xs
xsm
sm
md
lg

“3 สำนักโพล” เผยผลสำรวจทำอย่างไร? จึงจะชนะการเลือกตั้ง กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โพล 3 สำนัก” เผยสิ่งที่คนกรุงเทพฯต้องการจากผู้ว่าฯ กทม. “นิด้าโพล” ชี้ผู้ว่าฯ ต้องเก่งด้านการประสานงาน ชาวบ้านอยากได้ ส.ก.-ส.ข. ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระ ด้าน “สวนดุสิตโพล” ระบุคนรุ่นเก่าเลือกพรรค คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเลือกเพราะนโยบาย ส่วนชุมชนแออัดจะเลือกคนที่เข้าถึงง่ายและช่วยแก้ปัญหา ขณะที่ “ซูเปอร์โพล” พบ คนกรุงเทพฯ ต้องการสุขภาวะที่ดี และให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง แนะวางนโยบาย 2 ระดับ คือ ระดับร่มใหญ่ และระดับชุมชน

นอกจากการเมืองในรัฐบาลที่กำลังดุเดือดเข้มข้นแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่คนกรุงเทพฯ รอคอยก็มีหลายพรรคหลายค่ายที่เปิดตัวหาเสียงกันอย่างดุเดือดเช่นกัน แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้สมัครแต่ละคนอยากรู้คือ ทำอย่างไรจึงจะชนะใจคนกรุงเทพฯ และสามารถฝ่าฟันเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้สำเร็จ?

ปรมาจารย์ด้านโพลจากหลากหลายสำนักได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ แต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ว่าต้องการอะไรจาก “ผู้ว่าฯ กทม.”

“ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล”
“ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา พบว่า สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากผู้ว่าฯ กทม.คือ การแก้ปัญหาการจราจร น้ำท่วม และอาชญากรรม

นอกจากนั้น ช่วงนี้ “นิด้าโพล” ได้ทำแบบสอบถามว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.และเลือก ส.ก.-ส.ข.กลุ่มไหน โดยได้ทำแบบสอบถามเรื่องนี้ทุกเดือน ซึ่งผลโพลนั้นมีความแตกต่างเรื่องเปอร์เซ็นต์ แต่ลำดับผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ไม่แตกต่าง โดยคะแนนสูงสุดยังเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ซึ่งคะแนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงแรกได้คะแนน 23% โดยผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมีเปอร์เซ็นต์สูงสุด แต่จากการทำแบบสอบถามครั้งที่ 5 ปรากฏว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่เลือกนายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. มากกว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ ล่าสุด มีผู้ระบุว่าจะเลือกนายชัชชาติ ถึง 38% ซึ่งยากมากที่คู่แข่งจะกดคะแนนนายชัชชาติ ลงได้ ต้องเป็นคนที่เด่นจริงๆ

ส่วน ส.ก.-ส.ข.นั้นผลโพลชี้ว่าคนส่วนใหญ่เลือกผู้สมัคร ส.ก.-ส.ข.ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง รองลงมาคือผู้สมัคร ส.ก.-ส.ข.ในทีมนายชัชชาติ เนื่องจากต้องการให้ ส.ก.-ส.ข.คานอำนาจกับผู้ว่าฯ กทม.เพราะไม่อยากให้เกิดการฮั้วกัน

“คุณสมบัติที่จำเป็นของผู้ว่าฯ กทม. คือต้องเข้าใจพื้นที่ รู้ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการอะไร สามารถแก้ปัญหาพื้นๆ อย่างปัญหาการจราจร น้ำท่วม และปัญหาอาชญากรรม เช่น ติดตั้งไฟส่องสว่างและกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ เพื่อป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรม ข้อสำคัญคืออำนาจของผู้ว่าฯ กทม.นั้นจริงๆ มีน้อยมาก ต่างจากผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ จึงต้องประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ควรมีคุณสมบัติเรื่องทักษะในการประสานงานด้วย” ผศ.ดร.สุวิชา ระบุ

