xs
xsm
sm
md
lg

ล้างระบบเก่าวงการสงฆ์-ลดอำนาจ “ธรรมกาย” ครอบงำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ล้างบาปปราบอลัชชี” เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการล้างระบบเก่าวงการสงฆ์ ที่พระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมเคยถูกครอบงำโดยธรรมกาย ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงล้วนเกิดขึ้นหลังจากเกิดคดีกับพระธัมมชโย ลดอำนาจในมหาเถรสมาคม ตลอดจนล้างทุจริตในสำนักพุทธฯ ปัจจุบันขั้วอำนาจเก่าเหลือน้อย “นพรัตน์” แต่งงานใหม่ที่สหรัฐฯ ปี 55 ก่อนเกษียณ 1 ปี ก่อนเรื่องแดงปี 60  ขณะที่วัดดังได้เจ้าอาวาสใหม่

ปฏิบัติการ “ล้างบาปปราบอลัชชี ทุจริตเงินทอนวัด” เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565 สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน บก.ปปป. ได้รับการร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบงบอุดหนุนวัดของสํานักงานพระพุทธศาสนา ช่วงระหว่างปี 2550-2559 ของจังหวัดนครนายก หลังพบความผิดปกติหลายอย่างจนเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น

พบว่า นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมพวกเจ้าหน้าที่สํานักพุทธฯ ได้ร่วมกับพระสิทธิวรนายก (เจ้าคุณแจ๊ค) เจ้าอาวาสวัดเขาทุเรียน และรองเจ้าคณะจังหวัดนครนายก และเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในพื้นที่ ทุจริตเงินอุดหนุนจากสำนักพุทธฯ ที่อนุมัติให้วัดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครนายก 12 วัด ในวงเงินงบประมาณ 123 ล้านบาท

เมื่อเจ้าอาวาสแต่ละวัดได้รับเงินอุดหนุนแล้ว จะทำการถอนเงินสดออกมาทั้งหมดแล้วนําไปให้พระสิทธิวรนายก จากนั้นจะแบ่งเงินเพียงบางส่วนทอนให้วัดต่างๆ คืนไป ทั้งอดีต ผอ.สํานักงานพระพุทธศาสนา และเจ้าอาวาสวัดเขาทุเรียน หลังได้เงินมาแล้วได้นำเงินบางส่วนไปซื้อที่ดินทรัพย์สินต่างๆ จํานวนมากโดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนแล้วว่า ทั้งคู่ได้กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครนายก จํานวน 3 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 10 ไร่ มูลค่ารวมประมาณ 18.6 ล้านบาท โดยให้บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนในลักษณะอําพรางปกปิด


ทุกอย่างเริ่มหลังคดีธัมมชโย 

นักวิชาการด้านพุทธศาสนากล่าวว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับพระชั้นผู้ใหญ่เรื่องเงินทอนวัด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในมหาเถรสมาคม หากสังเกตให้ดีจะพบว่าล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นหลังจากมีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เชื่อมโยงมาถึงพระธัมมชโย

อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 

ก่อนที่เรื่องนี้จะแดงออกมา 15 กุมภาพันธ์ 2559 เจ้าคุณประสาร จัดม็อบพระแสดงพลังที่พุทธมณฑล หนุนสมเด็จช่วง ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการออกหมายเรียกพระธัมมชโย มาดำเนินคดีช่วงต้นเดือนเมษายน 2559

จากนั้นฝ่ายรัฐมีการแก้ไขกฎหมายช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 เปลี่ยนหลักเกณฑ์การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช จนได้สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ตามมาด้วยแก้ไขโครงสร้างของมหาเถรสมาคมในปี 2561

ส่วนคดีของพระธัมมชโย รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย เมื่อข้ามเข้าสู่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อนำตัวพระธัมมชโย มาดำเนินคดีแต่ไม่พบ และได้ยกเลิกการควบคุมพื้นที่เมื่อ 11 เมษายน 2560


