จับตาประชาชน คนรากหญ้า แรงงานในระบบ พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ และมนุษย์เงินเดือนกำลังมีสภาพเป็น ‘กบต้ม’ ต้องตายแบบไม่รู้ตัว รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ชี้ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ไม่ได้ขึ้น 6% ตามเงินเฟ้อ แต่กระโดดไปถึง 20-30% ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พรรครัฐบาล แจง ‘8 ปัจจัย’ ทำให้คนไทยเผชิญวิกฤตเงินเฟ้ออีกนาน เผยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ โดยกลุ่มผู้สูงอายุ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่งผลให้ประชาชนไม่อยากเก็บเงินสด และเลือกจะนำเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ยิ่งเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่ม ด้าน ‘มนัส โกศล’ ระบุทุกกลุ่มได้รับพิษเงินเฟ้อ และมีการปรับค่าแรงประมาณมิถุนายนนี้!
เสียงบ่นของผู้คนในสังคมปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง โดยเฉพาะคนชั้นล่างทั้งที่เป็นกลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม คนหาเช้ากินค่ำ วินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกจ้างในระบบราชการล้วนแต่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ ‘ข้าวยากหมากแพง’ รายได้ที่มีอยู่ไม่พอกับรายจ่ายทั้งที่กระเบียดกระเสียนและดิ้นรนในการหารายได้เพิ่มแล้วก็ตาม จนหลายคนถึงกับบ่นว่า ‘ครอบครัวกำลังจะอดตาย’
ขณะที่แม่ค้า พ่อค้าขายข้าวแกง อาหารตามสั่งก็บ่นกับลูกค้าขอปรับราคาแกงถุง อาหารตามสั่ง เพราะแบกต้นทุนวัตถุดิบต่อไปไม่ไหว ผัก เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมัน เครื่องปรุง แก๊สหุงต้ม เพื่อมาทำกับข้าวขายก็แห่ขึ้นราคากันไปทุกอย่าง จึงจำเป็นต้องขอปรับราคาขึ้นกับลูกค้าเช่นกัน
ที่ผ่านมาเคยซื้อแกงถุง ถุงละ 30-35 บาท ปัจจุบันขอปรับขึ้นเป็นถุงละ 40-45 บาท และแกงถุงบางประเภทที่ต้องใช้เนื้อสัตว์มากก็ขอปรับเป็นถุงละ 50 บาท ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้แน่นอน
“เมื่อรายได้ในครอบครัวไม่เพิ่ม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าทุกอย่างขึ้นราคาไปหมด แกงถุงเคยซื้อมื้อละ 3 ถุง กินในครอบครัว 4-5 คน เราก็เลือกที่จะซื้อแค่ 2 ถุง แบ่งๆ กันกิน เงินที่มีอยู่ยังต้องใช้เป็นค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก ไม่รู้ว่าจะขึ้นอีกเท่าไร ยิ่งถ้าถูกออกจากงานด้วย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
สำหรับบรรดาคนรวย คนมีเงิน แม้น้ำมันจะขึ้นไปลิตรละเท่าไหร่ กระทบค่าขนส่ง ค่าครองชีพหรือสินค้าขึ้นราคาเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากมายเหมือนชนชั้นล่าง ซึ่งจากนี้ไปคนกลุ่มชนชั้นล่างในสังคมจะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างไร และการเรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำจะมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าปัญหาเศรษฐกิจและต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อแรงงานในระบบประกันสังคม คนหาเช้ากินค่ำ อาชีพอิสระ แม่ค้า หาบเร่ แผงลอยอย่างรุนแรง เพราะรายได้ที่หามานั้น จะหมดไปกับค่าใช้จ่าย 3 อย่างคือ 1.ค่าอาหาร 2.ค่าเดินทาง 3. ค่าที่พัก ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้ง 3 อย่าง เฉลี่ยประมาณ 70% ของรายได้ แต่เมื่อต้นทุนเพิ่มค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะสูงขึ้นเฉลี่ย 90% ของรายได้ ขณะที่รายได้ของคนกลุ่มนี้ยังเท่าเดิม
