xs
xsm
sm
md
lg

‘อาจารย์นิด้า’ หวั่นเกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ วอน ‘3 ป.’ ยื่นมือคุยกับ ‘เด็ก 3 นิ้ว’ ก่อนบานปลาย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนานิด้า สะท้อนประเด็นปัญหาที่กำลังจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ วอน‘3 ป.’ ยื่นมือพร้อมพูดคุยกับ‘ เด็ก 3 นิ้ว’ ที่เวลานี้ยกระดับการชุมนุมสูงขึ้นทั้ง
“ไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” และยกเลิก ม.112 หวั่นยุบพรรคก้าวไกล นำไปสู่ระเบิดลูกใหญ่ดึงคนลงท้องถนนมากขึ้น เสมือนยุบ ‘ไทยรักไทย-พลังประชาชนและอนาคตใหม่’ ชี้คนเลือกขั้วฝ่ายค้านเพราะอุดมการณ์ ตั้งป้อม ‘คุณยุบได้ฉันก็เลือกได้’ ไม่สนใจขั้วอำนาจ ‘3 ป.’ ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจอยู่ต่อหลังเลือกตั้งสมัยหน้า ระบุนิด้าโพล ชี้ชัดๆ คะแนนนิยมพรรคก้าวไกล เพื่อไทย ดีขึ้นต่อเนื่อง มีสิทธิชนะเลือกตั้ง!


อุณหภูมิทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ต่างเชื่อว่ามีเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ 3 แกนนำราษฎร นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำตัดสินดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงในทางกฎหมายมากมาย รวมไปถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ดูเหมือนว่าคำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของกลุ่มอนุรักษนิยม ที่สามารถจัดการกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างได้อย่างเรียบง่าย และไม่กล้าจะปลุกระดมอีกต่อไป

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐสภามีมติคว่ำร่างฉบับประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... วาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 206 ซึ่งเสนอโดย Re-Solution แต่บางคนจะเรียกว่าร่างฉบับไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ ) เพราะเป็นตัวแทนเข้าไปอภิปราย



อานนท์ นำภา  - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง - ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์)
อย่างไรก็ดี มติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถือเป็นครั้งที่ 2 เพราะฉบับแรกนำเสนอโดยกลุ่ม iLAW ก็ถูกคว่ำมาแล้วเช่นกัน

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรนั้น รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ การบริหารการพัฒนาสังคม ระบุว่า จากนี้ไปความตึงเครียดระหว่างรัฐกับฝ่ายค้านและฝ่ายประชาชน รวมทั้งการเมืองนอกสภาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมเข้ามาร่วมสะท้อนวิกฤตที่จะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ความตึงเครียดถูกสะสมจากเหตุการณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากสังคมมองไปที่รัฐบาลและเครือข่ายอำนาจรัฐทั้งหลายที่แสดงจุดยืน จะสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายนี้ไม่คิดที่จะประนีประนอม และยังคงยึดโยงกับโครงสร้างอำนาจแบบเดิม ไม่มีความยึดหยุ่นใดๆ ที่ปรากฏล่าสุดคือ การไม่รับหลักการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทางฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายภาครัฐไม่ต้องการประนีประนอมและเป็นการทำให้การเมืองบนถนนเกิดความร้อนแรงขึ้นได้

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐใช้กลไก ตำรวจ ศาล กดดันผู้ชุมนุมประท้วงอย่างเข้มงวดและรุนแรง มีการปราบปรามบนท้องถนน มีการใช้ปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตาแทบจะทุกครั้งที่มีการชุมนุม การที่รัฐใช้วิธีการจัดการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติของรัฐและเครือข่ายอำนาจรัฐต้องการจะปราบปรามผู้ชุมนุมหรือผู้คิดต่างให้ราบคาบ

อีกทั้งรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกวาดจับผู้ที่มีความคิดต่าง โดยไม่ให้ประกันตัว มีจำนวนผู้ถูกจับกุมและมีฐานะเป็นผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้น และล่าสุดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า แกนนำ 3 คน คือ นายอานนท์ ไมค์ และรุ้ง มีการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถือว่าคำวินิจฉัยนี้ได้สร้างความหวาดกลัวไม่ให้ผู้ชุมนุมไปร่วมชุมนุมอีกต่อไป

