‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการฯ ชี้โลกในศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยความผันผวน ความซับซ้อน และความไม่แน่นอน ภายใต้พลวัต ‘VUCA World’ สะท้อนผ่านการเผชิญหลังโควิด หวั่นประเทศไทยจะรับมืออย่างไร ท่ามกลางวิกฤต ศก.ตกต่ำ ศักยภาพ-ขีดความสามารถถดถอย เผยผลสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงจาก ‘วตท.31-ปรม.21’ แจงอนาคตประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า! หรือรัฐไทยจัดเป็นรัฐประเภทไหนในประชาคมโลก พบกว่า 61.4% คิดว่าเป็น “รัฐที่ตามหลัง” หรือรัฐบาลเป็น Good หรือ Bad Government พบ 31.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างไม่ดี” หรือความเห็นเรื่องนิติรัฐ/นิติธรรม พบ 47.5% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” ระบุต้องปฏิรูปภาครัฐครั้งใหญ่และทุกภาคส่วนร่วมตอบ ‘10 คำถาม’ ที่รอคอยคำตอบเพื่อผลักดันเป็นรัฐบาลที่ฉลาดและรัฐที่ล้ำหน้า ยันหากไม่ปฏิรูปจะนำไปสู่รัฐล้มเหลวได้!
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่ออนาคต ระบุว่า โลกในปัจจุบันมีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อนต่างๆ มากมาย เรากำลังอยู่ใน ‘วูก้า’ VUCA หรือ VUCA World ที่สะท้อนผ่านการเผชิญกับโควิด-19 สงครามการค้า และตามมาด้วยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนำมาสู่วิกฤตต่างๆ มากมาย ทั้งวิกฤตซัปพลายเชนโลก วิกฤตอาหารโลก วิกฤตพลังงานโลก ส่งผลให้เกิด “การทวนกระแสโลกาภิวัตน์” หรือที่เรียกว่า “Deglobalization” มากขึ้น จากเดิมที่เราเคยคุ้นชินกับกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ “Globalization” ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ปัจจัยภายนอกเหล่านี้จะนำมาซึ่งชุดของโอกาสหรือภัยคุกคามที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือปัจจัยภายในว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคาม หรือโอกาสชุดใหม่ของโลกอย่างไรบ้าง!
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับทศวรรษแห่งความสูญเปล่า สะท้อนให้เห็นผ่านการเติบโตของ GDP ในระดับต่ำ รายได้ต่อหัวที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ความขัดแย้งที่รุนแรงและเรื้อรัง รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศที่ถดถอย
โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของ GDP จะพบว่าในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (ปี 2514-2538) อยู่ที่ 7.7% ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก ในขณะที่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (ปี 2542-2548) ถอยมาอยู่ที่ 5.2% ต่อปี และในช่วงปี 2549-2558 ถอยมาอยู่ที่ 3.2% ต่อปี พร้อมกันนั้นประเทศไทยมี GDP สะสมอยู่ในระดับที่ต่ำมากในช่วงเวลาดังกล่าว คืออยู่ที่ 35% (เทียบกับมาเลเซียอยู่ที่ 53% และเวียดนามอยู่ที่ 70%)
รายได้ต่อหัวต่อปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 ไม่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น หากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 5% นั่นหมายความว่า รายได้ต่อหัวที่แท้จริงนั้นลดลง
ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการบริโภคและการใช้จ่ายมากกว่าเพื่อการลงทุน เพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นบาทต่อคน ในปี 2553 มาเป็น 1.73 แสนบาทต่อคน ในปี 2564 นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คนจนเพิ่มขึ้นจาก 6% ไปเป็น 15% ภายในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 18 เดือน
อีกทั้งประชากรไทยกำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ และหากพิจารณาถึงอัตราแบกรับผู้สูงวัยของคนวัยแรงงานพบว่า อัตราส่วนการแบกรับในอดีตเท่ากับวัยแรงงาน 15 คนต่อผู้สูงวัย 1 คน อัตราส่วนในปัจจุบันเท่ากับ วัยแรงงาน 6 คนต่อผู้สูงวัย 1 คน และหากไม่มีการปรับโครงสร้างแรงงาน รวมถึงโครงสร้างประชากร อัตราส่วนในปี 2570 จะเท่ากับ วัยแรงงาน 3 คนต่อผู้สูงวัย 1 คน
ดังนั้น หากวัยแรงงานหรือคนหนุ่มสาวเหล่านี้มีคุณภาพ มีการศึกษาที่ดีอาจพอจะช่วยประเทศในการแบกรับได้ แต่ในปัจจุบันคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยมีแนวโน้มตกต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
“เรากำลังเผชิญกับความท้าทายถึง 2 ด้านพร้อมๆ กัน คือจากประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันกับคุณภาพของการศึกษาที่ตกต่ำลง”
ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการฯ ย้ำว่า ไทยกำลังตกอยู่ใน ‘ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า’ ซึ่งเกิดจากวงจรอุบาทว์เชิงซ้อนมายาวนาน ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยเป็นแบบ “Extractive Political Economy”
“เป็นระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่มีการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม มีการเอารัดเอาเปรียบ มีการกีดกันอย่างเป็นระบบ สะท้อนผ่าน 4 คุณลักษณ์ คือ ระบอบประชาธิปไตยเทียม ระบบทุนนิยมพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจปรสิต และสังคมพึ่งพิงประชานิยม” .
