xs
xsm
sm
md
lg

ลือ! มือดีล็อบบี้ กก.บห.ห้ามลาออก หวั่น ‘จุรินทร์-39 คน’ ถูกโละเซ่นปรากฏการณ์ ‘ปริญญ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปรากฏการณ์ ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ กำลังเป็นบททดสอบ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ และกก.บห.ทั้ง 39 คน ว่าจะเลือกตัดสินใจอย่างไร ท่ามกลางโลกโซเชียลมีเดียที่มีพลัง แรง และเร็ว ในอดีตวิธีแก้ปัญหาคน ปชป.เลือกใช้ ‘ความสงบสยบความเคลื่อนไหว’ แม้จะรู้เต็มอกว่า ‘ปริญญ์’ มีพฤติกรรมเช่นไร วงในชี้ศึกในพรรคในอดีตจะเป็นความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง ใครไม่เห็นด้วยก็ลาออกไป แต่ศึกในครั้งนี้เป็นเรื่องของ ‘จริยธรรม’ ที่เป็นจุดแข็งของพรรคกำลังถูกทำลาย จนทำให้ ปชป.กลายสภาพเป็น ‘สิงห์ที่ถูกถอดเขี้ยวเล็บ’ จนดูเหมือนแมวเชื่องๆ พร้อมวิธีการบริหารเปลี่ยนจากเลือก ‘คนเก่ง-อุดมการณ์’ ถูกแซงหน้าด้วย ‘เงิน-สอพลอ’ จริงหรือไม่? อีกทั้งมีกระแสล็อบบี้ กก.บห.ไม่ให้ลาออกหากเกิน 21 คนหัวหน้าพรรค และ กก.บห. สิ้นสภาพยกชุด จับตาประชุมใหญ่ ปชป.23 เม.ย.นี้

วิกฤตของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังเกิดขึ้นจากกรณีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป.ถูกแจ้งความคดีล่อลวงหญิงสาวไปข่มขืนและกระทำอนาจาร ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้มีผู้เสียหายออกมาเปิดตัวแล้ว 15 ราย ซึ่งคนในพรรค ปชป. และกระแสสังคมก็เฝ้าติดตาม เพราะเชื่อว่าจะมีผู้เสียหายทยอยออกมาแจ้งความอีกมาก

อีกทั้งจากการให้สัมภาษณ์และการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของทนายตั้ม ‘นายษิทรา เบี้ยกำเนิด’ เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ซึ่งเป็นผู้เปิดโปงเรื่องดังกล่าว ระบุว่าน่าจะมีเพิ่ม เพียงแต่คาดไม่ได้ว่าจะมาแจ้งความอีกจำนวนเท่าไหร่ แต่มั่นใจว่าผู้เสียหายที่แท้จริงมีจำนวนมากที่ยังไม่กล้าออกมาเปิดเผย!


ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ความนิยมในตัวพรรค ปชป.ตกต่ำหรือไม่? ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาวก้าวเข้าสู่ปีที่ 77 โดย ปชป.ถือเป็นพรรคที่ทำหน้าที่ในการเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านได้อย่างดี มีขุนพลด้านเศรษฐกิจที่เก่งในระดับอินเตอร์ ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ศุภชัย พานิชภักดิ์ (ดร.ซุป) บิดาของนายปริญญ์ ก็เคยเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังของพรรค ปชป.มาแล้ว

แต่ที่แน่ๆ ปชป.เป็นแหล่งรวมของขุนพลฝีปากกล้า ขุดคุ้ยข้อมูลลับ-ลึก เมื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภาแต่ละครั้งพรรครัฐบาลถึงขึ้นกระอักเลือดได้ เช่น ในปี 2538-2539 สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา พรรค ปชป.นำโดยนายชวน หลีกภัย ก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านเปิดโปงในเรื่องผลประโยชน์ กระทั่งกลุ่ม 16 ต้องลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี

ต่อด้วยการนำข้อมูลนายบรรหาร หลากหลายประเด็นมาโจมตี เรียกว่าขุดบรรพบุรุษมาเล่นงานกันกลางสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนในที่สุดนายบรรหาร ก็ต้องประกาศยุบสภา

หรือปรากฏการณ์อีกหลายๆ เรื่อง รวมไปถึงการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. ก็เป็นแกนนำกลุ่ม กปปส.ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกได้ว่าในเวลานั้นได้ใจมวลมหาประชาชนออกมาร่วมมากมาย

นั่นคือภาพในอดีตที่บรรดาแฟนคลับต่างศรัทธาและชื่นชมพรรค ปชป.

แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าจริงๆ แล้ว ภายในพรรคก็มีความขัดแย้งในเรื่องทางความคิดประเด็นทางการเมืองมาตลอด และทำให้หลายคนที่ไม่ชอบวิถีทางเช่นนั้นต่างเลือกที่จะลาออกไป อย่างยุคของกลุ่ม 10 มกราฯ ในการลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค เมื่อกลุ่ม 10 มกราฯ พ่ายแพ้ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการส่งนายพิจิตร รัตตกุล ลูกชายของนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค ปชป.ขณะนั้นที่มีประสบการณ์น้อยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งต่างกับ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่กลุ่ม 10 มกราฯ หนุน มีประสบการณ์มากกว่า เคยเป็นรัฐมนตรีของพรรคมาก่อน

หรือกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีต ส.ส.ประมาณ 17 คน ได้ลาออกจากพรรค ปชป.ไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคอื่นในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นเหตุผลทางการเมืองเช่นกัน

l

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่ศึกในที่เกิดขึ้นในพรรค ปชป.ครั้งนี้แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองผสมอยู่บ้างระหว่างขั้วที่หนุนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และขั้วที่หนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องการจะให้นายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม แต่ในการบริหารงานของนายจุรินทร์ ก็มีจุดอ่อนมากในการขับเคลื่อนพรรค ซึ่งคนในพรรคต่างก็รู้และมีข้อมูลเชิงประจักษ์ก็คือ นายจุรินทร์ จะขีดวงในการทำงานเฉพาะพวกของตัวเองเท่านั้น ส่วนใครที่ไม่ใช่พวกก็ต้องอยู่นิ่งๆ เสมือนไม่มีตัวตนอยู่ในพรรค ใครทนได้ก็อยู่ต่อ แต่ถ้าใครทนไม่ได้เพราะมั่นใจในศักยภาพของตัวเองก็ต้องเลือกที่จะลาออกไปเพื่อหาเวทีใหม่ในทางการเมืองให้ตัวเอง

“คนเก่า คนแก่ที่เป็นวัยกลางคนไปถึงผู้อาวุโส บางคนที่ไม่ออกจากพรรค ไม่ใช่ไม่มีที่ไป หรือไม่มีพรรคการเมืองมาชวน แต่เป็นเพราะเขารักพรรคและก็ขอตายไปกับพรรคจึงเลือกที่จะอยู่ต่อและสูญพันธุ์ไปกับพรรค เดิมคนในพรรคจะรู้ว่าคนที่มีความสามารถ ทำงานเป็น มีอุดมการณ์จะได้รับการพิจารณาก่อน แต่ปัจจุบันวิธีการบริหารเปลี่ยนไป คนที่มีเงิน คนเอาอกเอาใจเก่ง ที่ภาษาบ้านๆ คือสอพลอเป็น จะได้รับการพิจารณาใช่หรือไม่”

สำหรับประเด็นสำคัญที่คนในพรรคไม่พอใจอย่างยิ่งและได้มีการพูดคุยกับนายจุรินทร์ มาตลอดตั้งแต่ไปดึงนายปริญญ์ เข้ามา ซึ่งคนในพรรคได้มีการหาข้อมูลเชิงลับ และก็ต้องยอมรับกันว่าการสืบค้นข้อมูลของคนในพรรค ปชป.เก่งมากจึงได้ไปเตือนนายจุรินทร์ แต่เขากลับไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาที่ผ่านมา

