xs
xsm
sm
md
lg

พบแล้วใครทำให้แตงโมตาย!? ‘นิติวิทยาศาสตร์’ ไขปริศนาอุบัติเหตุแบบมีเงื่อนงำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชนั้นจะสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้แน่ โดยเฉพาะจีพีเอส และโปรแกรมที่ติดมากับเรือสปีดโบ๊ต ไม่มีใครแก้ไขได้ ยันตำรวจบอกได้หลักฐานไว้แล้ว ชี้การตายของแตงโม มี 3 องค์ประกอบ ด้านทนายตั้ม พูดชัดคดีนี้ 2 คน มีความผิดฐานประมาท โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 2 แสน หวั่นมีกลไกพิเศษทำให้เหลือผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว เพราะให้ปากคำมัดตัวเอง ส่วนกระติกไม่มีความผิดทางคดีอาญา ด้านทนายนิด้า แจงคดีนี้เป็นอุบัติเหตุจากตัวคนอื่นทำให้แตงโมเสียชีวิต!

ข่าวการเสียชีวิตของนักแสดงสาว ‘แตงโม นิดา’ เนื่องจากอุบัติเหตุพลัดตกเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงใต้สะพานพระราม 7 ท่าเรือพิบูลสงคราม ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างยิ่ง จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการสืบค้นของเหล่าบรรดานักสืบโซเชียลเพื่อหาความจริงว่าการตายของแตงโม เป็นอุบัติเหตุหรือมีการฆาตกรรมเกิดขึ้น พร้อมกันนั้น ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าคดีนี้จะสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้จริงหรือไม่ และใครคือคนผิด ทั้งหมดเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แตงโม!

ดังนั้น ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราจึงเห็นข่าวจับพิรุธคดีแตงโมเกิดขึ้นในเกือบทุกสื่อ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ข้อมูลหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และข้อมูลทางนิติเวช จะเป็นตัวอธิบายได้ชัดเจนที่สุด! เพื่อให้ได้ผู้กระทำผิดมารับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป

 รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
นิติวิทยาศาสตร์บอกความจริงได้

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า เหตุการณ์นี้ไม่มีใครรู้ดีเท่าทั้ง 6 คนที่มาด้วยกัน เมื่อ 1 ใน 6 คนเสียชีวิตก็ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และนิติเวชอธิบายสิ่งเหล่านี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น เช็กโทรศัพท์ของคุณแตงโม การเช็กโทรศัพท์ติดต่อของกลุ่มเพื่อนที่ไปด้วยกัน ต้องตรวจลายนิ้วมือแฝงและดีเอ็นเอที่ปรากฏในคราบต่างๆ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ เช่น ลายนิ้วมือบนพวงมาลัย หากบอกว่ามีการปัสสาวะก็ต้องดูว่ามีคราบปัสสาวะอยู่บนเรือบ้างไหม และนำไปพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์

หรือสมมติคนขับเรือบอกว่าตอนแตงโม ตกน้ำเขาไม่ได้ขับเรือเร็วเลย ตรงนี้สามารถตรวจสอบได้โดยใช้จีพีเอสที่ติดมากับเรือ และโปรแกรมที่สามารถเช็กกับคอมพิวเตอร์ของเรือได้ อันนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขข้อมูลไม่ได้ โดยข้อมูลจีพีเอสจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจีพีเอสจะเช็กโลเกชัน ตำแหน่ง และทิศทางของเรือที่ไป โดยเช็กผ่านระบบดาวเทียม ส่วนที่ 2 คือ การเช็กความเร็วของเรือ ซึ่งเท่าที่ทราบผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ผลิตเรือบอกว่า มีโปรแกรมที่สามารถถอดความจากซอฟต์แวร์ได้ว่าความเร็วของเรือในช่วงเวลาที่เกิดเหตุมีความเร็วเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งจากเมื่อวานที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าตอนนี้ตำรวจมีข้อมูลดังกล่าวแล้ว

