ดาบแรกโควิดทำคนตกงานขาดรายได้ดาบสองสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำของแพง เงินเฟ้อ นักการเงินชี้ดอกเบี้ยอาจขยับไม่มากเหตุต้องประคองเศรษฐกิจฟื้น ส่วนคนมีเงินออมอย่ายึดตำราเอาชนะเงินเฟ้อแนะสายไม่เสี่ยงเลือกช่องทางที่มั่นคง ได้น้อยแต่นอนหลับ ดีกว่าต้องระวังเงินต้นสูญ ขณะที่ลาวออกพันธบัตรสกุลบาทดอกเบี้ยสูง 5.8-6.4% ต้องซื้อ 10 ล้านขึ้นไป
จะเรียกว่าเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็ว่าได้ ที่ทุกประเทศต้องเผชิญทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ระยะหลังกลายพันธุ์เป็นโอมิครอน ทำให้อัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลง แต่ก่อนหน้าแทบทุกประเทศต้องเร่งหาวัคซีนมาเพื่อฉีดให้ประชากรของตน ประเทศที่สามารถคิดค้นวัคซีนสกัดโควิด-19 ได้ ยอดสั่งซื้อหลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมทัน กลายเป็นสินค้าส่งออกชนิดใหม่ในยุคของการแพร่ระบาด
รัฐบาลของทุกประเทศต้องทุ่มสรรพกำลังเพื่อจัดหาวัคซีน เยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด กระตุ้นและลดภาระค่าใช้จ่ายของคนภายในประเทศ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
เมื่อมีวัคซีนสกัดกั้น รวมถึงโควิดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มทำให้ทุกประเทศต้องหาวิธีทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป การผ่อนคลายมาตรการที่เคยเข้มงวด เปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันได้มากขึ้น แต่อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ทุกอย่างมีแนวโน้มเดินหน้าไปสู่ภาวะปกติ
แต่ชนวนเหตุพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่กลายเป็นการยกกำลังพลเข้าสู้รบกัน ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กลับทำให้เศรษฐกิจที่เคยมองกันว่าเริ่มฟื้นตัวจากโควิด กลับดิ่งลงไปอีก
โควิดไม่จาง-สงครามซ้ำ
ถือว่าเป็นโชคร้ายของคนทั้งโลกก็ว่าได้ โควิด-19 กินเวลาเข้าสู่ปีที่ 3 ทำให้ผู้คนตกงาน ขาดรายได้ หลายธุรกิจประสบปัญหา กำลังซื้อของคนหดหาย ภาระหนี้สินต่างๆ ลามไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ เฉพาะแค่เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
แต่กลับมาเจอการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานของโลก ราคาน้ำมัน ก๊าซที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตทุกอย่าง ลามมาถึงภาคเกษตร อาหารสัตว์-ปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น กลายเป็นภาระกับรัฐบาลทุกประเทศที่จะต้องหาทางตรึงราคาเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน
“โควิดทำให้คนขาดรายได้ รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ของแพง สถานการณ์ที่เป็นอย่างนี้จะฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร กลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก ตอนนี้ทำได้อย่างเดียวคือขอให้การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนจบลงโดยเร็ว และหวังให้สถานการณ์ทั้งโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว”
แต่ละประเทศย่อมเจอกับปัญหาที่ไม่เหมือนกัน อย่างสหรัฐฯ เกิดภาวะเงินเฟ้อหลังสถานการณ์โควิดเริ่มลดลง ล่าสุด เมื่อ 16 มีนาคม 2565 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และอาจปรับขึ้นได้อีกในการประชุมครั้งต่อไป
เมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศไทย เงินเฟ้อของประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มขึ้น 5.28% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าสูงสุดรอบ 13 ปี และมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อเดือนมีนาคมอาจปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565 คงต้องรอผลการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 30 มีนาคมว่าจะพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร
การส่งสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางนั้น มีทั้งโอกาสที่สถาบันการเงินจะปฏิบัติตามหรือบางกรณีไม่มีผลกับสถาบันการเงิน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้น อย่างกรณีของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงินคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% มาเกือบ 2 ปี แต่สถาบันการเงินยังคงให้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย และไม่มีโปรโมชันเพื่อระดมเงินออมเหมือนช่วงสถานการณ์ปกติ
