xs
xsm
sm
md
lg

เลิกใช้เลขไทย-เลิกใส่ชุดลูกเสือ ประเด็นดรามาที่เกิดจาก "เฟกนิวส์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผศ.วันวิชิต” ชี้สังคมไทยตกเป็นทาส “เฟกนิวส์” เพราะขาดการตรวจสอบข้อมูล สื่อตั้งใจขาย “ดรามา” ขณะที่นักการเมืองใช้ “เฟกนิวส์” เป็นเครื่องมือดิสเครดิตขั้วตรงข้าม “ดร.เสรี” อัดสื่อมั่วข้อมูล จับประเด็น-ตีความผิด ทำสังคมสับสน ด้าน “รศ.ดร.พิทยาวัฒน์” ระบุเลขไทยหรืออารบิก ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับบริบท เชื่อในอนาคตเลขไทยอาจหายไปตามกระแสนิยม

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีข้อเสนอทางสังคม 2 เรื่องหลักๆ ที่ถูกนำไปขยายความ และมีการสื่อสารคลาดเคลื่อนนำไปสู่การถกเถียงกันจนกลายเป็นประเด็นดรามา เรื่องแรกคือ “การเสนอให้ยกเลิกการใช้เลขไทยในเอกสารราชการ” ซึ่งถูกเสนอผ่านแคมเปญรณรงค์หัวข้อ "ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล"  เพื่อขอรายชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าเป็นการเสนอให้ยกเลิกการใช้เลขไทยทั้งหมด เรื่องต่อมาคือ “การเสนอให้ยกเลิกใส่ชุดลูกเสือ-เนตรนารี” เนื่องจากมีราคาแพงเกินไปและเป็นภาระแก่ผู้ปกครอง ที่เสนอโดยเพจ “ครูแว่นดำ” ซึ่งถูกขยายความจนเกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นการเสนอให้ยกเลิกเรียนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี ขณะที่ครูแว่นดำได้เสนอทางออกไว้ด้วยว่าควรใช้ผ้าผูกคอกับวอกเกิลเป็นสัญลักษณ์แทนการใส่เครื่องแบบเต็ม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเพราะวิชานี้เป็นวิชาที่มีประโยชน์

ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการสื่อสาร ทั้งในส่วนของสื่อซึ่งเป็นผู้นำเสนอข้อมูล และประชาชนที่เป็นผู้เสพข่าวสาร อะไรที่ทำให้ข้อมูลบางส่วนถูกตีความ ขยายคำ จนกลายเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว และเกิดดรามาตามมา?

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ปัจจุบันสังคมไทยตกเป็นทาสเฟกนิวส์ เราขาดการตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารหรือตรวจทานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้กระบวนการเฟกนิวส์ประสบความสำเร็จ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้สูงอายุเข้าใจว่ามีการเรียกร้องให้เลิกใช้เลขไทยทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็ถูกกลุ่มคนซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันนำไปขยายต่อ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะคนที่เสนอประเด็นในการรณรงค์ครั้งนี้เสนอให้ยกเลิกเฉพาะเลขไทยที่ใช้ในเอกสาราชการ โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลดิจิทัล แต่คนที่เสพข่าวไม่ได้สนใจประเด็นนี้

เช่นเดียวกับกรณีชุดลูกเสือซึ่งผู้ที่เปิดประเด็นเขาเสนอให้ยกเลิกใส่ชุดลูกเสือ-เนตรนารี โดยใช้แค่ผ้าผูกคอกับวอกเกิล เพื่อลดปัญหาชุดเครื่องแบบแพง แต่บางคนเข้าใจไปว่าเขาเสนอให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ ขณะที่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกชุดลูกเสือก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ แต่เอาความรู้สึกของตัวเองมาตัดสินคนที่คิดต่างทันที หรือแม้กระทั่งประเด็นดรามาเรื่องการยกเลิกเงินบำนาญข้าราชการ ซึ่งจริงๆ แล้วคุณพิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) ไม่ได้บอกว่าให้ยกเลิกเงินบำนาญ แต่บอกว่าควรมีการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องระบบเงินบำนาญให้มีความเหมาะสมเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับกลายเป็นประเด็นว่าทำไมไม่คิดถึงคุณงามความดีที่ข้าราชการทำมา ซึ่งมันคนละประเด็นกัน เหมือนตอบข้อสอบคนละข้อ นี่คือความสำเร็จของเฟกนิวส์ ซึ่งถูกนำไปขยายผล และเลือกปล่อยข่าวไปยังกลุ่มบุคคลที่จะช่วยกระจายข่าวออกไป

