xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก “ฟ้องปิดปาก”? “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“Thai-PAN” ชี้ บ.สารเคมีเกษตร ปิดปากนักวิชาการ หวังดันพาราควอตกลับมาใช้ใหม่ เหตุสูญรายได้นับหมื่นล้าน หวั่นถูกแฉเรื่องสายสัมพันธ์กับคนในหน่วยงานรัฐ ด้าน “ทีมทนายไบโอไทย” ยกประเด็นฟ้องปิดปากขึ้นสู้ ขณะที่ “สุภาภรณ์ มาลัยลอย” เรียกร้องให้มีการกลั่นกรองคดีที่เจตนาฟ้องโดยมิชอบ พร้อมทั้งลงโทษคนใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง เพื่อป้องกันการ “ฟ้องปิดปาก” ผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชน

เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับกรณีที่ “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” ยื่นฟ้อง “นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องให้แบน 3 สารพิษ ใน 2 ข้อกล่าวหา คือ นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากกรณีเพจ BIOTHAI เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ในประเด็นความอันตรายของสารเคมี และข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีที่นายวิฑูรย์ ระบุผ่านสื่อถึงสาเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มองค์กรที่ค้านการแบนสารพิษอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี โดยศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะนัดฟังคำสั่งว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 15 ธ.ค.2554 นี้

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาสังคมว่าเป็นการ “ฟ้องปิดปาก” หรือไม่?

“นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
ขณะที่ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) หนึ่งในองค์กรที่รณรงค์เคลื่อนไหวให้แบน 3 สารพิษ ได้โพสต์ในเพจเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ว่า ขณะนี้มีข้อมูลชี้ชัดว่าบริษัทผู้ผลิตสารเคมีการเกษตรและเครือข่ายต้องการให้ประชาชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานของรัฐปิดปากเงียบและหยุดพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมีเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ

1.ผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอตอยู่ระหว่างการฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกการแบนพาราควอต ดังนั้น หากนักวิชาการและประชาชนไม่สามารถพูดถึงผลกระทบและปัญหาของพาราควอตที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายมีโอกาสนำพาราควอตกลับมาจำหน่ายได้อีก เหมือนมาเลเซียที่เคยแบนพาราควอตได้ แต่รัฐบาลก็ถูกกดดันจากบริษัทยักษ์ใหญ่จนต้องกลับมาใช้อีก (แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด โดนแบนอีกครั้งพร้อมๆ กับการแบนพาราควอตในประเทศไทย) หรือกรณีบราซิลซึ่ง ANVISA และองค์กรภาคประชาสังคมต้องขับเคี่ยวกับอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่กว่า 5 ปี จึงสามารถแบนได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากการแบนสารพิษในประเทศไทยไม่กี่เดือน

เนื่องจากตลาดพาราควอตในประเทศไทยมีมูลค่าหลายพันล้านบาท หรืออาจจะถึงหมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากสามารถขายพาราคอตต่อได้อีก 5-10 ปี ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

2.เครือข่ายสารเคมีการเกษตรกลัวว่ากลุ่มสนับสนุนการแบนสารเคมีที่มีพิษภัยร้ายแรง ซึ่งมีไบโอไทย และไทยแพนเป็นผู้ประสานงาน จะเสนอให้มีการแบนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงอื่นอีก เช่น ไกลโฟเซต เหมือนกับที่ฝรั่งเศส เยอรมนี หลายประเทศในยุโรป และเม็กซิโกมีแผนที่กำลังจะแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้นี้

ดังนั้น จึงไม่อยากให้ประชาชนรับรู้ความจริงที่ว่า ไกลโฟเซตซึ่งกรมวิชาการติดฉลากสีน้ำเงิน (สัญลักษณ์ที่แสดงว่าสารเคมีมีระดับความเป็นพิษรุนแรงน้อย หรือมีพิษเฉียบพลันต่ำ) นั้นจริงๆ แล้วเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งที่ผ่านมา ได้เกิดเป็นคดีความในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีเกษตรในอเมริกาต้องใช้เงินมากกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อขอไกล่เกลี่ยคดี

กลุ่มผู้ผลิตสารเคมีเกษตรกลัวว่ากลุ่มที่ต่อต้านสารพิษการเกษตรจะเสนอให้แบนหรือจำกัดการใช้กลูโฟซิเนต ทูโฟร์ดี อะทราซีน คาร์เบนดาซิม และอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ที่เขาได้รับลดลงเรื่อยๆ

3.ประเด็นที่เครือข่ายผู้ผลิตสารเคมีเกษตรกลัวที่สุดก็คือ การเปิดเผยความจริงว่าสมาคม หน่วยงาน และบุคคลในหน่วยงานทางวิชาการ หรือหน่วยงานรัฐ รวมถึงคณะกรรมการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายบางคนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบริษัทผลิตและจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ

เมื่อใดที่ความเป็นจริงเหล่านี้ถูกเปิดเผย สาธารณชนจะจับจ้องไปที่นโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการแบนหรือไม่แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งให้อิทธิพลของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีซึ่งใช้ในการเกษตรที่มีต่อนโยบายเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชอ่อนแอลงด้วย

