xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวหน้า” ล้างภาพเดิมไม่ออก-เคียงม็อบชูเลิก ม.112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



3 นิ้วชูประเด็นยกเลิกมาตรา 112 จัดม็อบครบรอบ 1 ปี “ราษฎร” โหมโรงด้วยเนติวิทย์ ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว ปิยบุตร โหนต่อ “อำนาจ-บังคับ” คนการเมืองประเมินสถานการณ์บีบก้าวหน้า เลือกเดินเส้นทางนี้แบบเปิดเผย แม้ที่ผ่านมา จะพ่ายทุกสนามท้องถิ่น เพราะล้างภาพที่ผ่านมาไม่ออก ทำก้าวไกลเดินต่อลำบาก คู่แข่งจ้องฉกฐานคนรุ่นใหม่

ท่ามกลางการปรับทัพของพรรคการเมืองใหญ่สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดดเด่นที่สุดคงเป็นพรรคเพื่อไทย สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวลูกสาวคนเล็กของทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรค อย่างแพทองธาร ชินวัตร มาเป็นที่ปรึกษาพรรค เรียกว่างานนี้กินหลายต่อ ได้คนในตระกูลชินวัตรมาดูแลพรรค ย่อมมัดใจลูกพรรคได้เป็นอย่างดี แถมได้ภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เธอโลดแล่นบนโลกโซเชียลย่อมเข้าใจและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ยังคงยึดมั่นในร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรคเหมือนเดิม ส่วนความคุกรุ่นภายในพรรคยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ขณะที่พรรคใหม่ที่มาแรงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างพรรคก้าวไกล หรือพรรคอนาคตใหม่ (เดิม) ที่มีฐานเสียงคนรุ่นใหม่เลือกเข้ามาอย่างถล่มทลาย ยังไม่มีการขยับปรับโครงสร้างพรรค นายพิธา ลิ้มเจริญรัฐ ยังเป็นหัวหน้าพรรค แต่มีลูกพรรคบางคนเริ่มปลีกตัวออกจากพรรค ส่วนคณะก้าวหน้า แกนนำอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ ยังคงเดินเครื่องทางการเมืองอยู่เช่นเดิมตามแนวทาง ไม่เอารัฐบาลเผด็จการทหาร ต้องการปฏิรูปสถาบัน เกี่ยวข้องกับม็อบของกลุ่มนักศึกษาในรูปแบบต่างๆ

จัดม็อบครบรอบ

31 ตุลาคม 2564 จะมีการนัดชุมนุมของม็อบอีกครั้ง ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของกลุ่มคณะราษฎร กับข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้อ ประยุทธ์ต้องออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปสถาบัน (ยกเลิกมาตรา 112) นับเป็นการนัดชุมนุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศต่อไป พร้อมๆ กับข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน

ข้ออ้างครบรอบ 1 ปีกลุ่มราษฎร ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุที่ต้องนัดชุมนุม แต่การขับเคลื่อนหลักกลับกลายเป็นกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทั้งที่แนวร่วมธรรมศาสตร์ ได้แยกตัวเองออกมาจากกลุ่มราษฎรแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2564 หลังจากที่ขัดแย้งกันในแนวทางการทำงาน แต่การชุมนุมครั้งนี้กลับทำในนามราษฎร

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มราษฎร กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า หรือชื่ออื่นๆ แกนนำเกือบทั้งหมดถูกดำเนินคดี ไม่ได้รับการประกันตัว พลังที่เคยระดมคนรุ่นใหม่ได้อย่างหนาตาเมื่อปี 2563 ลดลงไปอย่างมาก รวมถึงความถี่ที่เคยจัดงานถูกยืดออกไป เป็นจัดบางครั้งบางคราวหรือเป็นเพียงกิจกรรมย่อย แม้บางกลุ่มยังจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ้างอย่างทะลุฟ้า แต่จำนวนคนที่เคยร่วมกิจกรรมหายไปเป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมา ม็อบที่เรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แผ่วลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีทีมของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้ามาจัดม็อบไล่รัฐบาลต่อ รวมถึงการรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นย่านดินแดง แต่ก็แผ่วลงทุกกลุ่มการเมืองนั้นไปแล้ว


เนติวิทย์ยกเลิกเชิญพระเกี้ยว

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง ก่อนที่จะถึงวันนัดหมายชุมนุมของราษฎร เกิดกรณีมีแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ

เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญ ครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เนื่องจากศิษย์เก่าต่างไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว รวมถึงสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมตรวจสอบแถลงการณ์ที่ออกมา


