จับตา 22 ก.พ.นี้ บอร์ดประกันสังคมจะอนุมัติเงิน 30,000 ล้านบาท จากกองทุนประกันสังคมไปฝากแบงก์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในโครงการเงินกู้เพื่อผู้ประกันตนหรือไม่? ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุ “ออมสิน” ยืนยันประกันสังคมไม่มีความเสี่ยง ส่วนแรงงานได้ใช้เงินกู้ดอกเบี้ยถูก แทนเงินกู้นอกระบบจ่ายดอกเบี้ยมหาโหดก่อนยกระดับเป็น ‘ธนาคารแรงงาน’ แจงหากไม่อนุมัติ มีเหตุผลเดียว ‘ประกันสังคมไม่มีเงิน’ จริงหรือ และต้องชี้แจงเงินสมทบจาก 2.1 ล้านล้านบาทในระบบหายไปไหน ขณะที่กระแสข่าวลือมีเงินเหลือเพียงหมื่นกว่าล้านบาท!
ฝันของผู้ใช้แรงงานตาม ม.33, 39 และ ม.40 จำนวน 23,803,063 ล้านคน หวังว่าจะมี ‘ธนาคารแรงงาน’ เพื่อรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูกเพื่อผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม แทนที่พวกเขาเหล่านี้จะต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยมหาโหด บางรายร้อยละ 15-20 ต่อเดือน จะได้เข้ามาใช้บริการธนาคารแห่งนี้ที่พวกเขาเป็นเจ้าของเงินทั้งหมด
ส่วนฝันนี้จะเป็นจริงหรือไม่! อยู่ที่คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ว่าจะอนุมัติหรือไม่ และถ้าอนุมัติโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องเสนอเข้า ครม. เพราะเป็นอำนาจของบอร์ดประกันสังคมโดยตรง
แต่ถ้าบอร์ดฯ ไม่อนุมัติ คงต้องมีคำตอบให้ผู้ประกันตนว่าเหตุใดจึงไม่อนุมัติ ติดประเด็นปัญหาที่ตรงไหนอย่างไร! ที่สำคัญคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของธนาคารแรงงาน ที่มีนายบุญสงค์ ทัพชัย เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธาน พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากธนาคารออมสิน นักวิชาการ ข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน และผู้แทนแรงงานได้มีแผนดำเนินการไว้ชัดเจน โดยที่ไม่ทำให้เงินกองทุนประกันสังคมต้องเสียประโยชน์แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ได้มีกระแสข่าวลือว่า หากจะไม่มีการตั้งธนาคารแรงงานอาจมีเหตุผลเดียวคือ เงินกองทุนประกันสังคมอาจอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่? พร้อมกับมีคำถามตามมาว่าเงินสะสมในระบบประกันสังคมปัจจุบันมีอยู่ถึง 2.1 ล้านล้านบาท กระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง
ดังนั้น วันที่ 22 ก.พ.อาจจะเป็นวันที่รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม จะต้องชี้แจงให้เจ้าของเงิน คือ ผู้ประกันตนทั้งระบบได้รับรู้ว่าเงินของพวกเขาอยู่ที่ไหน
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็น ประธานคณะทำงานโครงการเงินกู้พัฒนาชีวิตแรงงาน และเป็นอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ที่มีนายบุญสงค์ ทัพชัย เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นประธาน ได้มีการศึกษาและได้ข้อสรุปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า โครงการนี้เกิดขึ้นได้แน่นอน ซึ่งผู้แทนจากธนาคารออมสินได้ระบุไว้ชัดเจนว่าการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ไม่ได้ทำให้กองทุนประกันสังคมเสียหายแต่อย่างใด และคณะทำงานที่ รศ.ดร.ณรงค์ เป็นประธาน และชุดอนุกรรมการฯ ได้มีการศึกษาแล้วว่าการจัดตั้งไม่มีข้อห้ามหรือผิดกฎหมายประกันสังคมแต่ประการใด
สำหรับแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงานนั้น ในเบื้องต้นได้เสนอให้กองทุนประกันสังคมนำเม็ดเงิน จำนวน 30,000 ล้านบาทไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน หรือธนาคารใดก็ได้ที่บอร์ดฯเลือก เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะต้องไม่มีการถอนก่อนกำหนด และกองทุนประกันสังคมจะได้ดอกเบี้ยปกติตามระบบธนาคาร
จากนั้นให้มีการทำ MOU ในลักษณะเป็นโครงการเงินกู้เพื่อผู้ประกันตน แต่การปล่อยกู้จะต้องขอให้แบงก์ที่ทำ MOU ซึ่งสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยกู้ได้ เพียงแต่ขอให้มีการผ่อนปรนด้วยการใช้กลไกอื่นๆ เข้าไปดูแลได้บ้าง โดยผู้ประกันตนที่ต้องการจะกู้นั้นต้องยอมรับเงื่อนไข 2 ประการคือ!