ส่งผลให้คนที่มีเงินออมอาจมีความหวังขึ้นมาว่า จากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของบ้านเราอาจมีการปรับขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และพยายามแสวงหาแหล่งออมเงินที่ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าอัตราเงินเฟ้อที่โดดขึ้นมาที่ 5.28% ซึ่งเป็นไปตามตำราของการลงทุน
คุณไม่มีทางชนะเงินเฟ้อ
นายวรรธนะ วงศ์สีนิล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ฟิลลิป จำกัด ได้เขียนเตือนเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ไว้เสมอในเพจชมรมคนรักหุ้นกู้และพันธบัตร
ช่วงนี้อย่าไปกังวลกับการลงทุนที่จะต้องเอาชนะภาวะเงินเฟ้อเลยครับ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ ️อัตราเงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้นโดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มฟื้นตัว ดังนั้นยิ่งคิดจะเอาชนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม
อย่าไปคิดที่จะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อตามที่ได้ร่ำเรียนกันมา เพราะมันเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้เกิดจากกลไกทางเศรษฐกิจเช่นปกติ แต่มันเกิดจากการปรับขึ้นราคาสินค้า จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายการเงินจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงน่าจะไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก แต่กลับจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จึงเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยแทบจะไม่ได้โงหัวขึ้นเลย ถ้าเรายิ่งขวนขวายที่จะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อด้วยแล้ว เราอาจจะได้การผิดนัดชำระหนี้แทนที่ก็เป็นได้
อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะใช้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เพียงบางประเภทเท่านั้น แต่จะไม่สามารถควบคุม Stagflation ได้ หรือแม้แต่อัตราเงินเฟ้อแบบ Cost-push ดังนั้น การที่แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็นขาขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการลงทุนในตราสารหนี้ แต่อย่าลืมว่าถ้าเกิด Stagflation จริง โอกาสที่อาจจะประสบกับการผิดนัดชำระหนี้ก็มีมากขึ้นไปด้วย
ความเห็นส่วนตัวแล้ว เราควรจะรักษาเงินต้นเอาไว้ให้มั่นคงที่สุดในระยะ 1-2 ปีนับจากนี้ แล้วค่อยหาโอกาสในการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ หุ้นกู้กลุ่ม ปตท. ปูนใหญ่ แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับพันธบัตรออมทรัพย์ ควรที่จะลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ หรือพันธบัตรรัฐบาล (Loan Bond) ในตลาดรองไปพลางๆ ก่อน ได้น้อยแต่ได้ชัวร์ นอนหลับสนิท น่าจะดีกว่าได้มาไม่กี่งวด
เงินต้นต้องไม่สูญ
ในชีวิตจริงตราบใดที่เงินต้นเรายังอยู่ครบแค่อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูงขึ้นก็ยังดีกว่าสูญเงินต้น วันนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แต่ยังมีอนาคตที่ยังคลุมเครือรอเราอยู่ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีวันหมดอายุนั้นจะลงทุนไปเพื่อ… ในเมื่อเราไม่ได้รับคืนเงินต้นเลย เหมือนให้เงินคนอื่น 100 แล้วเขาแบ่งคืนให้แค่ปีละไม่กี่บาทเท่านั้น ที่ให้คืนในรูปดอกเบี้ยก็เอาจากเศษของเงินต้นที่เราจ่ายไป นำกลับมาให้เราในชื่อดอกเบี้ยเท่านั้น เรื่องสุดท้ายคือหลักประกันของตราสารหนี้ พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าเป็นหลักประกันที่มีความมั่นคงเพียงพอหรือเปล่า เป็นหลักประกันของกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ถ้าเกิดปัญหาในกลุ่มแล้วหลักประกันนี้อาจจะลอยหายไปในอวกาศได้เช่นกัน
หน่วยงานที่ดูแลและกำกับไม่ได้รับประกันเงินต้นให้แก่นักลงทุนแต่อย่างใด ไม่รับรองแม้กระทั่งความถูกต้องของข้อมูลเพราะอาจจะถูกแต่งเสริมขึ้นมาได้ แค่ยื่นให้พิจารณาตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างถูกต้องก็สามารถออกเสนอขายให้นักลงทุนได้
สิ่งที่ควรทำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่นับวันจะเลวร้ายลงและยังไม่เห็นโอกาสที่จะพลิกฟื้นกลับมาในระยะนี้คือ การรักษาเงินต้นให้ปลอดภัยที่สุดเท่านั้น
ไม่เสี่ยง-ดอกเบี้ยต่ำ-จำทน