ปิยบุตรขยายผล

ถัดมานายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กว่า คนกลุ่มหนึ่งเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพต่อสิ่งหนึ่ง แต่การเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพต่อสิ่งนั้นในหมู่พวกเดียวกันเองยังไม่เพียงพอสาแก่ใจของพวกเขา

พวกเขาต้องการให้ทุกคนเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพต่อสิ่งนั้น จึงใช้ "อำนาจ" ซึ่งแสดงออกผ่านหลายรูปแบบ ตั้งแต่อำนาจรัฐ กฎหมาย ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม กำลัง หรืออาวุโส เพื่อบังคับให้คนอีกกลุ่มที่ไม่ได้เชื่อ ไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้เคารพ หรือรู้สึกเฉยๆ ให้มาเชื่อ รัก ศรัทธา และเคารพ เหมือนพวกตน

ทำไมฝ่ายอนุรักษนิยมหัวโบราณที่เชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ สิ่งหนึ่ง ถึงไม่ใจกว้างพอที่จะยอมรับว่ามีคนที่เขาอาจไม่เชื่อ ไม่รัก ไม่ศรัทธา ไม่เคารพ แบบตนได้?

การที่มีคนไม่เชื่อ ไม่รัก ไม่ศรัทธา ไม่เคารพ แบบพวกตน ไม่ได้รบกวนหรือบั่นทอนทำให้ความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ความเคารพ ที่พวกตนมีนั้นลดน้อยลงไป พวกอนุรักษนิยมหัวโบราณก็ยังมีเสรีภาพที่จะเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพในสิ่งนั้นๆ ต่อไป รวมถึงมีเสรีภาพที่จะเลิกเชื่อ เลือกรัก เลิกศรัทธา เลิกเคารพสิ่งนั้นๆ ได้ในวันหน้า

เราสามารถอยู่อย่างสันติได้ภายใต้ความคิด ความเชื่อ ความรักที่ต่างกัน

ทำไมฝ่ายอนุรักษนิยมโบราณจึงไม่ใช้ "เหตุผล" ในการทำให้คนเชื่อ คนรัก ในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ตนเองรัก? ทำไมต้องใช้กำลัง อำนาจ บังคับ? หรือเพราะไม่มี “เหตุผล” ชุดใดหลงเหลืออีกแล้ว จึงต้องหันมาใช้อำนาจกำลังบังคับแทน?

ยิ่งใช้อำนาจบังคับให้คนเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ เท่าไร ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ความเคารพต่อสิ่งนั้นๆ ร่อยหรอเหลือน้อยลงไปทุกที

สายสัมพันธ์ก้าวหน้า

ข้อความดังกล่าวสอดรับกับแถลงการณ์ของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ รวมถึงวันที่ออกแถลงการณ์คือ 23 ตุลาคม ตรงกับวันปิยมหาราช ทำให้ยากต่อการเข้าใจเป็นอย่างอื่นว่าจุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ไม่พ้นเรื่องของสถาบัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า นายเนติวิทย์ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผ่านมาหลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เขาเคลื่อนไหวแบบเงียบๆ ปล่อยให้สายของธรรมศาสตร์อย่างเพนกวิน และรุ้ง ปนัสยา เดินหน้าทำม็อบ

ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในสถาบันส่วนใหญ่แล้วต่างมีสายสัมพันธ์กับแกนนำของคณะก้าวหน้า เพราะหลังจากที่ อบจ.ออกแถลงการณ์จนทำให้ศิษย์เก่าจำนวนมากไม่เห็นด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ก็โพสต์ข้อความสนับสนุน


ชูใครแทน

การขาดหายไปของแกนนำม็อบอย่างเพนกวิน รุ้ง ไมค์ ไผ่ อานนท์ หากทางผู้ให้การสนับสนุนยังต้องการสานความคิดเดิมที่มีอยู่ จำเป็นต้องหาคนใหม่ขึ้นมาชูแนวทางเดิม

เนติวิทย์ ถือเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกเก็บไว้ ไม่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนช่วงที่มีม็อบ 3 นิ้ว แต่แนวทางของเขาแตกต่างจากกลุ่มของเพนกวิน โอกาสที่จะยกขึ้นมาเป็นแกนนำเพื่อทดแทนนั้นคงเป็นไปได้ยาก อาจทำได้เพียงเป็นคนปลุกกระแส และมีทีมอื่นรับลูกนำไปขยายผลต่อ

