“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ชี้จะยุบ “เพื่อไทย” ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่า “ทักษิณ” ครอบงำพรรค หรือมีสลิปการโอนเงินเพื่อสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ด้าน “รศ.วันวิชิต” เชื่อหากถูกยุบเพื่อไทยอาจมีขนาดเล็กลง แต่ยังคงครองใจประชาชนได้เหมือนเดิม ตราบใดที่ “พี่โทนี่” ยังคงสนับสนุน และมีนโยบายประชานิยมที่จับต้องได้ คาดหากยุบพรรคหลังประกาศเลือกตั้ง ทำสมาชิกเพื่อไทยลงสมัครไม่ได้เพราะย้ายพรรคไม่ทัน คะแนนจะเทไปพรรคพันธมิตร และอาจเกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่
เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับการยื่นยุบ “พรรคเพื่อไทย” ในห้วงเวลาที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที แม้เพื่อไทยจะตั้งพรรคสำรองไว้รองรับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น หากพรรคถูกยุบก็สามารถย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่ได้ทันที แต่หลายคนยังกริ่งเกรงว่า การยุบพรรคจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ พรรคสำรองที่ตั้งใหม่จะยังเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเปล่า และบรรดาขุนพลของพรรคจะยังคงอยู่ หรือหดหายไปจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง!
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นพรรคเพื่อไทยถูกยื่นยุบพรรคถึง 5 ครั้ง จาก 5 กรณีด้วยกัน คือ 1) กรณีที่ทักษิณ ชินวัตร ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์-อัดคลิปว่าสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทย 2) กรณีที่ทักษิณ วิดีโอคอลพูดถึงแผนการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย 3) กรณีที่ “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่าได้ต่อสายหารือกับ “พี่โทนี่” เรื่องขอย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย 4) กรณีที่ "ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์" หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าพรรคเพื่อไทยให้เงินสนับสนุนในการชุมนุมทางการเมือง และ 5) กรณีที่ "พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี" ระบุว่า ถูก "ทักษิณ" สั่งปลดออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งแต่ละกรณีที่ยื่นคำร้องนั้นยังไม่มีการวินิจฉัยจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพรรคการเมืองอย่าง “รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า กรณียื่นยุบพรรคเพื่อไทยนั้น เมื่อ กกต.รับเรื่องแล้วจะตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงและเรียกผู้ที่ยื่นคำร้องมานำเสนอข้อมูลว่าหลักฐานต่างๆ เป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นคลิปที่นายทักษิณ กล่าว หรือบรรยากาศในงาน ซึ่งนายทักษิณ วิดีโอคอลมาว่ามีใครร่วมในงานบ้าง เป็นกรรมการบริหารพรรคหรือเปล่า และหลังจากนั้นกรรมการบริหารพรรคได้ไปลงมติว่าจะดำเนินการตามที่นายทักษิณ พูดไว้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน โดยต้องดูว่า ใครพูด พูดกับใคร พูดแล้วเกิดผลตามมาอย่างไร หรือกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาบอกว่าโทร.คุยกับนายทักษิณ แล้วว่าจะขอย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย ก็ต้องดูว่าปัจจุบันเขาย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยได้หรือเปล่า
หรือในกรณีที่นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กระบุ พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการเงินในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 45 และมาตรา 92 (1) (2) (3) (4) ก็ต้องดูว่ามีหลักฐานสลิปการโอนเงินหรือไม่ บัญชีที่โอนเป็นของใคร มีฐานะเป็นนายหน้าของพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ไม่ยากหากมีการโอนเงินให้จริงๆ
รศ.สมชัย กล่าวต่อว่า กกต.ต้องดูจากหลักฐาน ดูจากสิ่งที่ผู้ร้องร้องเข้ามา จากนั้นหาก กกต.เห็นว่าไม่ผิดก็ยกคำร้องไป แต่ถ้าเห็นว่าผิดก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเท่าที่ดูยังไม่ชัดเจนว่ามีการครอบงำพรรค แต่ไม่แน่เพราะหลายเรื่องที่ดูแล้วไม่ใช่ กกต.ก็บอกว่าใช่ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร กกต.ต้องรับผิดชอบต่อคำวินิจฉัยของตัวเอง หลังลงจากตำแหน่งแล้วถูกฟ้องร้อง กกต.ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น
