แค่ 2 วันธรรมยาตราต้องปรับวิธี หลังยอดผู้ร่วมกิจกรรมผ่าน Zoom ไม่ปัง เปิดให้ผู้ศรัทธาเข้าร่วมกิจกรรมรักษาระยะห่าง ตรวจ ATK ประเมินที่ผ่านมาสถานการณ์ไม่อำนวยปลดหน้าด่านปทุมฯ เสาหลักมรณภาพ เปลี่ยนกรรมการ มส. ทางวัดไม่ประกาศจัดงานตอนนี้ กลับมาโหมประชาสัมพันธ์บุญของการ “สาธุ” ธรรมยาตรา-เทวดายังสรรเสริญ สู่นิพพานง่าย
ในช่วงปี 2564 เรื่องราวของวงการสงฆ์ถูกจำกัดไปอยู่ที่ 2 เหตุการณ์ใหญ่คือ การเปลี่ยนตัวเจ้าคณะจังหวัดทั้งที่กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี แรงกระเพื่อมหลักๆ อยู่ที่กาฬสินธุ์ที่เป็นสายของธรรมยุติ ที่ฉะเชิงเทราไม่มีความเคลื่อนไหว ส่วนที่หลายคนจับตาเป็นพิเศษคือ ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นหน้าด่านสำคัญของวัดพระธรรมกาย แม้จะมีการรวมตัวกันของฆราวาสที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว แต่เรื่องค่อยๆ เงียบลงเมื่อพระธรรมรัตนาภรณ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ถอยออกจากเรื่องดังกล่าว
อีกเรื่องคงหนีไม่พ้น 2 พระมหาคนดังแห่งวัดสร้อยทอง จากไลฟ์สดที่ดึงคนได้มากกว่า 2 แสนคน จนมาถึงเงื่อนไขเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง ต้องเป็นพระราชปัญญาสุธี (เจ้าคุณอุทัย) ไม่เช่นนั้นพระมหาไพรวัลย์ จะสึก และได้ลาสิกขาไปเมื่อ 3 ธันวาคม 2564 ตามมาด้วยพระมหาสมปอง ที่ลาสิกขาไปเมื่อ 29 ธันวาคม 2564
หากไม่มี 2 เรื่องดังกล่าวมาหันเหความสนใจ ช่วงปลายปีจะต้องมีกิจกรรมใหญ่ของวัดพระธรรมกาย ออกมาสู่สายตาของผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะกิจกรรมธรรมยาตราที่ทางวัดจัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนอาจเริ่มรับรู้ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม โดยเฉพาะกิจกรรมชวนปลูกดอกเบญจทรัพย์ ซึ่งเคยเปิดให้ผู้ศรัทธาได้เข้าร่วม และเคยเปิดเป็นสวนดอกไม้ให้ผู้คนได้เข้าไปถ่ายรูป
แม้ทางวัดพระธรรมกายไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าภาพในกิจกรรมธรรมยาตรา มีแค่งานสวดมนต์ข้ามปีช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ร่วมกับองค์กรภาคี และคณะสงฆ์ ร่วมกันจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา “โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 10 รักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565” ในระหว่างวันที่ 2-31 มกราคม พ.ศ.2565 เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์
งานดังกล่าวเริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ 2 มกราคม 2565 ที่วัดพระธรรมกาย ทั้งการเดินธรรมยาตรา และกิจกรรมร่วมจุดประทีปบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) เข้าร่วมกิจกรรมได้ผ่านระบบ Zoom072 ของทางวัด
ผู้เข้าร่วมบุญผ่านระบบ Zoom จะได้รับพระของขวัญรุ่น รวย รอด ปลอดภัย มีชัยชนะ พร้อมทั้งแจ้งงดเดินทางร่วมงานที่วัด คนที่รับชมผ่านทาง Zoom ทางวัดขอความร่วมมือสวมชุดขาวและวางโทรศัพท์แนวนอน เตรียมดอกไม้ โปรยออนไลน์ การร่วมบุญสามารถทำได้ที่แอป donate.dkcmain.org หรือตัดบัตรเครดิตก็ได้ รวมถึงบริจาคเข้าที่บัญชีวัดพระธรรมกายโดยตรง