“รายได้เฉลี่ยของครอบครัวคนกลุ่มนี้เดิมเฉลี่ย 2- 3 หมื่น แต่ยุคโควิดรายได้ลดลง บางครอบครัวไม่ถึงหมื่น เมื่อสินค้าทยอยขึ้นราคา คนอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าก็อยู่ได้ด้วยการปรับขึ้นราคา ภาระทั้งหมดจะตกกับคนที่กินเงินเดือน ลูกจ้างจนๆ เดือดร้อนที่สุด จะขอปรับเงินเดือน นายจ้างก็บอกไม่ไหวเหมือนกัน แล้วจะทำอย่างไร”
ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (Cost Push) มาจากน้ำมันแพง สงครามการค้า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวโพด ข้าวสาลี จึงทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้น ส่งผลให้เนื้อสัตว์และอาหารก็แพงตามไปด้วย
“supply chain มีปัญหา วัตถุดิบต้นทางต่างๆ มีปัญหา ทั้งจากการผลิตไม่พอ ขนส่งปลายทางมีปัญหาเรื่องของน้ำมันแพง มีการล็อกดาวน์จากปัญหาสงครามการค้า ส่งผลให้วัตถุดิบมีปัญหาตามมา”
รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่า ภาวะสินค้าขึ้นราคา ข้าวยากหมากแพงที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ ทำให้คนกลุ่มนี้กำลังเข้าสู่ ‘วิกฤตกบต้ม’ เปรียบได้กับการเอากบใส่หม้อน้ำเย็น จากนั้นก็เปิดไฟอ่อนๆ ค่อยเพิ่มอุณหภูมิความร้อน กบก็จะลอยอยู่ในน้ำโดยที่ไม่รู้ว่าภัยอันตรายกำลังมาถึงตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่กำลังขึ้นทีละน้อยจนคนที่ได้รับผลกระทบรู้สึกเคยชินพอรู้ตัวก็แย่แล้ว
“เวลานี้เงินเฟ้อไปถึง 6% ซึ่งคนจนๆ เงินเฟ้อคือ ค่าเฉลี่ยราคาสินค้า ซึ่งคนจน เงินที่ได้มาหมดไปกับ 3 อย่าง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ที่ไม่ได้ขึ้น 6% ตามเงินเฟ้อนะ แต่มันกระโดดไปถึง 20-30% ง่ายๆ อะไรที่เคยขาย 10 บาท จะขาย 15 บาท ทุกอย่างทำให้คนจนเดือดร้อน”
ส่วนการเรียกร้องที่จะให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 492 บาททั่วประเทศ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากและทางออกที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลจะต้องมีการคิดการปรับสูตรใหม่ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเดิมพิจารณาจากค่าครองชีพ ควรจะปรับใหม่โดยพิจารณาจากสถานประกอบการที่ไม่เท่ากัน บริษัทใหญ่ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทข้ามชาติมีกำไรมาก ย่อมมีศักยภาพในการจ่ายที่มากกว่า ขณะที่บริษัทขนาดกลาง บริษัทเล็ก SME รัฐต้องมีนโยบายชัดเจน เรื่องการส่งเสริมสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเดินทาง จัดหาที่พักใกล้โรงงาน เป็นต้น
“จริงๆ ค่าจ้างขั้นต่ำควรพิจารณาจากความสามารถของนายจ้างเป็นตัวตั้ง บริษัทมีกำไรเท่านี้ ควรขึ้นค่าจ้างเท่านี้ แต่ถ้าเอาค่าครองชีพเป็นหลักแบบเดิมๆ ซึ่งค่าครองชีพภาคเกษตรมารวมกับอุตสาหกรรม ถึงได้วุ่น ทั้งที่คนพื้นที่ที่ว่าค่าครองชีพถูก ต้องซื้อสินค้าเช่นซื้อไข่ไก่ เนื้อสัตว์หรืออื่นๆ ในห้างแม็คโคร โลตัส ในราคาเดียวกันกับ กทม.หรือพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูง ก็อยากถามว่าราคาสินค้ามันต่างกันตรงไหน”
ที่สำคัญหากราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว มีการปรับขึ้นราคา จะส่งผลต่อค่าขนส่ง และเมื่อค่าขนส่งขึ้น สินค้าเกษตร ผัก ต่างๆ ก็ต้องขึ้นราคาเพราะสินค้าทุกอย่างต้องผ่านการขนส่งทั้งสิ้นกว่าจะมาถึงผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่
ดังนั้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่คือชนชั้นแรงงานกำลังเดือดร้อน ตามทฤษฎีกบต้ม เมื่อต้องเผชิญวิกฤตเช่นนี้ทุกคนก็ต้องดิ้นเฮือกสุดท้าย และถ้าถึงวันนั้นรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการอะไรได้ก็ไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่?
ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากพรรครัฐบาล บอกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบชาวบ้านโดยตรง เพราะอัตราเงินเฟ้อเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของราคาสินค้าและบริการในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของเดือน มี.ค.2565 เท่ากับ 5.73% หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยของเดือน มี.ค.2565 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.2564 เท่ากับ 5.73% หรือเปรียบเทียบง่ายๆ คือหากเดือน มี.ค.2564 ต้องใช้เงิน 100 บาทในการซื้อสินค้าและบริการ ในเดือน มี.ค.2565 จะต้องใช้เงินเพิ่มเป็น 105.73 บาทในการซื้อสินค้าและบริการแบบเดิม หรือนั่นคือค่าครองชีพประชาชนปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.73% หากเทียบกับเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว
อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปี ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค.65 เทียบกับ ม.ค.64 เท่ากับ 3.23%
อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.65 เทียบกับ ก.พ.64 เท่ากับ 5.28%
อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.65 เทียบกับ มี.ค.64 เท่ากับ 5.73%
ที่สำคัญการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อครั้งนี้เป็นเงินเฟ้อประเภทที่เกิดจากต้นทุนเพิ่ม (Cost Push) ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าและบริการ ไม่ใช่เงินเฟ้อประเภทที่เกิดจากประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมาก (Demand Pull) เป็นหลัก
นอกจากนี้ แนวโน้มทิศทางของเงินเฟ้อน่าจะยังคงมีอัตราที่สูงต่อไปอีกอย่างน้อยหลายเดือน เป็นผลมาจาก
1.ระดับราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในยูเครน การไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตในระดับที่เพียงพอของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ การเปิดประเทศของหลายประเทศรวมถึงไทยทำให้ความต้องการใช้พลังงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2.การทยอยยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งทางบกที่ 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 รวมถึงการทยอยปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า
3.ราคาปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เนื่องจากสถานการณ์ในยูเครน และหากเกษตรกรปรับลดการใช้ปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ยก็อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิต ซึ่งหากผลผลิตมีน้อยลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นได้อีก
4.นโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม มีผลทำให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
5.ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเรือปรับสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งจากเรื่องต้นทุนน้ำมัน และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน
6.กำลังการผลิตในสินค้าบางประเภทที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เกิดการขาดแคลน เช่น การขาดแคลนชิป ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์
7.เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอันเนื่องมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ประเทศไทยพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก และรายได้จากการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ทำให้ประเทศไทยยังมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์ยิ่งแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท การอ่อนค่าของเงินบาทจะยิ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะพลังงานยิ่งปรับสูงขึ้นอีก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงระหว่างเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้นจาก 33.31 บาทเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2565 เป็น 34.36 บาทในวันที่ 27 เม.ย.2565 หรือนับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาแล้วมากกว่า 3%
8.การเสนอให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก
ในการส่งผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนไปยังผู้บริโภคจะทำได้ง่ายกว่าในสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำ นักเศรษฐศาสตร์ให้ความหมายของสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำว่าหมายถึงสินค้าที่เมื่อราคาปรับเพิ่มขึ้นแล้วส่งผลให้การบริโภคลดลงไม่มากนัก โดยสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าจำเป็น เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ซึ่งจะมีผลให้ผู้ผลิตสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ง่ายกว่า โดยผู้มีรายได้น้อยจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจำเป็นมากกว่า
ดังเห็นได้จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยใช้จ่ายรายได้ไปกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสัดส่วนประมาณ 45% ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีการใช้จ่ายเพียง 26%
ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ยกตัวอย่างเช่น ฝากเงินธนาคาร 1 ปีได้ดอกเบี้ย 1% แต่ถ้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% ต่อปี หมายความว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ 4% (1%-5%) หรือก็คือของราคา 100 บาทผ่านมา 1 ปีราคาเพิ่มเป็น 105 บาท ในขณะที่ฝากเงิน 100 บาทผ่านไป 1 ปีเงินเพิ่มเป็น 101 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจากการฝากธนาคารน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ มีผลทำให้อำนาจซื้อของเงินในมือประชาชนลดลง
โดยกลุ่มประชาชนที่มีรายได้จากดอกเบี้ย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ หากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของประชาชนได้ เช่น ประชาชนไม่อยากเก็บเงินสด (เพราะอำนาจซื้อลดลง) จะนำเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการซึ่งจะยิ่งเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก หรืออาจจะนำเงินไปลงทุนเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงชนะเงินเฟ้อ (และต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนในหลักทรัพย์แบบเก็งกำไร)
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำน่าจะประมาณเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดว่าตัวเลขที่จะปรับน่าจะขยับตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นและยิ่งราคาน้ำมันดีเซลกำลังจะปรับขึ้นอีกจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างโดยตรง
“ทุกวันนี้บางกลุ่มเขาอยู่ได้จากค่าล่วงเวลา ได้สวัสดิการเสื้อผ้าฟรี ขึ้นรถฟรี ก็พอถูๆ ไถๆ ไปก่อน แต่ถ้าลูกจ้างคิดว่าจะได้ 492 บาทตามที่เป็นข่าวผมว่าน่าจะยาก”
ในความเป็นจริงค่าจ้างขั้นต่ำคือค่าจ้างแรกเข้า ควรมีการปรับค่าจ้างประจำปีกับคนที่มีทักษะ ซึ่งบางโรงงานบางบริษัททำกันอยู่แล้ว ที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมักจะไปอิงกับการเมืองมากกว่าที่จะพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งถ้าอิงตามนี้มาตั้งนานปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอาจไม่ได้อยู่ที่ 300 บาท แต่มีการปรับขึ้นไปอยู่ที่ 500-600 บาทก็ได้
“ตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคมมีประมาณ 8 ล้านคน ไม่รวมแรงงานข้ามชาติ และถ้ารวมมาตรา 39, 40 จะประมาณ 20 ล้านคน แต่จริงๆ กลุ่มนี้ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ เพราะทำงานนอกระบบ ส่วนคนในระบบที่จะเกี่ยวข้องกับค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น”
และหากจะพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำต้องหมายถึงคนประมาณ 1 ล้าน ซึ่งหากไม่ได้ตามที่เป็นข่าว 492 บาท ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และไม่เชื่อว่าจะใช้ม็อบกดดันเพราะวิธีนี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจเชิงระบบ จึงสามารถหาเหตุและผลมาเจรจาต่อรองกันได้
“รัฐมนตรีแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีที่เข้าใจเรื่องแรงงานและพร้อมผลักดันทุกอย่างเพื่อแรงงานอยู่แล้ว เรื่องวัคซีนโควิดก็เจรจาช่วยแรงงาน ส่วนจะให้บอกว่าค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นเท่าไหร่ถึงเหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันและหาเหตุผลมาถกกัน”
ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ย้ำว่า ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงนั้นส่งผลกระทบกับคนทุกกลุ่มไม่ใช่เพียงแรงงานในระบบ อาชีพอิสระเท่านั้น ในระบบราชการ กลุ่มที่ทำงานเป็นลูกจ้างราชการ 4 แสนคน ไม่ได้มีสวัสดิการใดๆ ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพียงแต่ลูกจ้างราชการมองภาพภายนอกจะดูดีว่าทำงานในหน่วยราชการเท่านั้นแต่ก็ลำบากเหมือนกัน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/