นอกจากนี้ สิ่งที่สังคมยังได้เห็นก็คือ ความพยายามสืบทอดอำนาจของ ‘ 3 ป.’ ในการเลือกตั้งใหญ่ ตั้งแต่การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้น ภาพความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะกระชับอำนาจในพรรคให้ขึ้นตรงกับตัวเอง ด้วยการดึงคนใกล้ชิดเข้ามาทดแทน ทีมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ทั้งการดึงนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัดฉิ่ง) และอดีต ส.ว. บางคนเข้ามาคุมพื้นที่ แทนผู้กองธรรมนัส

“ความพยายามกระชับอำนาจในพรรค หรือการตั้งพรรคใหม่เพื่อขึ้นตรงกับตัวเองจะทำสำเร็จหรือไม่ และรอยร้าวที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้กองธรรมนัส ต้องออกไปหรือไม่ ยังต้องดูกันต่อไป แต่ที่ชัดเจนคือ การเตรียมการณ์เช่นนี้ชี้ชัดว่า 3 ป.ต้องการขยายและสืบทอดอำนาจต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน”

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต บอกอีกว่า ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านก็อาศัยที่ประชุมสภาเปิดอภิปรายเพื่อเป็นการเปิดแผล
หรือเป็นการชำแหละการบริหารงานของฝ่ายรัฐบาล ให้สังคมได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และวิธีการแบบนี้หวังผลในเรื่องของคะแนนนิยม สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างเช่น กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ถูกคว่ำไปนั้น ซึ่งมีนายพริษฐ์  วัชรสินธุ และ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นตัวแทนนำเสนอนั้น พรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็ให้การสนับสนุน ซึ่งจะมีผลพลอยได้จากการที่ร่างฉบับนี้ถูกคว่ำไปแน่นอน

“ประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกฝ่ายใด และฐานเสียงของพรรคก็จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทำไมต้องแก้ ต้องปรับปรุง ถึงแม้จะถูกคว่ำ แต่เป็นการตอกย้ำจุดยืนของประชาธิปไตยในซีกของฝ่ายค้าน และทั้งที่เป็นอยู่ในระบบรัฐสภาปัจจุบัน รวมทั้งร่างฉบับใหม่ฉบับประชาชนต่างกันอย่างไร”






ขณะเดียวกัน สังคมได้เห็นการเตรียมจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มีการดึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มาเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งสังคมได้เห็นถึงฝีไม้ลายมือในการอภิปรายในสภามาแล้วอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการประกาศเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย และความพยายามปรับโครงสร้างภายในองค์กรก็เพื่อเตรียมหาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งชัดเจน

สำหรับการเมืองนอกสภายังคงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้ นายอานนท์ ไมค์ และรุ้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้น ฝ่ายอำนาจรัฐคาดการณ์ว่า ฝ่ายประชาชนที่ชุมนุมจะเกิดความหวั่นเกรงกลัวว่าจะถูกตั้งข้อหาดังกล่าว ไม่กล้าที่จะออกมาชุมนุม แต่ผลที่ชี้ชัดคือ ไม่ได้เป็นอย่างที่ฝ่ายอำนาจรัฐคาดการณ์ไว้ แต่กลับมีการเคลื่อนไหวทั้งในโลกโซเชียล และมีการติดแคมเปญกระจายไปทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ว่า “ปฏิรูป≠ล้มล้าง” และยกเลิกมาตรา 112 พร้อมกับการนัดชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ


ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า ย้ำว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้หวั่นวิตกต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ตรงกันข้ามพวกเขากลับยกระดับการมองปัญหาเมืองไทยขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คือผู้ชุมนุมมองว่าเมืองไทยกำลังถดถอยไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเริ่มใช้แนวคิดนี้ด้วยการออกแคมเปญ ‘ไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

ตรงนี้คือภาพสะท้อนในการยกระดับของการชุมนุมไปอีกขั้นหนึ่ง!