อีกทั้งกรณีที่เพื่อนในเรือบอกว่าเรือแล่นมาไม่เร็วนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเรือที่ขับตามความเร็วจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งการที่เพื่อนจะไปปัสสาวะท้ายเรือในขณะที่เรือแล่นอยู่ตามคำให้การของพยานนั้นถามจริงๆ ว่าไม่มีใครทักท้วงเลยหรือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งโดยตรรกะน่าจะมีการตักเตือนกัน อย่าว่าแต่ไปนั่งปัสสาวะเลย แค่ไปยืนถ่ายรูปบริเวณนั้นขณะเรือแล่นวิญญูชนทั่วไปก็ต้องรู้แล้วว่ามีความเสี่ยง ที่สำคัญไม่มีการใส่ชูชีพ

“นอกจากทั้ง 5 คนแล้วไม่มีใครอยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ลบล้างไม่ได้ เพราะนี่คือความจริง”

ส่วนกรณีที่มีคนสงสัยว่าการคุยแชตไลน์ในโทรศัพท์สามารถสร้างหลักฐานปลอมขึ้นได้หรือไม่นั้น หากเป็นการใช้ไอโฟน เท่าที่ทราบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สามารถดูดข้อมูลจากเครื่องได้โดยตรง แม้จะมีการสร้างไลน์ปลอมก็ตาม

“ตำรวจมีเครื่องมือที่ไปดูดข้อมูลออกมาได้ ซึ่งจะเห็นรายละเอียดว่าโทรศัพท์เครื่องนี้มีการถ่ายรูปที่ไหน เวลาใด มีการแชร์ไว้ด้วย จะบอกหมด ซึ่งตรงนี้จะไปแก้ไขข้อมูลไม่ได้ ที่เกรงกันว่าจะมีการสร้างไลน์ปลอมก็สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเชื่อว่าคดีนี้คงมีการตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน”

อย่างไรก็ดี คดีนี้ความยากอยู่ที่ร่องรอยพยานหลักฐาน โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่บางอย่างไม่สามารถจะคงไว้ได้เหมือนเดิม เพราะโดยหลักสากลแล้วหลังจากเกิดเหตุใหม่ๆ ต้องคงสภาพของสถานที่เกิดเหตุซึ่งในที่นี้คือเรือสปีดโบ๊ตไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ร่องรอยหลักฐานยังคงอยู่ เช่น รอยนิ้วมือแฝงตรงพวงมาลัย ถ้าบอกว่านาย ก.เป็นคนขับเรือ แต่พวงมาลัยกลับมีลายนิ้วมือแฝงของนาย ข. มันจะอธิบายว่าจริงๆ แล้วใครเป็นคนขับ แต่กรณีนี้ช่วงแรกหลังเกิดเหตุเรือถูกนำไปที่อู่และผู้เกี่ยวข้องแยกย้ายกันไป

“ความยากจึงอยู่ตรงนี้ จริงๆ แล้วหลังเกิดเหตุทั้ง 5 คนควรให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งหากพนักงานสอบสวนเป็นมืออาชีพฟังปุ๊บเขาจะรู้เลยว่าเหตุการณ์ที่ทั้ง 5 คนเล่ามาปกติ หรือไม่ปกติ”




chain of custody คือช่องโหว่ให้จำเลยเอาไปต่อสู้

สำหรับผลตรวจดีเอ็นเอคงต้องรอผู้เชี่ยวชาญ คิดว่าผลตรวจถ้าพบคราบปัสสาวะก็จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอว่าหาเจอไหม ถ้าเจอจะรู้ว่าใช่ปัสสาวะของแตงโมหรือเปล่า หากดีเอ็นเอเป็นของแตงโมก็แปลว่า แตงโมปัสสาวะบริเวณนั้นจริง อย่างไรก็ดี ถ้าไม่เจอดีเอ็นเอก็ไม่ได้หมายความว่าแตงโมไม่ได้ปัสสาสะ แต่อาจจะเป็นเพราะโดนน้ำในแม่น้ำชะล้างไป หรือถูกเช็ดทำความสะอาดไปแล้ว

