xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมเปิดเหมืองทองอัครา! ‘บิ๊กตู่-คิงส์เกต’ WIN-WIN

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา ‘คนร.’ ที่มี ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานจะอนุมัติให้มีการเปิดเหมืองทองอัคราหลังการเจรจาได้ข้อยุติหรือไม่? พร้อมนำข้อยุติเสนอต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือน ม.ค.ปี 2565 ต่อไป ชี้เหมืองอัคราเปิดกิจการได้แน่ แต่ต้องจัดตั้ง 4 กองทุนตามระเบียบ ก.พ.ร.เพื่อใช้ในการดูแลตามเงื่อนไข ขณะที่บริษัทอัครา ระบุชัดประเทศไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะค่าภาคหลวง เพราะทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนจะมีการจ้างงานเพิ่มแค่ไหนต้องรอความชัดเจนในการอนุมัติเปิดเหมือง โชว์ตัวเลขตั้งแต่เปิดเหมืองสร้างรายได้ให้ชุมชนและประเทศไทยมหาศาล!

มีแนวโน้มว่าเหมืองทองอัคราจะกลับมาเปิดได้เกือบจะ 100% ซึ่งหากเป็นจริงจะมีมวลชนทั้งที่ผิดหวังและสมหวังกับการกลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (คิงส์เกต) ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานบัตรเหมืองแร่ทองคำตัวจริงจากออสเตรเลียในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ เพราะการเจรจาหาข้อยุติในเรื่องข้อพิพาทเหมืองทองอัคราระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับบริษัทคิงส์เกตฯ มีโอกาส WIN-WIN หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกันขอให้คณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนการออกคำตัดสินชี้ขาดออกไปจากเดิมวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ ถือเป็นกระบวนการปกติที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ


ว่ากันว่าผลการเจรจาที่ออกมานั้นฝ่ายไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามเต็มที่ที่จะรักษาผลประโยชน์ของคนไทย และดูแลทรัพยากรธรรมชาติของไทยไม่ให้ถูกเอาเปรียบและสร้างความเสียหายเกิดขึ้นทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่บริเวณเหมืองแร่ อีกทั้งต้องรักษาระเบียบกฎหมายตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 เช่นกัน

“การเจรจาที่อยู่ในกรอบของกฎหมายทำให้ทุกฝ่ายมีทางออก รัฐบาลบิ๊กตู่ ไม่ต้องเสียค่าโง่จากปมขัดแย้งจนต้องนำเข้าสู่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสิน เพราะหากเราไปดูช่วงที่ คสช.ใช้ ม.44 สั่งปิดยังเปิดโอกาสให้ 2 ฝ่ายคือ คิงส์เกต และกระทรวงอุตฯ ไปหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเหตุผลที่รัฐบาลสั่งปิดเพราะประชาชนรอบเหมืองได้รับผลกระทบต่อสุขภาพมาก”

ดังนั้น การหารือร่วมกันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ที่มีบริษัทคิงส์เกตฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นยืนยันว่าประชาชนรอบเหมืองส่วนใหญ่ไม่ได้มีประเด็นขัดแย้งอะไรกับทางเหมือง ตรงกันข้าม กลับต้องการให้เหมืองได้กลับมาเปิดในเร็ววันเพราะชีวิตความเป็นอยู่ช่วงเวลาที่เหมืองเปิดดีกว่าปัจจุบันที่เหมืองถูกปิดมาก

บริษัทอัครา บอกอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดระยะเวลาที่เหมืองเปิดดำเนินการ มีทีมงานที่คอยลงพื้นที่เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจและรับทราบถึงการดำเนินงานของเหมือง พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยบริษัทตั้งสำนักงานที่ดูแลด้านชุมชนไว้ด้านนอกเหมือง เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงเหมืองได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการเปิดเหมืองต้อนรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมเหมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่โปร่งใส ได้มาตรฐานสากล ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


สำหรับการเจรจาปมปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ เพื่อหาข้อยุติและปรับความเข้าใจในกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิผลตามกฎหมาย และต้องการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนรอบเหมืองในความปลอดภัยด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง

พร้อมกับยืนยันว่า หากเหมืองทองอัคราได้กลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง ผลประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศไทยจะได้รับย่อมไม่น้อยกว่าในอดีตก่อนที่จะมีการปิดเหมืองแน่นอน ตัวอย่างเช่น ค่าภาคหลวง ซึ่งคำนวณตามราคาทองคำนั้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าราคาทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอัตราค่าภาคหลวงสำหรับแร่ทองคำของประเทศไทยนั้นมีอัตราสูงที่สุดในโลก (เปรียบเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่)

โดยตั้งแต่เปิดกิจการมานั้น บริษัทฯ ได้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศไทย เช่น

- การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทยมากกว่า 32,000 ล้านบาท

- การชำระค่าภาคหลวงมากกว่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะกลับสู่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเหมืองนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน

- การจ้างงาน โดยจ่ายค่าตอบแทนมากกว่า 1,800 ล้านบาท จากการจ้างพนักงานมากกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่โครงการ

- การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและกิจกรรมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สังคม การศึกษาและศาสนา มากกว่า 400 ล้านบาท


ด้านแหล่งข่าวจากรัฐบาล ระบุว่า การจะเปิดเหมืองอัคราได้หรือไม่นั้นจะอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ และมีรัฐมนตรีหลายกระทรวงร่วมด้วย ประกอบด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติแห่งสิ่งแวดล้อม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยปลัดกระทรวงหลายกระทรวงและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ร่วมพิจารณา

“คนร.จะมีการประชุมเร็วๆ นี้ ถ้า คนร.เห็นด้วยให้เปิดสามารถเปิดได้ ไม่ต้องเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่แนวโน้มน่าจะเปิดได้เกือบ 100% ถ้าเหมืองทำตามข้อตกลงที่มีการหารือจากคณะกรรมการกลั่นกรองมาแล้ว เมื่อได้ข้อยุติแจ้งไปที่อนุญาโตตุลาการทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ต้องให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ”

โดยเฉพาะเงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้บริษัทฯ ดำเนินการจัดตั้งกองทุนต่างๆ ตามกฎระเบียบและกฎหมายที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดไว้ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแร่ทองคำให้มีการจัดตั้ง กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง เป็นต้น

“ทุกกองทุนกำหนดให้ผู้ได้สัมปทานบัตรต้องจัดสรรเงินบางส่วนจากการพัฒนาโครงการเหมืองแร่ จะมีกำหนดวงเงินในการจัดตั้งไว้ เช่น กองทุนประกันความเสี่ยง กำหนดไว้ร้อยละ 3 ของค่าภาคหลวงที่บริษัทชำระในแต่ละปี ซึ่งเท่าที่มีการเจรจาทั้ง 4 กองทุน บริษัทอัคราจะต้องนำเงินเข้ากองทุนประมาณปีละ 300 ล้านบาท”

หรือกรณีกองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ ได้มีการกำหนดชัดว่าเพื่อจัดสรรเงินมาใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองมาแล้ว พื้นที่กิจกรรมเกี่ยวเนื่องและพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับการทำเหมือง เพื่อฟื้นคืนสภาพพื้นที่ให้สอดคล้องกับการทำเหมืองและช่วยป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับพื้นที่ข้างเคียงด้วย


ที่ผ่านมา จากข้อมูลของบริษัทอัครา ได้มีการจัดตั้งกองทุนอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่นในเวลา 1 ปี โดยมีตัวเลขเงินสมทบกองทุนตั้งแต่กรกฎาคม 2557-มิถุนายน 2558 วงเงิน 37 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนอัคราเพื่อชุมชน 15 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้านนิคม 1 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้านเขาดิน 1 ล้านบาท กองทุนพัฒนาตำบลท้ายคง 5 ล้านบาท กองทุนพัฒนาตำบลเขาเจ็ดลูก 5 ล้าน กองทุนประกันความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม EIA Fund 10 ล้านบาท และยังมีเงินสมทบประกันความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม EIA FUND ตั้งแต่ปี 2551-2557 รวมกว่า 70 ล้านบาท

“บริษัทอัคราดำเนินการในการจัดตั้งกองทุนก็จริง แต่ยังไม่ได้เป็นตามที่กฎหมาย ก.พ.ร.กำหนด แต่หากเหมืองจะได้เปิดจริง บริษัทก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบในการจัดตั้งกองทุนตามที่ ก.พ.ร.กำหนดและเงื่อนไขการเจรจาซึ่งเป็นข้อยุติ”

นอกจากนี้ จะมีเรื่องของการจ้างงานเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา เหมืองอัคราได้มีการจ้างพนักงานร่วมพันอัตราไม่ว่าจะเป็นการจ้างโดยตรง หรือผ่านผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นคนในพื้นที่ประมาณ 75% และหากครั้งนี้ได้เปิดเหมืองต้องดูก่อนว่าจะได้เปิดในสัดส่วนแค่ไหนอย่างไร ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่จะกลับมาเปิด เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องจักรและปรับปรุงโรงงาน การทำสัญญากับ supplier ต่างๆ และการพิจารณาเรื่องการรับพนักงานหรือการจ้างงานต่อไป

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่าในการประชุมของ คนร.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ที่คาดว่าจะมีการประชุมเร็วๆ นี้จะอนุมัติให้มีการเปิดเหมืองทองอัคราจริงหรือไม่!?




กำลังโหลดความคิดเห็น