xs
xsm
sm
md
lg

ฉุน! กรมปศุสัตว์ลงขัน 10 กว่าล้านให้เฝ้าระวัง ASF เจอฟาร์มไหน ‘เสี่ยง’ ให้ซื้อทำลายชักช้าจนเอาไม่อยู่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าของฟาร์มแจงโรค ASF ระบาด เป็นที่รับรู้และเฝ้าติดตามมากว่า 3 ปี พร้อมลงขัน 10 กว่าล้านบาท และเติมเงินได้ตลอด มอบให้กรมปศุสัตว์เฝ้าติดตามการลักลอบนำเข้าหมูในพื้นที่ชายแดน เจอฟาร์มไหนต้องสงสัยให้ซื้อทำลายทิ้งทั้งหมด เพราะเลือดหมูที่เป็นโรค 1 หยดทำให้หมูตายทั้งฟาร์มได้ งานนี้ต้องโทษกรมปศุสัตว์และเจ้าของฟาร์มที่มีไลน์การผลิตขนาดใหญ่ “เงินก็ลงขันให้’ แต่ล่าช้าจนเอาไม่อยู่ ยันต่อต้านการนำเข้าหมู นอกจากเสี่ยงโรคระบาด อาจเจอดัมป์ราคาจนเกษตรกรตายสนิท จะเหลือแค่รายใหญ่ 20 รายที่รอด แนะรัฐต้องเร่งส่งเสริมทำฟาร์มหมูระบบปิดและจัดหาวัคซีนโดยด่วน การชดเชยเงินให้เกษตรกรจึงจะเกิดประโยชน์ แจงการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จึงจะทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ!

ในที่สุดนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ออกมาแถลงยอมรับว่าได้มีการตรวจพบเชื้อ African Swine Fever หรือ ASF ซึ่งเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จากโรงฆ่าหมูที่สุ่มตรวจในจังหวัดนครปฐม จากทั้งหมด 309 ตัวอย่าง ใน 2 จังหวัด แต่เจอเพียง 1 แห่ง เมื่อวันที่ 11 เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแวดวงสัตวแพทย์บอกว่า การออกมายอมรับแบบนี้ถือเป็นกลไกสำคัญของกรมปศุสัตว์ที่จะเข้าไปจัดการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นให้สงบโดยเร็ว ด้วยการประกาศเป็นเขตโรคระบาด ซึ่งจะมีระเบียบในการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค การพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคได้

ที่สำคัญรัฐจะได้ดำเนินการจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้ผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะรายเล็กๆ จะได้ลุกขึ้นมาทำฟาร์มหมูต่อได้ ส่วนรายใหญ่ๆ แม้จะเสียหายก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งรัฐบาลจะต้องวางแผนในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งระบบให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อไปได้

“ผู้เลี้ยงหมูรายเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไม่มีทุนจะเดินหน้าต่อ ก็จะปล่อยให้เล้าหมูร้าง พวกนี้รัฐต้องรีบเข้าไปช่วย”

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ออกมาแถลงยอมรับว่าได้มีการตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร  ( AFS ) จากโรงฆ่าหมูที่สุ่มตรวจในจังหวัดนครปฐม  เมื่อวันที่ 11 เดือนมกราคมที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์ บอกว่า ความจริงแล้วโรค ASF ในสุกรไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่ง ฟาร์มหมูทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก และกรมปศุสัตว์ได้มองเห็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2562 จึงได้มีการเฝ้าระวังตลอดมา เนื่องเพราะโรคนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา รอบบ้านเรามาแล้ว รวมทั้งที่ยุโรป ที่ผ่านมา เจ้าของฟาร์มจะมีการร่วมลงขันเป็นเงินหลายสิบล้าน และมอบเงินจำนวนนี้ให้กรมปศุสัตว์ไว้ดูแล ไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าหมูตามบริเวณชายแดนเข้ามาในบ้านเรา

