xs
xsm
sm
md
lg

“เวียดนาม-เกาหลีใต้-สิงคโปร์” จ้องฉกนักท่องเที่ยวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกชาติหวังท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด เร่งทำตลาดดูดนักท่องเที่ยวหลังนักท่องเที่ยวจีนอาจเดินทางได้ในปีหน้าเวียดนาม-สิงคโปร์-เกาหลีใต้ เบนเข็มจับคนไทยเชิญบริษัททัวร์-บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวร่วมโปรโมต กดราคาลงล่อใจ ขณะที่ไทยเริ่มลดเงื่อนไขเข้าประเทศ “ยกเลิกตรวจ-ลดวงเงินประกัน” ชี้เม็ดเงินต่างชาติใหญ่พอที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน แนะไม่ควรทิ้งไทยเที่ยวไทย แต่รัฐต้องรีบเคลียร์ปัญหาที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้นักท่องเที่ยว

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 90.1% ของ GDP เพิ่มขึ้นถึง 10.2% จากช่วงก่อนมีโควิด-19 สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 79.9% ต่อ GDP ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจขยับจาก 67.5% ต่อ GDP มาอยู่ที่ 78.8% ต่อ GDP เพิ่มขึ้น 11.3% ต่อ GDP และหนี้สาธารณะสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้อยู่ที่ 60.2% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นถึง 18.4% หากเทียบช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ 41.2% ต่อ GDP

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เหตุผลหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงขึ้น มาจากรายได้ และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลดลงจากโควิด-19 การตกงานหรือขาดรายได้เกิดขึ้นจากมาตรการควบคุมโรคป้องกันการแพร่ระบาด หลายธุรกิจที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต้องหยุดประกอบกิจการ ขณะที่ความวิตกกังวลของผู้คนทำให้ไม่กล้าใช้ชีวิตตามปกติ กระทบไปถึงภาคธุรกิจขาดรายได้ ต้องลดการจ้างงานหรือลดค่าแรงพนักงานลง

ขณะที่การดำรงชีวิตของผู้คน เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีพ การกู้ยืมจึงเป็นทางออกหนึ่งของการประคองชีวิตในช่วงเวลานี้ ส่งผลต่อภาระหนี้เพิ่มขึ้น

“สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ และชะลอการเกิดหนี้ NPLs คือ การทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้โดยไม่สะดุด” นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว


คลายกฎ-กระตุ้นเดินทาง

ทุกประเทศต่างประสบปัญหาเหมือนกัน การให้ความช่วยเหลือจากรัฐทำในลักษณะคล้ายกัน ต้องทุ่มงบประมาณจัดหาวัคซีน อุปกรณ์ป้องกันโรค เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ท่ามกลางการระบาดที่ยาวนานยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 ส่งผลให้หนี้ภาครัฐขยับขึ้นเช่นกัน

การเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันและการกลายพันธุ์ของเชื้อที่มาเป็นโอมิครอน ทำให้ความรุนแรงของโรคเริ่มลดลง อัตราการเสียชีวิตลดลง เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คลายความกังวลใจให้โลกใบนี้ ความเข้มงวดในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงเริ่มผ่อนคลายลง บางประเทศยกเลิกกฎสวมหน้ากากอนามัย เริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันมากขึ้น

เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคลง ประชาชนสามารถเดินทางกลับต่างจังหวัดได้ แม้จะมีความกังวลในตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อาจสูงขึ้นอีกครั้ง

เราจึงได้เห็นคนไทยเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก บางครอบครัวใช้ช่วงเวลานี้ท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ และจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศ    ทั้งหมดสะท้อนถึงความอัดอั้นที่ต้องงดกิจกรรมเหล่านี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ถึงเวลาใช้ท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า การที่จะฟื้นเศรษฐกิจทางออกคือ การทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน แนวทางที่สามารถเริ่มได้ง่ายที่สุดคือ การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้การท่องเที่ยวเป็นแนวทางหลักสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และเป็นสิ่งที่รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ใช้ธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหารเป็นจุดขาย ตอนนี้อาจได้กระแสเรื่องของข้าวเหนียวมะม่วงมาเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูด

ช่วงก่อนสงกรานต์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน สิทธิส่วนลดต่างๆ สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ เหลืออยู่ประมาณ 2.4 แสนสิทธิจาก 2 ล้านสิทธิ แต่พอเข้าสงกรานต์มีผู้ขอใช้สิทธิจนเต็ม สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนยังต้องการท่องเที่ยวแม้จะเป็นภายในประเทศ การเดินทางข้ามจังหวัด เท่ากับเป็นการนำเอาเงินจากจังหวัดหนึ่งไปใช้จ่ายในอีกจังหวัดหนึ่ง แถมยังมีการใช้จ่ายระหว่างเดินทางอีกส่วนหนึ่ง ถือเป็นการกระจายกำลังซื้อลงไปตามพื้นที่ต่างๆ ธุรกิจที่พักมีรายได้เพิ่มขึ้น จ้างพนักงานเพิ่มขึ้น ร้านค้าสามารถจำหน่ายอาหารหรือของที่ระลึกได้เพิ่มขึ้น

