xs
xsm
sm
md
lg

ใคร! หมกเม็ดคิดปิด ‘หัวลำโพง’ ผุดเชิงพาณิชย์ ‘พี่เอ้-รสนา’ ค้าน วงในลือ 3 เจ้าสัวจ้องฮุบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดหัวลำโพงไม่ง่าย! ต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ ให้ประชาชนได้รับรู้ ระบุที่ดินหัวลำโพง 120 หรือ 216 ไร่ ที่จะถูกพัฒนา
จากหัวถนนไปจนถึงสะพานกษัตริย์ศึก ขณะเดียวกันจะสร้างส่วนต่อขยายสายสีแดงเชื่อมหัวลำโพง-สมุทรสาคร
ตามแผนแม่บทในการพัฒนาหรือไม่? วงในลือ 3 เจ้าสัวจ้องฮุบ ด้าน‘พี่เอ้’ แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ที่ ปชป.ส่งประกวด
คัดค้านทุบหัวลำโพง หนุนยกเลิกขบวนรถไฟไปใช้สถานีบางซื่อแทน แนะสร้าง Missing Link   เชื่อมสายตะวันออก-สายเหนือ หากทำไม่ได้ 2 โซนจะถูกตัดขาด แจงพัฒนาหัวลำโพงเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่‘รสนา’ ชี้ รมว.คมนาคมสั่งหยุดเดินรถ หวังเปลี่ยนสีผังเมือง จากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง ผุดพาณิชย์ ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย!


การผุดไอเดียที่จะยุติการเดินรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง เข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) หรือที่สื่อสารกันออกมาสั้น ๆ ว่าเป็นการ ‘ปิดหัวลำโพง’ นั้น ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสการเคลื่อนไหวคัดค้านออกมาจากกลุ่มต่าง ๆ เพราะมองว่าเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้ร่วมกันสืบทอดเจตนารมณ์ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระราชทาน ‘กิจการรถไฟ’ มีการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2453 โดยมีรถไฟขบวนแรกเข้าสู่สถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 รวมเวลาถึงปัจจุบันมีการเปิดใช้บริการหัวลำโพง 105 ปี

ดังนั้นการที่กระทรวงคมนาคม จะมีนโยบายปิดสถานีหัวลำโพงที่มีขนาดพื้นที่ กว้าง 100 เมตร ยาว 300 เมตร พื้นที่ใช้สอย 192,000 ตารางเมตร โดยเป็นพื้นที่จากต้นถนนคือตัวหัวลำโพง ตลอดแนวริมคลองยาวไปถึงสะพานกษัตริย์ศึก เนื้อที่ดินประมาณ 120 ไร่ เพื่อนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อไป จึงเกิดกระแสคัดค้านและเป็นผลให้กระทรวงคมนาคมต้องมีการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง


แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ปัญหาที่ได้รับการต่อต้านครั้งนี้ เป็นผลจากการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ข้อมูลไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนดูเสมือนว่าจะปิดหรือทุบทิ้งหัวลำโพงไปเลย แต่ข้อเท็จ จริงไม่ได้เป็นการปิดหรือทุบทิ้งตัวโดมที่เป็นสัญลักษณ์ของหัวลำโพง แต่จะเป็นการนำที่ดินด้านหลังซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายพนักงานที่เคยทำงานออฟฟิศของ รฟท.ทั้งหมด ไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ รวมไปถึงจะทยอยหยุดรถไฟที่วิ่งจากต่างจังหวัดและรถไฟชานเมืองที่เคยวิ่งเข้าหัวลำโพงบางสายให้ไปใช้สถานีกลางบางซื่อแทน

“สิ่งที่จะต้องรื้อคืออาคารสำนักงาน รฟท. พวงรางที่อยู่ในนั้น เดิมมี 20 กว่าราง อู่ซ่อมบำรุงโรงเก็บต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ติดถนนบำรุงเมืองทั้งแถบ ยาวไปจนถึงสะพานกษัตริย์ศึก ก็คือพื้นที่จะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือที่ตรงนี้มี 120 ไร่ หรือ 216 ไร่ กันแน่ จะมีการแบ่งสัดส่วนเชิงพาณิชย์และพื้นที่เชิงอนุรักษ์ไว้เท่าไหร่”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
• จะปิดหัวลำโพง ต้องตอบโจทย์ 3 ข้อให้ได้

ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม จะต้องเตรียมข้อมูลที่จะตอบข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งกับกลุ่มต่าง ๆ ไว้ให้พร้อมซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเรื่องของขบวนรถไฟที่เคยเปิดให้เดินรถอยู่จะวิ่งหรือไม่วิ่ง และประชาชนที่เคยใช้บริการรถไฟชานเมืองทุก ๆ วันจะทำอย่างไร

นี่คือโจทย์ข้อแรก
เพราะหากเราไปนั่งสังเกตขบวนรถไฟที่วิ่งในช่วงเช้าและช่วงเย็น จะเห็นบรรดาคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา ใช้บริการรถไฟชานเมือง เบียดกันแน่นมากจนแทบขยับตัวไม่ได้เพื่อเข้ามาเรียน มาทำงานในกรุงเทพฯ และยังมีขบวนรถสินค้าอีกหลายขบวนก็มีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงขนสินค้าเกษตรเข้ามาขายในกรุงเทพฯ ซึ่งบางเที่ยวก็จะมีผู้โดยสารซื้อสินค้ากลับบ้านเช่นกัน

“ไปนั่งดูสายตะวันออก จากปราจีน อรัญประเทศ ฉะเชิงเทรา วิ่งผ่านเข้ามาและยังมีขบวนเสริมจากหัวตะเข้ ผ่านสถานีลาดกระบัง สถานีพระจอมเกล้าฯ สถานีทับช้าง สถานีหัวหมาก สถานีคลองตัน สถานีมักกะสัน สถานีราชเทวี สถานียมราช เพื่อเข้าหัวลำโพง ซึ่งบางจุดไม่ใช้สถานี แต่ก็มีขบวนรถไฟหยุดให้เพื่อขนส่งคนเข้ามาทำงานได้รับความสะดวก”

ตรงนี้จะเห็นว่าขบวนรถไฟสายเหนือที่วิ่งมาจากสระบุรี อยุธยา ผ่าน รังสิต เข้าหัวลำโพง ก็ไม่ได้ต่างจากขบวนรถไฟสายตะวันออกก็จะแน่นเกือบจะทุก ๆ เที่ยวเช่นกัน

“แต่ขบวนรถไฟจากโซนเหนือ ก็อาจจะตอบได้ง่าย เพราะหยุดที่สถานีกลางบางซื่อได้ก็จริง แต่คนที่เคยใช้บริการจะต่อรถไฟฟ้าหรือรถสาธารณะเข้าในเมืองอย่างไร จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้พวกเขาอีกหรือไม่ การรถไฟฯ ก็ต้องเตรียมแผนอธิบายด้วย”

แผนที่รถไฟสายสีแดง
โจทย์ข้อ 2 คือในแผนแม่บทใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ได้มีการระบุว่าจะมีการพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย หรือที่เรียกว่าสายหัวลำโพง-สมุทรสาคร เพื่อใช้เป็นโครงข่ายในการขนส่งผู้โดยสารจากฝั่งธนบุรีเข้ามาในเมือง ซึ่งจะต้องมีการสร้างอุโมงค์ทางรอดในแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจใช้เป็นทางยกระดับรถไฟในช่วงแม่น้ำแม่กลอง จะยังคงมีอยู่หรือไม่ หรือจะยุติไปเลย

“โครงการนี้ก็จะมีการเชื่อมต่อใช้พื้นที่หัวลำโพง ซึ่งเดิมประชาชนบางพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนออกมาคัดค้าน กระทรวงจึงเห็นว่ายังไม่เร่งด่วน ให้นำไปบรรจุไว้ดำเนินการภายหลัง ก็ต้องบอกให้ชัดว่าจะมีหรือไม่มีโครงการส่วนขยายหัวลำโพง -บางบอน-มหาชัย เพราะถ้ามีก็ต้องมีทั้งคนขน ขนสินค้าเข้ามาที่หัวลำโพง หัวลำโพงก็ยังมีความจำเป็น หากมีโครงการนี้”