“พยานหลักฐานที่ปรากฏหลังเกิดเหตุใหม่ๆ จะแตกต่างจากพยานหลักฐานหลังเกิดเหตุไประยะหนึ่งแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่โอกาสที่หลักฐานในที่เกิดเหตุจะถูกปนเปื้อนยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งห่วงโซ่ของการเก็บพยานหลักฐาน หรือ chain of custody จะเป็นช่องโหว่ให้จำเลยเอาไปต่อสู้ในชั้นศาล โดยหลักสากลถ้าในคืนนั้นทั้ง 5 คนไปพบตำรวจ มีการสอบปากคำพยานทุกคนไว้ ทุกคนให้การยังไงก็ตาม ถ้ามีคนบอกว่าท้ายเรือเป็นจุดที่คุณแตงโมตก ตำรวจจะขอเอาเรือไว้ตรวจสอบก่อนโดยให้ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบ และเก็บรายละเอียดหลักฐานบริเวณนั้นทั้งหมด”


แต่คดีนี้หลังเกิดเหตุมีการเอาเรือเข้าอู่ และทราบมาว่ามีคนเข้ามาเช็ดถูทำความสะอาด เก็บอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ดังนั้น พยานหลักฐานก็เกิดการปนเปื้อนไปแล้ว การตรวจพิสูจน์จึงทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าเกิดเหตุที่ไม่ปกติขึ้นแน่นอนว่าคนที่เกี่ยวข้องย่อมมีเจตนาที่จะกลบเกลื่อนพยานหลักฐานได้!

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ชี้ว่า เหตุการณ์นี้ไม่ปกติหลายอย่าง คือ 1) บุคคลที่อยู่บนเรือทั้งหมดไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก 2) หลังเกิดเหตุมีการนำเรือไปเก็บที่อู่ทันที 3) หลังเกิดเหตุทั้ง 5 คนหายไปเกือบ 24 ชั่วโมง จึงออกมาพบพนักงานสอบสวนและตอบคำถามสื่อ 4) การเดินไปปัสสาวะท้ายเรือของแตงโม มีความผิดปกติ สังคมตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือ ทั้งจุดที่นั่งปัสสาวะ ชุดที่สวมใส่ซึ่งการแหวกเพื่อปัสสาวะน่าจะลำบาก ถ้าแตงโมเอามือจับขาทั้งสองข้างแตงโมจะแหวกบอดี้สูทได้อย่างไร

อีกทั้งแซน ยังให้การว่าเขาไม่รู้ว่าแตงโมตกไปแล้ว จนได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ แต่ในความเป็นจริงตอนแตงโมปล่อยมือออกจากขาแซน จะไม่รู้เรื่องได้อย่างไร!

“ปกติแมลงวันมาเกาะเรายังรู้ตัวเลย นี่มือสองข้างเลยนะ อีกทั้งแตงโมเป็นผู้หญิง และผู้ชายที่อยู่บนเรือก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน จะกล้าไปปัสสาวะท้ายเรือทั้งที่เรือไม่ใหญ่มากหรือ ส่วนเรื่องวงเงินประกันชีวิตจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุหรือไม่ ตำรวจต้องเข้าไปสืบสวนเช่นกัน”




การตายของแตงโมจาก 3 องค์ประกอบ

คดีนี้โดยหลักๆ แล้วจะมองได้ 3 กรณีประกอบด้วย

1.อุบัติเหตุที่เกิดจากตัวแตงโมเอง คือไปปัสสาวะแล้วเกิดหล่นลงไป อย่างไรก็ดี กรณีนี้คนขับเรือต้องมีความผิดจากความประมาทด้วย ถ้าแตงโมตกเรือคนขับปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

2.อุบัติเหตุที่คนอื่นมีส่วนในความประมาท ซึ่งแน่นอนคนแรกคือคนขับเรือซึ่งปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งในเรื่องของการขับขี่ ต้องดูแลให้คนที่โดยสารไปด้วยใส่เสื้อชูชีพ บอกเตือนหากสมาชิกในเรือจะไปปัสสาวะในจุดอันตราย นอกจากนั้น ต้องดูว่ามีคนอื่นที่มีส่วนในความประมาทอีกหรือไม่ ซึ่งต้องขึ้นกับตำรวจว่าสอบสวนแล้วพบว่าใครมีส่วนร่วมบ้าง

