xs
xsm
sm
md
lg

ACT จับตา 5 กรณีคอร์รัปชัน พบหลาน "บิ๊กตู่" โกย 251 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเปิดปูมทุจริต ปี 64 จัดอับดับ 10 องค์กรส่อฉ้อฉลจัดซื้อจัดจ้าง “กรมชล” นำโด่งกว่า 6 พันโครงการ พบการก่อสร้างถนนสุดพิลึก สร้างลงทุ่ง-พุ่งลงคลอง เผยบริษัทหลาน “พล.อ.ประยุทธ์” คว้า 3 โครงการรัฐ มูลค่ารวม 251 ล้าน รวม 7 ปี ฟันไปกว่า 863 ล้าน ด้าน ACT เดินหน้าค้านลดโทษคดีคอร์รัปชัน พร้อมแฉ 7 วิธีทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การคอร์รัปชันนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินประเทศไทยมายาวนาน ขณะที่หลายฝ่ายต่างพยายามติดตามตรวจสอบและร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานดังกล่าวก็คือ “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT องค์กรเอกชนที่มีปณิธานในการต่อต้านและขจัดการคอร์รัปชัน โดยตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ACT ได้ติดตามตรวจสอบกรณีปัญหาการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาการคอร์รัปชันของไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยในปี 2564 มีการทุจริตเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ACT ได้ติดตามดูอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มี 5 กรณีหลักๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ 2.การก่อสร้างถนนที่พิลึกพิลั่น 3.การทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.โครงการก่อสร้างของบริษัทหลาน พล.อ.ประยุทธ์ และ 5.การลดโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชัน

จัดซื้อจัดจ้างส่อทุจริตกว่า 8 หมื่นโครงการ


โครงการแรกที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจับตาและติดตามตรวจสอบก็คือ “โครงการจัดซื้อจัดจ้าง” ของหน่วยงานต่างๆ โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้รวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ พบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ส่อว่าอาจก่อให้เกิดการทุจริต และมีความเสี่ยงที่อาจจะผิดปกติในการเสนอราคา เช่น อาจมีกรณีซื้อซองจำนวนมากแต่เข้าเสนอราคาน้อยราย มีการเกาะกลุ่มเสนอราคาที่ใกล้เคียงกัน หรือเท่ากันเป๊ะ แต่มีผู้ที่ชนะการประมูลเพียงรายเดียวที่เสนอราคาต่ำสุด บริษัทที่ได้งานมีการเสนอต่ำกว่าราคากลางเพียง 0-1% ในขณะที่รายอื่นๆ เสนอสูงกว่าราคากลาง เป็นต้น

โดยขณะนี้เว็บไซต์ ACT Ai มีข้อมูลโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2558-2564 รวมทั้งหมด 22,182,987 โครงการ และพบว่ามีโครงการที่อาจเกิดการทุจริตทั้งหมด 80,866 โครงการ โดย 10 โครงการที่เสี่ยงจะเกิดความผิดปกติมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1 กรมชลประทาน พบ 6,197 โครงการ เช่น กรมชลประทาน กรุงเทพฯ มีผู้เข้าประมูลงาน 10,903 โครงการ ได้งาน 10,902 สัญญา งบประมาณ 91,919,603,314.56 บาท วงเงินสัญญา 121,380,650,523.69 บาท จ.ฉะเชิงเทรา ประมูลงาน 11,700 โครงการ ได้งาน 11,700 สัญญา งบประมาณ 1,597,575,696.98 บาท วงเงินสัญญา 1,772,935,915.48 บาท

อันดับ 2 กรมการปกครอง พบ 2,513 โครงการ เช่น จ.กาฬสินธุ์ เปิดประมูลงาน 6,158 โครงการ ได้งาน 6,158 สัญญา งบประมาณ 1,158,821,339.00 บาท วงเงินสัญญา 1,325,575,597.00 บาท จ.ชัยนาท ประมูลงาน 2,465 โครงการ ได้งาน 2,465 สัญญา งบประมาณ 1,236,252,447.00 บาท วงเงินสัญญา 1,315,627,626.00 บาท


