xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตผู้พิพากษาชนบท” แนะแม่แตงโมฟ้อง ม.290 ทำร้ายร่างกายให้ถึงแก่ความตาย-โทษสูงสุดจำคุก 15 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชนบท ศุภศรี” มือร่างสำนวนคดีแตงโม แนะแม่ฟ้องคดี "ทำร้ายร่างกายอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย" ตามมาตรา 290 ซึ่งมีโทษจำคุก 3-15 ปี ชี้สามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่าคดีฆาตกรรม แต่หากหลักฐานไปถึงก็อาจนำไปสู่ฆาตกรรมได้ มั่นใจพยานแค่ “หมอพรทิพย์-ผู้เชี่ยวชาญ” ก็เกินพอ “ทนายอู๋” เผยทีมทำคดีวางกลยุทธ์ 2 รุก 2 รวบ ด้าน “พญ.พรทิพย์” ถามแรง กลัวอะไรกับหลักฐานเท็จ แล้วหลักฐานในสำนวน ตร.มีเท็จหรือไม่? ขณะที่ “พ.ต.อ.วิรุตม์” จี้ สภ.นนท์ เปิดสำสวน ระบุหากไม่ยอม “แม่” สามารถฟ้องศาล ฐานประพฤติมิชอบ!

การต่อสู้ในคดีการเสียชีวิตของ แตงโม-นิดา หรือภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวซึ่งเสียชีวิตแบบมีเงื่อนงำ กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าแนวทางหนึ่งที่ “นางพนิดา ศิริยุทธโยธิน” มารดาของแตงโม ในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งมองว่าการเสียชีวิตของแตงโม ไม่ได้เกิดจากความประมาท ตามที่ระบุในสำนวนที่ สภ.นนทบุรี ส่งให้อัยการ สามารถดำเนินการได้ ในระหว่างที่รออัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง คือแม่ในฐานะผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง

นายชนบท ศุภศรี อดีตผู้พิพากษา และทนายความ ในฐานะผู้ร่างคำฟ้องคดีแตงโม
ส่วนว่าแนวทางการดำเนินคดีนับจากนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายชนบท ศุภศรี อดีตผู้พิพากษา และทนายความ ในฐานะที่ได้รับคำเชิญจากแม่ให้เป็นที่ปรึกษาในการร่างคำฟ้องคดีแตงโม ระบุถึงแนวทางในการทำคดี ว่า โดยส่วนตัวมองว่าการที่แซน (วิศาพัช หรือนายวิศาพัช มโนมัยรัตน์) บอกว่าแตงโม ไปปัสสาวะท้ายเรือนั้นเป็นเรื่องไม่จริง อีกทั้งแตงโม ยังมีบาดแผล จึงน่าจะเข้าข่ายทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่ไม่มีเจตนาฆ่า ซึ่งกฎหมายระบุว่า ผู้ใดไม่มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งต่างจากคดีประมาทตามที่พนักงานสอบสวนเขียนสำนวนส่งไปยังอัยการ ซึ่งกฎหมายระบุว่า ผู้ใดทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี

เราต้องให้คุณแม่ฟ้องว่าเป็นการทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าเจตนาฆ่าหรือไม่ อาจจะไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นการทำร้ายแน่นอน เมื่อผู้เสียหายไปยื่นฟ้องต่อศาลเองก็จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งการจะทำให้ศาลประทับรับฟ้องต้องมีการไต่สวนหรือสืบพยาน ซึ่งการไต่สวนหรือสืบพยานในข้อหาทำร้ายร่างกายอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้นสามารถสืบได้ง่ายกว่ากรณีเจตนาฆ่า

“ถ้าแม่ให้ฟ้อง และตั้งผมเป็นทนาย ผมจะฟ้องมาตรา 290 และจะไต่สวนให้ดู นำคุณหญิงหมอพรทิพย์ ไปให้ข้อมูลปากหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญปากหนึ่ง รับรองมีมูลครับ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่ามาตรา 288 และ 289 ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้ถ้าศาลไต่สวนแล้วไม่มีมูล จบเลย อย่างไรก็ดี กรณีนี้ในฐานะที่ผมเขียนตำรากฎหมายเรื่องฟ้องเท็จเบิกความเท็จมามากมาย มั่นใจว่าคุณแม่ไม่โดนข้อหาฟ้องเท็จหรอกครับ เพราะคุณแม่ไม่เจตนา เพียงแต่คดีฆาตกรรมมันพิสูจน์ได้ยากกว่า อย่างไรก็ดี ถ้ามีการสืบพยานกัน สืบพยานโจทก์ สืบพยานจำเลย มันอาจจะไปถึงเรื่องฆาตกรรมก็ได้” อดีตผู้พิพากษาชนบท กล่าว

