จับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดได้หรือไม่? ตามไทม์ไลน์ที่ นายวิษณุ เครืองาม คาดไว้ และประชาธิปัตย์เชื่อไม่เกิน
มี.ค.2565 ส่วน ‘บิ๊กอาย’ ปฏิเสธข่าวลงผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่คนวงในชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.น่าจะเกิดหลังเลือกตั้งใหญ่ ให้ ‘บิ๊กวิน’ ลากยาวเพื่อหนุนพรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณวณิก แจงถึงเวลาจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้กลไกของการเมืองการปกครองเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่ใช้สารพัดกลไกอำนาจพยุงสิ่งที่เกิดจากอำนาจ คสช. จนทำให้คนบางกลุ่มต้องการล้างระบบ คสช.ให้สิ้น จี้ถามรัฐบาลจะล้างมือให้สะอาดเอง หรือจะให้คนอื่นเอามีดมาเฉือนเนื้อส่วนที่ไม่สะอาดทิ้ง!
หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แล้ว เริ่มมีคำถามตามมาว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะ กทม.เป็นหน่วยปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสออกมาจากรัฐบาลว่าหลังเลือกตั้งอบต.แล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ตามมา
จากนั้นจึงเริ่มมีการพูดถึงผู้ที่จะมาท้าชิงผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคต่างๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ มีการเสนอ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘พี่เอ้’ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะเสนอ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (พี่สาวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ลงสู้ศึกครั้งนี้ และล่าสุดปรากฏชื่อ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคลงแทน เนื่องจาก น.ส.ศิริกัญญา มีผลงานในการนำเสนอปัญหาเศรษฐกิจให้สังคมได้รับรู้
แต่ในที่สุด พรรคก้าวไกลก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ทั้ง 2 คน!
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ มีกระแสข่าวว่าจะส่ง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (อาจารย์แหม่ม) เหรัญญิกพรรค ลงแข่ง แต่ในที่สุด อาจารย์แหม่มก็ออกมาปฏิเสธ ว่าไม่เป็นความจริงเช่นกัน
ส่วนคนจริงอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ ‘บิ๊กแป๊ะ’ ที่ลงพื้นที่หาเสียงใน กทม.มาตลอด ก็ประกาศถอนตัวไม่ลงผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ผลสำรวจของนิด้าโพล ได้สำรวจความคิดเห็นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน เรื่อง ‘อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.’ จะพบว่า บิ๊กแป๊ะ เป็นรองแค่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ครองอันดับ 1 มาตลอดเท่านั้น
แต่ใช่ว่าบิ๊กแป๊ะ จะวางมือทางการเมือง ซึ่งหากใครเป็น FC ของบิ๊กแป๊ะ จะเห็นว่าเขายังเคลื่อนไหวเสมือนเป็นการหาเสียงอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าบิ๊กแป๊ะ น่าจะรู้หรือประเมินได้ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ และรัฐบาลต้องการให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันรักษาการไปยาวๆ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสนามใหญ่ใช่หรือไม่? เขาจึงประกาศถอนตัวเพื่อเข้าสู่สนามใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมือง จากทีมงานผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และในแวดวงวิชาการ รวมทั้งมวลชนฐานเสียงของพรรคการเมืองเริ่มจะออกมาขยับเพื่อจี้ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตอบชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้เมื่อไหร่
ซึ่งหากฟังคำตอบจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นช่วงใดนั้น ต้องถามกระทรวงมหาดไทย ที่จะเสนอเรื่องมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อ ครม.เห็นชอบจะแจ้งเรื่องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นจึงจะกำหนดวันและเวลา คือเสร็จการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากนั้นจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป
“ต้องรอเลือกตั้ง อบต.ให้ครบหนึ่งเดือน เพื่อจะดูว่ามีเรื่องร้องเรียนและการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ และต้องรอให้ประกาศผลออกมาเป็นทางการก่อน”
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และรองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ กทม.บอกว่า หากดูตามไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งท้องถิ่น จะเห็นว่ามีการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เลือก อบจ.เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา จากนั้นก็เลือกเทศบาล เมื่อ มี.ค.2564 เว้นช่วงโควิดระบาดหนัก เมื่อทุกอย่างดีขึ้นมาเลือก อบต.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา
ดังนั้น ในเดือนมกราคม 2565 น่าจะเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
“ทุกอย่างจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ น่าจะเลือกผู้ว่าฯ กทม.ได้ภายในเดือนมีนาคม ปี 65 ไม่น่าจะดีเลย์ออกไปนานกว่านี้ ยกเว้นว่ามีโควิดระบาดรอบใหม่จนถึงขั้นล็อกดาวน์”
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าคนกรุงเทพฯ รอเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และเลือกตั้ง ส.ก. เพราะเรามีผู้ว่าฯ กทม.มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.2559 นานกว่า 5 ปี และมี ส.ก.จากการแต่งตั้งของ คสช.มาตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 นานกว่า 7 ปี
ถึงวันนี้รัฐบาลจึงควรเคาะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ได้แล้ว ไม่ควรยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ในนามพรรคแน่นอน
ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า เมื่อผู้ว่าฯ กทม.คนเดิมหมดวาระต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่เนื่องจากมีการรัฐประหารแล้วมีการปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน รองผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น ที่ คสช.เห็นว่าเหมาะสมขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.แทนเมื่อเดือน ต.ค.2559 และยังดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
รวมทั้งให้ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. อบจ. ดำรงตำแหน่งต่อโดยไม่มีกำหนด ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด โดยภาวะเช่นนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งใกล้จะครบวาระแล้ว แต่ในเมื่อตอนนี้องค์กรส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เทศบาล อบต. อบจ. ได้จัดการเลือกตั้งไปแล้ว กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งก็ควรจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เช่นกัน เพื่อให้กลไกของการเมืองการปกครองเข้าสู่ภาวะปกติ
ดร.เจษฎ์ ย้ำว่า ในข้อเท็จจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากอำนาจในการรัฐประหารควรจะดำรงอยู่แค่ชั่วคราวและเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะปกติ ตอนนี้องค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ เลือกตั้งไปหมดแล้ว ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเกิดความลักลั่นกัน ไม่เป็นไปตามวิถีทางการเมืองที่ควรจะเป็น อีกทั้งไม่เป็นไปตามวงรอบวาระการดำรงตำแหน่ง ประชาชนที่เขาประเมินผลงานของผู้ว่าฯ บางคนพอใจ บางคนไม่พอใจ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพอใจหรือไม่พอใจจะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่
“ผลพวงจากอำนาจ คสช. ที่ลากยาวมาถึงปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการใช้กลไกของบทบัญญัติกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกลไกในการปฏิบัติต่างๆ เช่น มติของคณะรัฐมนตรี ในการพยุงสิ่งที่เกิดจากอำนาจของ คสช. เอาไว้ จึงมีคนส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาบอกให้ล้างระบบ คสช.ให้หมด คือถ้าเห็นว่ามือไม่สะอาด ท่านจะล้างมือให้สะอาดเอง หรือจะให้คนอื่นเอามีดมาเฉือนเนื้อส่วนที่ไม่สะอาดทิ้ง”
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า การดำรงอยู่ของผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากอำนาจ คสช. อาจจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้นั้น ดร.เจษฎ์ ระบุว่า จะว่าเกี่ยวก็ไม่ได้ จะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่ได้ แต่ต้องบอกว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะหากย้อนไปดูการเลือกตั้ง ส.ส.ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองใดที่คนของตัวเองได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะมีโอกาสในการเลือกตั้งมากกว่า มีลู่ทางหรือวิธีการในการหาเสียงได้มากกว่า
จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ตามไทม์ไลน์ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ั หรือจะเป็นไปตามแหล่งข่าวในพรรคพลังประชารฐ ว่า แกนนำพรรคคาดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือบิ๊กวิน ทำงานเข้าตา หรือตอบสนอง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ดีที่สุดที่จะสร้างโอกาสให้พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบในพื้นที่ กทม.!