อันดับ 3 กรุงเทพมหานคร พบ 2,111 โครงการ เช่น โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา มีผู้เข้าประมูลงาน 158 โครงการ ได้งาน 158 สัญญา งบประมาณ 46,776,395.00 บาท วงเงินสัญญา 48,475,750.00 บาท
กองคลัง สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าประมูลงาน 6 โครงการ ได้งาน 6 สัญญา งบประมาณ 103,351,332.00 บาท วงเงินสัญญา 108,542,596.00 บาท

อันดับ 4 กรมทางหลวงชนบท พบ 1,966 โครงการ เช่น กรมทางหลวงชนบท จ.กาฬสินธุ์ มีผู้เข้าประมูลงาน 3,556 โครงการ ได้งาน 3,556 สัญญา งบประมาณ 6,285,859,627.00 บาท วงเงินสัญญา 6,565,665,380.00 บาท กรมทางหลวงชนบท จ.ตาก เปิดประมูลงาน 1,302 โครงการ ได้งาน 1,302 สัญญา งบประมาณ 2,040,140,149.00 บาท วงเงินสัญญา 1,976,905,984.00 บาท

อันดับ 5 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบ 1,503 โครงการ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จ.กาญจนบุรี เปิดประมูลงาน 1,045 โครงการ ได้งาน 1,045 สัญญา งบประมาณ 1,565,454,473.20 บาท วงเงินสัญญา 1,781,407,127.13 บาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จ.ขอนแก่น เปิดประมูลงาน 1,002 โครงการ ได้งาน 1,002 สัญญา งบประมาณ 1,874,608,668.08 บาท วงเงินสัญญา 2,185,340,272.91 บาท

อันดับ 6 กรมทางหลวง พบ 1,020 โครงการ เช่น กรมทางหลวง กรุงเทพฯ ประมูลงาน 23,253 โครงการ ได้งาน 23,252 สัญญา งบประมาณ 372,692,320,114.38 บาท วงเงินสัญญา 409,626,722,923.45 บาท กรมทางหลวง จ.นครราชสีมา เปิดประมูลงาน 8,180 โครงการ ได้งาน 8,179 สัญญา งบประมาณ 6,514,585,935.50 บาท วงเงินสัญญา 6,470,792,806.00 บาท

อันดับ 7 การประปาส่วนภูมิภาค พบ 993 โครงการ เช่น การประปาส่วนภูมิภาค จ.นครปฐม ประมูลงาน 167 โครงการ ได้งาน 167 สัญญา งบประมาณ 61,194,942.00 บาท วงเงินสัญญา 63,024,258.00 บาท การประปาส่วนภูมิภาค จ.นครศรีธรรมราช ประมูลงาน 117 โครงการ ได้งาน 117 สัญญา งบประมาณ 49,304,273.97 บาท วงเงินสัญญา 51,920,589.31 บาท

อันดับ 8 การประปานครหลวง พบ 949 โครงการ เช่น การประปานครหลวง กรุงเทพฯ มีผู้เข้าประมูลงาน 7,689 โครงการ ได้งาน 7,689 สัญญา งบประมาณ 40,964,250,580.42 บาท วงเงินสัญญา 44,303,326,652.32 บาท การประปานครหลวง จ.สมุทรปราการ ประมูลงาน 406 โครงการ ได้งาน 406 สัญญา งบประมาณ 395,628,145.13 บาท วงเงินสัญญา 445,379,076.50 บาท