“ ประเด็นสำคัญคือ กกต.ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่คุณทักษิณ พูด ทางพรรคเพื่อไทยนำไปปฏิบัติหรือเปล่า เพราะคำว่าครอบงำจะต้องมีผลในทางปฏิบัติ ถ้าแค่คุณทักษิณ บอกว่าพรรคเพื่อไทยต้องชนะแบบแลนด์สไลด์จึงจะได้จัดตั้งรัฐบาลมันก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะปกติใครชนะก็ได้จัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว คือคุณทักษิณ ไม่ได้บอกว่าต้องให้คนนี้เป็นกรรมการบริหารพรรค ให้คนนี้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือการจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเรียงลำดับชื่อตามนี้นะ แล้วพรรคดำเนินการตาม จึงจะถือว่าครอบงำพรรค” รศ.สมชัย ระบุ
สำหรับผลกระทบในกรณีที่ถูกยุบพรรคนั้น รศ.สมชัย มองว่า การยุบพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผลให้สมาชิกพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองแต่อย่างใด สมาชิกพรรคสามารถย้ายไปพรรคสำรองที่ตั้งขึ้นมารองรับ หรือถ้าไม่ได้ตั้งพรรคสำรองไว้ มีพรรคที่ตั้งไว้รอให้ซื้อเต็มไปหมดอยู่แล้ว ดังนั้น กลไกการยุบพรรคเพื่อสกัดคู่แข่งทางการเมืองจึงได้ผลค่อนข้างน้อย แค่อาจทำให้สมาชิกพรรคที่ถูกยุบบางส่วนแตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งตอนนี้นักการเมืองจะประเมินกันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสจะได้จัดตั้งรัฐบาล เขาก็ไหลเขาพรรคนั้น จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ประชาธิปัตย์มีแต่ไหลออก เพื่อไทยมีแต่ไหลเข้า ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จำนวนไม่น้อยเล็งว่าจะย้ายไปพรรคอื่นเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันคะแนนนิยมของพรรคตกต่ำมาก
“การยุบพรรคไม่สามารถขจัดพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งได้ แต่อาจจะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคบางคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง คือถ้าเขาเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอันนำไปสู่การยุบพรรค จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ส่งผลให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ เหมือนกับกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกยุบแล้วเกิดเป็นพรรคก้าวไกล แต่กรรมการบริหารพรรคหายไปเป็นสิบคน ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ถ้าถูกยุบพรรคจากกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าให้เงินสนับสนุนในการชุมนุมทางการเมือง หรือนำสิ่งที่คุณทักษิณ วิดีโอคอลมาไปปฏิบัติ กรรมการบริหารพรรคก็โดนหมด” อดีต กกต. กล่าว
ขณะที่ “ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง” อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้าใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือใบหนึ่งเลือกพรรค อีกใบหนึ่งเลือก ส.ส. แต่ละพรรคจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง เนื่องจาก ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์มีจำนวนแค่ 100 คนเท่านั้น ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ และย้ายไปอยู่พรรคสำรอง คะแนนที่เลือกพรรคซึ่งจะไปกำหนดสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อาจจะได้น้อยลง เพราะปกติระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์ แต่หากถูกยุบพรรคและย้ายไปสังกัดพรรคสำรอง พรรคจะมีขนาดเล็กลง
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแม้เพื่อไทยจะถูกยุบและเปลี่ยนชื่อไปคะแนนนิยมจากประชาชนยังคงเหมือนเดิม เช่นเดียวกับการยุบพรรคทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา อาจมีแค่กรรมการบริหารพรรคบางคนที่ต้องยุติบทบาทเพราะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่คงไม่มากนัก
รศ.วันวิชิต ชี้ว่า คนที่เลือกเพื่อไทยนั้นมีทั้งเลือกเพราะตัวบุคคลและเลือกพรรค ซึ่งในต่างจังหวัดมีบางพื้นที่ที่เลือกเพราะนายทักษิณ หรือเลือกเพราะเป็น ส.ส.เก่าแก่ที่อยู่กับเพื่อไทยมานานจึงมีความผูกพันกับตัวบุคคล อย่างไรก็ดี นโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้นมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนอย่างมากเนื่องจากเป็นนโยบายที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายประชานิยมที่อยู่มาตั้งแต่สมัยที่เป็นพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ยังครองใจคนได้อยู่