เมื่อทุกส่วนมีรายได้เข้ามาเพียงพอต่อการดำรงชีพ การกู้ยืมก็ลดลงหรือนำไปใช้หนี้ที่เคยมีอยู่ ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่าย เพียงแต่ต้องหาทางรับมือกับการควบคุมโรคไปด้วยเช่นกัน


ไทยเที่ยวไทยยังไม่พอ

ลำพังแค่การใช้กำลังซื้อของคนที่มีความพร้อมจากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ อาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ที่ผ่านมาเราใช้กำลังซื้อของคนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวผลักดันหลัก  แต่ด้วยสถานการณ์โควิด มีปัจจัยทั้งการปิดประเทศ ผู้คนไม่กล้าเดินทาง กฎระเบียบที่เข้มงวดของแต่ละประเทศ ซึ่งในระยะหลังไทยได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์รับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่ง และได้ลดเงื่อนไขลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรค

ช่วงเทศกาลสงกรานต์เราได้เห็นคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งเดินทางเองและผ่านบริษัททัวร์ ประเทศปลายทางมีทั้งยุโรปและเอเชียโดยเลือกประเทศที่ไม่ต้องกักตัว แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าก่อนเกิดโควิด แต่พวกเขาก็พร้อมจ่าย เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบางคนไม่ได้เดินทางเหมือนที่เคย

จ้องฉกนักท่องเที่ยวไทย

ตอนนี้ทุกประเทศต่างเร่งทำการตลาดท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากพิษของโควิด-19 การลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องสำคัญ หลายประเทศยกเลิกการกักตัวและการตรวจแบบ RT-PCR เพราะคงไม่มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปแล้วต้องถูกกักตัว แน่นอนว่าตรงนี้ต้องดูเงื่อนไขในตอนกลับเข้าประเทศด้วย หากไม่ทำให้เสียเวลามาก พวกเขาก็พร้อมท่องเที่ยว

ทุกประเทศทราบดีว่านักท่องเที่ยวเบอร์ 1 ของโลกอย่างจีน คงไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ตามนโยบาย Zero Covid อย่างน้อยถึงเดือนตุลาคม 2565 แถมมีการระบาดที่เซี่ยงไฮ้ อาจต้องรอนักท่องเที่ยวจีนกันถึงปีหน้า

ประเทศเพื่อนบ้านจึงเบนเข็มหันมาจับนักท่องเที่ยวไทย เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ด้วยการเชิญตัวแทนบริษัททัวร์ สื่อ บล็อกเกอร์เข้าไปเยี่ยมชมเพื่อประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวและพูดคุยเงื่อนไขกันในทางธุรกิจ ซึ่งวิธีการไม่แตกต่างไปจากที่ประเทศไทยเชิญสื่อและตัวแทนนำเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา

ตอนนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะมีข้อเสนออะไรให้ตัวแทนที่เข้าไป อย่างเวียดนามขออะไรให้หมด แม้กระทั่งโรงแรมระดับ 4 ดาว ดังนั้นเราจึงได้เห็นราคาทัวร์เวียดนามแทบจะไม่ต่างกับช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่สิงคโปร์ก็ลดราคาลงมาไม่น้อยที่ประมาณ 12,900 บาท หากมีฟรีเดย์จะเหลือ 9,999 บาท

ส่วนเกาหลีใต้ยังถือว่าแพงราว 3 หมื่นบาท เพราะสายการบินต้นทุนต่ำยังไม่พร้อม แต่เตรียมกลับมาให้บริการแล้ว ระบบทัวร์ในเกาหลีใต้ก่อนหน้านี้จะมีร้านค้าต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย แลกกับการพาลูกทัวร์เข้าร้าน ตอนนี้ปิดกิจการกันเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ราคาค่อนข้างแพงไม่แพ้ญี่ปุ่นที่ไม่มีระบบนี้เข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่าย

เริ่มมีการทำตลาดเกาะเชจู ที่ 19,999 บาทบ้างแล้ว แต่ราคายังถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด และทางเกาหลีใต้ยังเข้มงวดเรื่องของกลุ่มแรงงานที่อาจลักลอบเข้าไปผ่านกรุ๊ปทัวร์ อาจทำให้การเข้าเมืองมีการตรวจอย่างเข้มข้น