5 คนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตใน คดีแตงโม
ทั้งนี้ อดีตผู้พิพากษา “ชนบท ศุภศรี” ยังได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กกฎหมายชนบท ว่า หากราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ศาลต้อง "ไต่สวนมูลฟ้อง" ก่อนเสมอ ความยากจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จึงขึ้นอยู่ว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จะต้องนำพยานบุคคล และพยานวัตถุ รวมทั้งพยานเอกสาร คนใดหรือชิ้นใดเข้าสู่การพิจารณาของศาล และผู้ถูกฟ้องมีสิทธิที่จะให้ทนายความเข้าถามค้านพยานหลักฐานของโจทก์ได้

ดังนั้น ในการฟ้องข้อหาใดฐานความผิดใดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโจทก์สามารถจะเลือกฟ้องได้ คือ

1.ตาม ป.อ. (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) มาตรา 288 "ผู้ใดฆ่าผู้อื่น"

2.ตาม ป.อ.มาตรา 289(7) "ผู้ใดฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้"

3.ตาม ป.อ.มาตรา 290 "ผู้ใดไม่เจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย"

“หากคุณแม่แตงโม พี่ ส.ส.เต้ และพี่อัจฯ ปรึกษาผม ผมก็จะให้คำปรึกษาถึงข้อดีและข้อเสียให้ฟัง ส่วนจะเลือกข้อหาหรือฐานความผิดใดขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่จะนำเสนอศาล ไม่นานเกินรอ และผมจะให้คำปรึกษาอย่างอื่น (ที่คาดไม่ถึง) แถมให้อีก เวลามีจำกัด ครับ” อดีตผู้พิพากษาชนบท ระบุ

ทั้งนี้ “แม่แตงโม” และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ จะเข้าพบและหารือกับ “อดีตผู้พิพากษาชนบท ศุภศรี” เป็นครั้งแรกในวันนี้ (1 มิ.ย.2565)

นายบัญชา สุชญา เจ้าของเพจ “ทนายอู๋สู้คดีเคียงข้างคุณ
ด้าน นายบัญชา สุชญา เจ้าของเพจ "ทนายอู๋สู้คดีเคียงข้างคุณ" และทนายที่รับหน้าที่โฆษกประจำตัวของแม่แตงโม ระบุว่า การทำงานของทีมทำคดีแตงโม นั้นมีความเข้มแข็ง โดยวางกลยุทธ์ 2 รุก 2 รวบ รุกที่ 1 คือรุกดำเนินคดีกับแซน และกระติก รุกที่ 2 ดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีอาญากับตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีแตงโม และทำคดีโดยมิชอบ ส่วน 2 รวบ ก็คือ รวบที่ 1 รวบรวมพยานหลักฐานส่งไปให้ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรวบที่ 2 รวบรวมพยานหลักฐานในเชิงลับ

ขณะที่ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อหาความจริงในคดีการเสียชีวิตของแตงโม ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่มีหลายคนสงสัยว่าห่อพัสดุที่ ”บังแจ็ค” ส่งมาให้กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผ้าขาวนั้นอาจจะเป็นหลักฐานเท็จ ว่า ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร เพราะยังไม่ได้เปิด ตามขั้นตอนเราต้องส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมคือตำรวจและอัยการ อันได้แก่ อัยการสูงสุด และอัยการนนทบุรี ซึ่งตำรวจตอบมาแล้วว่าไม่รับเพราะปิดสำนวนไปแล้ว

ส่วนอัยการยังไม่ตอบกลับมา กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ อยู่ระหว่างรอ ซึ่งหากอัยการตอบรับ กรรมาธิการฯ และแม่แตงโม ในฐานะผู้เสียหายก็จะไปร่วมกับอัยการในการเปิดห่อพัสดุดังกล่าวเพื่อความโปร่งใสและรักษาความสมบูรณ์ของวัตถุพยาน เมื่อเปิดแล้วจะรู้ว่าสิ่งที่ส่งมาเป็นประโยชน์ต่อคดีแตงโม หรือไม่ หากเป็นประโยชน์ก็จะส่งไปตรวจที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แต่หากอัยการไม่ตอบกลับมา กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ก็จะประชุมกันอีกทีว่าจะเอาอย่างไร

