“พ.ต.อ.วิรุตม์” แนะแยกงานสอบสวนเป็นเอกเทศ ให้อัยการร่วมตรวจสอบหลักฐาน โอนพิสูจน์หลักฐานไปอยู่ ก.ยุติธรรม เลิกระบบ "ชั้นยศ" ในสายงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาทำคดีตามนายสั่ง ด้าน “หมอพรทิพย์” เสนอโยก “นิติเวช” ไปสังกัด สธ. เพื่อให้เกิดอิสระในการทำงาน “เลขาฯ สถาบันปฏิรูป” ยัน “คดีแตงโม” เป็นอาญาแผ่นดิน แม้แม่ไม่ติดใจ คนทั่วไปก็สามารถร้องให้มีการตรวจสอบได้
ขณะนี้สังคมต่างตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้อง “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เนื่องจากการทำคดีการเสียชีวิตของ "แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์" ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความเคลือบแคลงใจให้เป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการเก็บหลักฐาน ไม่ตรวจร่างกายและสอบปากคำ 5 คนที่อยู่บนเรือ และไม่อายัดเรือทันทีหลังเกิดเหตุ อีกทั้งดูเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเชื่อในคำให้การของผู้ต้องสงสัยทุกอย่าง จนเกิดเป็นกระแส “ทวงคืนความยุติธรรมให้แตงโม” อีกทั้งยังนำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างรุนแรงอีกด้วย
ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเห็นว่าควรใช้พลังของภาคประชาชนที่ยอมจำนนต่อกระบวนการกฎหมายที่ไม่ชอบมาพากลอยู่ในขณะนี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ส่วนว่าแนวทางในการปฏิรูปควรจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรับฟังมุมมองความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรม
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ระบุว่า ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของตำรวจมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการสอบสวน ไม่ใช่เพิ่งเกิดปัญหา เนื่องจากตำรวจไทยมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งการสืบสวน ตรวจตรา แจ้งข้อหา จับกุม และสอบสวนอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกตำรวจจะทำหน้าที่ตรวจตราป้องกันอาชญากรรมเป็นหลัก ส่วนการสอบสวนทำแค่สอบถามปากคำเบื้องต้น แต่อำนาจจริงๆ อยู่ที่อัยการ ซึ่งตาม ป.วิอาญา แต่เดิมการสอบสวนไม่ใช่หน้าที่หลักของตำรวจ แต่เป็นฝ่ายปกครอง ซึ่งงานตรวจตรารักษากฎหมายของตำรวจต้องมีทักษะในการสังเกต จดจำ ต่อสู้และใช้อาวุธป้องกันตัว ส่วนงานสอบสวนต้องมีความรู้ทางกฎหมายและหลักความยุติธรรม รวมทั้งความสามารถในการรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
สำหรับแนวทางการปฏิรูปตำรวจนั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ ควรดำเนินการ ดังนี้
1) ต้องแยกงานสอบสวนออกมาจากงานตำรวจ โดยอาจแยกออกมาจากองค์กรตำรวจเลย หรือแยกออกจากการควบคุมบังคับบัญชาของหัวหน้าสถานี เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย โดยพนักงานสอบสวนต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิปริญญาด้านกฎหมาย มีพนักงานสอบสวนที่อาวุโสสูงสุดเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ เซ็นรับรองและมีความเห็นทางคดี รวมถึงส่งสำนวนให้อัยการท้องที่ได้ คือมี 2 สายงานอยู่ในสถานีตำรวจ ส่วนตำรวจอื่นๆ เช่น สายตรวจและหัวหน้าสถานีตำรวจเวลาเกิดเหตุมีหน้าที่รักษาสถานที่เกิดเหตุ