แหล่งข่าว อธิบายว่า ตามแผนเดิมโครงการนี้จะใช้จุดจอดรถที่ศูนย์คมนาคมขนส่งตากสิน ซึ่งจะเป็นอีกศูนย์กลางแห่งหนึ่ง ที่มีลักษณะเดียวกันกับสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีมักกะสัน ที่กลุ่ม CP ได้ไป เพียงแต่ว่าที่มักกะสันจะเป็นพื้นที่เล็กกว่า เพื่อไม่ให้ขบวนรถจากทางใต้ เข้ามาที่ใจกลางหัวลำโพง และจะมีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อไปยังถนนพระรามที่ 6 เข้าบางซื่อได้เช่นกัน

แต่เมื่อ ‘ศูนย์คมนาคมขนส่งตากสิน’ ยกเลิกไปแล้ว ก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นเช่นกันว่าแผนการพัฒนาเส้นทางสายสีแดงจะเชื่อมต่อไปฝั่งธนจะทำกันอย่างไร

เนื่องเพราะตามแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง : URMAP มีระบุเส้นทางไว้ชัดเจนและบอกถึงสถานีหัวลำโพง จะเป็นจุดเชื่อมต่อก็แปลว่าหัวลำโพงต้องมีอยู่ใช่หรือไม่?

“บอกชัดไปเลยว่าสายสีแดงที่จะไปฝั่งธน ยังคงมีอยู่หรือไม่ หรือบอกให้ชัดว่าขบวนไหนย้ายไปบางซื่อได้บ้าง ถ้าย้ายไม่ได้ ก็แปลว่าหัวลำโพงยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการต่อไป เพราะเมื่อการเดินขบวนรถไฟยังมีอยู่ ส่วนสนับสนุน ที่จอดรถ ที่ขนส่ง ก็ต้องมีเช่นกัน”


โจทย์ข้อที่ 3 ที่กระทรวงคมนาคมต้องเตรียมตอบให้ชัด จะเอาพื้นที่ตั้งแต่บริเวณตรงไหนบ้างที่จะทำเป็นเชิงพาณิชย์ และตรงไหนบ้างที่ควรนำไปพัฒนาในเชิงสังคมเพราะต้องไม่ลืมว่าหัวลำโพงอยู่มาตั้ง 105 ปี มีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมของคนที่เกี่ยวข้องหลากหลายอาชีพ ให้คนได้เรียนรู้ ไม่เว้นแม้กระทั่งพ่อค้า แม่ค้า รถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และเรือโดยสารที่วิ่งผ่านคลองไปยังจุดสิ้นสุดที่บางลำพู หรือจะมีตลาดที่เคียงคู่กับเยาวราช ดีหรือไม่?

สิ่งเหล่านี้กระทรวงคมนาคมต้องคิดว่าจะทำให้เชิงพาณิชย์และเชิงสังคมหรือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมตรงนั้นอยู่ด้วยกันอย่างลงตัวได้อย่างไร?

“ต้องกางแผนผังหัวลำโพง มาตอบกันให้ได้ ในเชิงพาณิชย์ก็ต้องมีความโปร่งใสในการพัฒนา ไม่ใช่เพื่อสนองตอบกลุ่มทุนใหญ่ที่มีการปล่อยข่าวจะเข้ามาฮุบที่ตรงนี้ ก็ลือกันในกระทรวงและในกลุ่มนักพัฒนา ว่า 3 เจ้าสัวต่างฝ่ายต่างต้องการเชื่อเถอะถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เวลานี้การปิดหัวลำโพงจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ เรียกความสนใจคนกรุงเทพฯได้แน่
และคนกรุงก็ไม่ต้องการให้ปิดหัวลำโพง กระทรวงจึงต้องตอบให้ได้ทุกข้อสงสัย”

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘พี่เอ้-อาจารย์เอ้’
• ถ้าปิดหรือทุบทิ้งหัวลำโพง ‘พี่เอ้’ ไม่ยอมแน่!