อันดับ 9 กรมทรัพยากรน้ำ พบ 828 โครงการ เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จ.ราชบุรี เปิดประมูลงาน 1,470 โครงการ ได้งาน 1,470 สัญญา งบประมาณ 291,774,129.00 บาท วงเงินสัญญา 316,030,833.00 บาท กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จ.ลำปาง ประมูลงาน 1,516 โครงการ ได้งาน 1,516 สัญญา งบประมาณ 490,628,764.94 บาท วงเงินสัญญา 512,850,996.00 บาท และอันดับ 10 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พบ 725 โครงการ


สร้างถนนกลางทุ่งนา-พุ่งลงคลอง

โครงการอีกประเภทที่ ACT จับตามองคือโครงการก่อสร้างถนน ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริต โดยในปี 2564 นั้นมีโครงการที่พิลึกพิลั่นอยู่หลายโครงการ เช่น การประกวดราคาโครงการจ้างเหมาซ่อมแซมคันคลองส่งน้ำ ในพื้นที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ของกรมชลประทาน ที่ถูกชาวบ้านร้องเรียนเนื่องจากการสร้างถนนและติดตั้งไฟโซลาร์เซลล์หลายสิบต้นนั้นไม่ได้เชื่อมต่อไปยังหมู่บ้าน แต่กลับสร้างเข้าไปในทุ่งนาซึ่งไม่มีบ้านเรือนผู้คน อีกทั้งยังพบหลักฐานว่า ในช่วงปี 2563-2564 หจก.สังวาลย์โชคเจริญยิ่ง ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลในโครงการดังกล่าว ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาจ้างเหมาซ่อมแซมคันคลองส่งน้ำ กับกรมชลประทาน รวมจำนวนทั้งสิ้นถึง 11 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 91,763,786 บาท ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัดยโสธร

อีกโครงการคือ การสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เชื่อมต่อกันระหว่างสายทุ่งชน-คลองลำชาญ หมู่ 5 บ้านหนองเตย ต.ย่านตาขาว และ ต.หนองบ่อ อ.ย่านตาขาว ขนาดความกว้าง 6 เมตร ระยะทาง 370 เมตร ค่าก่อสร้าง 2,100,000 บาท ที่ดำเนินการโดย อบจ.ตรัง ซึ่งพบความผิดปกติเนื่องจากตลอดสองฟากฝั่งถนนระยะทาง 370 เมตร เป็นสวนปาล์มน้ำมัน ไม่ปรากฏว่ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่แม้แต่หลังเดียว อีกทั้งทางที่สิ้นสุดถนนกลับอยู่ติดกับคลองลำชาญโดยที่ไม่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ใดได้ ทั้งที่มีป้ายบอกทางระบุไว้บริเวณปากซอยชัดเจนว่า เป็นเส้นทางที่จะมุ่งไปยังบ้านพรุยนต์-บ้านหนักแบก ในพื้นที่ ต.หนองบ่อ อ.ย่านตาขาว ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงใจให้ชาวบ้านเป็นอย่างมากว่าน่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น


เปิดกระบวนการทุจริตของ อปท.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรหนึ่งซึ่งถูกครหาเรื่องการทุจริตอย่างต่อเนื่อง คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และการปกครองแบบพิเศษ เช่น กทม. และเมืองพัทยา โดย ACT พบข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ถึง 2564 มีแนวโน้มว่า อปท. ต้องพึ่งเงินจัดสรรจากรัฐบาลในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2564 อปท.ทั่วประเทศมีงบประมาณรวมกัน 7.89 แสนล้านบาท เป็นเงินที่จัดเก็บได้เอง 4.67 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลต้องอุดหนุนให้มากถึง 3.22 แสนล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าเงินงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บได้ในแต่ละปีนั้นถูกนำไปใช้จ่ายอย่างไร และมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นหรือไม่

เนื่องจากปัจจุบันเรื่องที่ร้องเรียนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ราวร้อยละ 40 นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ อปท. อีกทั้งมีงานวิจัยระบุว่า คนใน อปท. ร้อยละ 21.6 ยืนยันว่าเคยพบเห็นการทุจริตในหน่วยงานของตน