ที่จริงงานงานสอบสวนเคยแยกจากตำรวจมาก่อนแล้ว เมื่อก่อนงานสอบสวนขึ้นอยู่กับฝ่ายปกครอง อีกทั้งก่อนรัฐประหารปี 2557 ก็แยกเป็นสายงานเฉพาะที่เรียกกันว่า “แท่ง” การเลื่อนตำแหน่ง พงส. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้บังคับบัญชา แต่ใช้วิธีสอบประเมินความรู้ความสามารถ แต่หลังจากการยึดอำนาจ ตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการให้พนักงานเป็นอิสระ บอกว่าทำให้ปกครองยาก จึงได้เสนอให้ หน.คสช. มีคำสั่งที่ 7/59 ยุบสายงานสอบสวนทุกระดับลงทั้งหมด ทำให้งานสอบสวนที่แยกออกมาจากตำรวจระดับหนึ่งกลับไปรวมเป็นเนื้อเดียวกันเช่นปัจจุบัน ทำให้การสอบสวนไม่มีความอิสระ ผู้บังคับบัญชาตามชั้นยศสามารถใช้อำนาจสั่งให้ดำเนินการสอบสวนหรือไม่สอบสวน หรือแม้กระทั่งให้ “สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” อย่างไรก็ได้ เพราะอำนาจในการพิจารณาให้ความดีความชอบและการเลื่อนตำแหน่งอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาที่มียศสูงกว่า
2) ให้ฝ่ายปกครองและอัยการเข้ารับรู้พยานหลักฐานในคดีอาญาสำคัญร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในทันทีที่เกิดเหตุ โดยอัยการต้องมีอำนาจเข้าตรวจสอบและสั่งการสอบสวนได้เหมือนประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ซึ่งปกติอัยการมีอำนาจสั่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่แล้ว แต่เป็นการสั่งหลังจากสำนวนการสอบสวนถูกส่งไปแล้ว ทำให้อัยการไทยเห็นแต่เอกสาร ซึ่งหากคดีนั้นเป็น “นิยายสอบสวน” อัยการก็ไม่อาจรู้ได้
3) เลิก “ระบบชั้นยศ” แบบทหาร โดยเฉพาะในสายงานวิทยาศาสตร์และการสอบสวน เพราะการที่ทหารมียศก็เพื่อการบังคับบัญชาการรบที่ต้องปฏิบัติภารกิจเป็นหมวดหมู่ กองร้อย กองพัน และกองพล แต่งานรักษากฎหมายตำรวจทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มียศสูงกว่า
ที่ผ่านมาเราเข้าใจผิดกันมาตลอดเรื่องตำรวจ แท้จริงไม่ได้มีเฉพาะตำรวจแห่งชาติ เพราะ “ตำรวจ” คือบทบาท หรือ Function ใครทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมาย ในความเป็นจริงก็คือตำรวจด้วยกันทั้งสิ้น เช่น กรมการปกครอง ทางหลวง กรมขนส่ง กรมป่าไม้ ศุลกากร เจ้าท่า สรรสามิต เทศกิจ หรือที่เห็นชัดและใช้ชื่อตำรวจก็คือ ตำรวจรัฐสภา และตำรวจศาล ฉะนั้นตำรวจไม่มียศประเทศไทยมีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะต้องรู้สึกตื่นเต้นหรือตกใจอะไร และสามารถทำงานตามกฎหมายได้ดีกว่าตำรวจมียศด้วยซ้ำ เพราะเจ้านายสั่งซ้ายหันขวาหันหรือผิดกฎหมายได้ยากกว่าตำรวจแบบมียศ
4) โอนสำนักงานพิสูจน์หลักฐานไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และสถาบันนิติเวชไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน 2 หน่วยนี้ไม่ได้ถูกปกครองบังคับบัญชาตามชั้นยศแบบทหาร
“งานตำรวจเปรียบเหมือนเม็ดเลือดขาว ถ้าเจอเชื้อโรคก็จะเข้าจัดการทันที ไม่ต้องรอคำสั่งจากสมอง แต่ถ้ามีชั้นยศแบบทหาร ผู้บังคับบัญชาสั่งอะไรก็ทำตามหมด แม้กระทั่งสั่งให้ทำผิดก็ต้องทำ เช่น ที่เกิดปัญหาอยู่ปัจจุบัน ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องแยกงานพิสูจน์หลักฐานไปอยู่กระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่ให้ตำรวจทำคดีทุกขั้นตอนเองทั้งหมด เช่น บางกรณีตำรวจมีการใช้อาวุธในการต่อสู้ป้องกันตัวจากคนร้ายจนถึงแก่ความตาย หรือที่เรียกว่าวิสามัญฆาตกรรม แต่ตำรวจเป็นคนเก็บรวบรวมหลักฐาน สอบปากคำพยานเอง ตรวจพิสูจน์เอง ผ่าชันสูตรศพเอง ญาติพี่น้องและประชาชนจะมั่นใจในความยุติธรรมได้อย่างไร” เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าว