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘พี่เอ้-อาจารย์เอ้’ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศจะส่งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า หัวลำโพง เป็นสัญลักษณ์ของการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทย ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างขึ้นมา และโครงสร้างของหัวลำโพงเป็นสถาปัตยกรรมที่ควรอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง

“มั่นใจว่ากระทรวงจะไม่ทำลาย ไม่ทุบทิ้ง และผมก็เป็นคนหนึ่งที่จะไม่ยอมให้มีการทำลายเพราะเป็นเอกลักษณ์ในเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นประติมากรรมที่หาค่าไม่ได้”

โดยเบื้องต้นที่ได้รับทราบข้อมูลมานั้น กระทรวงฯ จะไม่ใช้สถานีหัวลำโพงเป็นศูนย์ขนส่งแล้ว หากจะถามว่ามีข้อดีหรือไม่นั้น ก็ต้องย้อนไปดูการจราจร เมื่อเราลงจากทางด่วนสะพานยมราช จะมองเห็นรถติดจากปัญหาขบวนรถไฟที่จะเข้าสถานีหัวลำโพงเป็นเวลานาน หากจะย้ายขบวนรถไฟไปยังสถานีกลางบางซื่อ ก็จะลดปัญหาการจราจรจากขบวนรถไฟได้

“ส่วนหัวลำโพงก็ต้องดูว่า กระทรวงมีแผนจะอนุรักษ์อย่างไร”

• สร้าง Missing Link เชื่อมสายตะวันออก-เหนือ

อาจารย์เอ้ อธิบายว่าสิ่งที่ต้องตามดูต่อไปก็คือการแก้ปัญหาของขบวนรถไฟชานเมืองที่วิ่งเข้าหัวลำโพง อย่างเช่นสายตะวันออก ตามแผนสายสีแดงจะมีส่วนต่อขยายช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ที่จะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นโดยไม่ต้องเข้าไปที่สถานีหัวลำโพง คือจากดอนเมือง ไปพญาไท -มักกะสัน -ราชปรารภ -รามคำแหง- หัวหมาก -ลาดกระบัง ออกไปฉะเชิงเทราได้สะดวก และจากสายตะวันออก จะไปทางเหนือ ผ่านมาถึงสถานีพญาไท ก็เข้าสู่ Missing Link ตรงหลังกรมทางหลวง ผ่านยมราช สถานีจิตรลดา ต่อไปได้ทันที

“ถ้า Missing Link ซึ่งเป็นเส้นที่ทางกลุ่ม CP ดำเนินการ เกิดขึ้นมาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหัวลำโพง”

อาจารย์เอ้ ย้ำว่า ถ้าจะทุบทิ้งหัวลำโพง บอกได้เลยว่าคนกรุงเทพฯ คนไทยทุกคนไม่ยอมแน่นอน แต่ถ้ามีการย้ายระบบขนส่งมวลชนไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ เห็นด้วย และต้องเร่งสร้าง Missing Link ให้เชื่อมสายเหนือ สายตะวันออก ก็จะทำให้การพัฒนามีโอกาสเกิดขึ้นได้

แต่ถ้า Missing Link ไม่เกิดหรือเกิดไม่ได้ ด้วยปัญหาอะไรก็ตาม จะทำให้ประชาชนลำบากแน่ ๆ เพราะสายตะวันออก จะถูกตัดขาดกับสายเหนือ จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องผลักดันให้สำเร็จ

“การรถไฟต้องระวังเป็นพิเศษ จะไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ต้องขอให้หัวลำโพงมีพื้นที่ ให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ ผมอยากให้หัวลำโพงเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยากให้มีร้านหนังสือใหญ่ที่สุด เหมือนร้านหนังสือในเยอรมัน ในญี่ปุ่น ที่มีคนเข้าไปใช้ นอกเหนือจากมีร้านค้า การท่องเที่ยว และอยากให้การรถไฟฯ ไปดูประวัติศาสตร์ ตรงวงเวียนหัวลำโพงเคยมีหลุมหลบภัย แต่ถมปิดไปหมด ก็อยากให้ไปศึกษาปรับปรุง คืนหลุมหลบภัยให้เด็กได้เข้าไปเรียนรู้”





น.ส.รสนา โตสิตระกูล
• ‘ศักดิ์สยาม’ ปิดหัวลำโพงหวังเปลี่ยนสีผังเมืองผุดเชิงพาณิชย์

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า แม้ผู้ว่าฯ กทม.จะไม่มีอำนาจโดยตรงในการบริหารจัดการสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่ส่วนที่เกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.คือเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถรวมรวบความคิดเห็นหรือจัดทำประชามติรับฟังความเห็นจากคนกรุงเทพฯได้ และเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะการยกเลิกการให้บริการรถไฟของสถานีหัวลำโพงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการรถไฟในการเดินทางเข้า-ออกระหว่างกรุงเทพฯ กับชานเมืองหรือต่างจังหวัด ทั้งในเรื่องของค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นและไม่สะดวกในการเดินทาง

