xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปูม 4 พ.ชักใยองค์กรพุทธ เบื้องหลัง “ฆราวาส” ปกครอง “สงฆ์”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแผน “ฆราวาสปกครองสงฆ์” เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 59 พบ 4 พ.โยงใย ล้วนคนใกล้ชิดรัฐบาล วงในเชื่อ “พ.อดีตพระ” ต้องการริดอำนาจ มส. เหตุปมแค้นเคืองในอดีต ส่งไม้ต่อ “พ.นักการเมือง” ใช้กลไกกฎหมายตีกรอบสงฆ์ ขณะที่อีก 2 พ.ไล่บี้ดำเนินคดีกับพระ คาด “พระครูเล็ก” เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์รูปใหม่ มาจากสายคนใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราช อีกทั้งเคยมีกรณีบาดหมางกับ “เจ้าคุณบัวศรี” เจ้าคณะคนเดิมที่ถูกปลด ด้าน “เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธ” หวั่นมีคนแอบอ้างข้อกฎหมายเพื่อล้วงเงินในย่ามพระ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยุคที่ถูกกล่าวขานว่ามีการแทรกแซงกระบวนการสงฆ์มากที่สุดยุคหนึ่ง ล่าสุด ได้มีคำสั่งปลดเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดคนใหม่ขึ้นมาแทนโดยไม่มีการชี้แจงความผิด ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบ และไม่ใช่ความเห็นของเจ้าคณะภาค ที่สำคัญยังหาที่มาของ “มติปลด” ดังกล่าวไม่ได้ว่ามาจากภาคส่วนใดขององค์กรสงฆ์ ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ กรรมการมหาเถรสมาคม และเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ยืนยันว่า คณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่รู้เรื่องคำสั่งปลดเจ้าคณะดังกล่าว และสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้เป็นผู้ทูลเกล้าเสนอ ไม่รู้ว่าเอกสารคำสั่งปลดมาจากไหน เพราะได้รับเพียงหนังสือคำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด 30 รูป จึงเชื่อว่าคำสั่งปลดน่าจะถูกสอดไส้มาในภายหลัง

เมื่อชัดเจนว่าคำสั่งไม่ได้มาจากฝ่ายคณะสงฆ์ จึงเกิดคำถามตามมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คำสั่งจะมาจากเจ้าหน้าที่ที่เป็นฆราวาส?

พระเทพสารเมธี หรือเจ้าคุณบัวศรี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ คำสั่งที่มิชอบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อความรู้สึกของสาธุชนชาวพุทธและพระภิกษุสงฆ์ โดยคณะสงฆ์ เหล่าลูกศิษย์ลูกหา และชาวบ้านที่มองว่าเจ้าคณะที่ถูกปลดไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างออกมารวบรวมรายชื่อถึง 1.5 แสนราย เพื่อถวายฎีกาขอความเป็นธรรมให้แก่พระสังฆาธิการทั้ง 3 รูป นอกจากนั้น ยังส่งผลให้วงการสงฆ์ร้อนระอุ เพราะคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ลุกฮือขึ้นคัดค้านการแต่งตั้ง พระครูสุทธิญาณโสภณ หรือพระครูเล็ก เจ้าคณะอำเภอสังคม จ.หนองคาย ให้มาเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ แทน พระเทพสารเมธี หรือ "เจ้าคุณบัวศรี" เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ถูกปลด เนื่องจากมองว่าเป็นแต่งตั้งที่ผิดหลักเกณฑ์ของคณะสงฆ์เพราะนอกจากพระครูเล็ก จะขาดคุณสมบัติเนื่องจากพรรษาไม่ถึง และข้ามห้วยข้ามจังหวัดมาซึ่งขัดกับธรรมเนียมสงฆ์แล้ว ในจังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีพระผู้ใหญ่ระดับท่านเจ้าคุณอีกหลายรูปที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดได้ ที่สำคัญจะให้ “พระครู” มาปกครอง “ท่านเจ้าคุณ” ได้อย่างไร ?

โดยกระแสคัดค้านดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นที่พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอ 7 รูป และเจ้าคณะตำบลอีก 38 รูป ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และมีข่าวลือว่าหลังจากเทศกาลทอดกฐินไปแล้วพระระดับเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลที่เหลือจะประกาศลาออกจากตำแหน่งทั้งจังหวัด ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเชื่อว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมายมาย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมมองว่าเป็นการ “รังแกพระ” โดยการใช้อำนาจทางโลกมาแทรกแซงการปกครองทางธรรม หรือที่เรียกกันว่า “ฆราวาสปกครองสงฆ์” ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ประชาชนร่วลมลงชื่อเเพื่อถวายฎีกา ขอความเป็นธรรมให้แก่พระสังฆาธิการที่ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด
ทั้งนี้ แหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในวงการสงฆ์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า กระบวนการฆราวาสปกครองสงฆ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยหากสืบสาวถึงที่มาที่ไปของกระบวนการนี้จะพบตัวละครที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 คน และทุกคนล้วนมีความสนิทสนมกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งขอเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า นาย พ. โดย “นาย พ. คนที่ 1” เป็นอดีตพระแถวนครปฐม “นาย พ.คนที่ 2” เป็นนักการเมืองที่เชี่ยวชาญกฎหมายในพรรครัฐบาล “นาย พ.คนที่ 3” เป็นอดีตรัฐมนตรีสมัย คสช. และ “นาย พ.ที่ 4” เป็นอดีตผู้ยิ่งใหญ่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งที่มาของแนวคิดนี้นั้นเกิดจากการนำเรื่องการเมืองมาผูกโยงกับศาสนา เมื่อผสมกับอคติและความหลงระเริงอำนาจจึงกลายเป็นฆราวาสปกครองสงฆ์