3.มีคนเจตนาให้แตงโมพลัดตกเรือหรือไม่

โดยโทษที่จะได้รับในคดีนี้นั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ อธิบายว่า กรณีประมาทอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากกระทำโดยเจตนาให้ผู้อื่นถูกฆ่าถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่าคดีนี้ควรต้องมีนักจิตวิทยามาคุยเพื่อประเมินบุคลิกภาพทั้ง 5 คน ว่าแสดงออกอย่างไร ปกติมีการใช้ชีวิตอย่างไร ไลฟ์สไตล์จะบอกได้ว่าคนนี้จะมีชีวิตแบบไหน ยกตัวอย่างคดีในต่างประเทศ มีคนไปทำร้ายผู้เสียชีวิตอย่างโหดร้าย มีการทุบตีผู้ตาย ตำรวจตีวงว่าต้องเป็นคนในชุมชน และไปตามหาว่าใครที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว พบว่ามีคนหนึ่งชอบทำร้ายสัตว์ ทุบสุนัข ทุบแมวจนตาย จึงนำบุคคลดังกล่าวไปสอบสวน หาหลักฐานอื่นๆ ประกอบ และปรากฏว่าบุคคลนี้เป็นคนร้ายจริงๆ

ซึ่งกรณีของ 5 คนบนเรือนั้นนักจิตวิทยาสามารถประเมินได้ว่าภาวะการคิด การตัดสินใจ และสภาพจิตเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีเครื่องมือในการประเมินซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี โดยแพทย์นิติเวชต้องดูลักษณะของศพซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าเสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุใด ร่องรอยบาดแผลตามร่างกายน่าจะเกิดจากโดนวัตถุชนิดใด โดยจะนำวัตถุนั้นไปเปรียบเทียบกับร่องรอยบาดแผล เช่น มีการถอดใบพัดเรือไปเปรียบเทียบกับบาดแผลที่พบที่ขาของแตงโม

“คนพูดไม่จริง ยิ่งออกมาให้ข้อมูลก็ยิ่งมีพิรุธ แต่คนที่พูดจริง พูดกี่ครั้งก็เป็นความจริง เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ยากที่คดีนี้จะเงียบไปเฉยๆ เพราะสังคมจับตาอย่างมาก เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ สื่อติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีคำถามเกิดขึ้นมากมายในคดีนี้” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม
‘ทนายตั้ม’ หวั่นคดีเงียบผู้ต้องหาขึ้นสู่ศาลไม่ครบ

ด้านนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ระบุว่า คดีแตงโมนั้นมีความพยายามที่จะ drop กระแสด้วยการออกมาขอโทษนางพนิดา ศิรยุทธโยธิน คุณแม่ของแตงโม และรับสารภาพผิดทุกอย่าง และหวังว่าเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลจะได้รับโทษสถานเบา และถ้าคดีนี้เกิดเงียบขึ้นมาผู้ต้องหาที่จะต้องขึ้นสู่ศาลอาจไม่ครบก็เป็นได้

“ผู้ต้องหาอาจไม่ใช่ทั้ง 5 คน แต่ผู้ต้องหาคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมาททำให้แตงโมเสียชีวิต เมื่อคนอื่นที่ไม่ได้ขับเรือ ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมาท ยกเว้นจะมีพยานหลักฐานใหม่ไปเกี่ยวข้องกับแซน ว่าการที่แตงโมตกไปนั้น เป็นความผิดของแซน ถ้าแบบนี้อาจโดนตั้งข้อหาอีกคนได้”

ทนายตั้ม บอกว่า กรณีของแซนนั้นเท่าที่ทราบสำนวนการสอบสวน หรือการพิจารณา ยังไปไม่ถึงว่าแซนประมาท แต่ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีพยานหลักฐานใหม่ หรือใครบางคนให้การหรือคำให้การของแซนเองก็อาจจะมัดตัวเขาเองได้