ขณะที่ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในฐานะอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ว่า จำเป็นต้องปฏิรูปงานด้านนิติเวชที่อยู่ในระบบใหญ่ ดังนี้
1.ต้องมีกรรมการที่เป็นเจ้าภาพเพื่อวางงานการบริการทั้งนิติเวชและพิสูจน์หลักฐานให้ทั่วถึง ไม่ใช่มีหน่วยงานนิติเวชเฉพาะในเมืองใหญ่ และเจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ ต้องกำหนดว่าต้องผ่านการอบรมอะไรมาบ้าง ต้องผ่านงานมากี่ปี
2.มีกรรมการที่กำกับควบคุมเรื่องมาตรฐานกลาง เช่น การจะตรวจที่เกิดเหตุ การตรวจสภาพศพต้องตรวจอย่างไร การชันสูตรต้องผ่าศพอย่างไร
3.มีการออกกฎหมายที่ทำให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานได้โดยอิสระและสมบูรณ์ทั้งในส่วนของหมอนิติเวช และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน จากปัจจุบันที่ให้เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน
4.ให้ย้ายงานด้านนิติเวชไปอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาที่ปัจจุบันไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการชันสูตรศพ เพราะแต่ละโรงพยาบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก การจัดสรรงบประมาณให้แผนกนิติเวชจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้น ต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพที่ดูแลงานนิติเวชโดยตรง
5.ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทำคดีเป็นอย่างมาก
พญ.พรทิพย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การชันสูตรทั่วโลกมี 3 ระบบ คือ ระบบศาล ระบบตำรวจ และระบบแพทย์นิติเวช
สำหรับการชันสูตรตามระบบศาลนั้นจะมี “ศาลชันสูตรศพ” ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของศาลยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ เมื่อมีการตายเกิดขึ้นศาลชันสูตรจะเป็นผู้กำหนดว่าอะไรบ้างที่ต้องผ่าพิสูจน์ โดยศาลจะจัดประชุมและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เช่น กรณีคดีแตงโม ซึ่งถ้าศาลมองว่าการดำเนินการของตำรวจไม่ถูกต้อง ศาลจะเป็นคนกำกับว่าต้องเอาหลักฐานชิ้นนั้นไปเทียบกับศพ เอาชิ้นนี้ไปเทียบกับที่เกิดเหตุ แต่จะเห็นได้ว่าการทำคดีแตงโมทางตำรวจรวบอำนาจทุกอย่างไว้หมด หมอนิติเวชส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้ตำรวจสั่งเท่านั้น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการชันสูตรของไทยควรใช้ระบบศาล ซึ่งต้องไปถามศาลว่าพร้อมไหม
ส่วนการชันสูตรตามระบบแพทย์นิติเวชนั้น ถือเป็นการชันสูตรที่ดีที่สุด โดยรัฐจะตั้งให้หมอนิติเวชเป็นผู้กำหนดแนวทางชันสูตร โดยหมอจะส่งทีมไปเก็บหลักฐาน และบอกตำรวจว่าต้องใช้หลักฐานชิ้นนั้นชิ้นนี้ แต่ในหลายประเทศหมออาจมีจำนวนไม่เพียงพอจึงไม่ได้ใช้ระบบนี้