“เชื่อว่าแม้เพื่อไทยจะถูกยุบ และย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะเขาคงขอความเห็นใจจากฐานเสียงโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสานได้ว่า ถูกระบบที่อยุติธรรมรังแก ข้อสำคัญคือ ถ้าคุณทักษิณซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ และตระกูลชินวัตรยังเข้ามาให้ความใกล้ชิดกับมวลชน ไม่ได้ทิ้งไปไหนชาวบ้านยังคงให้การสนับสนุนพรรคเหมือนเดิม ส.ส.ในภาคเหนือและภาคอีสานส่วนใหญ่ยังหอบหิ้วกันไปอยู่ใต้ร่มเงาของคุณทักษิณ ซึ่งน่าจะเป็นบวกในระยะเริ่มแรก แต่ที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายของพรรคซึ่งเพื่อไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถคิดนโยบายที่ตอบโจทย์สาธารณะ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ” รศ.วันวิชิต กล่าว
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า อาจจะมีการตัดสินยุบพรรคเพื่อไทยหลังจากประกาศพระราชกฤษฎีการเลือกตั้งแล้ว เพื่อให้ ส.ส.เพื่อไทยไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เพราะย้ายพรรคไม่ทัน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้ลงสมัครต้องสังกัดพรรคนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 30 วันนั้น “รศ.สมชัย” มองว่า การยุบพรรคที่เสียหายที่สุดคือ ตัดสินยุบพรรคหลังจากประกาศกฤษฎีการการเลือกตั้งไปแล้ว และผู้สมัครไม่สามารถหาพรรคสังกัดได้ทัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นประชาชนจะรู้สึกว่าพรรคที่ตัวเองรักถูกกลั่นแกล้ง จะเทคะแนนไปให้พรรคพันธมิตรของพรรคที่ถูกยุบ เหมือนเมื่อครั้งที่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบ คนก็เทคะแนนไปให้พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย
“ถ้าพรรคถูกยุบก็ย้ายไปเข้าพรรคที่ตั้งสำรองไว้แล้ว ซึ่งไม่ว่าพรรคจะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรแฟนคลับยังตามไปเลือกอยู่ดี แต่ถ้าพรรคที่ถูกยุบย้ายไปพรรคใหม่ไม่ทันลงสมัครรับเลือกตั้ง แฟนคลับจะเทคะแนนไปให้พรรคที่เป็นขั้วเดียวกันกับพรรคที่ถูกยุบ ส่วนพรรคที่ถูกร้องยุบ สมาชิกพรรคจะย้ายไปพรรคสำรองก่อนการประกาศยุบสภาก็ได้ แต่หากเป็น ส.ส.ถ้าจะย้ายพรรคก่อนยุบสภาต้องใช้วิธีลาออกจากพรรคซึ่งจะทำให้หมดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ซึ่งไม่คุ้มเพราะทำให้เสียเครดิต” รศ.สมชัย กล่าว
ด้าน รศ.วันวิชิต เชื่อว่า ผู้มีอำนาจคงไม่ทำเช่นนั้น เพราะในทางการเมืองแล้วดูจะเจาะจงเกินไป ซึ่งกระแสอาจจะสวิงกลับไปเล่นงานพรรคที่มีอำนาจก็เป็นได้ อีกทั้งจะนำไปสู่ความวุ่นวายและวิกฤตทางการเมืองได้เพราะมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมีไม่น้อย ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐมีปัญหา แม้ว่าการตัดสินยุบพรรคจะไม่ใช่อำนาจสั่งการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แต่คนจะไปผูกโยงได้ว่ามีอำนาจนอกระบบเกี่ยวข้องกับการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง
หากสมาชิกพรรคเพื่อไทยย้ายไปสังกัดพรรคใหม่แล้วลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอาจจะเทไปยังพรรคพันธมิตร แต่ทั้งนี้ หากพลังประชารัฐมีนโยบายที่ต่อเนื่อง และประชาชนได้ประโยชน์ คนจำนวนหนึ่งอาจจะเปลี่ยนใจเพราะมองว่าถ้าเลือกพรรคสำรองของเพื่อไทยแล้วไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจจะหันไปเลือกพรรคที่น่าจะได้เป็นรัฐบาลซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้
“ถ้าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลซึ่งถูกร้องให้ยุบพรรคเหมือนกันถูกยุบทั้งคู่ และไม่สามารถส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะย้ายพรรคไม่ทัน คงเกิดวิกฤตทางการเมืองขนานใหญ่ การเมืองนอกระบบจะมีมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับพลังประชารัฐอย่างแน่นอน” รศ.วันวิชิต กล่าว
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebooķ : https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Instragram : https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link
Tiktok : https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/