“ธัญวัจน์” ชี้ข้อจำกัดกฎหมายทำ LGTBQ สร้างครอบครัวยาก กู้ร่วมซื้อบ้านยังมีปัญหา ทำประกันให้กันไม่ได้ ไร้สิทธิสวัสดิการในฐานคู่สมรส ติงหากใช้คำว่า “คู่ชีวิต” วุ่นแน่! เหตุต้องตามแก้ กม.ทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง แนะสภาฯ ผ่านทั้ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้กลุ่มหลากหลายทางเพศเลือกใช้ให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์
เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับกฎหมายเพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม LGBTQ อย่างล้นหลาม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้ “คู่สมรส” ที่มีหลากหลายทางเพศมีสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางกฎหมาย สิทธิด้านสวัสดิการจากรัฐ หรือสิทธิด้านธุรกรรมทางการเงิน
ขณะที่สถาบันการเงินต่างออกมาขานรับแนวทางของกฎหมายดังกล่าว โดยให้สิทธิคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านได้ โดยมีหลายธนาคารที่สนับสนุนให้ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวสามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการปลดล็อกข้อจำกัดที่ทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศไม่สามารถสร้างความมั่นคงในครอบครัวฉันคู่รักเหมือนคู่ชายหญิงได้
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ชี้ว่า ปัจจุบันคู่ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ มากมายซึ่งล้วนส่งผลให้ชีวิตคู่เปราะบางและเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น คู่รัก LGBTQ ที่อยู่กินกัน ไม่สามารถยื่นขอกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันในฐานะคู่สมรสเหมือนชายหญิงหรือคู่สมรสต่างเพศ ไม่สามารถทำประกันชีวิตให้กัน ขณะที่ชายหญิงหรือรักต่างเพศนั้นธนาคารมองว่าการทำประกันชีวิตโดยให้คู่ชีวิตเป็นผู้รับผลประโยชน์หรือการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้นเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว เป็นการสร้างครอบครัวที่รัฐรับรอง อย่างไรก็ดี ยังมีสถาบันการเงินบางแห่งเข้าใจความหลากหลายทางเพศและออกนโยบายให้คู่รัก LGBTQ สามารถกู้ร่วมได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
ปัจจุบันคู่รัก LGBTQ มักถูกมองเรื่องความไม่มั่นคง สถาบันการเงินยังไม่สามารถอนุมัติให้กู้ร่วมในเงื่อนไขเดียวกับคู่สมรสชายหญิง ถ้ามีกฎหมายออกมาและ LGBTQ อยู่ในฐานะคู่สมรสเหมือนกับชายหญิงนั่นหมายถึงว่าเขาจะมีพันธะสัญญาที่ต้องดูแลกันในฐานะคู่สมรส มีความผูกพันในการสร้างครอบครัว สถาบันการเงินจะยอมรับเรื่องการสร้างความมั่นคงของคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาจะอยู่ด้วยกันอย่างมั่นคงยั่งยืน สามารถช่วยกันผ่อนบ้าน ช่วยกันสร้างฐานะ
“เรื่องกู้ร่วมนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ผ่านมาในชีวิตไม่สามารถกู้ซื้อบ้านได้ คือสำหรับคู่รัก LGBTQ มันเหมือนทุกอย่างลำบากมากกว่าชายหญิงทั่วไป บางคู่ทำเรื่องกู้เหมือนซื้อคนเดียวแต่ช่วยกันผ่อน 2 คน และคนที่มีชื่อเป็นผู้กู้ต้องมีฐานะ มีเงินสูงในระดับหนึ่งจึงจะกู้ผ่าน พอกู้ผ่านปุ๊บ ตอนโอนกรรมสิทธิ์จะโอนแบบซื้อทรัพย์สินร่วมกันมีขั้นตอนยุ่งยากอีก คำถามคือ LGBTQ คนไหนจะมีเงินเดือนเป็น 2 เท่าของคนทั่วไปที่จะสามารกู้ซื้อคนเดียวได้ และถึงแม้ตามเอกสารจะกู้ซื้อคนเดียวได้แต่จริงๆ ศักยภาพทางการเงินอาจจะไม่ถึง ต้องช่วยกันผ่อน และถ้ากู้ซื้อในชื่อคนเดียวไปแล้วแต่จริงๆ ช่วยกันผ่อน เกิดเลิกกัน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีปัญหา คือถ้ากู้ร่วมเป็นชื่อ 2 คน ตามกฎหมายถ้าเลิกกันทรัพย์สินก็แบ่งคนละครึ่ง ถ้ากู้ในชื่อคนเดียวจะลงชื่อร่วมได้ก็ต่อเมื่อผ่อนหมดแล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งรัฐควรสนับสนุนความมั่นคงในการสร้างครอบครัวของทุกเพศ ไม่ใช่สร้างความเปราะบางให้ LGBTQ” นายธัญวัจน์ ระบุ