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
พญ.พรทิพย์ กล่าวต่อว่า หากวัตถุที่ส่งมาเป็นผ้าขาวที่คาดว่าอาจจะเป็นของแตงโม ก็จะมีการตรวจเพื่อหาคราบเลือด ไม่ใช่หาดีเอ็นเอบนผ้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าบังแจ็ค จะนำสิ่งของที่มีดีเอ็นเอของแตงโมมาถูกับผ้าเพื่อทำให้ผ้ามีดีเอ็นเอ ที่สำคัญหลักฐานชิ้นนี้ได้ส่งมายังกรรมาธิการสิทธิฯ 1 เดือนแล้ว ก่อนที่แม่จะส่งมือถือให้บังแจ็ค ที่สำคัญหากผ้าผืนนี้เป็นของจริงก็อาจจะช่วยพิสูจน์ว่าบาดแผลของแตงโมเกิดขึ้นก่อนตกน้ำเพราะคราบเลือดในบาดแผลจะโดนผ้าที่สวมใส่ แม้แตงโม ตกลงไปในน้ำ อย่างไรเสียตัวเม็ดเลือดแดงก็จะติดอยู่ที่ผ้า ซึ่งทำให้เราสามารถตรวจทางวิทยาศาสตร์ได้ หากตรวจพบคราบเลือดก็จะสามารถตรวจต่อไปว่าเลือดนี้มีดีเอ็นเอของแตงโมหรือไม่

“ดังนั้น อย่าไปมองว่าเป็นหลักฐานเท็จเพราะจากข้อมูลของผู้ที่ส่งมาบอกว่ามาจากบริเวณใกล้กับจุดที่เกี่ยวข้องกับศพ ที่หลายคนเกรงว่าจะเป็นหลักฐานเท็จนั้น หลักฐานเท็จแปลว่าหลักฐานปลอม ณ วันนี้ยังไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นหลักฐานปลอมหรือจริง เพราะในสำนวนคดีไม่มีบันทึกเรื่องผ้าชิ้นนี้ ตราบใดที่ยังไม่การตรวจให้จบ ถ้ามีคราบเลือดขึ้นมาก็อาจจะกลายเป็นหลักฐานจริง แต่หากเป็นหลักฐานเท็จคนที่รับผิดชอบก็คือคนที่ส่งหลักฐานชิ้นนี้มา จะไปกลัวอะไรกับหลักฐานเท็จ ที่สำคัญไอ้ที่อยู่ในสำนวนน่ะ มีเท็จบ้างไหม แล้วจะตรวจสอบได้อย่างไร ทำไมไม่กลัวตรงนี้” พญ.พรทิพย์ ระบุ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์การเสียชีวิตของแตงโม ซึ่งเป็นกรณีถูกผู้อื่นทำให้ตาย แต่ตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การแจ้งข้อหาต่อทั้ง 5 คนบนเรือ ว่าประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรืออัยการจังหวัดนนทบุรี ออกมาชี้แจงว่าผู้ต้องหาแต่ละคนได้ร่วมกันกระทำประมาท หรือต่างคนต่างกระทำพร้อมกัน ด้วยพฤติกรรมอย่างไร? และ “การกระทำนั้น” เป็นเหตุทำให้แตงโม ตกจากเรือจมน้ำตายได้อย่างไร ทั้งที่คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ

“การสอบสวนของตำรวจที่สรุปว่า แตงโมไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือโดยที่อีก 4 คนไม่รู้และไม่เห็นอะไรเลย แตงโมเสียหลักตกน้ำไปเองตามคำให้การของแซน ซึ่งตอนแรกอยู่ในฐานะพยาน แต่ต่อมากลับกลายเป็นผู้ต้องหา แต่ตำรวจ และอัยการไม่เคยชี้แจง ตอนนี้ทั้งแม่แตงโม และประชาชนต่างสงสัยว่าทำไมถึงเป็นคดีประมาท สำนวนเขียนว่าอะไร พยานหลักฐานที่ชี้ว่าเป็นกรณีประมาทคืออะไร โดยหลักการการสอบสวนไม่ใช่ความลับทางราชการ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรม สำนวนการสอบสวนไม่ใช่ความลับ ผู้เสียหายควรรู้ทุกขั้นตอน” พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังได้แนะช่องทางในการตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีการเสียชีวิตของแตงโม ว่า หากแม่แตงโม ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีความสงสัยก็สามารถทำหนังสือถึง สภ.นนทบุรี เพื่อขอดูสำนวนและพยานหลักฐานได้ โดยกำหนดเวลาว่าจะขอดูภายใน 7 วัน เมื่อครบ 7 วันแล้ว สภ.นนทบุรี ยังไม่ส่งมา ก็สามารถร้องไปยังผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ก็ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้




กำลังโหลดความคิดเห็น