ดังนั้น ภาพที่ปรากฏให้เห็นในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ และประกาศย้ายสถานที่จากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลจากการที่ตำรวจมีการนำตู้คอนเทนเนอร์มากั้นเป็นจำนวนมาก จึงเปลี่ยนไปชุมนุมที่แยกปทุมวัน เพื่อแสดงจุดยืนในการชุมนุมเพื่อปกป้องการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยผู้ชุมนุมได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร เพื่อยื่นหนังสือว่าด้วยการเรียกร้องให้รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในไทย

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต บอกอีกว่า การเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น เป็นการยกระดับของผู้ชุมนุมและการมองปัญหาการเมืองไทย ซึ่งเชื่อว่าการประกาศต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการรณรงค์เสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง จะสร้างความตึงเครียดทางการเมืองไทยเพิ่มขึ้น

“ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้ ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดมากขึ้น และจะเป็นวิกฤตทางการเมืองต่อไป”

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จึงเป็นประเด็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข เพราะว่าไม่มีฝ่ายใดที่จะยอมถอย และแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเป็นคนละพวก ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ก้าวไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน สังคมไทยยังต้องมาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ สินค้าเกษตรตกต่ำ ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำสุดๆ เดือดร้อนตามๆ กัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็แพงขึ้น ยิ่งมาเจอวิกฤตน้ำมันแพง ผู้ประกอบอาชีพรถบรรทุกไปไม่ไหว ก็ต้องหยุดงานประท้วง และหากราคาน้ำมันยังเป็นแบบนี้ต่อไป ประชาชนจะได้รับความเดือนร้อนมากขึ้น เพราะน้ำมันคือต้นทุนของสินค้า

“ปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้หลายอาชีพเข้าตาจน คนตกงาน โดยเฉพาะธุรกิจและแรงงานที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทั่วหน้า บอกว่าจะเปิดกิจการได้ 1 ธันวาคม ก็ต้องเลื่อนออกไปอีก ให้จับตาดูว่าจะมีกลุ่มคนที่เดือดร้อนหลายๆ กลุ่มจะออกมาท้าทายอำนาจรัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาไม่ให้ลุกลามไปอีก”

ที่สำคัญกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เคยประคับประคองตัวเองเพื่อให้อยู่รอดผ่านวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่วันนี้ทุกอย่างหมดสิ้น ทำให้จากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาโควิด-19 ระบาดลุกลามไปสู่ปัญหาสังคม มีปัญหาอาชญากรรม ปล้นจี้ร้านทอง มีการต้มตุ๋น หลอกลวงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การฆ่าตัวตายมากขึ้นเพราะคนพวกนี้ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร

นี่คือประเด็นปัญหาที่กำลังจะลุกลามและเกิดการชุมนุมเรียกร้องมากขึ้น!


ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา ระบุว่า ยังมีสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดและชั่งใจให้ดี กรณีที่กลุ่มอนุรักษฯ หรือบรรดานักร้องทั้งหลายต้องการจะสลายขั้วการเมืองที่เห็นต่าง และขจัดสิ่งที่ตัวเองไม่ปรารถนาออกไปให้หมด โดยอาศัยเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งจะยุบได้หรือไม่ต้องดูข้อมูลหลักฐานที่มีการร้องไปด้วย ว่ามีการเชื่อมโยง จนกลายเป็นประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลได้หรือไม่?