“มีข้อกฎหมายอธิบายเทียบกรณีแซน คือถ้าเจอคนประสบอันตรายแล้วไม่ช่วย ก็มีความผิดอยู่และมีโทษทางอาญา แต่กรณีนี้แซนเล่าว่า วกเรือกลับมาแล้วแต่ไม่เจอ ซึ่งหากแซนจะโดนคดี อาจจะโดนในกรณีที่ทำให้แตงโมตกน้ำ แต่ต้องดูว่าพยานหลักฐานไปถึงหรือไม่ ถ้าถึงก็อาจโดนแจ้งอีกหนึ่งคน”

แนวโน้มคนผิด ‘ปอ-เบิร์ต’

อย่างไรก็ตาม คดีนี้คนขับเรือจะโดนข้อหาประมาท โทษที่ได้รับจะจำคุก 10 ปี และโทษปรับเป็นหลักแสน แต่ถ้าผู้ที่ต้องคดีรับสารภาพ มีการเยียวยาผู้เสียหาย ศาลท่านจะดูพฤติการณ์แวดล้อมต่างๆ ก็อาจจะรอลงอาญา ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล เพราะถือว่าไม่เป็นการเจตนา

“ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฏและการให้ปากคำจะพบว่า คุณปอ ขับเรือตลอดเวลา ซึ่งไม่สามารถหลุดความรับผิดตรงนี้ไปได้ แต่ก็มีการให้คนอื่นคือ คุณเบิร์ต ถือพวงมาลัยต่อ ซึ่งก็ขับเรือไม่เป็น แนวโน้มคนผิดเวลานี้จะเป็น คุณปอ และคุณเบิร์ต”

ทนายตั้ม ย้ำว่า เวลาผ่านไป หากมีกลไกพิเศษมาเกี่ยวข้องเราอาจจะเหลือผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว!

หากจะถามว่าทำไมจะเหลือเพียงคนเดียวนั้น ทนายตั้ม บอกว่าคำตอบอยู่ที่คำให้การของนายโรเบิร์ต เพราะไปยอมรับสารภาพว่าเป็นคนถือพวงมาลัยในช่วงเกิดเหตุการณ์พอดี นั่นหมายถึงนายโรเบิร์ต คือผู้ขับขี่

“แต่ถ้าจะสรุปว่าคดีนี้เป็นอุบัติเหตุที่แตงโมตกไปเอง จึงไม่มีคนผิด เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คดีนี้ต้องมีคนผิด ผมเชื่อจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏออกมา ส่วนกระติกที่สังคมพุ่งเป้าไปนั้น เป็นเพราะท่าทีที่แสดงออกมา แต่การกระทำของเขาไม่มีความผิดทางอาญา”

ทนายตั้ม บอกว่าถึงวันนี้เชื่อว่าคดีแตงโมเกิดจากความประมาท และขับเรือเร็วเกินไป อีกทั้งต้องมีคนผิดกฎหมายอาญา ส่วนจะเหลือเพียง 1 คนที่ต้องขึ้นศาลหรือไม่นั้นต้องติดตามกันต่อไป

ทนายนิด้า ‘ศรันยา หวังสุขเจริญ’
มีคนทำให้แตงโมตาย ผิด ม.291

ขณะที่ทนายนิด้า ‘ศรันยา หวังสุขเจริญ’ บอกว่า ถึงวันนี้มีความเชื่อว่า แตงโม ไม่ได้ตกน้ำตายเอง และเชื่อว่าคดีนี้มีคนผิด ซึ่งพิจารณาจากพยานหลักฐานผ่านสื่อ จากคำให้การ คำสัมภาษณ์ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เมื่อนำมาประมวลผลจึงเชื่อว่าคดีนี้ต้องมีคนที่ต้องรับผิดในฐานความประมาท

“ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นจริงและเป็นธรรมชาติคนจะสามารถเล่าได้เลย หากเราไม่เกี่ยวข้องกับความผิดนั้นๆ แต่ธรรมชาติของคนที่ต้องการปกปิดอะไรบางอย่างไว้ ต้องกลบเกลื่อน ซึ่งคำให้การจึงไปคนละทิศทาง หรือให้เหตุผลที่ไม่ make sense ไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ว่า อุบัติเหตุมันเกิดอย่างไร”