 “นายณัฐพล แย้มฉิม” ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล
ด้าน “นายณัฐพล แย้มฉิม” ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลที่สำรวจเมื่อเดือน ธ.ค.2564 พบว่า สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินการ ได้แก่ อันดับหนึ่ง ต้องการให้แก้ไขปัญหาการจราจรและการขนส่งสาธารณะ 85% รองลงมา ต้องการให้ดูแลคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย 70% ตามด้วย ต้องการให้ดูแลเรื่องรายได้ การมีงานทำ และค่าครองชีพ 64% ต้องการให้แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำเสีย 60%

“สิ่งที่จะทำให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ชนะใจคนกรุงเทพฯ ได้คือนโยบาย และวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา ซึ่งปกติสิ่งที่ประชาชนอยากได้จากผู้ว่าฯ กทม.คือการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรถติด น้ำท่วม ปัญหาคุณภาพชีวิต การมีงานทำ ปัญหาน้ำเสีย ฝุ่นละออง รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนั้น ยังต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.มีความซื่อสัตย์สุจริต มีทีมงานมืออาชีพ ซึ่งในส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แต่ละคนนั้นจะศึกษาความต้องการของคน กทม.ว่าต้องการอะไรเพื่อนำมาเป็นแคมเปญในการรณรงค์เลือกตั้งและทำนโยบายให้ตอบโจทย์เพื่อเรียกคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” นายณัฐพล ระบุ

ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล กล่าวต่อว่า การตัดสินใจลงคะแนนของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าใน กทม.นั้นมีความแตกต่างกัน โดยคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเป็นกลุ่มที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนมากพอสมควร ส่วนคนกลุ่มเดิมที่ยังตัดสินใจเลือกเพราะชื่นชอบพรรคการเมืองก็ยังมี ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะมองมิติเดียวไม่ได้ ถามว่าพรรคเป็นตัวแปรไหม มีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด แม้บางคนจะเป็นผู้สมัครอิสระซึ่งสามารถดึงคะแนนเสียงของคนกลุ่มหนึ่งได้ แต่คะแนนไม่ได้นำขาด เนื่องจากมีทั้งปัจจัยจากตัวพรรคการเมือง ปัจจัยเรื่องนโยบาย ตัวผู้สมัคร และปัจจัยเรื่องกระแสของวัยรุ่นที่เลือกตั้งครั้งแรกซึ่งต้องการคนใหม่ๆ ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น คะแนนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้อยู่ที่ว่าพรรคหรือผู้สมัครจะมีแนวทางหรือนโยบายที่จะเจาะคนแต่ละกลุ่มอย่างไร วิเคราะห์เรื่องประชากรศาสตร์อย่างไร วิเคราะห์เรื่องพื้นที่สวิงโหวตของตัวเองอย่างไร หรือวิเคราะห์ฐานเสียงเดิมซึ่งเป็นคะแนนนิยมของพรรคตัวเองอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศเปิดตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครบทุกพรรค การแข่งขันในพื้นที่เดิมซึ่งมีทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ น่าจะแข่งขันกันสนุก พรรคก้าวไกลที่เพิ่งเข้ามาและโกยคะแนน ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา น่าจะมีฐานเสียงคนรุ่นใหม่มากพอสมควร ดังนั้นการดึงคะแนนเสียงจากคนที่ยังไม่ตัดสินใจ คนที่รอดูนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“สำหรับคนรุ่นใหม่นิวเจนที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก อายุประมาณ 18-24 ปี ถ้าดูจากกระแสในโซเชียลจะพบว่าเขาต้องการเปลี่ยน อยากได้อะไรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เขาได้มากกว่า เป็นอะไรที่ตรงใจวัยรุ่น วัยทำงาน เป็นคนเก่ง มีผลงาน ขณะที่คนรุ่นเก่าจะเลือกจากความเชื่อทางแนวคิดของนักการเมืองกลุ่มเดิมที่เขายังชื่นชอบอยู่ อย่างที่เคยได้ยินว่าพรรคการเมืองบางพรรคส่งใครมาเขาก็เลือกเพราะมีความนิยมในตัวพรรค นิยมในตัวหัวหน้าพรรค ขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเห็นว่าหากตัวแทน ส.ก.-ส.ข.ในพื้นที่ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองนั้นๆ มีผลงานที่เขาพอใจ เขาก็จะเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคเดียวกัน” นายณัฐพล กล่าว


