xs
xsm
sm
md
lg

นัก กม.ชี้ “สีกาตอง” ผิดฐานรีดทรัพย์ โทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่น-2 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สำนักพุทธ” ชี้เจ้าคณะจังหวัดควรสอบที่มาเงิน 3 แสน ว่าเป็นเงินส่วนตัวของ “อดีตพระกาโตะ” หรือเงินของวัด ถ้าเป็นเงินวัดจะเข้าข่าย “ยักยอกทรัพย์” ด้าน “ไพศาล พืชมงคล” ระบุโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับถึง 1 แสนบาท ขณะที่ “เลขาฯ สมาพันธ์ชาวพุทธ” แนะกลับไปใช้ยึดตามพุทธบัญญัติ ห้ามพระจับเงิน ป้องกันสีกาเข้าหา ฝ่าย “ทนายอู๋” ยันมาตรา 1623 ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ทรัพย์สินของพระที่ได้ระหว่างบวชเป็นสมบัติของวัด ลั่น “สีกาตอง” เข้าข่ายแบล็กเมล์ มีความผิดฐาน “รีดเอาทรัพย์” โทษจำคุก 1-10 ปี

กรณีที่ “อดีตพระกาโตะ” หรือนายพงศกร จันทร์แก้ว พระนักเทศน์ชื่อดัง และรักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งลาสิกขาหลังจากตกเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “สีกาตอง” และได้จ่ายเงินจำนวน 3 แสนบาท ให้สีกาตองเพื่อให้เรื่องเงียบนั้น กระสังคมมองว่าควรมีการตรวจสอบว่าเงินดังกล่าวได้มาจากไหน เป็นเงินที่พ่อเลี้ยงของอดีตพระกาโตะ ได้จากการนำที่ดินไปจำนองอย่างที่อดีตพระกาโตะบอกกับสีกาตองหรือไม่ หรือเป็นเงินส่วนตัวของพระกาโตะ หรือเป็นเงินบริจาคของวัด รวมถึงควรตรวจสอบเงินที่อดีตพระกาโตะ ให้สีกาตองตลอดช่วงเวลาที่คบหากันอีกด้วย และหากพบว่าเป็นเงินของวัด ควรชี้ให้ชัดว่าอดีตพระกาโตะ จะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่?

อดีตพระกาโตะ หรือนายพงศกร จันทร์แก้ว พระนักเทศน์ชื่อดัง และอดีตรักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ
เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ว่า ทางเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช น่าจะทำการตรวจสอบว่าเงิน 300,000 บาท ที่อดีตพระกาโตะ ให้สีกาตองนั้นเป็นเงินที่ได้จากการจำนองที่ดินของพ่อเลี้ยง หรือเป็นเงินส่วนตัวของอดีตพระกาโตะ หรือเป็นเงินของวัดเพ็ญญาติ โดยเจ้าคณะจังหวัดอาจจะมอบหมายให้เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะตำบลที่ดูแลวัดเพ็ญญาติเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าก่อนสึกพระกาโตะ มีฐานะเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติใช่หรือไม่ และระหว่างรักษาการมีเงินเข้ามาหรือไม่ มีเงินบริจาคไหม ปัจจุบันเงินบริจาคของวัดเหลือเท่าไหร่ ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง และสิ่งที่ใช้จ่ายไปนั้นเป็นไปเพื่อกิจของพระศาสนาหรือไม่

หลังจากตรวจสอบเสร็จจะรายงานขึ้นไปตามลำดับชั้น อย่างไรก็ดี ไม่ทราบว่าเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช จะแจ้งผลการสอบมายังสำงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยหรือไม่ แต่ถ้าสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชไปร่วมสอบด้วยจะต้องมีการรายงานมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หากพบว่าอดีตพระกาโตะ นำเงินของวัดไปใช้ ขั้นตอนต่อไปผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส หรือรักษาการเจ้าอาวาสวันเพ็ญญาติจะต้องทำการแจ้งความดำเนินคดีอดีตพระกาโตะ ในข้อหายักยอกทรัพย์เพื่อให้ใช้คืนเงินดังกล่าว ถ้าอดีตพระกาโตะ คืนเงินมาอาจจะเจรจายอมความกันได้ก็ เรื่องก็จบ ถ้าไม่คืนหรือไม่มีมาใช้คืนต้องถูกจำคุกตามกฎหมาย