ล้างทุจริตสำนักพุทธฯ

ระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จากนายพนม ศรศิลป์ มาเป็น พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับพระธัมมชโย ได้ ทุกอย่างติดขัดที่ขั้นตอนทางสงฆ์ที่อยู่ในสายบังคับบัญชาของเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ไปจนถึงเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่ล่าช้าไม่สามารถสึกพระธัมมชโยได้

จากนั้นจึงเกิดคดีเงินทอนวัดในช่วงกลางปี 2560 พบว่าอยู่ในยุคของอดีตผู้อำนวยการคนก่อนคือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ต่อเนื่องมาถึงนายพนม ศรศิลป์ จึงมีการตรวจสอบไปตามวัดต่างๆ สร้างความไม่พอใจให้พระผู้ใหญ่ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ถึงกับกดดันให้มีการเปลี่ยนตัว ผอ.สำนักพุทธฯ อย่างพงศ์พร ซึ่งรัฐบาลมีคำสั่งย้ายให้ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ถูกสังคมกดดันจนต้องย้ายกลับมาที่เดิม

คดีเงินทอนวัดได้ถูกตรวจสอบไปตามวัดต่างๆ รวมถึงวัดดังอย่างวัดสระเกศ วัดสามพระยา วัดสัมพันธวงศ์ ถูกตำรวจบุกเข้าไปเมื่อ 19 เมษายน 2561 โดยเจ้าอาวาส 2 วัดแรก พระพรหมสิทธิ และพระพรหมดิลก ถูกดำเนินคดีต้องสึกจากความเป็นพระ ส่วนพระพรหมเมธีวัดสัมพันธวงศ์ หนีคดีไปเยอรมนี ทั้ง 3 รูปล้วนมีตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม


ลดอำนาจครอบงำสงฆ์

แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนา กล่าวว่าเมื่อลองนำเอาแต่ละเหตุการณ์เข้ามาเชื่อมต่อกันอาจทำให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการสงฆ์ของประเทศไทย ทุกอย่างที่เราเห็นถือเป็นการลดอำนาจของวัดพระธรรมกายที่เข้ามาครอบงำพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมในยุคก่อนหน้า

เริ่มที่สมเด็จช่วง ประกาศเป็นวัดพี่วัดน้องระหว่างวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกาย ขณะนั้นสมเด็จช่วง ยังมีบทบาทในมหาเถรสมาคมสูงไม่ว่าจะกิจกรรมใดของวัดพระธรรมกายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องธุดงค์ผ่าเมือง รวมถึงเรื่องแนวทางของหลักธรรมคำสอนที่ถูกตั้งข้อสงสัย ล้วนแล้วแต่ไม่มีหน่วยงานใดทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายสงฆ์เข้าไปแตะต้อง

อีกทั้งโครงสร้างในมหาเถรสมาคมขณะนั้นพระระดับสมเด็จถือว่าเป็นโดยตำแหน่ง อยู่ยาวจนกว่าจะลาออกหรือมรณภาพ ทำให้ถูกผูกขาดอำนาจเพียงไม่กี่วัด ระดับกรรมการที่หมุนเวียนกันล้วนแล้วแต่มาจากสายของพระผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจทั้งสิ้น อีกทั้งพระผู้ใหญ่เหล่านี้มีผลต่อเรื่องยศตำแหน่งของพระหากต้องการเติบโตต้องไม่แตกแถว

คนในสำนักงานพระพุทธศาสนาเองต้องเข้ามาทำงานตอบสนองต่อพระผู้ใหญ่ รวมถึงร่วมงานกับวัดพระธรรมกายในหลายกิจกรรม ทั้งนายนพรัตน์ และนายพนม เพราะความเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดปากน้ำ

ธรรมกายต้องการแค่การรับรอง

ว่ากันตามตรง วัดพระธรรมกายไม่จำเป็นต้องของบประมาณใดๆ จากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาเลย เพราะแค่บอกบุญกับลูกศิษย์ก็ได้มากกว่างบของทางการแล้ว เพียงแต่กิจกรรมของวัดพระธรรมกายจำเป็นต้องใช้พระผู้ใหญ่เหล่านี้ รวมถึงสำนักพุทธฯ มาร่วมงานเพื่อสร้างเครดิตให้ทางวัดว่าพระผู้ใหญ่-สำนักพุทธฯ ให้การสนับสนุนจึงไม่มีใครกล้าแตะวัดพระธรรมกาย

อิทธิพลของวัดพระธรรมกายครอบงำในมหาเถรสมาคมในยุคนั้นได้เกือบทั้งหมด ผ่านสายสัมพันธ์จากวัดปากน้ำ มติของมหาเถรสมาคมย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และพระธัมมชโย ก็รอดจากคดีเก่าในปี 2541-2542 และมาหลุดในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ส่วนคดีปี 2559 ถูกลากออกไปจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างใหญ่ของอำนาจสงฆ์จึงต้องดำเนินการในหลายมิติ ทั้งเรื่องกฎหมาย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเพื่อลดการผูกขาด พร้อมทั้งล้างการทุจริตในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสร้างความเป็นธรรมให้วัดอื่นๆ


นพรัตน์แต่งงานใหม่ก่อนเกษียณ

การทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีช่องโหว่ของหน่วยงานอย่างสำนักพุทธฯ ที่มีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณภายใต้อำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา วัดใหญ่ๆ จะมีงบให้แทบทุกปี บางครั้งสิ่งปลูกสร้างในวัดไม่ชำรุด แต่คนในสำนักพุทธฯ ก็จัดงบให้ วัดเองก็อยากได้เงิน เลยกลายเป็นการทุจริตที่เกิดขึ้น

หากพิจารณาจากสิ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบนายนพรัตน์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2553-30 กันยายน 2557 พบเงินฝากและทรัพย์สินต่างๆ ของนายนพรัตน์ และเครือญาติรวมแล้วมากกว่า 575 ล้านบาท เสนอให้กรรมการ ป.ป.ช.ให้มีการอายัด

นายนพรัตน์ เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2556 โดยในปี 2555 เว็บไซต์ Alittlebuddha.com อ้างถึงข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ สหรัฐฯ รายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2555 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เนื่องในพิธีมงคลสมรสกับ น.ส.จำลองรัตน์ แจ่มเจริญ ทั้งนี้ ในตอนเย็นวันเดียวกันมีพิธีฉลองสมรสที่โรงแรม Rosewood Crescent Court ชั้นที่ 17

เชื่อกันว่าทุกวันนี้นายนพรัตน์ ยังคงหนีคดีอยู่ที่สหรัฐฯ และคดีของนายนพรัตน์ ที่ถ่ายโอนทรัพย์สินไว้กับอดีตภรรยาทั้ง 2 คนแล้วไปแต่งงานใหม่ที่สหรัฐฯ น่าจะมีการวางแผนไว้อย่างดีก่อนที่ตัวเองจะเกษียณ เพราะกว่ารัฐจะทราบเรื่องหลังจากเกษียณไปแล้วราว 4 ปี

วัดดังได้เจ้าอาวาสใหม่

การจัดโครงสร้างของบรรดาวัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเจ้าอาวาสวัดมรณภาพ หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยคดีความได้มีการแต่งตั้งกันใหม่ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมแจ้งว่าตามที่สมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตว่าด้วยการแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง บัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จำนวน 50 รูป

วัดที่เคยเป็นข่าวมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสใหม่ เช่น พระราชสารเวที (ณัฐเมธี) จากรักษาการแทน ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามพระธรรมโพธิมงคล (สมควร) เจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระเทพวิสุทธิดิลก (ละเอียด) รักษาการขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสามพระยา พระศรีปริยัติสุธี (ปรีชา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง พระราชภาวนาพิธาน (ศิริวัฒน์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น