ตรงกันข้ามกับ “Inclusive Political Economy” ที่เป็นระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจ มีความมั่งคั่ง และมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน สะท้อนผ่าน 4 คุณลักษณ์สำคัญ คือ ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ระบบทุนนิยมที่เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ ระบบเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันอย่างแท้จริง และสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน
ดร.สุวิทย์ บอกว่า ได้มีการสำรวจความเห็นในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชนใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.31) และหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.21) วิกฤต ศก.ในชุดคำถามที่แตกต่างกัน
โดยชุดคำถามของ วตท.31 จำนวน 50 คน เกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทย เช่น “ท่านคิดว่าอนาคตประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?”
พบว่า 52% คิดว่า “ไม่ต่างจากปัจจุบัน” 25% คิดว่าเป็น “อนาคตที่ค่อนข้างมืดมน” ในขณะที่ 17% คิดว่าเป็น “อนาคตที่ค่อนข้างสดใส” และ 6% คิดว่าเป็น “อนาคตที่มืดมน”
ส่วนคำถามว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Extractive Politics?” พบว่า 40% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 36% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 22% “กลางๆ” มีเพียง 2% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” ตามด้วยคำถามว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Extractive Economy?”
พบว่า 50% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 28% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 17% “กลางๆ” มีเพียง 2% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” และ 2% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”
หรือคำถามว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่เป็นธรรม Clean & Clear Society? พบว่า 53% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 36% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 6% “กลางๆ” และ 4% “ค่อนข้างเห็นด้วย”
ต่อด้วยคำถามที่ว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็นสังคมแห่งโอกาส Free & Fair Society? พบว่า 59% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 34% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 7% “กลางๆ”
อีกคำถามที่ว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน Care & Share Society? พบว่า 35% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 33% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 26% “กลางๆ” 5% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 2% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”
ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการฯ ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้มานั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไม? ประเทศไทยจำเป็นต้องมี “The Second Great Reform” ที่เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งในเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมอย่างเป็นระบบและหนึ่งในหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน The Second Great Reform ก็คือ “การปฏิรูปภาครัฐ” เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอก แต่ยังมีแรงปะทุจากปัญหาต่างๆ ภายในประเทศด้วย จึงย่อมมีความเปราะบาง หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจังโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่ “รัฐที่ล้มเหลว” จะมีอยู่สูง
อย่างไรก็ดี การปฏิรูปภาครัฐ จึงนำไปสู่ 10 คำถามที่รอคอยคำตอบ เพื่อเป้าหมายได้ “รัฐบาลที่ฉลาด เอาจริง และต่อเนื่อง” ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศต่อไป
“10 ประเด็นคำถามที่คนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ หรือภาคประชาชนต้องมาช่วยกันขบคิดและหาคำตอบเพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐที่ล้ำหน้าได้ในที่สุด”
การปฏิรูปภาครัฐ กับ 10 คำถามที่รอคำตอบ!