“แม้หลวงพี่กาโตะ จะลาสิกขาแล้ว ทางเจ้าคณะจังหวัดยังสามารถเรียกมาสอบได้อยู่ หากเป็นเงินที่อดีตพระกาโตะ ได้รับถวายจากการเทศน์ จากการรับกิจนิมนต์ หรือถวายโดยเจาะจงว่าถวายพระกาโตะ อันนี้ถือเป็นเงินส่วนตัว แต่หากระบุว่าถวายเป็นค่าน้ำค่าไฟ ร่วมบุญในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมถาวรวัตถุต่างๆ และพบว่าอดีตพระกาโตะ เอาเงินของวัดไปใช้ส่วนตัวถือว่าเป็นการยักยอก ซึ่งในการตรวจสอบเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัดย่อมมีอำนาจที่จะทำเรื่องขอตรวจสอบบัญชีธนาคารของอดีตพระกาโตะ เพื่อดูการเคลื่อนไหวของบัญชี ถ้าพบว่ามีเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก ต้องดูว่าเงินมาจากไหน ใครเป็นคนโอนหรือนำเงินเข้าบัญชี ถ้าพบว่าอดีตพระกาโตะ มีการยักยอกเงินของวัดเข้าบัญชีตัวเองต้องแจ้งความดำเนินคดีต่อไป” เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุ

นายกรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย
ด้าน นายกรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องดำเนินการตรวจสอบว่าเงินที่อดีตพระกาโตะ ให้สีกาตองตลอดเวลาที่มีความสัมพันธ์กันนั้นเป็นเงินจากส่วนไหน ถ้าเป็นเงินที่ได้จากการเทศน์หรือรับกิจนิมนต์ก็ถือว่าเป็นเงินส่วนตัวของอดีตพระกาโตะ แต่หากเป็นเงินที่ถวายให้วัดก็เป็นเงินของวัด อย่างไรก็ดี การตรวจสอบนั้นค่อนข้างยาก โดยเบื้องต้น ต้องตรวจสอบบัญชีของวัดว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ เคลื่อนไหวอย่างไร หากพบว่าเงินที่อดีตพระกาโตะให้สีกาตองเป็นเงินที่เบิกมาจากบัญชีของวัดก็ชัดเจนว่าเป็นเงินวัด แต่ถ้าเป็นเงินที่มีผู้ถวายให้วัด แต่อดีตพระกาโตะ ไม่ได้นำเข้าบัญชีของวัดก็ตรวจสอบไม่ได้ นอกจากจะมีผู้มาร้องว่าตนเองบริจาคเงินเท่านั้นเท่านี้ แล้วเงินจำนวนนี้ไปไหน จึงจะไปตรวจสอบได้ว่าเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของวัดหรือไม่

ทั้งนี้ ยากที่จะแยกว่าเป็นเงินส่วนตัวของพระหรือเงินของวัด เพราะบางทีญาติโยมถวายเพราะเข้าใจว่าเงินเข้าวัด ส่วนพระเข้าใจว่าโยมถวายส่วนตัว พระที่นำเงินเข้าบัญชีครั้งละมากๆ ก็ฟันธงไม่ได้ว่าเป็นเงินวัดหรือเงินส่วนตัว เพราะหากเป็นพระนักเทศน์ดังๆ โยมถวายส่วนตัวครั้งละเป็นแสนก็มี ดังนั้นโยมควรแจ้งให้ชัดเจนว่าถวายให้วัดหรือถวายให้พระเป็นการส่วนตัว

นายกรณ์ ได้แนะวิธีการป้องกันปัญหาในกรณีพระนำเงินของวัดไปใช้ ว่า ควรปฏิบัติตามพุทธบัญญัติซึ่งกำหนดว่าพระจะรับเงินโดยตรงไม่ได้ จะต้องมีไวยาวัจกรเป็นผู้รับเงินและดูแลการใช้จ่ายเงิน ทั้งที่เป็นเงินของวัดและเงินส่วนตัวของพระ โดยในงานบุญต่างๆ นั้นหลังจากเสร็จพิธีการต่างๆ แล้วไวยาวัจกรจะแจ้งให้พระและญาติโยมรู้โดยทั่วกันว่ามีเงินที่ญาติโยมถวายวัดเท่าไหร่ และเงินที่ถวายพระแต่ละรูปเท่าไหร่ พร้อมทั้งลงบัญชีไว้ แต่ไม่ได้มอบเงินที่ถวายส่วนตัวให้พระสงฆ์ ไวยาวัจกร และคณะกรรมการของวัดจะเป็นผู้ดูแล โดยเจ้าอาวาสเข้ามาร่วมรับรู้ด้วย ซึ่งสมัยก่อนก็ปฏิบัติกันมาแบบนี้ แต่ปัจจุบันอาจจะหลงลืมกันไป