การชันสูตรแบบสุดท้าย คือ การชันสูตรตามระบบตำรวจ คือ ตำรวจมีทีมชันสูตรของตัวเอง เก็บหลักฐานต่างๆ เอง วินิจฉัยเอง ซึ่งปัจจุบันการชันสูตรของไทยใช้ระบบนี้ ขณะที่ระบบที่ทั่วโลกใช้จะเป็นระบบศาล ซึ่งจะทำให้หมอชันสูตรมีความอิสระจากตำรวจ เนื่องจากช่วงแรกสถาบันนิติเวชของไทยตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลืองานของตำรวจ ส่วนแผนกนิติเวชในมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาฯ มีไว้เพื่อการเรียนการสอน กระทั่งปี 2543 ได้มีการแก้ไขกฎหมายการชันสูตรทำให้หมอชันสูตรได้รับเงินค่าผ่าศพ ส่งผลให้มีหมอที่เข้ามาทำงานตรงนี้เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของเครื่องไม้มือนั้นมีน้อย ส่งผลให้การชันสูตรในเชิงคดีไม่มีเจ้าภาพ
พญ.พรทิพย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของงานด้านการพิสูจน์หลักฐานก็เช่นกัน พนักงานพิสูจน์หลักฐานของไทยจะเก็บหลักฐานทุกอย่างรวมถึงหลักฐานที่เกี่ยวกับศพด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของทั่วโลกเขาเก็บเฉพาะหลักฐานทั่วไป เช่น ลายนิ้วมือ แต่ถ้าจะเก็บหลักฐานเกี่ยวกับศพจะต้องเป็นทีมที่ไปกับหมอซึ่งจะมีความรู้มากกว่า ส่วนประเทศไทยทีมพิสูจน์หลักฐานซึ่งจะไปพร้อมกับหมอและทำงานร่วมกันมีที่เดียวคือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ขณะที่หน่วยงานอื่นทีมพิสูจน์หลักฐานกับทีมชันสูตรอื่นๆ จะต่างคนต่างไปไม่ได้ประสานกัน
“ที่ผ่านมา มีการแทรกแซงการทำงานของนิติเวชมาตลอด อย่างคดีแตงโม ที่จริงการที่หมอชันสูตรจะเข้าไปตรวจศพจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ที่ระบุว่า เมื่อมีการตายผิดธรรมชาติที่ต้องชันสูตรศพ จะให้คุณหมอในแต่ละท้องที่เป็นผู้ชันสูตรศพ ซึ่งมีการตกลงกันไว้นานแล้วว่า จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครนายก สระบุรี จะให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นคนดูแล ดังนั้น มีการตายปุ๊บเขาก็จะแจ้งคุณหมอ หมอชันสูตรก็จะเอาทีมเก็บหลักฐานไปด้วยเลย ซึ่งโดยระบบนั้นคดีแตงโมเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งโรงพยาบาลที่ตกลงกันไว้ว่าจะรับผิดชอบการชันสูตรในพื้นที่ จ.นนทบุรี คือ นิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ทางตำรวจสั่งให้ย้ายไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งถือว่าไม่ทำตามระบบ” พญ.พรทิพย์ กล่าว
พญ.พรทิพย์ ยังได้ชี้ถึงปัญหาในการทำคดีของประเทศไทย ว่า เนื่องจากตำรวจเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการทำคดีทั้งหมด ทำให้ไม่ถ่วงดุลอำนาจ แม้การชันสูตรศพจะถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าต้องให้หมอนิติเวชเป็นผู้ชันสูตร แต่หลังจากหมอชันสูตรได้ผลการชันสูตร หรือ พฐ. (เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน) เก็บอะไรได้ ตำรวจจะเป็นคนเลือกว่าจะส่งอะไรไปตรวจพิสูจน์บ้าง ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าตำรวจส่งอะไรไปบ้าง สมมติเก็บหลักฐานมาได้ 100 ชิ้น ตำรวจอาจจะใช้ดุลพินิจส่งพิสูจน์แค่ 50 ชิ้น และเมื่อผลออกมาตำรวจอาจเอามาลงในสำนวนแค่ 20 ชิ้น ซึ่งถือว่าผิด เพราะจริงๆ แล้วระบบการรวบรวมพยานหลักฐานจะต้องให้คนที่ทำหน้าที่เก็บหลักฐานมีความรู้ เก็บ 100 ส่งพิสูจน์ 100 ตรวจ 100 ลงรายงานในสำนวน 100 โดยตำรวจจะใช้ดุลพินิจว่าจะฟ้องแบบไหน แต่หลักฐานทั้ง 100 จะอยู่ในสำนวนซึ่งอัยการเห็น จึงสามารถทำคดีให้เกิดความเป็นได้ แต่ของไทยไม่เป็นเช่นนั้น