จากการสำรวจตลาดเงินออมที่มีความมั่นคงในระยะนี้พบเพียงกลุ่มของสลากออมทรัพย์ ขณะนี้ของธนาคารออมสินมีรุ่น 1 ปี ไม่มีดอกเบี้ย และ 2 ปี ดอกเบี้ย 0.05% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 10 เดือน ไม่เสียภาษี อัตราดอกเบี้ย 0.4% (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 0.47%) เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท รับฝากระหว่าง 1-31 มีนาคม 2565
ช่องทางที่มีของธนาคารออมสินคนที่ไม่อยากออมเงินเป็นปี เงินฝาก 10 เดือนดอกเบี้ย 0.4% ไม่เสียภาษี เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ถ้าคำนวณตามอายุ 10 เดือนผลตอบแทนจะอยู่ที่ 0.33% หากฝากเงิน 1 แสนบาท ครบ 10 เดือนจะได้ดอกเบี้ย 333.33 บาท เทียบกับเงิน 1 แสนบาทซื้อสลาก 2 ปี ได้ 1,000 หน่วย ถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวมูลค่า 20 บาททุกงวด หรือเท่ากับ 0.24% ต่อปี บวกด้วยดอกเบี้ยอีก 0.05% เท่ากับได้ผลตอบแทน 0.29% ต่อปี แต่มีโอกาสในการถูกรางวัลอื่นหากมีโชค
อีกค่ายหนึ่งเป็นสลากออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เดิมมีสลากรุ่นเกล็ดดาว อายุ 2 ปี หน่วยละ 5,000 บาท ดอกเบี้ย 0.4% จุดเด่นอยู่ที่รางวัลเลขท้ายมีทั้งตรงและสลับ ปัจจุบันรุ่นนี้ยังมีขายอยู่ ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ออกสลากรุ่นต่อเงินต่อทอง อายุ 3 ปี มูลค่าหน่วยละ 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.5% จุดเด่นที่มีรางวัลเลขท้าย 1 ตัว รางวัลละ 30 บาท
ตัดสินใจให้ดี
ถ้าคุณเลือกเส้นทางไม่เสี่ยง การออมในช่องทางเหล่านี้แม้ดอกเบี้ยจะน้อยนิดแต่เงินต้นไม่หาย แม้พันธบัตรรัฐบาลเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถซื้อได้ทันหรือไม่ เนื่องจากธนาคารตัวแทนจำหน่ายมักจะเน้นบริการให้ลูกค้ารายหลักของธนาคารก่อน หากเหลือ (ผลตอบแทนไม่จูงใจ) ขาจร เงินน้อยจึงมีสิทธิเข้าถึง
ที่ผ่านมา คนที่เคยออมเงินผ่านแบงก์เปลี่ยนมาซื้อหุ้นกู้กันไม่น้อย กล้าที่จะเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า หุ้นกู้เอกชนคล้ายๆ กับการฝากเงินกับธนาคาร ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นคือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ คนที่สนใจต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะสถานการณ์โควิด ส่งผลรายได้ของหลายกิจการ อย่าดูที่อัตราดอกเบี้ยสูงเพียงอย่างเดียว และต้องดูเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยให้ดี เพราะหุ้นกู้มีหลายรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม เมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยย่อมมีโอกาสปรับขึ้น แต่จะเป็นการค่อยๆ ปรับขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ขึ้นครั้งละ 0.25% ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอีกด้านหนึ่งก็เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
พันธบัตรลาว ดอกเบี้ยสูง-เจาะรายใหญ่
ขณะนี้ในตลาดหุ้นกู้ยังมีการเสนอขายพันธบัตรของกระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 1/2565 เสนอขายพันธบัตรชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือพันธบัตร
พันธบัตรรุ่นที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.8%
พันธบัตรรุ่นที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.4%
ชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาทและทวีคูณครั้งละ 1 แสนบาท โดยเป็นการเสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกอยู่ที่ BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต Negative (ทริสเรทติ้ง) พันธบัตรรุ่นนี้เป็นการออกเพื่อชำระคืนพันธบัตรชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน เปิดจากซื้อ 28-30 มีนาคม 2565
พันธบัตรของรัฐบาลลาวที่ได้รับอนุญาตให้มาเสนอขายในประเทศไทย เป็นสกุลเงินบาท ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยที่ลาวสูงกว่าประเทศไทยมาก ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้นถือว่าเป็นพันธบัตรของรัฐบาลลาว ย่อมมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง เมื่อสอบถามไปยังผู้แทนจำหน่ายแจ้งว่า เป็นการเสนอขายให้นักลงทุนรายใหญ่ที่วงเงิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นคนทุนทรัพย์น้อยคงหมดสิทธิ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/