ผศ.วันวิชิต กล่าวต่อว่า เฟกนิวส์ยังถูกนำมาผูกกับความชื่นชอบทางการเมืองทั้งซ้ายทั้งขวา โดยนอกจากจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองเพื่อมุ่งดิสเครดิตกันแล้ว กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองเองก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนเฟกนิวส์เพื่อรับใช้ความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะนี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกในบ้านเมืองได้ ขณะเดียวกัน สื่อก็พอใจว่าสามารถนำประเด็นนั้นๆ มาขยายผลทำให้มีประเด็นข่าวที่สามารถรายงานต่อไปได้ และยังคงซื้อเวลาเวลากับประเด็นที่ตัวเองได้ประโยชน์ เพราะสื่อรู้ว่าคนชอบเสพข่าวดรามา

ซึ่งตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณและความรับผิดชอบของสื่อ สื่อต้องประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคมด้วย ช่วงหนึ่งสื่ออาจจะได้ยอดผู้ติดตาม ยอดไลก์ ยอดแชร์จำนวนมากจากประเด็นดรามาที่เป็นเฟกนิวส์ แต่เมื่อคนที่เสพข่าวรู้สึกว่าสื่อนั้นชอบเสนอแต่เรื่องทำนองนี้คนจะหันไปเสพข่าวจากสื่ออื่นแทน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือเมื่อมีกระบวนการเฟกนิวส์สื่อก็ต้องหักล้างด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนคนที่รู้สึกว่าข้อมูลหรือสิ่งที่ตนเองสื่อสารออกไปถูกบิดเบือนต้องรีบออกมาชี้แจงเพื่อไม่ให้ประเด็นนั้นถูกนำไปขยี้เพื่อขยายผล จนวันหนึ่งเมื่อวุฒิภาวะของประชาชนสูงขึ้นกระบวนการเฟกนิวส์จะใช้การไม่ได้อีกต่อไป

“บ่อยครั้งที่มีคนเสนอประเด็นอะไรขึ้นมาแล้วถูกนำไปผูกโยงกับการเมือง โดยมีการขยายประเด็นกลายเป็นเฟกนิวส์ คือเฟกนิวส์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้การเมืองในภาวะแบบนี้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว ประกอบกับลักษณะการเมืองไทยมีพื้นที่ของความริษยาทางการเมืองสูงมาก คือใครมีความโดดเด่นขึ้นมาก็จะถูกจับผิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ฝั่งหนึ่งก็บอกคนจบวิศวะหิวแสง ขณะที่คนจบวิศวะเขาตั้งใจทำงาน อีกฝั่งบอกว่าอยู่มา 8 ปี ไม่ทำอะไร ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นธรรมกับคนที่อยู่มา 8 ปี คือทุกพื้นที่นอกจากจะประกอบไปด้วยแฟกนิวส์แล้ว ยังแทรกความริษยาทางการเมืองด้วย ดังนั้นการใช้ตรรกะเหตุผลมาหักล้างกันจึงไม่ค่อยมี ต่อให้มีข้อมูลมีเหตุผลมาหักล้างว่านี่ไม่ใช่เรื่องจริง กระบวนการเฟกนิวส์ก็เปลี่ยนไปเป็นประเด็นอื่น แต่ความสำเร็จของเฟกนิวส์เกิดขึ้นไปแล้ว คนเชื่อไปแล้ว และถึงจะมีข้อมูลที่เป็นจริงมาแก้ต่างเขาก็ไม่สนใจ พร้อมที่จะเดินตามกระบวนการเฟกนิวส์ไปเสพข่าวใหม่ที่คิดว่ามันรับใช้ความรู้สึกตัวเองต่อไป” ผศ.วันวิชิต กล่าว

รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด
ด้าน รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อนหรือผิดเพี้ยนไปนั้นส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารของสื่อ ซึ่งจับประเด็น ตีความหรือให้ข้อมูลผิด ผู้ประกาศข่าวอ่านข่าวอย่างไรคนก็เชื่อตามนั้น ยกเว้นว่าข่าวของแต่ละสถานีให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ประชาชนจึงจะฉุกคิดว่าประเด็นข่าวที่ไม่เหมือนกันนั้นใครพูดถูก ใครพูดผิด แต่ปัจจุบันสื่อส่วนใหญ่ให้ ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน อย่างตนเองหากเห็นข่าวจากสื่อโซเชียลแล้วไม่แน่ใจก็จะเช็กกับสื่อหลักอีกที ถ้าสื่อหลักไม่เล่นข่าวนี้ตนก็ไม่เชื่อ

“สื่อต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะสื่อหลักซึ่งคนให้ความเชื่อถือ ขนาดสื่อหลักยังพูดเลยว่าแค่ชุดลูกเสือแพงจะให้ยกเลิกการเรียนลูกเสือไปเลยหรือ สื่อหลักพูดแบบนี้แล้วจะให้ประชาชนเข้าใจอย่างไร ในส่วนของคนที่เสนอประเด็นเรื่องนี้เมื่อเห็นว่าสื่อนำเสนอข่าวไม่ถูกต้องก็ต้องรีบออกมาชี้แจงเพื่อไม่ไห้ประเด็นลุกลามบานปลาย ใครที่โดนเฟกนิวส์ ใครที่เสนอข้อมูลหรือเสนอความเห็นแล้วถูกตีความผิดๆ ต้องรีบชี้แจง ผิดที่ช่องไหน ผิดที่แพลตฟอร์มไหนแก้ที่ตรงนั้น ผิดที่สื่อไหนสื่อนั้นก็ต้องแก้” รศ.ดร.เสรี กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นเรื่อง “การยกเลิกชุดลูกเสือ-เนตรนารี” ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่ามีราคาแพงเกินไปและเป็นภาระต่อผู้ปกครองนั้น ดูจะได้ข้อสรุปแล้ว โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการอนุโลมให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี ไม่ต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ โดยใช้เพียงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นลูกเสือ-เนตรนารี เช่น ผูกผ้าพันคอก็ได้


ส่วนประเด็นเรื่องการยกเลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป และดูเหมือนจะยังไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการแต่อย่างใด

รศ.ดร.เสรี ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ว่า การจะใช้เลขไทยหรือเลขอารบิกในเอกสารราชการนั้นควรจะพิจารณาเป็นเรื่องๆไป หากเป็นข้อมูลที่ต้องนำไปประมวลผลข้อมูลดิจิทัลก็สามารถใช้เลขอารบิกได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องยกเลิกการใช้เลขไทยในเอกสารราชการทั้งหมด อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประเทศไทยติดกับดักความขัดแย้ง ทำให้ข้อเสนอของใครก็ตามที่ไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองเหมือนกันถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดไปเสียหมด

“ประเทศไทยเราติดกับดักความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรื่องนี้เสนอโดยสีนั้น สีนี้ก็ไม่เอา เรื่องนั้นเสนอโดยสีนี้ สีนั้นก็ไม่เอา ถ้าเราไม่ขัดแย้งมันไม่เป็นแบบนี้หรอก คนที่ต่อต้านการยกเลิกการใช้เลขไทยในหนังสือราชการเลยถูกโยงว่าคือคนคลั่งชาติ ไม่เป็นสากล แต่ถ้าเราไปดูหนังจีน หนังเกาหลี หนังอาหรับ ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 เขาก็ใช้ตัวเลขในภาษาของเขาเหมือนกัน หรือแม้แต่ฝรั่งเวลาเขียนเลข ค.ศ.เขียนเป็นเลขโรมันเลยก็มี” รศ.ดร.เสรี ระบุ