“สมมติ คดีฆ่าเสือดำ เก็บมีดที่ใช้ก่อเหตุไปเป็นหลักฐาน แต่ด้ามมีดไม่ได้ส่งไปตรวจลายนิ้มมือแฝงว่าใครจับด้ามมีด ส่งแค่ปลายมีดที่มีเลือดไปตรวจพบว่าเป็นเลือดเสือดำ จึงบอกไม่ได้ว่าคนที่ฆ่าเสือคือใคร หรือจริงๆ แล้วต้องเข้าไปตรวจในเต็นท์เพื่อหาคราบเลือด แต่ไม่ไปตรวจเพราะการตรวจขึ้นกับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ซึ่งความผิดพลาดในการเก็บหลักฐานของตำรวจไทยมีทั้งเกิดจากความตั้งใจและไม่มีความรู้ อีกทั้งหลักฐานที่พนักงานพิสูจน์หลักฐานและนิติเวชส่งไปนั้นไม่รู้ว่าตำรวจเจ้าของคดีจะใส่ในสำนวนหรือเปล่า” พญ.พรทิพย์ ระบุ
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักอ้างว่าการสอบสวนเป็น “ความลับทางราชการ” หรือ “ความลับในสำนวน” นั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง สื่อและประชาชนถูกตำรวจผู้ใหญ่หลอกกันมาตลอด เนื่องจากการปฏิบัติราชการใดที่จะถือเป็นความลับ จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน และต้องปฏิบัติในทุกขั้นตอนตามกฎหมาย เช่น ต้องใส่ซองปิดผนึกสองชั้น ให้ใครดูไม่ได้เลยนอกจากนายทะเบียนเอกสารลับตามชั้นความลับเท่านั้น แม้แต่รายงานการตรวจชันสูตรศพ จะเป็นความลับทางราชการไปได้อย่างไร แม้แต่ญาติพี่น้องคนตายก็รู้ไม่ได้ หรือบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาหรือพยานที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ก็ขอถ่ายเอกสารไว้เพื่อเป็นหลักฐานช่วยในการจดจำหรืออ้างอิงอะไรไม่ได้ วิปริตไหม?
“คำว่า “ความลับ” เป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตฉ้อฉลนะ และที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบอ้างว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะจะกระทบต่อรูปคดี ก็ต้องถามว่ารูปคดีหน้าตามันเป็นอย่างไร มันไม่จริงหรอก การที่อะไรจะเป็นความลับต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ตำรวจผู้ใหญ่บอกว่าลับแล้วจะลับ คดีอาญาต่างๆ แม้ญาติจะไม่ติดใจ แต่หากเป็นคดีอาญาแผ่นดินหรือความผิดต่อรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิรู้หรือแม้กระทั่งตรวจสอบการทำงานนะ เพราะมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองและญาติพี่น้องด้วยด้วย ไม่ใช่คดียักยอก หรือฉ้อโกง คดีเช็ค ที่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่ว่าคุณแม่ไม่ติดใจแล้ว คนอื่นไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือสนใจอะไรอย่างที่หลายคนเข้าใจ” พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ
ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ พญ.พรทิพย์ ที่ยืนยันว่า ผลการชันสูตรไม่ใช่ความลับ ที่บอกว่าเป็นความลับนั้นเป็นแค่ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ญาติต้องสามารถรับรู้ได้ ส่วนประชาชนทั่วไปหากสงสัยในผลการชันสูตรและมองว่าการทำคดีลักษณะนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตของตนก็สามารถไปร้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยทำการตรวจสอบ เช่น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน