xs
xsm
sm
md
lg

“นักเศรษฐศาสตร์” แนะใช้ "ซอฟต์ เพาเวอร์" ต่อยอดธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า-ท่องเที่ยวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนรอย “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ทั้งนักมวย นักแสดง ศิลปิน นักร้อง กระทั่งละครไทย ล้วนเคยสำแดงพลังซอฟต์ เพาเวอร์ ขณะที่ภาครัฐกลับเพิกเฉย ทิ้งโอกาสทางการตลาดและการท่องเที่ยวไปอย่างน่าเสียดาย ด้าน “รศ.ดร.สมชาย” แนะใช้กระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง” สร้างจุดแข็งให้อาหาร-ผลไม้ไทย ดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งออก ขณะที่ “รศ.ดร.ณรงค์” ชี้ควรใช้วัฒนธรรมประเพณีเป็นจุดขาย โดยใช้ความประทับใจของต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อน

ปรากฏการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ของมิลลิ (MILLI) หรือดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวชาวไทย ที่ได้ไปขึ้นแสดงบนเวทีมหกรรมดนตรี Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” เพราะได้ก่อให้เกิดกระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ นอกจากคนไทยจะพากันแห่ซื้อข้าวเหนียวมะม่วงจนพ่อค้าแม่ค้าทำขายไม่ทันแล้ว ต่างชาติต่างก็พากันเสาะหาข้าวเหนียวมะม่วงมาลิ้มลองเช่นกัน ขณะที่หลายฝ่ายมองว่านี่คือโอกาสที่ไทยจะใช้ “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ในการต่อยอดทางธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้เกิด “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้มีการนำสิ่งนี้มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า บริการ หรือการท่องเที่ยวของไทยเท่าที่ควร

“บัวขาว บัญชาเมฆ” หรือ ร.ท.สมบัติ บัญชาเมฆ (ซ้าย) นักมวยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการการต่อสู้ระดับสากล
โดยผู้ที่ถือว่าเป็น “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” คนแรกก็คือ“จา พนม” หรือทัชชกร ยีรัมย์ นักแสดงชื่อดัง เจ้าของสโลแกน “ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้สแตนด์อิน” ซึ่งส่งออกวัฒนธรรม “มวยไทย” ไปทั่วโลก จากภาพยนตร์เรื่ององค์บากที่ได้โกอินเตอร์ และกวาดรายได้อย่างถล่มทลายในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 ทำให้ต่างชาติสนใจและรู้จักมวยไทยมากยิ่งขึ้น

ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย คนต่อมาคือ “บัวขาว บัญชาเมฆ” หรือ ร.ท.สมบัติ บัญชาเมฆ นักมวยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการการต่อสู้ระดับสากล โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและประเทศญี่ปุ่น เขากลายเป็นขวัญใจของชาวญี่ปุ่นจากการชนะมวย K-1 (เค-วัน) ในปี 2547 และยังชนะติดต่อกันหลายสมัย ทำให้ต่างชาติหันมาเรียนมวยไทยกันอย่างคึกคัก และเมื่อบัวขาว กลับมาชกมวยและทำค่ายมวยในเมืองไทย เขาก็เป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาเยี่ยมชมการฝึกซ้อมของนักมวยใน “ค่ายมวยบัญชาเมฆ” จ.สุรินทร์ และศึกษาวีถีชีวิตความเป็นอยู่ของของคนในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังมีแฟนคลับต่างชาติที่ชื่นชอบศิลปะแม่ไม้มวยไทยเดินทางมาฝึกซ้อมมวยที่ “บัวขาว วิลเลจ” จ.เชียงใหม่ ช่วยสร้างรายได้ให้คนพื้นที่ได้ไม่น้อย

นอกจากนั้น ยังมีละครไทยที่กลายเป็นซอฟต์ เพาเวอร์อย่าง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งออกอากาศในปี 2561 และชาวจีนได้มีโอกาสรับชมผ่านระบบออนไลน์ที่มีซับไตเติลเป็นภาษาจีน ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ความนิยมในจีน มีการทวีตเรื่องบุพเพสันนิวาสจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ในจีน อีกทั้งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวจีนแห่มาตามรอยเที่ยวชมสถานที่ที่ปรากฏในเรื่องบุพเพสันนิวาส ส่งผลให้การท่องเที่ยววัดเก่า เมืองเก่าของ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ลพบุรี คึกคักเป็นอย่างมาก กระทรวงวัฒนธรรมของไทยของไทยจึงได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการประสานความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการใช้สื่อบันเทิงเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งแม้ต่อมาจะไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก แต่ถือเป็นการริเริ่มที่ดี ขณะที่ก่อนหน้านี้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยแห่แหนไปเที่ยว จ.เชียงใหม่ จากกระแสการตามรอยภาพยนตร์ Lost in Thailand ซึ่งเป็นภาพยนตร์จีนที่มาถ่ายทำในประเทศไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวของเชียงใหม่คึกคักอย่างมาก

“ลิซ่า แบล็กพิงก์” หรือลลิษา มโนบาล สาวน้อยชาวไทย สมาชิกวงแบล็กพิงก์ เกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีใต้
สำหรับ “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ที่เป็นกระแสมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ลิซ่า แบล็กพิงก์” หรือลลิษา มโนบาล สาวน้อยชาวไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกวงแบล็กพิงก์ เกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีใต้ ในสังกัดวายจีเอนเตอร์เทนเมนต์ เสน่ห์และความสามารถของลิซ่าทำให้เธอดูโดดเด่นที่สุดในวง และขึ้นแท่นศิลปินระดับโลก ซึ่งการปล่อยอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2564 ได้ก่อให้เกิดกระแสตอบรับในโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม มียอดเข้าชมผ่านช่องทาง YouTube มากกว่า 10 ล้านครั้งภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง ทุบสถิติเดิมของเทย์เลอร์ สวิฟต์ และกวาดยอดไปกว่า 100 ล้านวิว ภายในเวลาไม่ถึง 2 วัน

ด้วยเนื้อหาใน MV ที่มีความเป็นไทยสอดแทรกไว้อย่างน่าดู ได้ก่อให้เกิดกระแสพลังบวกแห่งวัฒนธรรมไทย (Thainess) โดยเฉพาะชุดไทยและชฎาที่ลิซ่าสวมใส่ได้กลายเป็นกระแส ฉุดยอดขาย "รัดเกล้ายอด" ของร้านค้าในตลาดสำเพ็งที่กำลังซบเซาในช่วงวิกฤต COVID-19 ให้พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่ยอดสั่งออนไลน์จากต่างประเทศก็โตขึ้นถึง 20% อีกทั้งทันทีที่ลิซ่า บอกว่า “อยากทานลูกชิ้นยืนกิน” ก็ส่งผลให้เกิดกระแสบนโลกโซเชียล นักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่แหนไปลองชิมลูกชิ้นยืนกินที่ จ.บุรีรัมย์ ทางจังหวัดบุรีรัมย์จึงอาศัยจังหวะนี้ในการจัด “เทศกาลลูกชิ้นยืนกิน” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ขณะที่ทางเจ้าของร้านลูกชิ้นต่างก็พัฒนารูปแบบการขายให้สามารถสั่งซื้อได้จากทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีการทำทัวร์ตามรอยลิซ่า ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวของ จ.บุรีรัมย์ คึกคักเป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่อยู่ในช่วงโควิด นักท่องเที่ยวจึงมีแต่คนไทยเท่านั้น และรัฐบาลยังไม่สามารถนำกระแสความนิยมของลิซ่า ไปใช้ประโยชน์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล ศิลปิน K-POP วง GOT7
ศิลปินคนต่อมาที่ถือเป็น “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ก็คือ “แบมแบม” กันต์พิมุกต์ ภูวกุล ศิลปิน K-POP วง GOT7 ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ทูตระดับโลก (global ambassador) ของทีม GSW "โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส” ทีมดังแห่งศึกบาสเกตบอลเอ็นบีเอ สหรัฐอเมริกา โดยแบมแบม ได้ขึ้นโชว์เพลงในเกมที่โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส เปิดบ้านพบแอลเอ เลเกอร์ส ซึ่งการโชว์ครั้งนี้ “แบมแบม” ได้เปิดตัวเพลงใหม่ WHEEL UP ที่เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก ที่สำคัญเขายังได้สร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการเอ็นบีเอ โดยแฟนคลับของแบมแบม ได้ช่วยกันโหวตจนส่งผลให้นักบาสเกตบอลชื่อดังอย่าง “แอนดรูว์ วิกกินส์” จากทีมโกลเด้น ติดทีมออลสตาร์ในปีนี้ด้วย ซึ่ง “แอนดรูว์ วิกกินส์” ได้ออกมาแถลงขอบคุณแบมแบม ด้วยความซาบซึ้งใจอย่างมาก