คำถามที่ 1 : รัฐไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก จากหนังสือ “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ” ได้แบ่งประเทศออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ รัฐที่ล้ำหน้า (Forefront State) รัฐที่ตามหลัง (Following State) รัฐที่กำลังล้มเหลว (Falling State) และรัฐที่ล้มเหลว (Failed State)
โดยเกณฑ์ในการจำแนก ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นรัฐบาลที่ “ดี” หรือ “เลว” (Good vs. Bad Government) พร้อมกันนั้นเป็นรัฐบาลที่ “เข้มแข็ง” หรือ “อ่อนแอ” (Strong vs. Weak Government) หากเรามีรัฐบาลที่ดีและเข้มแข็งในเวลาเดียวกันจะมีโอกาสนำพาประเทศไปสู่ “รัฐที่ล้ำหน้า” ไปสู่โลกที่พัฒนาแล้วในโลกหลังโควิด-19 ในทางกลับกัน หากเรามีรัฐบาลที่เลวและอ่อนแอในเวลาเดียวกัน ก็มีโอกาสจะนำพาประเทศไปสู่ “รัฐที่ล้มเหลว” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดร.สุวิทย์ ระบุว่า ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับสูงหลักสูตร ปรม.21 จำนวน 70 กว่าคน หัวข้อ ‘การปฏิรูปภาครัฐ กับ 10 คำถามที่รอคำตอบ’
คำถามแรก “ท่านคิดว่ารัฐไทยถูกจัดเป็นรัฐประเภทไหนในประชาคมโลก?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 61.4% คิดว่าเป็น “รัฐที่ตามหลัง” 21.4% คิดว่าเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” 12.9% คิดว่าเป็น “รัฐที่กำลังล้มเหลว” มีเพียง 4.3% คิดว่าเป็น “รัฐที่ล้ำหน้า”
คำถามที่ 2 : โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของไทยโดยแท้จริงเป็นอย่างไร เพราะหากภาครัฐดีและเข้มแข็ง มีโอกาสที่จะนำพาโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไปสู่ “Inclusive Political Economy” ที่คนส่วนใหญ่มีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นธรรม เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่สร้างสังคมแห่งโอกาส
ในทางกลับกัน หากภาครัฐเลวและอ่อนแอ จะยิ่งย้ำเตือนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ “Extractive Political Economy” ให้เข้มข้นมากขึ้น
ซึ่งมีการตั้งประเด็นคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่า รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลที่เป็น Good หรือ Bad Government?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 41.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่กลางๆ” 31.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างไม่ดี” 14.3% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างดี” 11.4% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ไม่ดี” มีเพียง 1.5% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ดี”
สำหรับคำถามที่ 3 ประเทศไทยมีความบกพร่องในสถาบันการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบในการเป็นประเทศอยู่ที่สถาบันการเมือง (Political Institutions) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
• สถาบันที่คอยออกกฎ (Rule Making Institutions) เช่น รัฐสภา
• สถาบันที่คอยนำกฎไปปฏิบัติ (Rule Applying Institutions) เช่น รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม
• สถาบันที่คอยวินิจฉัยกฎ (Rule-Adjudicating Institutions) เช่น ระบบยุติธรรม ระบบศาล ศาลรัฐธรรมนูญ
• สถาบันที่คอยบังคับใช้กฎ (Rule-Enforcing Institutions) เช่น ตำรวจ
หากทั้ง 4 สถาบันนี้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มีการถ่วงดุลอำนาจกัน มีอิสระ และมีเป้าหมายที่สอดรับกัน ก็จะนำพาประเทศไปสู่ “ความเป็นปกติสุข” และมีโอกาสในการพัฒนาสู่ “รัฐที่ล้ำหน้า”
ประเด็นนี้มีการตั้งคำถามว่า “ท่านคิดว่า ในภาพรวมสถาบันการเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างไร?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 45.2% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 37.1% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” 12.9% คิดว่า “กลางๆ” มีเพียง 4.8% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์”
คำถามที่ 4 : มีประเด็นท้าทายความเป็นนิติรัฐ/นิติธรรมในประเทศไทยหรือไม่?
จากกรณีศึกษาในหลายๆ ประเทศ มีประเด็นท้าทายความเป็นนิติรัฐ/นิติธรรมอยู่มากมาย เช่น ยอมให้มีการเลือกตั้งเพื่อชุบตัวจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย ทหารเข้ามาแทรกแซงและแทรกซึมทางเศรษฐกิจและการเมือง การโกงการเลือกตั้งในหลายรูปแบบ
คณาธิปไตยระหว่างทหาร นายทุน และนักการเมือง การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบ และกำจัดฝ่ายตรงข้าม การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การปฏิวัติรัฐประหาร โดยอ้างอำนาจทางศีลธรรม (Moral Authority) การร่างหรือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ เป็นต้น
ประเทศใดบกพร่องในความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม ย่อมขาดความน่าเชื่อถือ นำไปสู่ความไม่ปกติสุข ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ระดับความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะมีค่อนข้างต่ำ
เมื่อนำไปตั้งคำถามที่ว่า ท่านคิดว่าในภาพรวมความเป็นนิติรัฐ/นิติธรรมของประเทศไทยเป็นอย่างไร?” ผลลัพธ์ที่ได้ กว่า 47.5% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 27.9% คิดว่า “กลางๆ” 16.4% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” มีเพียง 8.2% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์”
คำถามที่ 5 : ประเทศไทยควรจำกัดอำนาจรัฐหรือไม่ ?
เนื่องจากรัฐที่มีอำนาจที่มากเกินไปมีโอกาสจะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด เหมือนคำกล่าวที่ว่า “Absolute power corrupts absolutely” ดังนั้นในความเป็นนิติรัฐ/นิติธรรม เราต้องย้อนกลับมามองว่า อำนาจของรัฐบาลควรจะมีมากน้อยเพียงใด เป็นรัฐแบบ “Unlimited Government” หรือ “Limited Government” โดยเฉพาะรัฐบาลกลางควรพิจารณาว่าจะต้องถ่ายโอนอำนาจไปยังท้องถิ่น หรือมอบอำนาจและภารกิจบางประเภทให้ภาคส่วนอื่นไปกระทำแทนตนมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากยิ่งรัฐมีอำนาจมาก โอกาสจะมีประเด็นปัญหาเรื่องนิติรัฐก็จะยิ่งสูง
ตรงนี้นำไปสู่คำถามที่ว่าท่านคิดว่า รัฐในปัจจุบันมีอำนาจมากหรือน้อยเพียงใด?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 52.5% คิดว่า “ค่อนข้างมาก” 26.2% คิดว่า “มากเกินไป” 9.8% คิดว่า “พอดี ๆ” มีเพียง 11.5% คิดว่า “ค่อนข้างน้อย” และ “น้อยเกินไป”
คำถามที่ 6 : รัฐบาลมีระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือไม่?
ปัจจุบันแนวคิดว่าด้วย “ระบบราชการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” กำลังต่อสู้กับแนวคิด “ระบบราชการที่มีข้าราชการเป็นศูนย์กลาง” และแนวคิด “ระบบราชการที่มีนักการเมืองเป็นศูนย์กลาง” การจับมือกันเชิงผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและราชการยังเห็นกันอยู่ดาษดื่น จนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ซึ่งเป็นการเบียดบังเอารัดเอาเปรียบประชาชน แทนที่จะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง
ประเด็นเหล่านี้คือความย้อนแย้งในอำนาจที่ค้างคาและสืบทอดมาจากระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์ชนในอดีต จึงทำให้ “อำนาจที่แท้จริง” กับ “อำนาจทางการ” ไม่สอดรับกัน โดยในอำนาจทางการ นักการเมืองและราชการถือเป็นผู้รับใช้ประชาชน แต่ในอำนาจที่แท้จริง นักการเมืองและราชการกลับกลายเป็นผู้ปกครองประชาชน ความคาดหวังที่คนทั่วไปยังอยากให้ลูกหลานของตนโตขึ้นเป็น “เจ้าคน นายคน” ส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์ชนนี้
ประเด็นนี้จึงเป็นคำถามที่ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ระบบราชการในปัจจุบันเป็นระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 34.4% “ไม่เห็นด้วย” 29.5% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 21.3% “ค่อนข้างเห็นด้วย” 11.5% “เฉยๆ” มีเพียง 3.3% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”
คำถามที่ 7 : รัฐบาลไทยสามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้มากน้อยเพียงใด
หากรัฐยังคงเป็นโครงสร้างตามลำดับขั้นแบบรวมศูนย์ ใช้ระบบการสั่งการและควบคุม มุ่งการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เน้นความเป็นเอกภาพและการมีแบบแผนที่เหมือนกัน และยังตอบโจทย์ Supply-Side อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้
เพราะการที่จะตอบโจทย์ VUCA World ได้นั้น รัฐบาลจะต้องกระจายอำนาจให้เป็นอำนาจแนวนอน และต้องมีการจำกัดอำนาจส่วนกลาง เพื่อกระจายอำนาจที่เหลือไปยังพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ รัฐบาลต้องเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างการทำงานที่เปิดกว้าง กระจายศูนย์อำนาจ และเชื่อมโยงประสานกันเป็นเครือข่าย แทนการรวมศูนย์อำนาจ
ประเด็นนี้นำไปสู่คำถามที่ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่สามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 49.2% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 23% “เฉยๆ” 18% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” มีเพียง 9.8% “ค่อนข้างเห็นด้วย”
คำถามที่ 8 : ภายใต้ VUCA World รัฐควรจะรวมศูนย์อำนาจ หรือกระจายอำนาจ!