“ทางแก้คือให้กลับไปใช้พระวินัยสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ ซึ่งพระจะไม่ได้เป็นคนถือเงิน คือเรื่องนี้เป็นระเบียบสงฆ์ที่ล้อมาจากพระวินัยที่ระบุว่า พระต้องให้คนอื่นเป็นผู้ถือเงิน เวลาจะใช้เงินก็แจ้งแก่ไวยาวัจกรว่าจะเบิกเงินเท่าไหร่ จะใช้ทำอะไร เมื่อพระสึกออกไปสามารถเบิกเงินส่วนตัวออกไปใช้ได้ คือถ้าทำตามพุทธบัญญัติ ยึดตามวินัยสงฆ์ พระจะไม่ได้จับเงินเลย ก็หมดปัญหา เพราะเมื่อพระไม่มีเงิน สีกาก็ไม่เข้ามาวุ่นวายเพราะไม่มีผลประโยชน์ นอกจากนั้น คนสมัยก่อนหลังจากสึกจะถวายเงินคืนวัดหมด ไม่เอาเงินส่วนตัวที่ได้รับขณะบวชมาใช้ในชีวิตฆราวาส เพราะถือคติว่าเอาเงินสวดมาทำทุน เอาเงินบังสุกุลมาหากิน ไม่มีทางเจริญ” นายกรณ์ กล่าว

นายไพศาล พืชมงคล ในฐานะนักกฎหมาย
นอกจากความเห็นของผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพระพุทธศาสนาแล้ว ความเห็นของนักกฎหมายซึ่งมีต่อกรณีการให้เงินของอดีตพระกาโตะ แก่สีกาตอง ตลอดระยะเวลาที่คบหากันเพื่อไม่ให้สีกาตองแพร่งพรายเรื่องความสัมพันธ์ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

นายไพศาล พืชมงคล ในฐานะนักกฎหมาย ชี้ว่า กรณีของอดีตพระกาโตะนั้น ในเรื่องของพระธรรมวินัยการมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสีกาถือว่าอาบัติปาราชิก สึกแล้วกลับมาบวชอีกไม่ได้ ส่วนกรณีการให้เงินแก่สีกาตองเพื่อให้เรื่องเงียบนั้น เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ หากพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นเงินที่ญาติโยมทำบุญให้วัด อดีตพระกาโตะก็มีความผิดทางอาญาในข้อหา “ยักยอกทรัพย์”

โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ระบุว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ยักยอก” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตามด้วยมาตรา 353 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และมาตรา 354 ระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทนายอู๋ บัญชา สุชญา เจ้าของเพจทนายอู๋สู้เคียงข้างคุณ
ขณะที่ ทนายอู๋ "บัญชา สุชญา" เจ้าของเพจทนายอู๋สู้เคียงข้างคุณ ชี้ว่า หากพบว่าเงินที่อดีตพระกาโตะ มอบให้สีกาตองมาตลอดเป็นเงินที่อดีตพระกาโตะ ได้มาจากการเทศน์สอนหรือรับกิจนิมนต์ก็ถือว่าเป็นเงินที่ได้ในขณะที่ท่านเป็นพระสงฆ์ ได้จากการปฏิบัติศาสนกิจ ได้มาจากความศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อพระภิกษุ ดังนั้น จึงไม่ควรนำไปใช้อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกิจของสงฆ์ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของศาสนา หรือไม่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

จะเห็นได้ว่าจากกรณีของหลวงพ่อเย็น อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าทรงธรรม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งหลังมรณภาพพบเงินสดในกุฏิกว่า 10 ล้านบาทนั้น พระครูภาวนาธรรมธารี (สัมพันธ์ ปญญาปทีโป) เจ้าคณะอำเภอเมืองปราจีนบุรี ได้ชี้ชัดเจนว่า กรณีของพระภิกษุ มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องของทรัพย์สินหลังจากมรณภาพ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ระบุว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งต่างจากคนทั่วไปที่หากเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย ดังนั้น หมายความว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายชี้ว่าเงินที่ได้มาจากการดำรงเพศสมณะถือเป็นทรัพย์ของพระศาสนา