“เดิมเราติงเรื่องความสามารถไม่ได้เป็นอย่างที่นายจุรินทร์ เข้าใจ ต่อมาเราได้พูดคุยเรื่องพฤติกรรมและจริยธรรมว่าจะเจอความเสี่ยงอย่างไร ใหม่ๆ หลายคนในพรรคไม่มีใครเชื่อแต่เมื่อเข้ามาอยู่นานขึ้น คนในพรรคก็รู้กันแล้วว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร แต่นายจุรินทร์ก็เลือกที่จะนิ่งเฉย นี่คือปัญหาที่คนในพรรคไม่พอใจและอึดอัดต่อท่าทีของนายจุรินทร์ มาตลอด เพราะเชื่อว่าไม่วันใดวันหนึ่งต้องมีโป๊ะแตกเกิดขึ้น”


แหล่งข่าวบอกอีกว่า การดึงนายปริญญ์ เข้ามาแล้วตั้งให้คุมทีมเศรษฐกิจนั่นคือจุดเปราะบางที่ทำให้นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตแกนนำพรรคและอดีตรัฐมนตรีคลังของพรรค ซึ่งได้พิสูจน์ฝีมือในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ ที่กระทบถึงไทย เมื่อปี 2551-2553  ด้วยการออกมาตรา ‘ไทยเข้มแข็ง’ กระทั่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลกแห่งปี 2010 ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งเอเชียปี 2010 โดยทั้ง 2 รางวัลได้รับจากนิตยสารชั้นนำของประเทศอังกฤษ The Banker : Financial Times คนแรกของประเทศไทย และได้ผ่านงานในฐานะประธานบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการกองทุนมากมาย ต้องตัดสินใจลาออกไปตั้งพรรคกล้า

“กรณ์ ออกไปแล้ว เรื่องพฤติกรรมของปริญญ์ ก็เริ่มมีการพูดคุยในพรรคมากขึ้น มีสนทนาในวงแกนนำก็มีหลายครั้ง แต่หัวหน้าพรรคกลับนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร จนกระทั่งเกิดเรื่องที่ทนายตั้ม ออกมาเปิดโปง ก็ยิ่งทำให้คนในพรรคอึดอัดและหงุดหงิดกันมาก เพราะนี่คือปมใหญ่ ที่ทำให้พรรค ปชป.ตกต่ำอยู่แล้วต้องต่ำไปกว่าเดิมอีกใช่หรือไม่”

แหล่งข่าวระบุว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพรรค ปชป.กรณีของนายปริญญ์ นั้นทำให้พรรคตกต่ำและแตกแยกจนทำให้ศึกในปะทุหนักขึ้น แต่เป็นศึกในที่มีความแตกต่างจากในอดีต ตรงที่ว่าในอดีตเป็นปมขัดแย้งด้านความคิดทางการเมือง ขัดแย้งกันก็ลาออกไป แต่ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่มาจากเรื่องของจริยธรรม ที่พรรคถือเป็นจุดแข็งที่สุด และคนในสังคมให้การยอมรับและศรัทธาพรรคจนทำให้เรามีแม่ยก พ่อยกทั้งที่เป็นแฟนพันธุ์แท้กลุ่มคนอาวุโส คนที่มีการศึกษา และกลุ่มผู้หญิง แต่วันนี้คนกลุ่มนี้มองพรรคอย่างไร และกำลังจะหายไปไหน?