กระแสนิยมของแบมแบม ทำให้ผู้บริหารของ "JACOB" นาฬิกาแบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งแบมแบม ใส่มาร่วมในการแข่งขันบาสเกตบอล "เอ็นบีเอ" เห็นโอกาสทางการตลาด เขาจึงอัดคลิปวิดีโอทักทายแบมแบม และเผยแพร่คลิปดังกล่าวในโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการโปรโมตสินค้าได้แบบแนบเนียน อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถใช้ “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ของแบมแบม ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ประเทศไทยได้อีกเช่นเคย

มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวไทยที่สร้างปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วง
ล่าสุด มิลลิ (MILLI) หรือดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาว วัย 19 ปี ก็ได้สร้าง “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ขึ้นอีกครั้ง เธอถือเป็นศิลปินเดี่ยวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกที่ Coachella 2022 ซึ่งล่าสุดได้จัดขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะที่มิลลิ กำลังโชว์บนเวที เธอได้นำ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ของหวานชื่อดังจากไทยไปกินโชว์ ซึ่งเรียกเสียงกรี๊ดจากบรรดาผู้ชมอย่างสนั่นหวั่นไหว และส่งผลให้ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก กระทั่งเกิดเป็นกระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ในชั่วข้ามคืน ทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างแห่แหนไปต่อคิวซื้อข้าวเหนียวมะม่วงจนพ่อค้าแม่ค้าทำขายไม่ทัน ขณะที่ออเดอร์ของเหล่าไรเดอร์ก็มียอดสั่งข้าวเหนียวมะม่วงเข้ามามากมายเป็นประวัติการณ์ และหลังการแสดงของมิลลิ ในโลกโซเชียลก็เต็มไปด้วยภาพข้าวเหนียวมะม่วง ถึงขั้นที่มี meme อันหนึ่งได้เปลี่ยนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของไทยให้กลายเป็นข้าวเหนียวขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านกลางมะม่วง 4 ชิ้น

ซึ่งหน่วยงานที่ดูจะตื่นตัวในการใช้ “ซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย” ครั้งนี้มากที่สุดเห็นจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ที่เตรียมผลักดันข้าวเหนียวมะม่วงเป็นมรดกโลกด้าน “มรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ขณะที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก พร้อมทั้งให้หน่วยงานรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุน “ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม” ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคลากรเบื้องหลัง เพื่อผลักดันให้ Soft Power เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ได้เกิดเหตุการณ์ “โป๊ะแตก” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อเรื่องซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย จากกระแสข้าวเหนียวมะม่วง ของมิลลิ แต่พูดผิดเรียก “ซอฟต์ เพาเวอร์” เป็น “ซอฟต์แวร์” ทำให้สังคมต่างเคลือบแคลงว่านายกฯ ประยุทธ์ รู้จักซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย มากน้อยเพียงใด และจะมีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ หรือเป็นเพียงการประกาศนโยบายตามกระแสเท่านั้น?

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์
ทั้งนี้ ด้านนักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรรีบอาศัยจังหวะของกระแสข้าวเหนียวมะม่วงในการใช้เสน่ห์ของอาหารและผลไม้ไทยเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างโอกาสในการส่งออก

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า กระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์จากการแสดงของมิลลินั้นนับเป็นซอฟต์ เพาเวอร์ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำจุดแข็งเรื่องอาหารและผลไม้ของไทยมาเป็นพลังอำนาจในการดึงดูดการท่องเที่ยวและการส่งออก และถ้าพัฒนาดีๆ จะทำให้ประเทศไทยสามารถขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งด้านอาหารและผลไม้ของโลกได้ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถผลิตผลไม้ที่หลากหลาย และมีคุณภาพเท่ากับไทย ยกตัวอย่าง มะม่วงของไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ ข้าวเหนียวมะม่วงก็เป็นของหวานที่ทั้งคนไทยและต่างชาติชื่นชอบ หรือทุเรียน แต่ละท้องถิ่นก็มีสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เรามีผลไม้หลากหลายชนิดหมุนเวียนกันในแต่ละฤดูกาล

แต่ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการสนับสนุนที่ดีพอ ถ้าเราเดินหน้าชัดเจนว่าจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาหารและผลไม้โลก โดยสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารและผลไม้ไทยเข้มแข็ง ปัจจุบันเอกชนของไทยถือว่าทำได้ดีมากแต่ยังสามารถพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน และคำนึงถึงการแบ่งสรรผลประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มอย่างเท่าเทียมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่สำคัญคือ ต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรซึ่งเป็นแหล่งผลิตต้นน้ำ อีกทั้งกระบวนการผลิตต้องไม่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่นานาประเทศให้ความสำคัญ