“ธรรมยาตรา” เดินในวัด
กิจกรรมธรรมยาตรา 2 มกราคม 2565 พบว่าพระที่ร่วมพิธีแบกกลด สะพายบาตร เดินตามทางที่โรยด้วยกลีบดอกไม้ภายในวัดพระธรรมกาย ข้อมูลจากวัดพระธรรมกายระบุว่ากิจกรรมธรรมยาตราวันแรก โดยการธรรมยาตราจากสภาธรรมกายสากล เลี้ยวขวาเข้าไปวนรอบมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เลี้ยวซ้ายเดินวนรอบสระน้ำมหาเศรษฐีทะเลบุญ และเลี้ยวซ้ายผ่านอาคาร DMC เพื่อกลับไปยังสภาธรรมกายสากล ระยะทาง 5.15 กิโลเมตร
พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า “กิจกรรมธรรมยาตราเป็นพุทธประเพณีที่จัดขึ้น เพื่อเป็นบทฝึกกิจวัตรทำสมาธิในอิริยาบถเดิน บทฝึกความอดทน บำเพ็ญตบะของพระธรรมทายาท และเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเชิญชวนสาธุชนทั่วโลกร่วมต้อนรับพระด้วยการกล่าวสาธุ และโปรยดอกไม้ต้อนรับพระเหมือนครั้งสมัยพุทธกาล เป็นการแสดงความเคารพในพระรัตนตรัย ตามหลักคารวะ 7 และปิยวาจา
บูชาหลวงพ่อสดแค่น้อมใจ
เมื่อพิจารณาจากกำหนดการของโครงการธรรมยาตราที่แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมคือธรรมยาตรา 7 ครั้ง พิธีจุดประทีป 7 ครั้ง ทั้ง 7 ครั้งคือการน้อมใจไปสถานที่สำคัญของพระมงคลเทพมุนี ประกอบด้วย สถานที่เกิดรูปกายเนื้อ อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี โลตัสแลนด์ จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่ตั้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต คลองลัดบางนางแท่น จังหวัดนครปฐม สถานที่เกิดในเพศสมณะ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
สถานที่เกิดด้วยกายธรรม (ธรรมกาย) หรือสถานที่บรรลุธรรม วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกาย (ครั้งแรกหลังจากบรรลุธรรม) วัดบางปลา จังหวัดนครปฐม สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย (จนกระทั่งมรณภาพ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และสถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย (เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก) วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี
ทั้ง 2 กิจกรรมจัดที่วัดพระธรรมกาย ไม่มีการเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่หรือจังหวัดต่างๆ เหมือนครั้งก่อน สังเกตได้ว่าทางวัดพระธรรมกายใช้คำว่า “น้อมใจไปสถานที่สำคัญของพระมงคลเทพมุนี”
แค่ 2 วันเปลี่ยนเกณฑ์
งานเริ่มวันที่ 2 มกราคม 2565 เพียงแค่ 2 วัน ทางสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงแนวทางการร่วมกิจกรรมธรรมยาตรา จากเดิมที่กำหนดให้แค่ร่วมบุญผ่าน Zoom เท่านั้น
4 มกราคม 2565 เวลา 19.30 น. สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย โพสต์แจ้งข่าวดี กิจกรรมต้อนรับพระธรรมยาตรา เปิดโอกาสให้สาธุชนมาต้อนรับตลอดเส้นทาง โดยปฏิบัติ ดังนี้
1.นั่งพนมมือต้อนรับเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องโปรยดอกไม้
2.เริ่มวันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2565 เริ่มเวลา 15.00 น. (จัดสาธุชนเข้านั่งในพื้นที่เวลา 14.00 น.)