คดีนี้จึงน่าจะไม่ใช่อุบัติเหตุจากตัวแตงโมเองแต่น่าจะเป็นอุบัติเหตุจากตัวคนอื่นทำให้แตงโมเสียชีวิต และพยายามปกปิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 หากเกิดจากความประมาทโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท แต่จะต้องโทษเท่าไหร่นั้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาล

“กรณีประมาทเกิดได้หลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากการขับเรือเร็วก็ได้ หรืออาจไม่ได้ขับเร็ว แต่แตงโมอาจไปอยู่ในจุดอันตราย เช่น ขอบเรือ หรือจุดที่ไม่ควรอยู่ แต่คุณบังคับเรือ จอดเรือไม่สนิทหรือไม่เกี่ยวกับการจอดเรือ แต่เป็นผู้โดยสารด้วยกันที่ไม่ระมัดระวัง ทำให้แตงโมตกเรือ คือ ทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่ใช่มุ่งแต่คนขับเรือเพียงอย่างเดียว”


ทนายนิด้า อธิบายอีกว่า กรณีคนที่อยู่ในเรือได้เข้าไปขอขมาคุณแม่ของแตงโม และคุณแม่ให้อภัยแล้วก็ตาม แต่คดีนี้จะไม่ฟ้องไม่ได้ พูดง่ายๆ คดีนี้ยอมความไม่ได้ พนักงานสอบสวนต้องส่งฟ้อง แต่การที่เข้าไปขอขมา มีการเยียวยา และคุณแม่ให้อภัยนั้น ผู้ต้องหา หรือจำเลยเอาไปประกอบในสำนวนเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อให้ศาลเห็นว่า มีการสำนึกในการกระทำความผิด ศาลอาจมีการลงโทษสถานเบาลง ก็เป็นองค์ประกอบได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

ส่วนกรณีที่ในเรือสปีทโบ๊ตมีเสื้อชูชีพ 12 ตัว แต่ไม่มีการโยนไปให้แตงโมนั้น ทนายนิด้า ระบุว่าไม่ได้มองว่าเกิดจากความประมาท เพราะการประมาทเกิดขึ้นตอนที่ทำให้แตงโมตกน้ำ แต่เป็นพฤติการณ์ที่สนับสนุน ว่าทั้งหมดในเรือตั้งใจที่จะช่วยเหลือหรือไม่ช่วยเหลือมากกว่า ซึ่งจะเป็นความผิดได้ แต่เป็นความผิดลหุโทษหรืออย่างไรต้องไปดูข้อเท็จจริงอีกที

“ถ้าช่วยได้แล้วไม่ช่วย เบื้องต้นความผิดลหุโทษต้องมีอยู่แล้ว ข้อหนึ่งที่ว่า บุคคลใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย ซึ่งช่วยได้ แต่ไม่ช่วย จะเป็นความผิดลหุโทษ แต่จะไปไกลกว่านั้นมั้ยต้องดูว่าพนักงานสอบสวนได้ข้อมูลอย่างไร ทั้งหมดอยู่ที่พยานหลักฐานทั้งสิ้น ซึ่งความผิดลหุโทษ มีโทษจำคุกสูงสุด 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท


รวมไปถึงกรณีแตงโมไปจับขาแซน ในความเห็นส่วนตัว แซนไม่มีความผิดที่ประมาท ทำให้แตงโมเสียชีวิต เพราะเป็นแอ็กชันจากตัวคนตายอย่างเดียว แต่ถ้าแซนเห็นว่าตกน้ำ ก็ต้องดูว่าแซนช่วยได้หรือไม่ได้ ถ้าช่วยได้แล้วไม่ช่วยก็จะเป็นความผิดลหุโทษ


จากนี้ไปต้องติดตามดูว่าคดีการเสียชีวิตของแตงโมนั้นตำรวจจะสามารถรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้กี่คน และจะเหลือผู้กระทำผิดส่งฟ้องได้เพียง 1 คน ตามที่ทนายตั้ม ฟันธงจริงหรือไม่?...ยังเป็นเรื่องที่สังคมต้องการคำตอบ...

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น