“เนื่องจากเจตนาในการถวายเงินของญาติโยมนั้นเพื่อหวังให้พระนำไปใช้ในกิจของสงฆ์ ใช้เพื่อการดำรงชีพขณะบวชเป็นพระ หรือใช้เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไม่ได้ต้องการให้พระนำไปใช้ในสิ่งที่ใช่กิจของสงฆ์ หรือนำไปมอบให้คนอื่น หรือใช้หลังจากสึกแล้ว บางคนก่อนลาสิกขายังถวายเงินที่ได้ระหว่างการบวชคืนให้วัดด้วยซ้ำ ซึ่งการที่อดีตพระกาโตะ นำเงินไปให้ผู้หญิงนั้นมันไม่ใช่กิจของสงฆ์ ดังนั้น ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าเงิน 3 แสนที่ให้ตองไม่ใช่เงินของพ่อเลี้ยงของอดีตพระกาโตะ ที่ได้มาจากการขายที่ดิน แต่เป็นเงินที่อดีตพระกาโตะ ได้มาระหว่างที่บวชต้องถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสงฆ์ เป็นเงินของวัดเพ็ญญาติ ไม่ใช่เงินที่อดีตพระกาโตะจะนำไปใช้ตามอำเภอใจ ดังนั้นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชก็พึงเรียกเงินก้อนนี้คืนจากสีกาตองได้” ทนายอู๋ กล่าว

สีกาตอง นางแบบพริตตี้ อินฟูเอนเซอร์วงการรถยนต์ ที่มีความสัมพันธ์ฉาวกับ “อดีตพระกาโตะ”
นอกจากนั้น “ทนายอู๋” ยังได้ชี้ว่า กรณีการเรียกรับเงินจากอดีตพระกาโตะ ของ "สีกาตอง" นั้นถือว่าเป็นการแบล็กเมล์ เข้าข่ายลักษณะการขู่เข็ญ ข่มขืนใจให้อดีตพระกาโตะมอบเงินหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผย “ความลับ” ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นถือว่ากระทำความผิดฐาน “รีดเอาทรัพย์”

ซึ่ง “ความลับ” ตามมาตรา 338 นั้น เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 12685/2558 ระบุว่า การขู่ว่าจะเปิดเผยความลับอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 338 นั้น คำว่า “ความลับ” ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ละเมิดกฎหมายหรือขัดศีลธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งคนที่เป็นเจ้าของความลับประสงค์จะปกปิด ฎีกาบอกไว้เลยว่าเรื่องนั้นก็ถือเป็นความลับ

เช่น ขู่ว่าถ้าคุณไม่จ่ายเงิน ฉันจะไปแจ้งสรรพากรว่าคุณเลี่ยงภาษี หรือถ้าไม่จ่ายเงินมาฉันจะไปบอกเมียคุณว่าคุณมีชู้ เพราะฉะนั้นการกระทำของสีกาตอง ซึ่งขู่ว่าจะเปิดความลับของพระกาโตะ ที่มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับตนหากพระกาโตะไม่ให้เงินตามที่เรียกร้อง ก็เข้าข่ายฐานความผิดเรื่อง “รีดเอาทรัพย์” ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338

“กรณีความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ถือเป็นอาญาแผ่นดิน ซึ่งตำรวจต้องดำเนินการ แม้จะไม่มีใครร้องทุกข์กล่าวโทษ ดังนั้นแม้ว่าอดีตพระกาโตะ ไม่ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีสีกาตองในข้อหารีดเอาทรัพย์ ตำรวจในท้องที่วัดเพ็ญญาติ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุก็ต้องดำเนินคดีสีกาตอง ซึ่งความผิดฐานรีดเอาทรัพย์นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท โดยโทษจำคุกใช้คำว่าตั้งแต่ ไม่ใช่ขั้นต่ำ หมายความว่าจะต้องติดคุกแน่ๆ อย่างน้อย 1 ปี ยกเว้นว่าศาลจะให้รอลงอาญา ส่วนโทษปรับใช้คำว่าและ ไม่ใช่หรือ แปลว่าโดนปรับแน่ๆ ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จนถึง 2 แสนบาท ซึ่งหากตำรวจไม่ดำเนินการจะถือมีความผิดตามมาตร 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายตรงนี้จะช่วยลดปัญหากรณีนารีพิฆาต หรือกรณีที่ผู้หญิงจงใจเข้ามามีสัมพันธ์กับพระเพื่อแบล็กเมล์เรียกเงิน นอกจากนั้นตำรวจต้องไปตรวจสอบด้วยว่าก่อหน้านี้สีกาตองเคยกระทำการในลักษณะแบล็กเมล์กับพระรูปอื่นด้วยหรือไม่” ทนายอู๋ ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น