โซนอื่นอย่างอินเดีย ตุรกี ราคาเริ่มลดลงมาใกล้เคียงกับก่อนโควิด ยุโรปก็เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว แต่ที่ยุโรปราคาจะสูงขึ้นกว่าเดิมพอสมควร ก่อนโควิดอาจเห็นราวๆ 4 หมื่นบาท ตอนนี้กระโดดขึ้นไปกว่า 7 หมื่นบาทปลายๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษีน้ำมัน ที่คาดการณ์ได้ยากจากเหตุสงคราม ตัวราคาอาจบวกรวมเรื่องวีซ่า ค่าประกันโควิด และค่าที่พักพร้อมตรวจโควิดตอนเข้าประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งแต่ละกรุ๊ปจะลดลูกทัวร์ลง ทำให้ราคาต่อหัวสูงขึ้น หากเงื่อนไขทั้งของไทยและต่างประเทศลดลง ราคาก็จะปรับลดลงตามมา

เดิมสิงคโปร์แค่ 3 วัน 2 คืน ราคาอยู่ที่ 2 หมื่น สถานที่ท่องเที่ยวมีจำกัด เพราะเป็นเกาะเล็กๆ ค่าครองชีพค่อนข้างแพง ยุโรปมาเที่ยวเยอะ นักท่องเที่ยวจากไทยไม่ใช่เป้าหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในราคาที่ใกล้เคียงกัน เราสามารถเที่ยวเวียดนามได้ 5 วัน 4 คืนแถบซาปา หรือ 4 วัน 3 วัน แถบฮอยอัน บานาฮิลล์ หรือข้ามไปเกาหลีใต้มีหิมะไม่แพ้ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามกว่า

แต่ตอนนี้สิงคโปร์ต้องยอมทำตลาดลงมาเล่นในเรื่องราคาเหมือนกับชาติอื่น 9,999-12,900 เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศ

การจะดึงนักท่องเที่ยวไทยให้ไปประเทศใดประเทศหนึ่งได้ ราคาถือเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการลูกค้าระดับกลางลงมา ยกเว้นโซนยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยใฝ่ฝันแม้ราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าราคาลงมามากๆ ก็จะช่วยให้คนที่มีรายได้ไม่มากนักตัดสินใจเดินทางง่ายขึ้น


รัฐต้องแก้ปัญหา-ราคาต้องเป็นธรรม

ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าแต่ละประเทศเองต่างต้องเร่งทำตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาใช้จ่ายเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศของเขา อย่างเมืองไทยกำลังจะเหลือเพียงการตรวจ ATK เตรียมลดเรื่องวงเงินซื้อประกันและเรื่อง Test&Go สำหรับต่างชาติ

การใช้เงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ส่งผลค่อนข้างชัดกว่าไทยเที่ยวไทย แต่ไทยเที่ยวไทยก็ยังมีความสำคัญอยู่ ภาครัฐควรต้องผสมผสานการท่องเที่ยวทั้ง 2 รูปแบบให้ดี ต้องสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ทั้งด้านความปลอดภัยและความเป็นธรรมจากการใช้บริการ

กรณีของไทยเที่ยวไทยภาครัฐและท้องถิ่นต้องหาทางแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่เคยมี โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวทั้งเรื่องอัตราค่าโดยสารของรถที่ให้บริการในพื้นที่ ราคาอาหารและค่าบริการอื่นๆ ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับนักท่องเที่ยวคนไทย รวมถึงต่างชาติด้วยเช่นกัน

ประเทศที่เริ่มเร็วถือว่าได้เปรียบในการช่วงชิงเม็ดเงินต่างชาติ แต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับแนวทางในการควบคุมโรคด้วยเช่นกัน เพราะหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ขึ้นมาอีก ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยเช่นกัน


เป้า 7 ล้านคน-เลิกตรวจขาเข้า

ในปี 2565 นี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 ล้านคน คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ราว 1.07 ล้านล้านบาท ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนหลังจากที่ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ด้วยการยกเว้นการตรวจหาโควิดแบบ RT-PCR จากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้าไทย และลดการตรวจแบบ Test & Go ในวันแรกเมื่อเดินทางมาถึงและตรวจ Self-ATK อีกครั้งในวันที่ 5 ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในภาพรวมของไทยกลับมาคึกคักขึ้น

ล่าสุด ยกเลิกการตรวจเมื่อมาถึงสำหรับผู้รับวัคซีนครบ ลดวงเงินประกันเหลือแค่ 1 หมื่นเหรียญ เริ่มใช้ 1 พฤษภาคม 2565

การท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องหาวิธีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การลดเงื่อนไขการเดินทางเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ ควบคู่ไปกับจุดขายของแต่ละประเทศว่ามีอะไรดี ราคาก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายอย่างซาอุดีอาระเบียที่เพิ่งฟื้นสถานะความสัมพันธ์ มาเป็นแรงเสริม ปลุกให้เศรษฐกิจดีขึ้น เกิดการจ้างงานมากขึ้น เพิ่มกำลังซื้อให้กลับคืนมา

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น