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ ACT พบว่า นอกจากการคอร์รัปชันในการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีวิธีคอร์รัปชันอีกหลายรูปแบบ อันได้แก่

1.เรียกรับสินบน เมื่อมีผู้มาติดต่อขอ ‘ใบอนุญาตอนุมัติ’ ตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น เปิดธุรกิจร้านค้า สร้างหรือต่อเติมบ้าน ก่อสร้างอาคารหอพัก-คอนโด สร้างโรงงาน เป็นต้น อำนาจนี้ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ไปรับทรัพย์และสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในระยะยาวด้วย เช่น การใช้อาคารผิดประเภท ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อมลพิษ เป็นต้น

2.เรียกรับเงินใต้โต๊ะ แลกกับการประเมินจัดเก็บภาษีหรือค่าสาธารณูปโภคเข้าหน่วยงานที่ไม่ตรงความจริง เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าน้ำประปา เก็บและกำจัดขยะ เป็นต้น ซึ่งช่องโหว่นี้ยังเปิดให้เจ้าหน้าที่ยักยอกเงินที่เรียกเก็บได้บางส่วนเข้ากระเป๋าตนเองได้เช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
3.คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการสารพัด เช่น ตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ฮั้วประมูล ล็อกสเปก รู้เห็นกับเอกชนลดสเปกงาน ตั้งโครงการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นเพื่อจะได้ไม่ต้องทำจริงหรือทำน้อยกว่าที่ตั้งงบ ทำสัญญากับเอกชนให้รัฐเสียเปรียบ เป็นต้น ซึ่งการคดโกงลักษณะนี้เกิดจากการสมรู้ร่วมคิดกันของนักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน มีทั้งเครือข่ายระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มีบ้างที่ระดับเจ้าหน้าที่ทำกันเองโดยลำพัง

4.ซื้อขายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน มีทั้งกรณีรับเข้าทำงานใหม่ ต่อสัญญาจ้าง เลื่อนย้ายตำแหน่ง ขอโยกย้ายไปทำงานที่อื่น

5.โกงหรือยักยอกเงินหลวง เช่น ปลอมใบเสร็จ เบิกเงินเกินจริง เบิกซ้ำซ้อน ลงบัญชีเท็จ เอาเงินหลวงไปหมุนใช้ก่อนแล้วทยอยคืน

6.มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เอาของหลวงไปใช้ส่วนตัว หรือใช้ทรัพยากรหลวงทำโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องหรือใช้อย่างขาดประสิทธิภาพ เช่น ขุดบ่อน้ำ ตัดถนนผ่านที่ดินตัวเอง ใช้งบหลวงไปศึกษาดูงานแต่เน้นท่องเที่ยว ใช้งบหลวงไปค้ำประกันการกู้ยืมส่วนตัว

7.ใช้อิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่ในการเจรจาธุรกิจส่วนตัวกับเอกชนหรือชาวบ้าน มีอภิสิทธิ์เมื่อใช้บริการของรัฐ

นายปฐมพล จันทร์โอชา หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น
หลาน “พล.อ.ประยุทธ์” รวบ 3 โครงการใหญ่

อีกโครงการที่ ACT จับตาในช่วงปี 2564 คือโครงการก่อสร้างซึ่ง หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของ “นายปฐมพล จันทร์โอชา” บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และน้องชาย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชนะการประมูลในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐ อย่างน้อย 3 สัญญา รวมวงเงิน 251.88 ล้านบาท

เนื่องจากเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา หจก.คอนเทมโพรารีฯ ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งในค่ายทหารสมเด็จพระเอกาทศรถ (กองทัพภาคที่ 3) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ อีกทั้งได้ร่วมประมูลและชนะงานโครงการของรัฐ โดยเฉพาะของกองทัพภาคที่ 3 หลายโครงการ รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท

แต่ว่ากันว่า กรณีนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในค่ายทหาร เก็บพยานหลักฐานกันเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ หจก.คอนเทมโพรารีฯ แจ้งย้ายออกจากที่ตั้งในค่ายทหารไปอยู่ข้างนอกแล้วเช่นกัน แต่ปัจจุบันผ่านมาราว 3 ปีเศษแล้ว การไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยังอยู่แค่ “ชั้นต้น” เท่านั้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุที่การตรวจสอบสะดุดหยุดลงเป็นเพราะเกรงอำนาจบารมีของผู้เป็นลุงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ อย่างไร?

พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม บิดาของ นายปฐมพล จันทร์โอชา
สำหรับ 3 โครงการที่ หจก.คอนเทมโพรารีฯ ชนะการประมูลในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่

1.การประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ เป็นอาคารโครงสร้างเหล็ก (คสล.) 5 ชั้น โรงพยาบาลบางจาก ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 1 หลัง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) วงเงินงบประมาณ 154,779,100 บาท ราคากลาง 171,816,100 บาท หจก.คอนเทมโพรารีฯ ชนะด้วยราคา 128,850,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

2.การประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารบูรณาการของกระทรวงยุติธรรม จังหวัดนครปฐม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) วงเงินงบประมาณ 99,467,211 บาท ราคากลาง 108,213,000 บาท หจก.คอนเทมโพรารีฯ ชนะด้วยราคา 82,500,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 กับสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

3.การประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 4 ชั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพลายชุมพล อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Ebidding) วงเงินงบประมาณ 40,557,700 บาท ราคากลาง 40,557,700 บาท หจก.คอนเทมโพรารีฯ ชนะด้วยราคา 40,527,708 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 กับเทศบาลตำบลพลายชุมพล จ.พิษณุโลก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญากับกองทัพภาคที่ 3 รวมถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ระหว่างปี 2558-2563 รวมวงเงินอย่างน้อย 611.43 ล้านบาท ดังนั้น หากนับรวม 3 โครงการในปี 2564 เท่ากับว่า ระหว่างปี 2558-2564 หรือ 7 ปีที่ผ่านมา หจก.คอนเทมโพรารีฯ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ รวมวงเงินอย่างน้อย 863.31 ล้านบาทเลยทีเดียว


ค้านลดโทษ นักโทษคดีคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ดี ประเด็นร้อนแรงที่สุดที่ ACT ติดตามและออกมาเคลื่อนไหวคงหนีไม่พ้นกรณีที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการลดโทษอย่างรวดเร็วให้นักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยอ้างว่าเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ พ.ศ.2564 ซึ่งหลายฝ่ายต่างเคลือบแคลงต่อกระบวนการทำงานของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนต่างแสดงความไม่มั่นใจการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายบริหารของประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ด้วย โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีเบื้องหลัง หรือมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์แลกกับการออกนโยบายดังกล่าว

ดร.มานะกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคดีคอร์รัปชันเป็นคดีใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นการทำลายระบบราชการ ทำลายความเป็นธรรม ทำให้ระบบพวกพ้องเข้ามาครอบงำระบบราชการ

“การจะเอาคนผิดในคดีคอร์รัปชันมาลงโทษได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้เวลานานมาก ดังนั้น จึงไม่ควรลดโทษให้ผู้กระทำผิดในคดีนี้ง่ายๆ เอามูลค่าความเสียหายในคดีลักวิ่งชิงปล้นทั้งประเทศในช่วงเวลา 1 ปีมารวมกัน มูลค่าความเสียหายยังไม่เท่าคดีคอร์รัปชันคดีเดียว” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุ

ในปี 2565 ยังคงเป็นอีกปีที่การคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งทางเดียวที่จะขจัดปัญหาดังกล่าวได้คือ คนไทยทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและส่งเสียงคัดค้านหากพบการคอร์รัปชัน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไม่มีที่ยืนในสังคม!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebooķ :
https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/




กำลังโหลดความคิดเห็น