“การนำซอฟต์ เพาเวอร์ ไทย มาต่อยอดนั้น ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรท้องถิ่นต้องร่วมมือกันในการผลักดันเรื่องนี้ เชื่อว่าถ้าทำอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารและผลไม้ของโลกได้ภายในระยะเวลา 5 ปี อาจมีการทำโซนนิ่งเพื่อกำหนดพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวไร่ชาวนาซึ่งเป็นแหล่งผลิตต้นน้ำ ไม่ใช่แค่ทำให้สินค้าคุณภาพดีและต้นทุนต่ำ ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์จะมีแต่บริษัทขนาดใหญ่ เหมือนกับประเทศจีนหรือยุโรปที่เขาสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วย” รศ.ดร.สมชาย ระบุ

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้แจงว่า องค์ประกอบหลักของซอฟต์ เพาเวอร์ ประกอบด้วย 1) ข้อมูลข่าวสาร 2) อุดมคติและอุดมการณ์ 3) แบบแผนชีวิต เช่น ทำไมต้องแต่งตัวแบบนี้ กินอาหารแบบนี้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรและปัจจัยยังชีพต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วงก็คือแบบแผนชีวิตรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ปลูกข้าวเหนียวได้ดี และมีมะม่วงที่รสชาติดี และ 4) ประเพณีวัฒนธรรม คือ รูปแบบที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น เพลงลูกทุ่งจะต้องมีทำนองประมาณนี้ ละครไทยต้องมีสไตล์ประมาณนี้ ซึ่งชฎาและชุดไทยใน MV ของลิซ่า BLACKPINK ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณี

ทั้งนี้ การจะนำข้าวเหนียวมะม่วงมาต่อยอดด้านเศรษฐกิจก็สามารถทำได้โดยการส่งเสริมการส่งออก แต่ถ้าอยากให้มีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากกว่านั้นต้องต่อยอดโดยการวิจัย เช่น นำมะม่วงไปวิจัยเรื่องคุณค่าทางอาหารและคุณค่าทางยา แล้วเผยแพร่ให้ตลาดทั่วโลกรับรู้ โดยนอกจากจะส่งออกเป็นผลมะม่วงแล้ว ยังสามารถนำมะม่วงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ขนม อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ยาเครื่องสำอาง ซึ่งสามารถหาซื้อได้แม้ไม่ใช่หน้ามะม่วง ที่สำคัญไทยต้องสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพราะถ้าเราทำตามแบบฝรั่ง เราก็ไม่มีอะไรแตกต่าง จะเห็นได้ว่าเพชรที่พบในเกาหลีใต้แม้คุณภาพของเนื้อเพชรจะสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ แต่การเจียระไนเพชรของเกาหลีใต้ทำให้ประกายของเพชรออกมาสวยงามกว่าเพชรของญี่ปุ่น จึงทำให้เกาหลีใต้สามารถขายเพชรได้แพงกว่า ซึ่งสารตั้งต้นของไทยที่จะทำให้ต่างชาติประทับใจนั้นมีอยู่มากมายแต่ไม่ได้รับการเจียระไน เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจตรงนี้

“ยกตัวอย่าง เกาหลี ซึ่งใช้ละครเรื่องแดจังกึมเป็นซอฟต์ เพาเวอร์ ในการเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมอาหารและยาของเกาหลี โดยใช้ความสนุกสนานเป็นตัวดึงดูด ซึ่งความชื่นชอบที่เกิดขึ้นจะซึมซับไปยังสมองของผู้คนโดยไม่รู้ตัว ทำให้อยากกินอาหารเกาหลี อยากไปเที่ยวเกาหลี ดังนั้น หากไทยต้องการใช้วัฒนธรรมประเพณีเป็นตัวสร้างซอฟต์ เพาเวอร์ของไทย เราก็ต้องดูว่าเรามีอะไรบ้างที่ทำให้ต่างชาติประทับใจและนำสิ่งนี้ไปแปลงเป็นจุดขายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สมมติว่าต่างชาติประทับใจในรอยยิ้มแบบอายๆ ของคนไทย ตัวเอกในละครที่เราสร้างก็จะมีลักษณะการยิ้มอายๆ ตุ๊กตาที่ขายตามแหล่งท่องเที่ยวก็จะมีรอยยิ้มแบบเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ต้องมีการศึกษาและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำอย่างเป็นระบบ” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น