ประเทศไทยยังเป็น “รัฐควบคุมสังคม” และ “สังคมพึ่งพิงรัฐ” ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ท้องถิ่นไม่มีความพร้อม ทำให้ไม่ยอมกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เมื่อไม่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จึงทำให้ท้องถิ่นไม่ได้เกิดการเรียนรู้ เป็นเหตุให้ไม่มีความพร้อมยิ่งขึ้นไปอีก เกิดเป็น “กับดักความเชื่อ” ภายใต้ VUCA World เราจะต้องเปลี่ยนจาก “รัฐควบคุมสังคม” และ “สังคมพึ่งพิงรัฐ” ไปสู่ “สังคมควบคุมกันเอง” และ “สังคมพึ่งพิงกันเอง” ที่ท้องถิ่นสามารถปกครองตนเองและดูแลได้ (Self-Governance) โดยรัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้พัฒนาความสามารถ ให้เกิดการเรียนรู้
นั่นคือที่มาของคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ หรือกระจายอำนาจ?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 52.5% คิดว่าเป็นรัฐที่ “ค่อนข้างรวมศูนย์อำนาจ” 19.7% คิดว่า “รวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มแข็ง” 14.8% คิดว่า “กลางๆ” 9.8% คิดว่า “ค่อนข้างกระจายอำนาจ” มีเพียง 3.2% คิดว่า “กระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง”
คำถามที่ 9 : การปฏิรูปภาครัฐภายใต้ VUCA World ควรเป็นอย่างไร
ปัจจุบันกระแสโลกกำลังมุ่งไปสู่ “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) ดังจะเห็นได้จากการก่อตัวขึ้นของ Web 3.0, DeFi, dApps ในทำนองเดียวกันกับภาครัฐที่จำเป็นจะต้องแบ่งอำนาจ (Deconcentration) ถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) และมอบอำนาจ (Delegation) ให้ภาคส่วนอื่นๆ ไปบริหารจัดการ ซึ่งในบางประเด็นปัญหาอาจต้องเป็นแบบกระจายอำนาจ บางประเด็นอาจต้องร่วมมือกัน แต่ในบางประเด็นสามารถต่างคนต่างทำได้
นอกจากนี้ โลกในอนาคตจะไม่ได้แข็งทื่อแบบเดิมอีกต่อไป แต่จะมีโมเดลการทำงานในรูปแบบผสมผสาน หรือเรียกว่าเป็น
“Hybrid Model” โมเดลการทำงานก่อนหน้านี้ จะหมายถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แต่ในปัจจุบันมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) ภาครัฐกับภาคประชาสังคมในรูปแบบ Third Sector หรือภาคเอกชนกับภาคประชาสังคมในรูปแบบ Social Enterprise โมเดลการทำงานแบบผสมผสานจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ตอบโจทย์ และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องทำงานภายใต้แพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Digital Government” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้การทำงานเร็วขึ้น (Faster) ดีขึ้น (Better) ตรวจสอบได้และโปร่งใสมากขึ้น
ข้อนี้นำไปสู่คำถามที่ว่า “ท่านคิดว่า โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินและความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันดีพอหรือไม่? ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 50.8% คิดว่า “ต้องมีการปรับเปลี่ยน” 31.1% คิดว่า “ต้องทำการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่” 11.5% คิดว่า “กลางๆ” มีเพียง 6.6% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ” และ “มีความสมบูรณ์แบบ”
ในคำถามที่ 10.: ระบบนิเวศเพื่อการปฏิรูปภาครัฐควรเป็นอย่างไร?
