แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ตีแผ่เหตุผลที่ ‘บิ๊กแป๊ะ’ ประกาศถอนตัวจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่เปิดตัวมานาน โพลนิด้าชี้ชัดคน กทม.ต้องการให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.มากกว่า ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ที่คุม กทม.เกือบ 9 ปี ขณะที่ ‘บิ๊กวิน’ มีจุดเด่นสามารถตอบสนอง ‘บิ๊กป๊อก’ และรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ดีกว่า แถมสร้างฐาน ‘ทีมรักษ์กรุงเทพฯ’ ยึด 50 เขตไว้แล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลบิ๊กตู่ เล่นเกมยาวให้บิ๊กวิน อยู่บริหารงบประมาณปีละเกือบ 8 หมื่นล้านต่อไป ชี้ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มั่นใจ ‘3 ป.’ ไม่ทิ้ง ‘บิ๊กแป๊ะ’ รอจังหวะเคลียร์ปัญหาในพรรคเพื่อให้ทุกฝ่าย WIN-WIN !
ยังเป็นประเด็นร้อนที่ต้องหาคำตอบว่าเหตุใด ‘บิ๊กแป๊ะ’ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จึงประกาศถอนตัวจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งๆ ที่ลงพื้นที่เปิดตัวหาเสียงเพื่อลงแข่งขันสู้ศึกมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของนิด้าโพล ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน เรื่อง ‘อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม.’ จะพบว่าประชาชนอยากได้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็นอันดับ 1
แต่เมื่อย้อนไปดูผลสำรวจในแต่ละครั้งเปรียบเทียบระหว่าง ‘บิ๊กแป๊ะ’ กับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (บิ๊กวิน) ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างอยากได้ ‘บิ๊กแป๊ะ’ มากกว่า ‘บิ๊กวิน’ ตัวอย่างเช่นการสำรวจของนิด้าโพลครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 27-30 ก.ย.พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 29.74 เป็น ดร.ชัชชาติ อันดับ 2 ร้อยละ 27.92 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 3 ร้อยละ 13.66 เป็น บิ๊กแป๊ะ ส่วนอันดับ 4 ร้อยละ 9.33 เป็นบิ๊กวิน
แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า ผลการสำรวจของนิด้าโพล ถ้านำมาวิเคราะห์กันตรงๆ เชื่อว่าการส่งบิ๊กแป๊ะ ลงสู้ศึกเลือกตั้ง ย่อมจะมีภาษีดีกว่าบิ๊กวิน แน่นอน ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งอาจจะรู้สึกว่า บิ๊กวิน อยู่มานานเกินไป เพราะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ในยุคที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็ประมาณ 3 ปี กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน รองผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้นขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.แทนเมื่อเดือน ต.ค.2559 จนถึงปัจจุบันบิ๊กวิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.เข้าปีที่ 6 แล้ว อาจจะต้องการคนใหม่มาแทนหรือไม่ แต่จริงๆ พรรคต้องดูองค์ประกอบอื่นเช่นกันว่าจะเลือกสนับสนุนใครชิงผู้ว่าฯ กทม.
“บิ๊กวิน ดูแล กทม.รวมแล้วเกือบ 9 ปี ที่ผ่านมาสามารถตอบสนองบิ๊กป๊อก เจ้ากระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลได้ดีหรือไม่ หรือมีปัญหาขัดแย้งกันกับ 3 ป.หรือเปล่า โดยเฉพาะบิ๊กป๊อกซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล กทม. โดยตรงจะเห็นว่าสามารถทำงานด้วยกันได้ดี และบิ๊กป๊อก ก็พอใจในการทำงานของบิ๊กวิน”
นอกจากนี้ กทม.มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2565 วงเงิน 79,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 76,451 ล้านบาท ดังนั้น ใครก็ตามที่เข้ามาบริหาร กทม. หากบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถสร้างผลงานและสร้างฐานเสียงให้พรรค พปชร.ได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน หากมองย้อนไปจะพบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งแกนนำพรรคมักจะแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะส่งใครสู้ศึกผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ยุคที่นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากว่าในพรรค พปชร.มีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วน ต่างก็จะผลักดันมุ้งของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
“พลังประชารัฐ อึมครึมว่าจะส่งใครมานานแล้ว มีทั้งนายสกลธี ภัททิยกุล ชื่อบิ๊กวิน ชื่อบิ๊กแป๊ะ มาตลอด ที่สุดกลายเป็นผู้สมัครอิสระ แต่ก็มีเล็ดลอดกันว่าพรรคจะแอบช่วยอยู่ข้างหลัง ที่ต้องอยู่ในสถานะแบบนี้เพราะว่ายังไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อไหร่ ดูเหมือนจะเลื่อนไปเลย ส่วนใครจะลงคงต้องรับผิดชอบตัวเองในการสร้างฐานเสียงไปก่อน”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า การประกาศถอนตัวของบิ๊กแป๊ะนั้น ผู้ใหญ่ทั้งในรัฐบาลและในพรรค ต้องมีการพูดคุยกับบิ๊กแป๊ะแล้วเช่นกัน ต้องไม่ลืมว่าบิ๊กแป๊ะ จะก้าวสู่เวทีการเมืองนั้นเป็นที่รู้กันว่าต้องการลงเลือกตั้งในสนามใหญ่มากกว่าสนามท้องถิ่น แต่มีกระแสข่าวว่าจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีโควตาพรรค พปชร.แต่ติดเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 และมาตรา 160 ระบุไว้ว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องหรือเคยเป็น ส.ว.สิ้นสุดลงแล้ว 2 ปี จึงจะเข้ารับตำแหน่งได้