1.จะต้องออมหรือฝากประจำไว้ จำนวน 10% ของยอดเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี เช่นกู้ 10,000 บาท ก็ต้องออม 1,000 บาท กู้ได้สูงสุด 50,000 บาท ก็ต้องออม 5,000 บาท และเงินออมนี้ก็จะได้ดอกเบี้ยปกติเช่นกัน
2.ผู้กู้จะต้องเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้ โดยการฝากเป็นบัญชีเงินเดือนไว้กับธนาคารเพื่อเป็นหลักประกัน หากใครไม่ชำระหนี้ก็มีหลักประกันจากบัญชีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว
3.เมื่อครบกำหนด 3 ปีของโครงการนี้ จะมีเงินออมตามเงื่อนไขข้อที่ 1 นั้นจำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินตั้งต้นในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ด้วยเงิน 3,000 ล้านของผู้ประกันตน
“เงินกองทุน 30,000 ล้านบาท เป็นเงินฝากประจำ ไม่มีเสียหาย ได้ดอกเบี้ยเหมือนกับที่ประกันสังคมนำไปซื้อพันธบัตร หรือฝากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งไม่มีความเสี่ยงเหมือนกับไปซื้อหุ้นในตลาดด้วย เวลาผ่านไป 3 ปี ก็เอาเงินออมของแรงงานที่ฝากไว้ 10% ไปจัดตั้งธนาคาร”
ส่งผลให้ธนาคารแรงงานเป็นของผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตน และเพื่อผู้ประกันตน ซึ่งไม่ใช่เงินของรัฐบาล หรือเงินของสำนักงานประกันสังคมแต่อย่างใด แต่เปิดโอกาสให้รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ เข้าไปถือหุ้นได้เช่นกัน!
จากจุดเริ่มต้นเงินฝากของกองทุนประกันสังคมจำนวน 3 หมื่นล้าน เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อผู้ประกันตน และยกระดับเป็นการจัดตั้งเป็นธนาคารแรงงาน จะใช้เวลา 3 ปี ซึ่งในช่วง 3 ปี ต้องไปศึกษากันว่ามีข้อกฎหมายใดบ้างที่ติดขัด ต้องผ่านสภาฯ หรือไม่ ก็ใช้เวลาตรงนี้ไปดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นธนาคารแรงงานต่อไป
"ไปดูข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพบว่า สำนักงานประกันสังคมถือหุ้นแบงก์ในลำดับต้นๆ เช่น ถือหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ถือหุ้นกสิกรไทย (KBANK) ใหญ่อันดับ 4 ถือหุ้นไทยพาณิชย์ (SCB) ใหญ่เป็นอันดับ 6 หรือไปถือหุ้นบริษัท ปตท.(PTT) ใหญ่เป็นอันดับ 5"
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ บอกว่า จากข้อมูลการถือหุ้นต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า เงินในระบบของแรงงานได้ไปอยู่ในธนาคารใหญ่ๆ ทั้งนั้น ทำไม? สำนักงานประกันสังคมจะยอมปล่อยให้ผู้ประกันตนต้องดิ้นรนไปกู้นอกระบบได้อย่างไร อีกทั้งเงินบางส่วนที่นำไปลงในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็มีความเสี่ยง ล่าสุด มีการนำเงิน 30,000 ล้านไปให้ธนาคารกรุงเทพปล่อยกู้ให้ธุรกิจ SME ซึ่งต้องถามว่าเหตุใดยังทำได้ แล้วทำไม? จึงไม่จัดทำโครงการปล่อยกู้ให้ผู้ใช้แรงงาน
ประเด็นสำคัญรัฐบาลหรือสำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ร่วมเป็นกรรมการ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่าการที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาท ไปฝากประจำเพื่อนำผลประโยชน์ที่ได้ไปตั้งธนาคารแรงงานนั้นต้องถือว่าการปล่อยกู้ให้แรงงานเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย ขณะที่เงินต้นยังอยู่ครบถ้วนใช่หรือไม่
“ได้มีการคุยกับออมสินและในคณะอนุกรรมการฯ ทุกฝ่ายมั่นใจว่าไม่เสี่ยง เพราะเราจะมีทีมติดตามทวงหนี้ เพื่อใช้หนี้ในการพัฒนาคนต่อไป โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับกระทรวง อว.ซึ่งคนกู้จะต้องมีการทำบัญชีครัวเรือน และมีการประชุมติดตามทุกๆ เดือนอยู่แล้ว ส่วนเงินที่จะนำมาจัดการเรื่องนี้จะเจรจาจากแบงก์ที่ทำ MOU เพียงตัดกำไร.05-1 มาใช้จัดทำ”
อย่างไรก็ดี โครงการเงินกู้เพื่อผู้ประกันตน บอร์ดฯ จะอนุมัติหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามเพราะถ้าไม่ผ่านจะมีแรงกดดันจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้อธิบายสาเหตุของการไม่อนุมติ และจะต้องชี้แจงให้ละเอียดว่าเงินสะสมของผู้ประกันตน 2.1 ล้านล้านบาท นอกจากที่รัฐบาลเอาไปใช้ 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือกระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง และเสียหายจากการลงทุนจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร
“ภาคแรงงานเขาเชื่อว่า ถ้าจะไม่อนุมัติให้มีการจัดทำโครงการเงินกู้เพื่อผู้ประกันตน ที่จะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งธนาคารมีเหตุผลเดียวคือ ไม่มีเงินในกองทุน พร้อมๆ กับมีการปั่นกระแสกันว่า เงินกองทุนเหลืออยู่เพียงหมื่นกว่าล้านเท่านั้น”
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ บอกอีกว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานต้องการที่จะพัฒนาจากโครงการเงินกู้ไปสู่การจัดตั้งธนาคารแรงงาน ซึ่งเมื่อธนาคารแรงงานมั่นคง จะมีกระบวนการจัดตั้งสหกรณ์ และนำไปสู่การลงทุนสร้างโรงพยาบาลเพื่อผู้ประกันตนตามแผนใช้เวลาจากนี้ไปอีก 5-7 ปี
แต่ถ้าจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งโครงการเงินกู้เพื่อผู้ประกันตน บอร์ดฯ ไม่เห็นด้วยในการประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ โครงการจัดตั้งธนาคารแรงงานและโรงพยาบาลเพื่อผู้ประกันตนก็จะเป็นเพียงความฝันของผู้ประกันตนต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/