รศ.ดร.พิทยาวัฒน์  พิทยาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่ รศ.ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การใช้ตัวเลขเป็นสิ่งที่ทำกันมาสืบเนื่องจากสมัยก่อน ซึ่งเป็นธรรมดาของวัฒนธรรมที่อาจจะมีของใหม่เกิดขึ้น คนอาจจะเห็นว่าของใหม่ใช้สะดวกกว่า หรือมีอะไรน่าสนใจกว่าก็อาจจะมาแทนที่ของเก่าได้เป็นธรรมดาของการสื่อสารทางภาษา อย่างการเขียนหรือตัวสะกดต่างๆ ในภาษาไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตัวอักษรหลายตัวเราไม่ได้ใช้แล้ว สมัยก่อนเราเคยสะกดแบบหนึ่ง ปัจจุบันก็สะกดอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นการจะเลือกใช้เลขไทยหรือเลขอารบิกไม่ได้เป็นปัญหาในการสื่อสาร สามารถใช้สื่อสารได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี การเลือกใช้เลขไทยหรือเลขอารบิกต้องขึ้นอยู่กับบริบทด้วย ในบางบริบทการใช้เลขไทยก็อาจจะเหมาะกว่า เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีที่ต้องการสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย การใช้เลขไทยก็อาจจะเหมาะสมกว่า แต่ถ้าเราต้องการจะสื่อสารกับต่างประเทศการใช้เลขอารบิกก็อาจจะมีประโยชน์มากกว่า ขณะที่งานเขียนบางชิ้นที่ต้องใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษปะปนกันเราควรจะเลือกใช้เลขไทยหรือเลขอารบิกเพียงอย่างเดียวหรือไม่ก็ต้องมาดูกัน หรือถ้าเป็นหนังสือที่ด้านหนึ่งเป็นภาษาไทยและอีกด้านเป็นภาษาอังกฤษ ในส่วนที่เป็นภาษาไทยก็ควรใช้เลขไทย อีกด้านเป็นภาษาอังกฤษก็ควรใช้เลขอารบิก แต่ท้ายที่สุดแล้วการเลือกว่าจะใช้แบบไหนขึ้นอายู่กับรสนิยม ไม่มีอะไรตายตัว

รศ.ดร.พิทยาวัฒน์ กล่าวต่อว่า การใช้ภาษามีความสร้างสรรค์ในตัวเอง อย่างตนเองเวลาที่ทำงานแต่ละชิ้นก็มีแนวทางในการเลือกใช้ตัวเลขไม่เหมือนกัน เลขไทยไม่ได้สื่อสารยากกว่าเลขอารบิก ถ้าคนที่เรียนภาษาไทยและเรียนเลขไทยตั้งแต่เลขศูนย์ถึงเก้ามาก็สามารถสื่อสารได้เท่ากับเลขอารบิก ไม่ได้มีความแตกต่าง คนที่ไม่เข้าใจเลขไทยส่วนใหญ่คือคนที่ไม่รู้ภาษาไทย หรือเรียนภาษาไทยยังไม่ดีพอ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มหลักที่จะใช้ภาษาไทย

ส่วนที่บางคนเกรงว่าหากคนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช้เลขไทย ในอนาคตเลขไทยอาจจะหายไปนั้น โดยส่วนตัวมองว่า ในอนาคตเลขไทยอาจจะหายไปก็ได้ เพราะปัจจุบันมีหลายอย่างในในภาษาไทยที่เราเลิกใช้ไปนานแล้ว อย่างเช่น ตัวอักษรบางตัว เครื่องหมายวรรคตอนบางตัวที่เราเลิกใช้ไปแล้ว ซึ่งแล้วแต่ผู้ใช้ อันนี้เป็นธรรมดาของวิวัฒนาการต่างๆ ในโลก

“ถ้าใครชอบเลขไทยและอยากจะอนุรักษ์ก็เป็นสิ่งที่ดีที่เขาให้คุณค่ากับเลขไทย แต่ถ้าใครรู้สึกว่าใช้เลขไทยไม่ถนัด ใช้เลขอารบิกถนัดกว่าก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือเราควรยอมรับในความหลากหลายที่คนจะเลือกใช้หรือไม่ใช้ และต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบท ตราบใดที่ยังใช้สื่อสารกันได้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสาร แม้จะเป็นเอกสารราชการจะใช้เลขไทย หรือเลขอารบิกก็ไม่มีปัญหา” รศ.ดร.พิทยาวัฒน์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น