ส่วนม็อบที่นัดชุมนุมวันที่ 31 ตุลาคม อาจมีคนเข้าร่วมจำนวนหนึ่งแต่คงไม่มากนัก อีกทั้งข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้น ฝ่ายการเมืองรู้ดีว่าไม่ง่าย ที่ผ่านมามีความพยายามแล้วหลายครั้ง พรรคที่สนับสนุนม็อบเองเคยถอยมาแล้ว ดังนั้นเรื่องการชุมนุมเชื่อว่าไม่ได้หวังผลถึงความสำเร็จ แต่แค่เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

แม้ระยะแรกจะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมชุมนุมได้ไม่น้อย แต่ด้วยระยะเวลาที่ยืดออกไป ประกอบกับวิถีของคนรุ่นใหม่เองที่ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ นานๆ ความอดทนต่ำ ข้อเรียกร้องบางประการรัฐบาลดำเนินการให้ เช่น เรื่องวัคซีน MRna แนวร่วมจำนวนหนึ่งจึงหายไป ยิ่งไม่มีแกนนำ ข้อเรียกร้องหลายข้อไม่ประสบผลสำเร็จ บางคนเริ่มได้คิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับอนาคต จึงถอยออกจากม็อบ

อยากให้คนรุ่นใหม่ที่จะเดินเข้ามาในเส้นทางนี้ได้คิดให้รอบคอบ หากเกิดคดีความขึ้นกับตัวเองแล้วนักการเมืองเหล่านั้นจะรับผิดชอบแค่ไหน และถ้าทางพรรคเปลี่ยนแนวทางเพื่อหวังชัยชนะเลือกตั้ง ไม่เลือกเดินแนวทางแตะสถาบันแล้ว ท่านจะเดินต่อไปอย่างไร อย่าหลงไปเป็นเครื่องมือให้กับนักการเมือง

ก้าวหน้าเดินเส้นทางนี้

แหล่งข่าวจากฝ่ายรัฐบาลกล่าวว่า เชื่อว่าก้าวหน้าคงชูแนวทางต่อต้านเผด็จการ ความไม่เป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 พร้อม ๆ กับปลุกกระแสปฏิรูปสถาบันเป็นแนวทางหลัก

อย่าลืมว่าการจัดม็อบก็เป็นวิธีการหาเสียงแบบหนึ่ง เป็นการตอกย้ำให้กลุ่มที่เห็นด้วยกับแนวทางการเรียกร้อง การเลือกสร้างความชัดเจนด้วยการเดินทางแนวทางที่เคยดำเนินมาก็เป็นอีกการหาเสียงอีกวิธีหนึ่ง แน่นอนว่างานระดับพรรคการเมือง ต้องมีข้อมูลที่สร้างความมั่นใจให้พวกเขามากพอที่จะยอมเสี่ยงเลือกเส้นทางที่อาจสวนทางกับความรู้สึกส่วนใหญ่ของคนในประเทศ

การเดินหมากทางการเมืองที่พาดพิงไปถึงสถาบันเบื้องสูงนั้นไม่ใช่เรื่องดี ผลตอบรับที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า การเลือกตั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่นของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้านั้นได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่เป็นวงกว้าง ทั้งการลงพื้นที่หาเสียงถูกต่อว่าและขับไล่เกือบทุกแห่ง ผลการเลือกตั้งที่ออกมาชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ตอบรับกับแนวทางดังกล่าว แม้ช่วงที่มีการชุมนุมจะมีคนรุ่นใหม่ออกมาร่วมเป็นจำนวนมาก นั่นเป็นเรื่องของกระแส แต่ท้ายที่สุดแล้วก้าวไกลและก้าวหน้าก็พ่ายในทุกพื้นที่

ช่วงเวลานี้แม้จะไม่มีการประกาศถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่พรรคการเมืองใหญ่แทบทุกพรรคมีการขยับปรับโครงสร้าง เพื่อเตรียมรับการเลือกที่คาดว่าจะมีในปีหน้า ทั้งพลังประชารัฐ เพื่อไทย ก้าวไกล

สำหรับคนไทยแล้วการแตะต้องสถาบันถือเป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ไม่ได้ชูเรื่องการปฏิรูปสถาบัน แต่มาเกิดขึ้นหลังจากที่โดนยุบพรรค ส่วนการจะเดินหน้าแนวทางปฏิรูปสถาบันสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อคะแนนเสียงที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับทางก้าวไกลว่าจะตัดสินใจอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคการเมืองที่เลือกเส้นทางนี้ แม้การเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจจะไม่กล่าวถึงหรือไม่ชูแนวทางเหมือนที่เคยทำมา แต่สิ่งที่ทำมาในอดีตนั้นกลายเป็นตราประทับให้พรรคการเมืองนั้นไปแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น