xs
xsm
sm
md
lg

“โควิด” ไม่จาง เพิ่มศึกรัสเซีย-ยูเครนกดเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษสู้รบรัสเซีย-ยูเครนกระแทกซ้ำเศรษฐกิจ ท่ามกลางโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังไม่จาง สงครามทำราคาน้ำมันพุ่ง-ราคาสินค้าขยับ โควิดทำคนขาดรายได้ กลายเป็นปัจจัยลบกดดันซ้ำ คนทำทัวร์โอด! พอกำลังจะดีระบาดใหม่ทุกครั้ง ช่วงสงกรานต์เตรียมปล่อยโปรแกรมเวียดนาม หวั่นเงื่อนไขเปลี่ยน เตือนผู้ประกอบการที่รับนักท่องเที่ยวรัสเซียในไทยอาจมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย

การวนกลับมาระบาดอีกรอบของโควิด-19 ที่แม้จะกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน อัตราการเสียชีวิตลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งวังวนที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเดินหน้าต่อได้ในวงจำกัด แม้หลายประเทศจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค หาวิธีอยู่ร่วมกับโควิด-19 หลังจากที่ตัวเชื้อลดระดับความรุนแรงลง แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงกังวลกับโรคนี้ในทุกครั้งที่มีการระบาด การใช้ชีวิตหรือการใช้จ่ายจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง

ท่ามกลางเงินเฟ้อที่เริ่มขยับขึ้นทั่วโลก ทั้งจากราคาน้ำมันที่เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กระทบมายังราคาสินค้า ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต

สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ผ่านพ้นไป ทุกฝ่ายคาดหวังเศรษฐกิจค่อยๆ เริ่มฟื้น แต่เหตุการณ์เปิดฉากสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กลายเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้าลงไปอีก หากยืดเยื้อหรือขยายวงจนกลายเป็นสงครามที่มีหลายชาติโดดเข้ามาร่วมวงด้วย ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปทันที ทั้งจากความกังวลว่าปริมาณน้ำมันอาจลดลงจากการสู้รบ รวมไปถึงกลุ่มเก็งกำไรที่เข้ามาผสมโรง แม้ชาติที่ส่งออกน้ำมันได้เพิ่มปริมาณการผลิต แต่ราคาน้ำมันยังคงขยับขึ้นไปถึง 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กสิกรกังวลราคาน้ำมัน

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยจากสถานการณ์กองทัพรัสเซียเข้าโจมตียูเครนขึ้นอยู่กับการขยายวงความรุนแรง และมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากนานาประเทศ สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้คือราคาน้ำมัน ยิ่งสถานการณ์มีความตึงเครียด ยิ่งส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจ ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน กรณีมีการนำเข้า-ส่งออก หรือธุรกรรมโอนเงินกับทั้ง 2 ประเทศ อาจมีความเสี่ยงได้รับเงินล่าช้า ทั้งกรณีคู่ค้าที่อยู่ในประเทศไทย รัสเซีย ยูเครน

สิ่งที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ดังกล่าวจะยกระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือไม่ รวมถึงประเด็นสำคัญคือ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากประเทศต่างๆ ที่จะนำมาใช้กับรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้การค้าระหว่างไทย-รัสเซีย-ยูเครน มีอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการหาธนาคารรับรอง การเปิดบัญชีธุรกิจข้ามชาติ (แอล/ซี) การชำระเงิน การโอนเงินต่างๆ เป็นต้น และหากสถานการณ์พลิกผันไปสู่สงครามที่ขยายวงกว้าง เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะหดตัว และเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงจากราคาพลังงานที่พุ่ง (Stagflation)

ทั้งนี้ ในปี 2564 ไทยส่งออกไปรัสเซียมีมูลค่าประมาณ 1,028 ล้านดอลลาร์ เติบโตสูงถึง 42% โดยการส่งออกไปรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 0.4% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปตลาดโลก ส่วนยูเครนนั้น ในปี 2564 ไทยส่งออกไปเป็นมูลค่าประมาณ 135 ล้านดอลลาร์ เติบโตสูง 35.7% เช่นกัน แต่สัดส่วนยังน้อย


น้ำมัน-ราคาสินค้าขยับ

ผลของการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งเรียกร้องให้ลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาเหลือลิตร 25 บาท รัฐบาลได้ลดภาษีสรรพสามิตลงให้ 3 บาท เพื่อตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัสเซียและยูเครน จึงเป็นปัญหาที่ตามมาว่าไทยจะตรึงราคาน้ำมันภายในประเทศได้แค่ไหน

น้ำมันถือเป็นต้นทุนทุกอย่างในประเทศไทย เมื่อราคาน้ำมันขยับขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในแทบทุกรายการ ขณะที่เราต้องเผชิญกับโอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ กำลังซื้อของผู้คนหายไปทั้งจากบางกลุ่มที่ตกงาน ขาดรายได้ รวมถึงคนที่ยังมีงานทำแต่ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย สถานการณ์ทีเกิดขึ้นในเวลานี้กลายเป็นตัวกดให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ยากขึ้น เห็นได้จากหน่วยงานรัฐเริ่มที่จะปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากยูเครน เพื่อนำมาใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ทำให้เวลานี้ราคาอาหารสัตว์ราคาขยับขึ้นไปแล้ว รวมไปถึงราคาไข่ไก่ และอาจมีราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ ตามมา