น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว หนึ่งในทีมทนายความฝ่ายไบโอไทย
ส่วนกรณีการสู้คดีของนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ซึ่งถูกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยฟ้องร้องนั้น น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว หนึ่งในทีมทนายความฝ่ายไบโอไทย เปิดเผยว่า สำหรับข้อหาเรื่องการนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากกรณีที่เพจ BIOTHAI เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษในประเด็นความอันตรายของสารเคมีนั้น ฝ่ายเราได้นำเสนอหลักฐานให้ศาลเห็นถึงเจตนาว่าข้อความที่โพสต์เป็นการอธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารพิษ จากเดิมที่กลุ่มค้านการแบนสารพิษ ระบุว่า ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกที่แบนสารไกลโฟเซตที่มีแถบสีน้ำเงิน (สัญลักษณ์ที่แสดงว่าสารเคมีมีระดับความเป็นพิษรุนแรงน้อย) แล้วใช้กลูโฟซิเนตซึ่งมีแถบสีเหลือง (สัญลักษณ์ที่แสดงว่าสารเคมีมีระดับความเป็นพิษรุนแรงปานกลาง) แทน

เลขาฯ ไบโอไทยจึงอธิบายในเชิงวิชาการว่าแถบสีไม่ใช่ตัวบ่งบอกความเป็นพิษของสารเคมีจำกัดศัตรูพืชแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากแถบสีน้ำเงินตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงมีพิษน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรและผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว เพราะปกติเกษตรกรจะใช้สารเคมีกำจัดศัตรูติดต่อกันเป็นเวลานาน แม้ไม่มีพิษเฉียบพลัน แต่เมื่อได้รับพิษสะสมเรื้อรังก็ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น ก่อให้เกิดมะเร็ง มีผลต่อต่อมไร้ท่อ มีผลต่อทารกในครรภ์ และอัลไซเมอร์ ซึ่งสุดท้ายฝ่ายโจทก์ก็ยอมรับต่อศาลว่าไกลโฟเซตที่ใช้แถบสีน้ำเงินเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

ส่วนข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีที่นายวิฑูรย์ระบุผ่านสื่อถึงสาเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มองค์กรที่ค้านการแบน 3 สารพิษ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมีนั้น ฝ่ายเรามีเอกสารยืนยันว่าอดีตนายกสมาคมฯ (ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2562) ดังกล่าว ปัจจุบันทำงานเป็นตัวแทนให้บริษัทที่ขายสารเคมีจริง และจากข้อมูลหลักฐานพบว่ามีกรรมการสมาคมฯ บางคนในบางชุด ขณะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของสมาคมฯ ก็มีตำแหน่งในบริษัทขายสารเคมีด้วย

“ฝ่ายเราได้นำเสนอพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริง ซึ่งทุกอย่างขึ้นกับดุพินิจของศาล โดยศาลจะนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ซึ่งเราหวังว่าการพูดในเชิงวิชาการจะได้รับการคุ้มครอง โดยเราได้ทำคำร้องตามมาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย โดยมาตรานี้เกิดจากการแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองกรณีป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ Slapp ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากภาคประชาสังคมมีการรณรงค์เพื่อให้ยุติการฟ้องปิดปาก รัฐจึงได้แก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มมาตรา 161/1 เข้าไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นมาตรการที่ป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องคดี” น.ส.จันทร์จิรา ระบุ


กล่าวได้ว่า นายวิฑูรย์ ไม่ใช่คนแรกที่ถูก “เล่นงาน” เพราะก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการหลายคนที่เปิดหน้าสนับสนุนการแบนสารเคมีที่เป็นพิษ และโดนกดดัน ข่มขู่ คุกคามอย่างหนัก เช่น กรณีของ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเคยถูก “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” เรียกร้องให้ "ลาออก" เพื่อรับผิดชอบความเสียหายหลังเปิดเผยงานวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อม กระทั่งหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวและร่วมกันรณรงค์ผ่านองค์กร Changegrnjv เรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครอง "เสรีภาพทางวิชาการ" ไม่ให้ถูกคุกคาม

ขณะที่ “การฟ้องปิดปาก” ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีของ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งถูกบริษัทอุตสาหกรรมอาหารทะเล แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาท เนื่องจากกรณีการเผยแพร่รายการการศึกษาของกรีนพีซว่าในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีส่วนใดบ้างที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ทั้งนี้ งานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า มีคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 200 คดี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการฟ้องปิดปากมักจะเป็นคดีหมิ่นประมาท และเป็นที่น่าตกใจว่า คดีหมิ่นประมาทนั้นเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และปรับถึง 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง การฟ้องปิดปากจึงเป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อทำให้เกิดความเกรงกลัว ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นว่า การที่นายวิฑูรย์ ถูกฟ้องถือเป็นการคุกคามคนที่ลุกขึ้นมาพูดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองเกษตรกร และให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย ขณะที่เจตนาในการฟ้องก็เพื่อให้นายวิฑูรย์ และมูลนิธิไบโอไทยหยุดพูดเรื่องพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มากกว่าที่จะเป็นการฟ้องคดีหมิ่นประมาทเหมือนกรณีทั่วๆ ไป ดังนั้น จากนี้ไปกระบวนการยุติธรรมจึงควรมีการกลั่นกรองคดีที่มีเจตนาฟ้องโดยมิชอบ เพื่อเป็นการป้องกันการฟ้องปิดปาก

“เราควรจะออกมาสนับสนุนคนที่ส่งเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะมีกระบวนการในการกลั่นกรองการฟ้องประเด็นพวกนี้ และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ใช้กระบวนการกฎหมายแกล้งฟ้องเพื่อปิดปาก ซึ่งไม่ใช่แค่คุณวิฑูรย์กรณีเดียว ใครก็ตามที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ควรที่จะมีโอกาสได้พูดในเรื่องพวกนี้อย่างเต็มที่ ไม่ควรเป็นความผิดใดๆ และสังคมควรที่จะส่งเสริมให้เขาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่” น.ส.สุภาภรณ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น