“แคมเปญรณรงค์ ร่วมแสดงจุดยืนเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเพศวิถี ขัดแย้งกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพรรค พวกเราถึงอยากให้กรรมการบริหารพรรคต้องร่วมกันหาทางออกเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร หัวหน้าพรรคก็เฉย หากนายชวน หลีกภัย กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคไม่กระทุ้ง จุรินทร์ก็เลือกที่จะเงียบ ซึ่งจะใช้วิธีเงียบไม่ได้แล้วเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป”

ที่สำคัญการที่นางมัลลิกา บุญมีตระกูล กก.บห.คนสนิทของนายจุรินทร์ ออกมาโพสต์ข้อความดุเดือดว่า “พฤติกรรมของคนหนึ่งคน ควรถูกสอบจริยธรรมทั้งกรรมการบริหารพรรครึ.? แปลว่าอยากอะไร? อยากเปลี่ยนหัวหน้าพรรค? อยากเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคหรืออยากอะไร? เรื่องนี้เป็นกระบวนการหรือเปล่า ในฐานะหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค 39 คน เรื่องของปริญญ์ ยังไม่รู้เลยว่า ‘ผิด ถูก’ อย่างไร

พร้อมกับโพสต์ข้อความต่อเนื่องอีกยาว ...เรื่องของกิ๊ก..เรื่องของชู้ รู้กันทั้งบาง!

แหล่งข่าวบอกว่า สิ่งที่มัลลิกา โพสต์นั้นยิ่งเหมือนเอาน้ำมันไปราดกองไฟ ทำให้คนในพรรคยิ่งไม่พอใจมากขึ้น เพราะทุกคนรู้ว่าสิ่งที่มัลลิกาโพสต์นั้นมีความหมายอะไร และทำไมหัวหน้าพรรคกลับนิ่งเฉยต่อสิ่งที่มัลลิกากระทำ หรือเป็นเพราะมัลลิกาทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์หัวหน้าพรรคได้ดีจึงเลือกนิ่งเฉย

ส่วนปรากฏการณ์ปริญญ์ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้นั้น สิ่งที่จะได้รับผลกระทบอันใกล้ที่สุดและสัมผัสได้ก็คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่พรรคได้ส่ง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงแข่งขัน เพราะหากคน กทม.รับไม่ได้กับกรณีของนายปริญญ์ ก็เชื่อว่าสาวกของ ปชป.จะเลือกเทคะแนนให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไปแทน

“แต่ยังมีแฟนพันธุ์แท้ ไม่อยากเห็น ปชป.ตกต่ำ บอกต้องไม่ลืมว่าคนไทยใจอ่อนและเห็นใจมวยรอง เพราะ ดร.เอ้ อาจเป็นความหวังใหม่หรือคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามากอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตก็ได้ หาก ดร.เอ้ สามารถชนะเลือกตั้งบริหาร กทม.ได้ดี จึงเชื่อว่าจะมีคนกลุ่มนี้เลือก ดร.เอ้”


อย่างไรก็ดี คนในพรรค ปชป.ยังเชื่อว่าพรรค ปชป.สามารถจะกอบกู้ชื่อเสียงได้ และต้องรีบปรับกระบวนทัศน์โดยเร็ว ในเบื้องต้น กก.บห.ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก และการลาออกจะมีผลตามข้อบังคับพรรคที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค และ กก.บห.ได้นั้นจะต้องลาออกเกินครึ่งหนึ่งของจำนวน 39 คือ จะต้องมี กก.บห.ลาออกถึง 21 คน จะมีผลให้หัวหน้าพรรค และ กก.บห.สิ้นสภาพทันที

“นี่คือสิ่งที่จุรินทร์ กังวลมาก และเลขาฯ พรรคก็รู้ว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ กก.บห. ลาออกจนเกิดข่าวลือว่ามีการล็อบบี้ กก.บห เพื่อไม่ให้ลาออกและเข้าล็อกที่จะโละชุดนี้ เพื่อให้อยู่ครบวาระ 4 ปี คือถึงกลางปี 2566 ค่อยมาเลือกกันใหม่”

ดังนั้น ในการประชุมใหญ่สามัญพรรคประจำปี 2565 ในวันเสาร์ที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งมีการกำหนดวาระไว้ชัดเจน และจะมีตัวแทนทุกส่วนทั้งอดีต ส.ส. ส.ส.ตัวแทนระดับจังหวัด ระดับเขต เป็นต้น แม้ว่าจะมี กก.บห ลาออกจะน้อยจะมาก หรือจะ 21 คนก็ตาม ไม่น่าจะมีผลต่อการประชุมประจำปีตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมออกไป

“ถ้าก่อนวันที่ 23 เม.ย.มีการลาออกของ กก.บห.เกิน 21 คน การประชุม 23 ก็ยังมีเหมือนเดิมได้ ก็แค่ผู้เข้าประชุมไม่ได้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค หรือ กก.บห. เพราะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย ส่วนจะมีการเลือกหัวหน้าพรรค หรือ กก.บห. พรรคกันใหม่ก็ต้องนัดและจัดให้มีวาระการประชุมอีกครั้ง แต่ถ้าไม่มี กก.บห. ออกตามจำนวน หลังวันที่ 23 เม.ย.มีกระแสโจมตีปริญญ์ กระทบพรรค แรงไม่หยุด กก.บห. จะเลือกลาออกหลัง 23 เม.ย.ก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับจึงจะเลือกหัวหน้า และ กก.บห.กันใหม่ ”

ขณะเดียวกัน หากหัวหน้าพรรค และ กก.บห.ชุดนี้อยู่จนครบวาระ และรับผิดชอบในการสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งหากได้ ส.ส.มาน้อยกว่าเดิมมากซึ่งเมื่อปี 2562 ได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวม 53 คน หากครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าจะได้น้อยมาก เพราะมี ส.ส.หลายคนลาออกไปโดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน แทบจะไม่มีเลย จะเหลือก็แค่ภาคกลางและภาคใต้ ปัจจุบันก็ถูกพรรคภูมิใจไทย แย่งไปจำนวนหนึ่ง ก็อาจทำให้พรรคได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม

“บรรยากาศที่กำลังเกิดขึ้นในพรรค กทม.เป็นพื้นที่หวังได้ ส.ส.ยากมาก รวมทั้งประเทศได้สัก 25 ที่นั่งก็ถือว่าดีแล้ว ในพรรคก็หวั่นๆ ว่าจะได้น้อยกว่า 25 ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง หัวหน้าพรรคก็ต้องแสดงสปิริตด้วยการลาออก แต่คำว่าสปิริตก็อยู่ที่ใครมีหรือไม่มี”


แหล่งข่าวบอกอีกว่า หากประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เชื่อว่าเรื่องของนายปริญญ์ ไม่น่าจะจบที่ผู้เสียหาย 15 คน ส่วนการที่หัวหน้าพรรคจะยึดหลักการ ‘สงบสยบการเคลื่อนไหว’ เหมือนในอดีตไม่ได้อีกต่อไป เพราะในยุคนี้กระแสโซเชียลมีเดียมีพลัง เร็วและแรงมาก นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคจึงต้องรู้ว่าควรจะรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์บอบช้ำกว่าที่เป็นอยู่ ส่วน กก.บห.พรรคก็ต้องเลือกที่จะตัดสินใจว่าควรจะรักษาพรรคประชาธิปัตย์ไว้ได้อย่างไร

หากจะเปรียบพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตเหมือน ‘สิงห์หรือราชสีห์’ ที่มีพละกำลังมาก เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ไม่ว่าจะนั่งเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็สามารถทำงานได้อย่างดี แต่วันนี้ว่ากันว่าสถานะของพรรค กำลังเป็น ‘สิงห์ที่ถูกถอดเขี้ยวเล็บ’ จนดูเหมือนแมวเชื่องๆ ใช่หรือไม่?

นี่คือปรากฏการณ์ที่ต้องติดตาม เช่นเดียวกับเรื่องของนายปริญญ์ ที่กำลังมีคดีทยอยแจ้งความฟ้องร้องกันอยู่นั้น จะมีกี่คดีที่สามารถเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมได้ และจุดจบจะเป็นเช่นไร....ก็ต้องรอพิสูจน์กันในศาลต่อไป

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น