xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ‘บิ๊กป้อม’ จ่อนั่งประชุมเอเปกแทน ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘เพื่อไทย’ ยื่นศาล รธน.ตีความคุณสมบัติ 8 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้พรรคเตรียมหารือยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติ ‘บิ๊กตู่’ ครบ 8 ปี และอาจขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หลัง 24 ส.ค.2565 ระหว่างที่ศาลฯ ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา ด้าน ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ มั่นใจคำวินิจฉัยของศาลฯ น่าจะรวดเร็วเพราะเป็นการตีความข้อกฎหมาย ไม่ใช่การแสวงหาข้อเท็จจริงที่ต้องใช้เวลานาน เชื่อหากเกิดอุบัติเหตุ ‘บิ๊กตู่’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ‘บิ๊กป้อม’ รับไม้ต่อทำหน้าที่การประชุมเอเปก 2565 แทน ส่วนวงใน พปชร.เชื่อทีมกฎหมายศึกษาละเอียด ‘บิ๊กตู่’ ไม่ขาดคุณสมบัติ มั่นใจศาลฯ ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา และอยู่ได้จนครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 24 มี.ค.2566 จับตาผลตีความอาจทำให้ ‘บิ๊กตู่’ มีโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยได้หรือไม่?

ชัดๆ จากบิ๊กป้อม ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้บอกให้พรรคเล็กที่เข้าพบเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ช่วยรัฐบาลทำงานไปจนถึงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ปี พ.ศ.2565 ‘APEC 2022’ โดยหลังประชุมเอเปกในเดือน พ.ย.แล้วจะมีการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปีใหม่ (2566) หรือเลยปีใหม่เล็กน้อย เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด

แต่การจะยุบหรือไม่ยุบนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับบิ๊กป้อม เพราะเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากโดยพรรคเล็กพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่บิ๊กป้อม บอกกล่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุบสภาและเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปี 2566 นั้น ล้วนเป็นความมั่นใจของบิ๊กป้อม และพรรคร่วมรัฐบาลที่เชื่อว่าสถานะของรัฐบาลจะครบวาระ 4 ปี คือวันที่ 24 มีนาคม 2566 แต่ในความเป็นจริงยังมีคำถามอีกว่า บิ๊กตู่ จะสามารถเข้าร่วมประชุมเอเปกในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยได้จริงหรือไม่?

เนื่องเพราะเงื่อนไขข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 158 วรรค 4 เขียนไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี - ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ประเด็นนี้มีนักกกฎหมาย และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนฟันธงว่า บิ๊กตู่ครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพราะได้มีการศึกษาเรื่องนี้มานาน มีการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 พร้อมดูแนวคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญคดีนายสิระ เจนจาคะ คดีของ 3 รัฐมนตรี กปปส.จากพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงคดี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นต้น

โดยศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าบิ๊กตู่ ครบวาระ 8 ปี วันไหนและเมื่อไหร่ ซึ่งจะมีผลให้บิ๊กตู่ จะได้เข้าร่วมประชุมเอเปกในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้หรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนม้ากลางศึกเกิดขึ้น!

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาพูดว่าจะมีการยุบสภาหลังประชุมเอเปก และจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นปี 2566 นั้น เพราะว่าบิ๊กตู่และบิ๊กป้อม เชื่อว่าบิ๊กตู่ ยังมีคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ได้หลังวันที่ 24 ส.ค.2565 เพราะยังไม่ครบวาระ 8 ปี

แต่ในความเห็นของพรรคเพื่อไทยและภาคประชาชนบางกลุ่มมองเห็นว่าขาดคุณสมบัติไปแล้ว ดังนั้น ถ้าถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 แล้วบิ๊กตู่ยังไม่ออก ต้องยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความแน่นอน!

“ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี นี่คือหลักการของกฎหมายและเป็นประเด็น เพียงแต่ในพรรคยังไม่ได้คุยรายละเอียดกัน แต่ยืนยันได้ว่ายื่นแน่ อาจจะยื่นหลังจากวันที่ 24 ส.ค.ออกไป 1 วัน แต่จะไปยื่นก่อนไม่ได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขและยังไม่มีประเด็นอะไร”

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกอีกว่า พรรคยังต้องไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดอีกด้วยว่าในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบติครบ 8 ปีวันไหนนั้น พรรคจะยังสามารถยื่นคำร้องไปด้วยโดยขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้นายกฯ บิ๊กตู่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่?

“คือขอให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาเรื่องครบ 8 ปีวันไหน ซึ่งถ้าศาลฯ มีคำสั่งให้หยุด การประชุมเอเปก ต้องมีรองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 1 ทำหน้าที่แทนไปก่อน”

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปัจจุบันหนึ่งในแกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย บอกว่า เรื่องวาระ 8 ปีของนายกฯ บิ๊กตู่นั้น พรรคฝ่ายค้านได้มีการพูดกันไว้แล้วว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน เพราะพรรคฝ่ายค้านมั่นใจว่าครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 แต่ในส่วนตัวนั้นมีคำตอบไว้ในใจอยู่แล้วว่าครบ 8 ปีวันไหน เพราะต้องดูบทบัญญัติของตัวอักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

“ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าบิ๊กตู่ เป็นนายกฯ หรือไม่ในแต่ละช่วง หลังยึดอำนาจ คสช.ปี 2557 และเปลี่ยนมาเป็นนายกฯ ที่มาจาก คสช. กระทั่งมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องถามความรู้สึกกันก่อนว่าแต่ละช่วงนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งการตีความจะฝืนความรู้สึกของสังคมบางทีก็จะเกิดความวุ่นวายได้ เพราะในระบอบประชาธิปไตยคนต้องมองความยุติธรรมในระดับที่ใกล้เคียงกัน”


ขณะเดียวกัน ต้องตั้งคำถามกลับไปเช่นเดียวกันว่า ในแต่ละช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศนั้นใช้อำนาจอะไรในการบริหารประเทศ หรือใช้อำนาจ คสช. ดังนั้นจึงต้องดูและมองทะลุจุดที่ทำให้มีการเกาะเกี่ยวตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไปจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีคำตอบที่ชัดเจนในการส่งผ่านอำนาจของรัฐบาล

“อยู่ที่ฝ่ายค้านส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลัง 24 ส.ค.2565 นายกฯ ขาดคุณสมบัติหรือไม่ และครบ 8 ปีหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าการวินิจฉัยไม่น่าจะล่าช้า เพราะเป็นการตีความข้อกฎหมายไม่ใช่เป็นการสืบเสาะข้อเท็จจริงที่ต้องมีการสืบพยานจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา”

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  หนึ่งในแกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย
นายนิพิฏฐ์ ระบุว่า การจะมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ในระหว่างช่วงรอคำวินิจฉัยครบวาระ 8 ปี อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าศาลฯ ไม่น่าจะให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะความเสียหายในการบริหารราชการแผ่นดินจะสูง และหากศาลตัดสินออกมาว่านายกฯ ยังไม่ขาดคุณสมบัติเพราะยังไม่ครบ 8 ปี ช่วงที่เขาหยุดมาก็เสียหายเหมือนกัน

“แต่ถ้านายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ รองนายกฯ คนที่ 1 น่าจะเป็นบิ๊กป้อม ขึ้นมารักษาการทำหน้าที่แทนไปก่อน แต่ถ้าหากนายกฯ ขาดคุณสมบัติ คือความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง ครม.ต้องไปทั้งคณะ และจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อหารัฐบาลใหม่ต่อไป”

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัยคุณสมบัตินั้น และนายกฯ ได้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง หรือมีคำสั่งต่างๆ ออกมานั้น สุดท้ายศาลฯ มีคำสั่งขาดคุณสมบัติ โดยหลักการแล้วสิ่งที่นายกฯ ดำเนินการไปนั้นจะไม่มีผลย้อนหลัง และไม่ถือเป็นโมฆะ

ด้านแหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า รัฐบาลมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลได้มีการให้ทีมกฎหมายดูแลเรื่องการขาดคุณสมบัติของนายกฯ หรือไม่อย่างละเอียดแล้ว สิ่งที่ต้องระวังและมีความเสี่ยงที่จะมีเหตุให้ยุบสภาจะอยู่ในช่วงการเปิดสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีเรื่องของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี และการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น




“พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเล็กๆ ต้องจับมือกันให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ จะเข้าสู่การประชุมเอเปก 14-19 พ.ย.65 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ บิ๊กตู่ จะทำหน้าที่ตรงนั้น ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะยังไม่ตัดสินออกมา และรัฐบาลบิ๊กตู่จะอยู่ครบเทอม 4 ปีในวันที่ 24 มี.ค 2566 คงลงล็อกที่บิ๊กป้อมบอกว่าจะมีการจัดเลือกตั้งเป็นของขวัญให้ประชาชนพอดี”

ดังนั้น จึงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าให้เริ่มนับวันเริ่มต้นและอยู่ได้ถึง 8 ปีที่ตรงไหน เพราะหากเริ่มนับตั้งแต่บิ๊กตู่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 ก็แปลว่านายกฯ จะอยู่ได้ถึง 24 ส.ค.2565 ใช่หรือไม่!?

หากจะนับจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อเมษายน 2560 บิ๊กตู่จะอยู่ครบวาระประมาณเดือน มี.ค.2568 คือถ้าเลือกตั้งครั้งใหม่หากได้รับเลือกตั้งจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น

หรือถ้าจะเริ่มนับตั้งแต่การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 คือ 5 มิ.ย.2562 ก็จะไปสิ้นสุดที่ปี 2570 แปลว่าบิ๊กตู่ ยังสามารถเป็นนายกฯ ต่อได้อีก 1 สมัยใช่หรือไม่

ทั้งหมดนี้คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อหาข้อยุติว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ หลังครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.2565 หรือไม่ หรือ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ยังมีคุณสมบัติที่จะกลับมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น