3.กำหนดระยะห่างจากพระธรรมยาตรา 3 เมตร และระยะห่างระหว่างผู้ที่มาต้อนรับ 3 เมตร
4.ผู้มีบุญที่มาร่วมต้อนรับพระธรรมยาตรา สวมชุดขาวให้เรียบร้อย
5.ขณะต้อนรับพระ และในขณะพระเดินผ่าน งดอุปกรณ์บังแดดทุกชนิด และปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่กำหนด
6.งานธรรมยาตราต้องให้เนี้ยบ เฉียบ เป๊ะ โดยกำหนดมาร์กตําแหน่งที่นั่งจุดละ 1 ท่านเท่านั้น (ไม่นั่งติดกัน รักษาระยะ 3 เมตร)
7.ผู้ที่มาร่วมต้อนรับให้สวมหน้าอนามัยตลอดกิจกรรรม
8.ปฏิบัติตามคณะกรรมการนโยบายโควิด-19 วัดพระธรรมกาย และมาตรการ Covid Free Setting ของทางสาธารณสุข
9.ผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 1,000 คน โดยลงทะเบียนผ่านผู้ประสานงาน
10.แสดงหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หลักฐานฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือหลักฐานตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมง
11.กิจกรรมนี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ขอให้ทุกท่านร่วมกิจกรรมด้วยใจใสใส
ทั้งนี้ ทางวัดพระธรรมกายได้เปิดบริการตรวจ ATK ก่อนวันงานแต่ละครั้ง (รวม 6 วัน) ที่อาคารบุญรักษา โดยเป็นการตรวจให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
นับเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการร่วมกิจกรรมธรรมยาตราครั้งที่ 10 ที่เดิมเปิดโอกาสให้ผู้ที่ศรัทธาเข้าร่วมทางออนไลน์เท่านั้น จากการที่ลองเข้าชมกิจกรรมจุดประทีปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ในช่วงเวลาหนึ่งที่ Live สด พบว่า มีตัวเลขผู้เข้าชมที่ปรากฏในจำนวนที่ค่อนข้างน้อยมากไม่ถึงหลักร้อย
นอกจากนี้ งานดังกล่าวระบุว่าเพื่อน้อมรำลึกถึงสถานที่สำคัญของพระมงคลเทพมุนี (สด) โลตัสแลนด์ ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ทำพิธีที่วัดพระธรรมกาย
แค่ “สาธุ” เทวดาทุกชั้นสรรเสริญ
แม้ทางวัดพระธรรมกายจะขึ้นชื่อเรื่องการจัดงานที่ใหญ่โตและสวยงาม แต่ภาพที่ออกมาสู่สาธารณะกิจกรรมธรรมยาตราครั้งนี้ค่อนข้างเงียบเหงา แถมคนร่วมกิจกรรมผ่าน Zoom ยังถือว่าน้อย ทั้งๆ ที่ครั้งนี้ทางวัดได้ส่งหนังสือไปตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้ครู อาจารย์ เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองเข้าร่วม มีทั้งประกาศนียบัตร และพระของขวัญเป็นแรงจูงใจ
การเปลี่ยนเกณฑ์ด้วยการเปิดให้สาธุชนที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกายเข้าร่วมในพิธีได้ อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้กิจกรรมธรรมยาตราครั้งนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
วันนี้ถือว่าการจัดธรรมยาตรากลับมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายเต็มตัว โต้โผเดิมอย่างชมรมพุทธศาสตร์สากล ลดบทบาทลง เหลือแค่ผู้สนับสนุน ตอนนี้สายวัดพระธรรมกายโพสต์เพื่อเชิญชวนให้คนเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้มากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือการแจ้งถึงอานิสงส์ที่จะได้รับจากการกล่าวสาธุ ขณะที่พระเดินธรรมยาตรา โดยระบุว่า อานิสงส์แห่งการกล่าวสาธุการ ต้อนรับพระธรรมยาตรา
1.จะเป็นผู้มีกิตติศัพท์อันงดงาม ทั้งในมนุษย์และเทวดา
2.มีเสียงอันไพเราะ ก้องกังวานลึก
3.ไปที่ใดย่อมได้รับการต้อนรับสรรเสริญ
4.มีทิพยสมบัติ วิมาน และบริวาร เจริญรุ่งเรืองสว่างไสว