นายณัฐพล ชี้ว่า ประชาชนที่อาศัยในแต่ละพื้นที่ก็มีมุมมองในการเลือกผู้ว่าฯ กทม.แตกต่างกัน อย่างกรุงเทพฯ ชั้นนอก เช่น มีนบุรี หนองจอก ยังนิยมพรรคเพื่อไทยอยู่ ขณะที่คนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจนั้นคะแนนจะเป็นของประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และก้าวไกล ซึ่งกลุ่มที่เลือกพลังประชารัฐอาจเป็นฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์ คนที่เลือกก้าวไกลอาจเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่อยากลองการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

นอกจากนั้น กลุ่มคนที่อยู่ในที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันก็มีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเช่นกัน ด้วยประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน คนบางกลุ่มอาจจะมองภาพใหญ่ของสังคม ผู้ว่าฯ กทม.ที่เขาจะเลือกต้องสามารถแก้ปัญหาโดยรวมของกรุงเทพฯ ได้ ขณะที่บางคนอาจมองแค่ชุมชนของตัวเอง คนที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องแก้ปัญหาให้ชุมชนเขาได้

“จากการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ของสวนดุสิตโพลในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า คนที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรจะเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากนโยบายเป็นหลัก ทั้งจากนโยบายของผู้สมัครและนโยบายของพรรคการเมือง รองลงมาคือ ตัวบุคคล ต้องเป็นคนเก่ง เป็นคนดี ส่วนคนที่อยู่ในชุมชนแออัดจะเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากผลงาน และการช่วยเหลือชุมชน ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ ขณะที่คนที่อยู่ในคอนโดฯ ซึ่งอาจเป็นคนที่ทำงานแล้วย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนชั้นกลาง กลุ่มนี้มีทั้งที่ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากนโยบาย และตัวบุคคล” นายณัฐพล ระบุ

“ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ
ขณะที่ “ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ในฐานะประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยว่า จากการลงสำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดถึง 40% อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร 30% และคนที่อยู่ในคอนโดหรืออาคารสูง 25% และอื่นๆ อีก 5% โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า คนกรุงเทพฯ ต้องการสุขภาวะที่ดีทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การทำมาหากิน ปากท้อง สามารถเพิ่มเงินในกระเป๋าของคนกรุงเทพฯ และช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาจราจร

“นอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงเทพฯ แล้ว ผู้ว่าฯ กทม.ยังต้องทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศควบคู่ไปด้วย โดยทำให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง โดยวางแนวทางให้ชัดเจนว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไร แต่ไม่ทำให้กรุงเทพฯ เกิดความแออัดและเกิดความไม่ปลอดภัย” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าว

ผศ.ดร.นพดล ยังได้เสนอแนวนโยบายเพื่อจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงเทพฯ ได้ ว่า ต้องมีนโยบาย 2 ระดับ คือ นโยบายร่มใหญ่ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯ ทั้งหมด และนโยบายระดับชุมชน ซึ่งในระดับแขวงระดับเขตอาจจะมีความต้องการที่แตกต่างจากนโยบายร่มใหญ่ เช่น ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งทำมาหากินอยู่ในชุมชนโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจร แต่มักได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมทุกปี ผู้ว่าฯ กทม.จึงต้องมีนโยบายระดับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนั้น ควรที่จะเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางของนานาชาติ ซึ่งกรุงเทพฯ มีจุดเด่นทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ซึ่งแตกต่างจากโตเกียว ฮ่องกง กรุงโรม นิวยอร์ก โดยต้องทำให้กรุงเทพฯ น่าดึงดูดใจสำหรับชาวโลก โดยใช้เทคโนโลยี nft (Non-Fungible หรือเทคโนโลยีที่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์) เปลี่ยนคุณค่าของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้เป็นมูลค่า เช่น พระปางต่างๆ ซึ่งมีเฉพาะในประเทศไทย เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน ทำให้เกิดคุณค่าที่ต่างชาติอยากครอบครอง โดยนำเอกลักษณ์เหล่านี้ไปอยู่ในสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสงวนสิทธิความเป็นเจ้าของ อันจะนำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในคนกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มั่งคั่งและมีความสุขอย่างยั่งยืน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebooķ :
https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram : https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok : https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/




กำลังโหลดความคิดเห็น