การที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานที่ดินจำนวนมากให้การรถไฟแห่งประเทศไทยก็เพื่อให้การรถไฟสามารถประกอบกิจการและดูแลให้การรถไฟฯสามารถทำหน้าที่ตามภารกิจหลักคือให้บริการขนส่งมวลชน ดังนั้นการที่อยู่ๆ จะยกเลิกการเดินรถของสถานีรถไฟหัวลำโพงแล้วนำพื้นที่ไปดำเนินการเชิงพาณิชย์จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งการที่ รมว.คมนาคมอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนี้อยู่ 6 แสนล้านบาท ถ้านำสถานีหัวรถไฟลำโพงมาดำเนินการเชิงพาณิชย์จะสามารถหารายได้ได้ 8 แสนล้านบาทใน 30 ปี ซึ่งจะช่วยชดเชยปัญหาการขาดทุนดังกล่าวได้นั้น จริงๆแล้ว สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ส่วนอื่นของการรถไฟซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าได้ แต่กลับเลือกที่จะทุบสถานีหัวลำโพงซึ่งลงทุนก่อสร้างไปมหาศาลและปัจจุบันยังมีการเดินรถอยู่

“การจะนำที่ดินว่างเปล่าของการรถไฟฯ บางส่วนไปพัฒนาเพื่อหารายได้มาอุดหนุนการขาดทุนซึ่งเกิดจากการจัดเก็บค่าโดยสารที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงตามนโยบายของการรถไฟฯ ที่ต้องให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟในราคาถูกก็สามารถทำได้ เนื่องจากการรถไฟฯ มีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่จำนวนมาก อาทิ ที่ช่องนนทรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบางกะเจ้า ซึ่งถือว่าจุดนี้มีความพร้อมเพราะมีการเตรียมพื้นที่สำหรับทำคอมเพล็กซ์อยู่แล้ว” รสนา ระบุ

น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นเท่ากับเป็นการเปลี่ยนผังเมืองบริเวณดังกล่าวจาก “สีน้ำเงิน” คือที่ดินซึ่งเป็นของรัฐ เป็น “สีแดง” คือที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้การดูแลผังเมืองเป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. โดย กทม.จะมีสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองซึ่งดูแลเรื่องผังเมืองอยู่ ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม. ควรเข้ามาดูตรงนี้ อีกทั้งผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่ การจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

“การที่รัฐมนตรีคมนาคมสั่งให้หยุดเดินรถไฟที่หัวลำโพงก็เพราะต้องการเปลี่ยนสีผังเมือง เพราะตราบใดที่ยังมีการเดินรถไฟอยู่ก็เปลี่ยนสีผังเมืองไม่ได้ เพราะสีผังเมืองของหัวลำโพงคือสีน้ำเงินซึ่งเป็นที่ของหน่วยราชการ คุณจะไปทำเชิงพาณิชย์ไม่ได้ คุณจะไปยกให้เจ้าสัวคนไหนมาประมูลไม่ได้ ถามว่าผู้ว่าฯ กทม.สามารถเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้ได้อย่างไร ผู้ว่าฯ ช่วยได้ แค่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”

น.ส.รสนา ชี้ว่า การยกเลิกการให้บริการรถไฟของสถานีรถไฟหัวลำโพงไม่ควรใช้แค่อำนาจของ รมว.คมนาคม ในการตัดสินใจ แต่ควรฟังความเห็นของประชาชนด้วย ถ้ารัฐมนตรีจะสั่งเดินรถไฟทันทีในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ โดยยังไม่เคยรับทราบเลยว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็เท่ากับเป็นการใช้อำนาจจากบนลงล่าง ซึ่งจากการที่ตนเองเขียนเรื่อง Save ลมหายใจสถานีรถไฟหัวลำโพง ลงใน facebook ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม แค่ 2 วัน ก็มีคนเข้ามาอ่านกว่า 2.6 แสนคน โดยคอมเมนต์ส่วนใหญ่ต้องการให้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เป็นสถานีที่มีรถเข้าออกเช่นเดิม ไม่ใช่แค่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ตายแล้วเท่านั้น !




กำลังโหลดความคิดเห็น