5.ได้รูปสมบัติที่งดงาม ได้สัดส่วน
6.ปากสวย ฟันสวย เพราะเปล่งสาธุการ
7.มีสุคติภพเป็นที่ไป อยู่แต่ในสุคติภูมิ ไม่ไปสู่อบาย
8.เทวดาทุกชั้น พรหม อรูปพรหม จะสรรเสริญ อนุโมทนา
9.ได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
นับว่าบุญที่ได้จากการเปล่งสาธุระหว่างที่พระเดินธรรมยาตรา ที่วัดพระธรรมกายแจ้งมานั้นเป็นบุญที่ใหญ่มากทั้งในโลกปัจจุบันและอนาคต
เงื่อนไขไม่เอื้อออกหน้า
เชื่อว่าทางวัดพระธรรมกายคงอยากเป็นเจ้าภาพจัดงานเหมือนทุกปี แต่ปี 2564 มีทั้งเจ้าคุณวิเชียร เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ มรณภาพเมื่อ 26 กันยายน ตามมาด้วยพระธรรมรัตนาภรณ์ ถูกถอดจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีเมื่อ 30 กันยายน ที่จริงช่วงเดือนตุลาคมทางวัดพระธรรมกายจะเชิญชวนให้มาร่วมกันปลูกดอกไม้ เพื่อนำมาใช้โปรยทางเดินให้พระในกิจกรรมธรรมยาตรา
การเปลี่ยนตัวเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวัดพระธรรมกาย ตอนที่พระเทพรัตนสุธี (พระธรรมรัตนาภรณ์) ยังอยู่ในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ ช่วงที่เกิดวิกฤตกับวัดพระธรรมกาย ท่านได้ออกหน้าดูแลวัดพระธรรมกาย ฝ่ายสงฆ์ปกครองทำได้เพียงแค่ตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ขึ้นมาแทนพระธัมมชโย แต่จากนี้ไปอาจเกิดความไม่แน่นอนขึ้นได้ตลอดเวลา
แถมในปี 2564 กรรมการในมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2562 จะครบวาระ และรายชื่อของกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ปี 2564 ออกมาตามราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 11 ธันวาคม 2564 ขั้วอำนาจเก่าที่หายไปตั้งแต่ปี 2562 จนมาถึง 2564 แม้จะหลงเหลืออยู่บ้างแต่เป็นเพียงส่วนน้อยและเลือกที่จะอยู่อย่างสงบ
ดังนั้น การจัดงานต่างๆ ของทางวัดพระธรรมกายจึงดำเนินการอย่างระมัดระวัง ธรรมยาตรารอบนี้จึงจัดในนามชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หลายฝ่ายเริ่มทราบจากจดหมายเชิญไปตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อ 4 ธันวาคม 2564 จากนั้นบังเอิญสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม 2532-2562 มรณภาพเมื่อ 9 ธันวาคม 2564 เสาหลักที่เคยค้ำยันเริ่มหายไป
ปีนี้ไม่ปัง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธรรมยาตรารอบนี้ ทางวัดพระธรรมกายไม่ได้ทำการโปรโมตมาตั้งแต่แรก แม้จะมีการชวนบวชเหมือนทุกปี แต่ไม่แจ้งว่าทางวัดจะจัดงานธรรมยาตรา ไม่มีกิจกรรมชวนปลูกดอกไม้เหมือนปีก่อนๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิดยังไม่หมดไป จึงทำให้ผู้ที่ร่วมบุญกับวัดพระธรรมกายไม่ทราบ
ในช่วงเกือบปลายปีจึงพบว่ามีการจัดงานนี้ แต่เจ้าภาพเป็นชมรมพุทธศาสตร์สากล แน่นอนว่าจำนวนของผู้ติดตามเพจของทางวัดกับชมรมพุทธฯ ต่างกันมาก ทำให้การรับรู้เป็นไปอย่างจำกัด อีกทั้งช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ของทางวัดเองค่อนข้างดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทำให้ธรรมยาตราปีที่ 10 เป็นที่รับรู้ค่อนข้างจำกัด
เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อเข้าสู่งานธรรมยาตรา น้ำหนักในการโปรโมตกิจกรรมดังกล่าวเริ่มมาอยู่ที่สำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย พระครูสมุหสนิทวงศ์ และภาพดีๆ 072 พร้อมกับการเร่งแก้ปัญหายอดผู้ร่วมบุญผ่าน Zoom น้อยกว่าที่คาด