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายอิสระ ระบุว่า การที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้นสามารถทำได้ และไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แม้ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะเคยมีตำแหน่งเป็น ส.ว.แต่คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ระบุแค่ ‘เป็นสมาชิกสภาที่มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ’ ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ นั้นเป็นอดีต ส.ว.จึงถือว่าไม่ขัดคุณสมบัติ
อีกทั้งน่าจะมีการประเมินสถานการณ์รัฐบาลบิ๊กตู่ เชื่อว่าจะอยู่ยาวจนครบวาระคือปี 2566 ทำให้บิ๊กแป๊ะ เลือกที่จะลงสนามผู้ว่าฯ กทม.ก่อนเพราะเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งได้เร็วกว่า แต่จนถึงขณะนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะมีขึ้นเมื่อใด ล่าสุดว่าจะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจนและน่าจะเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
“ต้องไม่ลืมว่า บิ๊กวิน มาจากการแต่งตั้งตามมาตรา 44 และในคำสั่งระบุชัดว่าให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือ คสช.มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น ซึ่งวันนี้บิ๊กวิน เป็นผู้ว่าฯ เกือบจะ 6 ปี และคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ”
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ในทางยุทธศาสตร์แล้ว พรรค พปชร.จะตัดสินใจเลือกใครลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ต้องพิจารณาจุดอ่อน จุดแข็งต่างๆ และอาศัยความได้เปรียบในด้านของอำนาจรัฐที่สามารถจะทำให้โอกาสในการเลือกตั้งเป็นของพรรคได้จริงก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ กทม.นั้นยังเป็นโอกาสของพรรคฝ่ายค้านมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ
“กระแสคุณชัชชาติ ยังครองมาตลอด แม้จะลงอิสระ และบอกว่าไม่ได้เป็นผู้สมัครของเพื่อไทยก็ตาม รวมทั้งพรรคก้าวไกลก็ยังยึดพื้นที่ไว้ได้ ยังมีพรรคคุณหญิงสุดารัตน์ ด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นความเสี่ยงหากมีวิกฤตการเมืองเกิดขึ้น ต้องยุบสภา พลังประชารัฐเจาะฐาน กทม.ลำบาก แบบนี้ในทางยุทธศาสตร์ควรลากยาวไปก่อน ด้วยอาศัยคำสั่งตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้บิ๊กวินอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีเลือกตั้ง”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนี้บิ๊กแป๊ะก็ตัดสินใจถูกที่จะถอนตัว เพราะถึงวันนี้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเชื่อว่าน่าจะมีเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปบิ๊กแป๊ะ จะครบข้อกำหนด 2 ปี ซึ่งก่อนเวลานั้นน่าจะได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลไปก่อน และเมื่อมีเลือกตั้งใหญ่ บิ๊กแป๊ะ ก็จะได้ลงเลือกตั้งในสนามใหญ่ได้เช่นกัน
“มั่นใจในทางกลยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะจัดวางได้อย่างดี ให้บิ๊กวิน และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ทำงานสร้างฐานให้เต็มที่ภายใต้เวลาที่จำกัด เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วค่อยเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ และเมื่อให้บิ๊กวิน อยู่ยาวคุมพื้นที่ กทม.เลือกตั้งใหญ่ พลังประชารัฐก็ได้เปรียบจริงหรือไม่”
แหล่งข่าวย้ำด้วยว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศหนุนบิ๊กแป๊ะ และปล่อยบิ๊กวิน ไปในเวลานี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือข้าราชการ กทม.จะเกียร์ว่างทันที เพราะถือว่าบิ๊กวินหมดโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้บังคับบัญชาแล้ว และที่สำคัญการผลักดันผลงานของทีมรักษ์กรุงเทพที่มีนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นหัวเรือใหญ่ จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร
“ต้องไม่ลืมว่าการจะชนะเลือกตั้งได้จะต้องมีทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ซึ่งวันนี้ กทม.มีงบปีละ 8 หมื่นล้านบาท บริหารกันให้ดี สร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับ ก็เป็นโอกาสทำให้พลังประชารัฐปักธงใน กทม.ได้แล้ว”
จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อไหร่ และผู้ที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐจะเป็นใคร จะยังคงเป็นบิ๊กวินหรือไม่? ยังต้องติดตาม ขณะเดียวกัน บิ๊กแป๊ะจะเดินบนเส้นทางการเมืองต่อไปอย่างไร? ซึ่งคนใกล้ชิด ‘3ป.’ ระบุชัดว่า 3ป.ไม่มีวันทิ้งบิ๊กแป๊ะแน่นอน!!