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจไทยอีกแรงหนึ่งต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ผลของการสู้รบทำให้ราคาสินค้าเริ่มปรับขึ้น ขณะที่โอมิครอนทำให้คนขาดรายได้ จึงกลายเป็น 2 แรงบวกที่ทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทุกฝ่ายหวังเพียงว่าให้ข้อขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยุติลงโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


ท่องเที่ยวบ่นอุบ-ระบาดอีก

ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ก่อนเกิดเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน เริ่มมีหลายบริษัทออกโปรแกรมท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นเส้นทางยุโรป ราคาค่อนข้างสูง เน้นท่องเที่ยวประเทศเดียวหลายวัน เนื่องจากมีข้อกำหนดในเรื่องการตรวจโควิดก่อนข้ามพรมแดน เมื่ออาการของสายพันธุ์โอมิครอนชัดเจนแล้วว่าไม่รุนแรง ชาติอาเซียนจึงเริ่มทำตลาดท่องเที่ยว อย่างเช่น เวียดนาม ซึ่งบริษัททัวร์ในไทยลงโปรแกรมไว้ช่วงสงกรานต์ เวียดนามกลาง ดานัง บานาฮิลล์ ด้วยราคาที่สูงกว่าก่อนโควิดไม่มากนัก 4 วัน 3 คืน เริ่มต้น 18,999 บาท

ผู้ให้บริการทัวร์ต่างประเทศที่ยังเหลืออยู่กล่าวว่า พอทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย โควิดเริ่มเบาลง หลายประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พอออกโปรแกรมมาก็เจอปัญหาการระบาดรอบใหม่เกือบทุกครั้ง ทำให้มีความไม่แน่นอนตามมาอีกมาก ทั้งเงื่อนไขของประเทศปลายทางที่อาจปรับเปลี่ยน หรือเงื่อนไขในตอนขากลับเข้าประเทศ อย่างตอนนี้ Test & Go สำหรับคนไทย เข้ามาตรวจ RT-PCR พัก 1 คืน ไม่มีเชื้อก็กลับบ้านได้ กลายเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการเดินทางอาจมีความกังวล โดยเฉพาะเรื่องการกักตัว แน่นอนว่าคนที่อยากเดินทางต้องหาข้อมูลแล้วว่า ปลายทางนั้นไม่มีการกักตัว พวกเขากังวลอย่างเดียวคือตอนกลับเข้าไทย ถ้าเปลี่ยนเกณฑ์ต้องกักตัวนานคงไม่มีใครอยากเดินทาง

อีกทั้งหากต้องการท่องเที่ยวในระยะนี้อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องค่าตรวจแบบ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าไทย และต้องจองโรงแรม 1 คืน เพื่อรอผลตรวจแบบ RT-PCR อีกครั้ง ส่วนขาออกต้องซื้อกรมธรรม์คุ้มครองการรักษาโควิด อย่างเวียดนามกำหนดวงเงิน 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ เบี้ยประกันราว 30 เหรียญ หรือ 1,000 บาท

ใครที่อยากเที่ยวคงต้องยอมรับกับเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่พอมีการระบาดมากขึ้น ในทางจิตวิทยาแล้วหลายคนไม่อยากเดินทางเพราะถ้าติดระหว่างเดินทางแล้วอาจมีปัญหาตามมาอีกไม่น้อยโดยเฉพาะเรื่องการพักรักษาตัว

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่อยากเดินทางไปเส้นทางยุโรป สถานการณ์รัสเซียกับยูเครน แม้อาจไม่ใช่ประเทศปลายทางที่คนไทยอยากท่องเที่ยว แต่การสู้รบที่ยังไม่ยุติและมีโอกาสยืดเยื้อหรืออาจบานปลายขยายวง หลายกลุ่มจึงชะลอการเดินทางออกไปก่อน รอให้สถานการณ์ยุติลง

หากจะบอกว่าการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนไม่กระทบการท่องเที่ยวเลยเป็นไปไม่ได้ ทั้งในฝั่งคนไทยไปเที่ยวยุโรป ทุกคนก็กังวลทั้งนั้น เกรงว่าหากสถานการณ์บานปลายในช่วงที่เดินทางจะทำอย่างไร ดีที่สุดคือการเลื่อนการเดินทางออกไป อีกทั้งการเดินทางในยุโรปเองก็มีเงื่อนไขในเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิดของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป

ห่วงนักท่องเที่ยวมีปัญหาชำระเงิน

อีกด้านหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย นักท่องเที่ยวรัสเซียถือว่าเป็นอันดับ 3-4 ที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย แน่นอนว่าเมื่อเกิดการสู้รบกับยูเครน ตอนนี้เอเยนต์ต่างๆ ในรัสเซียได้หยุดให้บริการที่จะมาเมืองไทย แน่นอนว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวรัสเซียกลุ่มใหม่ย่อมไม่มีเข้ามา

ประการต่อมา นักท่องเที่ยวรัสเซียหรือที่เข้ามาอยู่ในไทยนานๆ อาจมีปัญหาได้ในเรื่องของการชำระเงิน เนื่องจากค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงมาก รวมถึงช่องทางในการโอนเงินที่หลายชาติเริ่มใช้นโยบายโดดเดี่ยวรัสเซีย ด้วยการตัดธนาคารรัสเซียบางรายออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบที่สถาบันการเงินทั่วโลกใช้ ตรงนี้อาจเกิดปัญหากับผู้ให้บริการของไทยที่นักท่องเที่ยวอาจมีปัญหาเรื่องการชำระค่าใช้จ่าย

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น