“เงินนี้ไว้ใช้ในการตรวจฟาร์มชายแดน เพราะรัฐไม่มีงบประมาณ หากมีการลักลอบนำหมูจากต่างประเทศเข้ามา และสงสัยว่าจะมีโรคระบาด กรมปศุสัตว์จะใช้เงินที่เอกชนลงขันไว้ให้ ซึ่งจะมีการเติมเงินอยู่ตลอดรวม 100 กว่าล้าน ไปซื้อหมูจากฟาร์มที่สงสัย พร้อมทำลายทิ้งด้วยการฝังหรือเผาทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันมาตลอด แต่ครั้งนี้จำนวนค่อนข้างมากจึงทำให้ลุกลามจนเอาไม่อยู่”

แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์ ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นความผิดทั้งกรมปศุสัตว์ และเจ้าของฟาร์มที่มีไลน์การผลิตค่อนข้างใหญ่ หรือต้นตอ พยายามปกปิดความจริงที่มีการระบาดของโรค การจะทำลายหมูที่ติดโรคก็ทำไม่ทัน ไม่ไหว จึงทำให้การระบาดของโรค ASF ขยายวงกว้างจนเอาไม่อยู่ ซึ่งทำให้ฟาร์มหมูหลายแห่งไม่พอใจ เพราะรู้ข้อจำกัดของกรมปศุสัตว์ที่ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการตรวจและทำลาย จึงเลือกที่จะลงขันให้แต่ยังมาเกิดเรื่องขึ้นอีก

อีกทั้งได้มีการหารือและประเมินสถานการณ์ที่เกิดจากโรค ASF ในสุกร ซึ่งคาดว่าหลังประเทศไทยประกาศพบโรค ASF จะต้องใช้เวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งในการฟื้นฟู พัฒนา เพื่อให้ปัญหาการบริโภค การตลาดของสุกรกลับสู่ภาวะปกติได้

“บทเรียนการระบาดของโรค ASF ของจีน ทำให้ประชากรหมูจีนลดลง จนเกิดการขาดแคลน ราคาหมูพุ่งสูงขึ้น คนเดือดร้อนไปทั่ว ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลลดลง รัฐบาลจีนต้องเร่งแก้ไขอัดฉีดธุรกิจ เพื่อให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงหมู ไม่นานราคาหมูที่เคยแพงจะถูกลงได้”


แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดโรค ASF ในสุกร รวมทั้งทำให้เกษตรกรที่เลิกไปแล้วกลับเข้าสู่ระบบ หรือฟาร์มหมูขนาดเล็กที่กำลังจะตายฟื้นขึ้นมาได้นั้น นอกจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาแล้ว รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบฟาร์มสุกรมาตรฐาน GAP : Good Agricultural Practices) และฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม GFM :  Good Farming Management พร้อมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนต่อไป

“ฟาร์มต่างๆ ต้องปรับผังฟาร์มใหม่ในการใช้พื้นที่ด้านนอกและด้านในให้ถูกต้องให้เป็นระบบปิด ต้องมีการแยกส่วนต่างๆ ไว้ ไม่ให้รถลูกค้าจากโรงชำแหละเข้าถึงฟาร์มได้เลย แบบนี้เพื่อป้องกันรถขนส่งของลูกค้านำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม ซึ่งอาจจะมาจากล้อ หรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเลือด เพราะ เลือด 1 หยดสามารถทำให้หมูทั้งฟาร์มตายได้”

ไม่เพียงแค่นั้น ระบบปิดจะกั้นไม่ให้สัตว์ที่เป็นพาหะเข้ามาในเขตฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นนก แมว สุนัข หนู รวมไปถึงหลังคาบ้านที่พักอาศัยจะอยู่ติดกับฟาร์มไม่ได้

ที่มา : บริษัท CPF

ที่มา :  บริษัท CPF

ที่มา : บริษัท CPF

ที่มา : บริษัท CPF

ที่มา :  บริษัท CPF
อย่างไรก็ดี นอกจากจะส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ฟาร์มมาตรฐานหรือฟาร์มปิดแล้ว สิ่งที่จะต้องมีอยู่คู่กับฟาร์มก็คือ จะต้องมีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะหากไม่มีวัคซีนป้องกันแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดโรค ASF ได้ตลอดเวลา การชดเชยเงินให้เจ้าของฟาร์มที่เสียหายจะไม่เกิดประโยชน์ และส่งผลเสียต่อระบบการผลิตมากขึ้น