“ถ้ายุบพรรคก้าวไกล จะกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมาก เหมือนครั้งที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากผู้ชุมนุมไม่มาก ก็กลายเป็นกว้างขวาง มีคนรุ่นใหม่ออกมาร่วมหลายเดือนถ้าเราจำกันได้”

ประเด็นปัญหานี้จึงเป็นเรื่องของผู้ที่มีอำนาจ และเครือข่ายอำนาจต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะการกระทำแบบนี้จะถูกมองว่าไม่เป็นธรรม และเป็นการซ้ำเติมปัญหาการเมืองให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก เพราะคนเริ่มขาดความหวังจากกลไกรัฐสภา จะยิ่งปะทุและรุนแรงขึ้น

“กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงเป็นคนรุ่นใหม่ มีคนเสื้อแดงอยู่ด้วย แต่ต้องเข้าใจคนเสื้อแดงมีหลายกลุ่ม มีทั้งเสื้อแดงที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของคุณทักษิณ พวกนี้จะไม่ค่อยออกมาเท่าไหร่ แต่พวกเสื้อแดงที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย จะออกมา พวกนี้ปฏิเสธคุณทักษิณ”


รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต บอกว่า หากยุบพรรคก้าวไกล จะมีผู้ที่ถูกตัดสิทธิ และจะมีคนใหม่ที่มีอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเท่าที่นิด้าโพลสำรวจพบว่า ฐานเสียงของพรรคก้าวไกลค่อนข้างมีเสถียรภาพ และจะได้คะแนนพรรคเพิ่มขึ้นจากคนที่ไม่เคยออกเสียง ทั้งนี้ เพราะคนที่เลือกก้าวไกลนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค

“เสียงที่นิยมในตัว คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคจะน้อยกว่าคะแนนนิยมพรรค ไม่ว่าจะเป็นอนาคตใหม่ หรือก้าวไกล นั่นเป็นเพราะคนยึดที่ความคิด หรืออุดมการณ์พรรคที่เป็นเสรีนิยมแบบประชาธิปไตย ที่ใครก็ทำลายอุดมการณ์พรรคไม่ได้ บุคคลยังทำลายได้ เมื่อคนยึดและเลือกที่อุดมการณ์ของพรรค พลังก็จะเหมือนเดิม ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกล คนรุ่นใหม่อาจเทเสียงให้เพื่อไทยก็ได้ เพราะโพลนิด้าเห็นคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยดีขึ้น”

โดยคนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี จะเทให้พรรคก้าวไกล ส่วนช่วงอายุวัยทำงานตั้งแต่ 35-60 ปี จะเทให้เพื่อไทย ส่วนคนอายุ 60 ขึ้นไปจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ดังนั้น หากมีการยุบพรรคก้าวไกลจริงๆ จะเป็นระเบิดสำคัญเพิ่มคนลงถนนมากขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจในการยุบพรรค ซึ่งคิดว่าถ้าจะมีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริงๆ คงจะเป็นช่วงปีหน้า

“ถ้ายุบก้าวไกล การตอบโต้ไม่ต่างจากช่วงยุบไทยรักไทย พลังประชาชน หรืออนาคตใหม่ คือ คุณยุบได้ฉันก็เลือกได้ เพราะคนพวกนี้ไม่ยอมรับเครือข่ายอำนาจในปัจจุบันแล้ว และคอยดูคะแนนเลือกตั้งมีโอกาสชนะถล่มทลายได้หรือไม่ และการตอบโต้โดยใช้โซเชียลมีเดียจะรุนแรงขึ้น เพราะพวกเขาเชี่ยวชาญเทคโนโลยีอยู่แล้ว ”

สิ่งที่ต้องจับตามองหากเลือกตั้งแล้วฝ่ายค้านชนะ แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะกลไกอำนาจของ ส.ว.ที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะทำให้การเมืองไปสู่จุดที่ร้อนแรงสุดๆ ถึงวันนี้จะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา ย้ำอีกว่า ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปสู่ความรุนแรง จึงอยากให้รัฐ หรือผู้มีอำนาจซึ่งหมายถึง 3 ป.ควรเป็นแกนกลางในการยื่นมือมาพูดคุยกับเด็กๆ หรือผู้ชุมนุม เพื่อหาข้อสรุปหรือทางออกด้วยกัน เพราะหากปล่อยทุกอย่างเป็นแบบนี้ จนมีการเลือกตั้งใหม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ชนะเลือกตั้ง แต่เกิดเหตุการณ์แพ้เสียงโหวตในรัฐสภา จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะเกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่ ‘3 ป.’ ต้องระวัง!




กำลังโหลดความคิดเห็น