัดทิ้งไปก่อนจะส่งผลดีทำให้พรรคใหญ่มีโอกาสได้เพิ่ม แต่จะไม่มากเหมือนปี 2540 ที่กำหนดขั้นต่ำ 5% ส่งผลให้พรรคจำนวนหนึ่งที่ได้ 4% กว่าซึ่งมีคะแนนหลายแสนถูกตัดทิ้งไม่ได้ ส.ส.กันเลย กรณีแบบนี้ถือว่าไม่แฟร์ หรือไม่เป็นธรรม แต่ในที่สุดที่ประชุมของ กมธ.หรือรัฐสภาคงมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ คาดว่าน่าจะเป็นที่ 1%

ส่วนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการส่งสัญญาณและรัฐสภามีมติใช้สูตรหาร 500 นั้นเป็นวิธีการสกัดการแลนด์สไลด์ของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ศาสตราจารย์วุฒิสาร บอกว่า โดยหลักทางคณิตศาสตร์แล้วมีความเป็นไปได้ตามที่เรามองเห็น เพราะบัตรใบที่ 2 เลือกพรรคนั้น ที่ผ่านมาไม่มีพรรคไหนได้เกิน 50% ดังนั้นหากไม่เกิน 50% ใช้ 500 หาร ก็แปลว่าพรรคใหญ่ที่ชนะสูงสุดที่ได้คือ 50% ซึ่งพรรคนั้นอาจได้มากกว่า 50% ถ้าได้ ส.ส.เขตมากกว่า เช่น ส.ส.เขตได้ 220 คน เกิน 50% ก็จะไม่ได้แถมในบัญชี 100 คน


“จากข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นคะแนนพรรคเกิน 50% จึงอนุมานได้ว่าแทนที่จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นเยอะ ก็อาจจะไม่เยอะเท่าที่คิดไว้ พรรคการเมืองเขามีวิธีจัดการอยู่แล้วเพื่อไม่ให้จำนวน ส.ส.หาย ก็ไปตั้งพรรค ข.ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนลงบัตรใบที่ 2 ได้ปาร์ตี้ลิสต์แทน ซึ่งคิดว่าทุกพรรคคิดเหมือนกัน จะไปออกแบบพรรคเขาเองหลังมีกติกาว่าจะทำอย่างไร”

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ย้ำว่า เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ออกกติกาให้พรรคการเมืองเล่น ไม่ว่าจะเป็นสูตรหาร 500 หรืออะไรก็ตาม เมื่อออกกติกามาแล้วต้องยอมรับว่าผู้ออกกติกาพอใจกับกติกานั้นแล้ว และถ้าผู้เล่นจะเล่นตามกติกาเพื่อให้พรรคของเขาเป็นฝ่ายชนะ ผู้ออกกติกาจะไปโทษพรรคการเมืองที่มีวิธีการจัดการจนได้ชัยชนะไม่ได้!

“ผู้ที่ออกกติกาต้องเริ่มจากต้องไม่คิดว่าใครจะได้เปรียบเสียเปรียบ คือต้องคิดเรื่องหลักการ เจตจำนงที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ควรเป็นอย่างไร เพราะระบบเลือกตั้งไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่อย่าออกกติกาอะไรเพราะความกลัว ที่ผ่านมาเรื่องบัตรคนละเบอร์ ในทางหลักวิชาการแล้วควรจะเบอร์เดียวทั้งประเทศซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อให้หาเสียงได้ง่าย การจัดการก็ง่าย ทุกวันนี้ เราหาเสียงคนละเบอร์ ในกรุงเทพฯ ข้ามถนนไปก็คนละเขต คนก็ต้องไปนั่งจำอีกเบอร์หนึ่ง ซึ่งเป็นความรุงรังที่ไม่จำเป็น วันนี้เราไปออกกติกาจนสับสน เพราะมัวแต่ไปกลัวเงา หรือกลัวใครจะชนะมากจนเกินไป”

ขณะเดียวกัน การใช้บัตร 2 ใบ ก็ต้องคิดถึงความสะดวกของประชาชนในการจำ เพราะถ้าเราจะสนับสนุนให้พรรคการเมืองเติบโต เข้มแข็ง ต้องให้ประชาชนสนใจในนโยบายของพรรค อีกทั้งการมีบัตรใบเดียวก็แปลว่าสนับสนุนทั้งคนและพรรค คือทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้จำง่ายทั้งประเทศเหมือนกัน ฝ่ายหาเสียงพรรคการเมืองก็หาเสียงได้ง่าย สามารถทำเคมแปญได้ง่ายขึ้น




สำหรับฝ่ายจัดการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งนอกเขต หรือเลือกตั้งในต่างประเทศ หรือเลือกตั้งล่วงหน้า หากเป็นบัตร 2 ใบต้องมาจัดการกันว่าจะส่งบัตรกันอย่างไร ซึ่งดูยุ่งยากเพิ่มขึ้น

“ถ้าเป็นบัตรใบเดียวจะทำให้การเมืองพัฒนาขึ้น อย่าไปกลัวอะไรมากเกินไป เพราะถ้าเรารักทั้ง ส.ส.รักทั้งพรรค ก็เลือกไปเลยเบอร์เดียว แต่ถ้าเป็น 2 ใบ เลือกพรรคคนละเบอร์กันจะสร้างความอึดอัดในการหาเสียงและประชาชนเหมือนกัน”

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ระบุว่า กติกาที่ออกมานั้นมองให้ดีเพื่อประโยชน์ต่อผู้เล่นเองหรือไม่? แต่ไม่ได้ออกกติกาเพื่อเป็นธรรม จริงๆ แล้วกติกาที่ออกมาต้องเป็นธรรมและแฟร์เกม ซึ่งหากกติกามีความชัดเจน ทุกคนเข้าใจ ง่ายต่อการเข้าใจ จะมีวิธีเล่นอย่างไร มีแท็กติกในการเล่นอย่างไรเป็นสิทธิของพรรคการเมืองแล้ว

“กติกาต้องเป็นธรรม เหมาะสมกับสังคม ง่ายต่อประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ง่าย พรรคการเมืองจะเติบโตได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งต่อไปเชื่อว่าการตื่นตัวน่าจะเหมือนเดิม แต่อาจจะมีนิวโหวตเตอร์ที่เข้ามามากขึ้น ส่วนคนรุ่นเก่าๆ อาจเบื่อหน่ายเพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการแข่งขันทางการเมืองน่าจะสูงขึ้น ทั้งเรื่องนโยบาย การชูตัวผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้ นโยบายเรื่องของการฟื้นฟูประเทศ การแก้ไขเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชน และทีมเศรษฐกิจจะเป็นจุดชี้ขาดในการเลือกตั้ง

“ที่ผมห่วงคือการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขอให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิกันมากๆ เพราะถ้าออกกันมาน้อยก็จะเป็นโอกาสของคะแนนจัดตั้งแน่นอน”!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น