“รัฐจะต้องรีบพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เหมือนที่เกิดการระบาดในจีน และจีนเข้ามาแก้ไขด้วยการปรับระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมหมู โดยฟาร์มที่ขึ้นใหม่จะเป็นระบบปิด นกบินเข้าไม่ได้ ฝุ่นเข้าไม่ได้ พร้อมระบบป้องกันโรคที่ดีขึ้น ไม่นานจีนก็ฟื้นตัว ราคาหมูถูกลงมา”

ส่วนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร เนื่องจากการระบาดครั้งนี้จะทำให้ฟาร์มเล็กๆ หายไป และบางรายปิดกิจการแบบไม่พร้อมที่จะกลับมาแม้รัฐจะชดเชยให้ก็ตาม ส่วนรายใหญ่ๆ อย่างซีพี เบทาโกร หรือฟาร์มใหญ่ๆ มีโครงสร้างธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งเรื่องอาหารสัตว์ แม่พันธุ์ มีโรงเชือด มีตลาดรองรับเป็นของตัวเองจะยิ่งแข็งแรงและครองตลาดได้มากขึ้น

“จะเหลือรายใหญ่ๆ ประมาณ 20 ราย ที่จะยึดครองอุตสาหกรรมหมู เพราะเขาพร้อมทำได้แบบครบวงจร ต้องไม่ลืมต้นทุนอาหารสัตว์ยิ่งแพงขึ้น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เดิมกิโลละประมาณ 8-10 บาท ปัจจุบันขึ้นเป็น 12-14 บาท ราคามันสำปะหลังขึ้นจากเดิมประมาณ 5-7 บาท ก็ขยับขึ้นเป็นเกือบ 9 บาท ฟาร์มเล็กๆ จึงรอดยาก”


สำหรับแนวทางนำเข้าหมู ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และเสี่ยงที่จะเจอโรคระบาด ขณะที่ประชาชนอาจจะรู้สึกดีในช่วงแรกว่าราคาหมูถูกลง แต่ถ้ามองทั้งระบบบรรดาเจ้าของฟาร์มหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะไปไม่รอด เพราะประเทศที่ส่งออกหมูและเรานำเข้ามาจะมีปริมาณที่มาก จะใช้วิธีการดัมป์ราคาตลาด ส่งผลกระทบระยะยาวต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูโดยตรง

“เราอาจจะพอใจช่วงแรก แต่สุดท้ายผู้เลี้ยงหมูไปไม่รอด เกษตรกรได้คุยกันและคัดค้านเพราะทุกประเทศที่นำเข้าเจอปัญหากันมาแล้ว อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ ห้ามนำเข้าเด็ดขาด ของไทยมีบทเรียนจากการนำเข้ากุ้ง จนกู่ไม่กลับ เสียหายไปหมด เพราะพวกนี้เป็นสินค้าโภคภัณฑ์”


ทางออกที่พวกเราเชื่อว่าจะช่วยประชาชนผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนได้ คือ ความโชคดีที่ไทยมีสินค้าอาหารประเภทอื่นทดแทนได้ ร่วมทั้งการแก้ปัญหาด้วยการจัดธงฟ้า เปิดจุดขายหมูถูก เป็นพื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นรัฐต้องรีบจัดการแก้ปัญหาตามแผนฟื้นฟู จะทำให้เกิดเสถียรภาพในอุตสาหกรรมการผลิตหมูในประเทศไทยได้ แม้จะต้องใช้เวลา 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง ตามที่มีการตั้งเป้าหมายไว้

นอกจากนี้ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แม้ว่าอาจจะมีหมูที่เป็นโรค ASF หลุดรอดออกมาขายก็ตาม แต่ประชาชนสามารถบริโภคได้เมื่อเรานำไปปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส จะไม่มีการแพร่เชื้อเด็ดขาด เพราะโรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมโรคให้สงบต่อไปเหมือนอย่างที่เคยดำเนินการกับโรคไข้หวัดนกมาแล้ว!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebooķ : https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_THhttps://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram : https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_linkhttps://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok : https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/




กำลังโหลดความคิดเห็น