สำหรับสิทธิของคู่รัก LGBTQ ที่กำหนดใน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล กับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดย ครม.และพรรคประชาธิปัตย์ จะแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรนั้น นายธัญวัจน์ บอกว่า ขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ แต่คำว่า “คู่ชีวิต” กับ “คู่สมรส” นั้นศักดิ์ศรีหรือสิทธิต่างๆ ไม่เท่ากันอย่างแน่นอน โดย “คู่สมรส” มีสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายซึ่งรัฐให้การรับรอง ขณะที่ “คู่ชีวิต” รัฐมองว่าเป็นความสัมพันธ์แบบหลวมๆ ไม่ผูกมัดมาก เป็นความสัมพันธ์อีกระดับหนึ่ง ถ้ารัฐให้ศักดิ์ศรีทุกกลุ่มเหมือนกันต้องใช้คำว่า “คู่สมรส” เหมือนกัน สิทธิต่างๆ จากการสมรสย่อมต้องเท่ากัน แต่ปัจจุบันคล้ายกับแยกว่าคู่นี้คือครอบครัวแบบเกรดเอ คู่นี้คือครอบครัวแบบเกรดบี
LGTBQ ต้องการให้รัฐรับรองสถานะคู่สมรสในการสร้างครอบครัว ซึ่งความรักของเขาไม่ได้แตกต่างจากชายหญิงทั่วไป มีความรักมาก ความรักน้อย ความรักยั่งยืน ความรักไม่ยั่งยืน เหมือนกัน แต่ทะเบียนสมรสจะเป็นศักดิ์ศรีสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต้องปฏิบัติในฐานะที่เขาเป็นคู่สมรส
“ในมุมของนิติบัญญัติมันคือความไม่เสมอภาคทั้งเรื่องศักดิ์ศรี สิทธิ และสวัสดิการ เพราะกฎหมายมันไม่เท่ากัน อย่างคู่รักชายหญิงมาทำประกันชีวิตให้กันแค่บอกว่าเป็นสามีภรรยากัน ทะเบียนสมรสยังแทบไม่ต้องดูเลย หรือมีผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเดินมาด้วยกัน เจ้าหน้าที่ก็อนุมานว่าเป็นคู่สมรส เอ้า กรอกคู่สมรส ไม่ดูเอกสารใดๆ ทั้งนั้น แต่ถ้า LGTBQ จะทำประกันชีวิตให้คนรักจะถูกตั้งคำถามว่าคุณรักกันจริงหรือเปล่า อยู่ด้วยกันมากี่ปี คือพอไม่มีการรับรองจากรัฐก็ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกเลือกปฏิบัติ” นายธัญวัจน์ กล่าว
ทั้งนี้ หลักการของ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” คือ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเพศสภาพใดก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้
โดยประโยชน์ของ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” แบ่งหลักๆ ได้ดังนี้
1) ประโยชน์ด้านความเท่าเทียม
- บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันถือเป็น "คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย"
- "คู่สมรส" จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น "คู่สมรส" ชาย-หญิง ปรับเป็น "บุคคล" บิดา-มารดา ปรับเป็น "บุพการี"
2) สิทธิด้านสวัสดิการของคู่สมรส LGTBQ ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเหมือนกับคู่สมรสชายหญิงทุกประการ คือได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น
- กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นข้าราชการ คู่สมรสมีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากรัฐ
- กรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม คู่สมรสจะได้รับความคุ้มครอง หรือสิทธิประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิงที่อยู่ในระบบประกันสังคม
3) สิทธิและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของคู่สมรส LGTBQ ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเหมือนกับคู่สมรสชายหญิงทุกอย่างเช่นกัน เช่น
- สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
- สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมหากอีกฝ่ายเสียชีวิต
- ไม่ต้องเสียภาษีมรดก ในกรณีที่รับมรดกจากคู่ที่เสียชีวิต
- สามารถนำคู่สมรสมาลดหย่อนในการคำนวณภาษี เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง
- คู่สมรสที่เป็น LGBTQ สามารถทำประกันชีวิตให้คู่สมรส หรือให้คู่สมรสของตนเป็นผู้รับผลประโยชน์ในการทำประกันชีวิตได้
- หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คู่สมรสจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินด้วย
4) นอกจากนั้น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยังกำหนดให้คู่สมรส LGTBQ มีสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง เช่น
- สิทธิในการเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา
- สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
- สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
- สิทธิในการจัดการศพของคู่สมรส
นายธัญวัจน์ ยังได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิตที่มีความหลากหลายทางเพศ ว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระแรก ทั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ครม.และพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นกฎหมายที่จะออกมาจากคณะกรรมาธิการฯ ต้องออกมาทั้ง 2 ร่าง คือต้องมีกฎหมาย 2 ฉบับออกมาให้สภาฯ พิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 นี่คือกลไกที่เราต้องจับตาดู ซึ่งตอนนี้ยังตอบไม่ได้ 100% ว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อพิจารณารายมาตราแล้วจะมีข้อที่แตกต่างกันอย่างไร มีตรงไหนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง จึงต้องติดตามในชั้นกรรมาธิการอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี การจะนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมาปรับรวมให้เป็นฉบับเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจน และเนื่องจากกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีคำว่า “คู่ชีวิต” มีแต่คำว่า “คู่สมรส” ดังนั้นหากใช้คำว่า “คู่ชีวิต” จะต้องไปแก้ข้อความในกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เต็มไปหมด ซึ่งจะเป็นปัญหายุ่งยากตามมา แต่หากใช้คำว่า “คู่สมรส” จะสอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องแก้อะไร
“ ส่วนตัวมองว่าในทางปฏิบัติ สภาฯ สามารถรับทั้ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อออกมาประกาศใช้ให้ประชาชนเลือกว่าจะใช้ฉบับไหนบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด คือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต้องเป็นกฎหมายพื้นฐานของ LGTBQ ส่วน พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการผูกมัดเท่าคู่สมรสชายหญิง คืออย่างประเทศฝรั่งเศสมีทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมและกฎหมายคู่ชีวิต โดยกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป ส่วนกฎหมายคู่ชีวิตอาจจะกำหนดรายละเอียดว่าสามารถเข้ามาจัดการทรัพย์สินของคู่ชีวิตในมูลค่าไม่เกินเท่าไหร่ อาจจะมีการอภิบาลดูแลกันเท่านั้น หรือเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบเพื่อนอยู่ด้วยกัน หรืออยู่กันก่อนแต่ง เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนคู่สมรส อาจเป็นความสัมพันธ์อีกแบบที่เหมาะกับบางคู่ ซึ่งจริงๆ คู่ชายหญิงอาจจะอยากได้ความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดมากเช่นกัน” นายธัญวัจน์ ระบุ