การปฏิรูปที่เน้นการแก้ปัญหาจุดใดจุดหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ในลักษณะ Functional Reform ย่อมไม่ตอบโจทย์ เพราะในโลกของความเป็นจริงเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบเครือข่ายที่ยึดโยงกัน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมองเป็นองค์รวมภายใต้แนวคิดของ “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จและที่ไม่ประสบความสำเร็จคือกรณีของระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษา ที่สะท้อนให้เห็นว่าทำไมการปฏิรูประบบการศึกษายังไปไม่ถึงไหน ขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยมีผลสัมฤทธิ์ดีพอสมควร และเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เนื่องจากการปฏิรูประบบสาธารณสุข เริ่มจากการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปฏิรูปผ่าน 5 หน่วยงาน ที่เป็น Change Agents สำคัญ คือ
1.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) : มองเชิงวิชาการว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร รวมถึงกำหนดวิสัยทัศน์เชิงวิชาการอย่างเป็นกลาง
2.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) : ปรับกลไกจัดสรรงบประมาณในหน่วยบริการสาธารณสุข ทำอย่างไรให้เกิด Demand Side Financing ทำอย่างไรที่จะแยกหน่วยงานซื้อบริการ เพื่อไปตอบโจทย์ประชาชน (Purchaser) ออกจากหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน (Provider) ทำให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
3.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : มีงบประมาณ กองทุน เป็น Financial Empowerment เพื่อทำให้เกิด Social Participation ในระบบสาธารณสุข
4.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) : มองระบบสุขภาพแบบองค์รวม ทำอย่างไรให้วาระที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพเข้าถึง ครม.ได้
5.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) : มอง Customer Focus ในระบบบริการสาธารณสุข
ประเด็นนี้จึงมีคำถามที่ว่า “ท่านเห็นว่า การปฏิรูประบบราชการในปัจจุบันมีความคืบหน้าหรือไม่?” ผลลัพธ์ที่ได้ คือกว่า 42.6% คิดว่า “ไม่มีความคืบหน้า” 31.1% คิดว่า “ค่อนข้างไม่มีความคืบหน้า” 19.7% คิดว่า “กลางๆ” มีเพียง 6.6% คิดว่า “ค่อนข้างประสบความสำเร็จ” และ “ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง”
ดร.สุวิทย์ ระบุว่า ความสามารถในการตอบประเด็นคำถามการปฏิรูปภาครัฐทั้ง 10 ข้อของทุกภาคส่วนจะนำมาสู่แนวทางในการออกแบบระบบราชการที่สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลก ผนวกกับ 10 คุณลักษณะของระบบราชการเพื่ออนาคตที่มีความเป็นสากล มีวิสัยทัศน์ บูรณาการ ยืดหยุ่นคล่องตัวสูง มีธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ มีข้อมูลที่ถูกต้อง และแพลตฟอร์มการปฏิบัติงานที่ทันสมัย และวัฒนธรรมในการทำงานชุดใหม่สามารถดึงคนเก่ง คนดี และคนเป็น มาร่วมทำงานก็จะเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอของ “การปฏิรูปภาครัฐ” อันเป็นกุญแจดอกสำคัญใน The Second Great Reform ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำ กับดักความขัดแย้ง และกับดักประเทศรายได้ปานกลาง รวมถึงการหลุดจากวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน เพื่อนำประเทศไปสู่ “รัฐที่ล้ำหน้า” ในโลกหลังโควิด-19
อย่างไรก็ดี โลกในศตวรรษที่ 21 และโลกหลังโควิด-19 ต้องการรัฐที่สามารถตอบโจทย์ประชาชน ภายใต้พลวัตของ VUCA World เป็นรัฐที่ใส่ใจ ดูแลครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน เป็นรัฐที่นำหน้าการเปลี่ยนแปลงผ่านการปรับเปลี่ยนเชิงนวัตกรรม (Innovative State)
นั่นหมายถึงการมี “รัฐบาลที่ฉลาด เอาจริง และต่อเนื่อง” ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่การเป็น “รัฐที่ล้ำหน้า” ในที่สุด!
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/