สำหรับ นาย พ.ที่ 1 นั้นเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกระบวนการสงฆ์ได้เพราะมีความสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ด้วยสมัยที่เขาบวชเป็นพระนั้น บุคคลสำคัญที่อยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่างก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของเขา อีกทั้งเขายังมีส่วนสำคัญในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนที่ คสช.จะยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาล จึงเป็นธรรมดาที่ความเห็นต่างๆ ของนาย พ.ที่ 1 จะดังไปถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาล

และเนื่องด้วย นาย พ.ที่ 1 มีความแค้นฝังใจกับมหาเถรสมาคม (มส.) ถึงสองครั้งสองครา เพราะในสมัยที่นาย พ.ที่ 1 เป็นพระ เขาได้เป็นเจ้าอาวาสและขึ้นเป็นเจ้าคณะตำบล จากนั้นเสนอตัวเองเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยปลอมเอกสารใบสุทธิพระ แก้ไขวันบวช เพื่อให้อายุพรรษาเข้าเกณฑ์ โดยครั้งแรกนั้น มส.ไม่ทราบจึงให้ความเห็นชอบ แต่ต่อมา พระอุปัชฌาย์ของ นาย พ.ที่ 1 ทราบเรื่องการแก้ไขวันบวชจึงแจ้งคัดค้านต่อ มส. ทำให้ มส.มีมติปลด นาย พ.ที่ 1 จากการเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำให้เขาโกรธมากและขอสึกจากการเป็นพระ แต่ก็บวชกลับเข้ามาใหม่ แต่ไม่สามารถกลับมาเป็นเจ้าอาวาสเพราะต้องนับอายุพรรษาใหม่ นี่คือสาเหตุของการแค้นฝังใจครั้งที่ 1

ส่วนกรณีแค้นฝังใจครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากกลับมาบวชใหม่ นาย พ.ที่ 1 ได้ตั้งฉายาพระของตนในลักษณะหมิ่นเหม่โดยแปลตามภาษาบาลีว่า “พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งถือเป็นการตีตนเสมอพระพุทธเจ้า เจ้าคณะปกครองจึงจะจับสึก แต่อาจารย์ท่านหนึ่งช่วยเหลือไว้ โดยเซ็นรับรองให้ว่าฉายาดังกล่าวหมายถึง “มีพระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ในหัวใจ” ครั้งนั้น นาย พ.ที่ 1 จึงไม่ถูกจับสึก

ชาวกาฬสินธุ์ขึ้นป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ เจ้าคุณบัวศรี เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรม
ดังนั้น เมื่อวันหนึ่งลูกศิษย์ของตนขึ้นมาเป็นใหญ่ในรัฐบาลจึงเป็นโอกาสที่ นาย พ.ที่ 1 จะจัดการลิดรอนอำนาจ มส. โดยส่ง นาย พ.ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่มีบทบาทในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง เข้าไปทำงานกับรัฐบาล คสช. ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า นาย พ. ที่ 2 เองไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนามากนัก

แหล่งข่าวในวงการสงฆ์ ระบุว่า กระบวนการฆราวาสปกครองสงฆ์ได้ปรากฏชัดเจนในช่วงปี 2559 สมัยรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย นาย พ.ที่ 1 และนาย พ.ที่ 2 ได้เคลื่อนไหวคัดค้านมติมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีมติแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หรือ “สมเด็จช่วง” ให้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์เดิมที่สิ้นพระชนม์ลง เนื่องด้วย มส.เห็นว่าสมเด็จช่วง เป็นพระราชาคณะที่มีความอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน ขณะที่กลุ่มคัดค้านได้อ้างถึงกรณีรถหรูของสมเด็จช่วง โดยมี นาย พ.ที่ 3 ซึ่งสนิทสนมกับ นาย พ.ที่ 1 รับลูกคอยสั่งการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เร่งรัดคดีรถหรูดังกล่าว

อย่างไรก็ดี กระแสสังคมต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าสาเหตุที่มีการคัดค้านน่าจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จช่วง กับวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นศิษย์วัดปากน้ำเหมือนกัน ทำให้ฝ่ายการเมืองกริ่งเกรงว่าหากสมเด็จช่วงได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช บารมีของวัดธรรมกายซึ่งฝ่ายการเมืองเชื่อว่าให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะแผ่ขยายมากขึ้น ซึ่งครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะไม่ทูลเกล้าเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชตามที่มหาเถรสมาคมเสนอ โดยอ้างความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยยกเลิกอำนาจของมหาเถรสมาคมในการพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการกีดกันสมเด็จช่วง

กระแสต้าน พระครูเล็ก เจ้าคณะจังหวัดรูปใหม่ลุกลามไปทั่วจังหวัดกาฬสินธุ์
จากนั้นในปี 2560 นาย พ.ที่ 4 ซึ่งข้ามห้วยจากดีเอสไอ เข้ามาเป็นใหญ่เป็นโตในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็เดินหน้าปฏิบัติการฆราวาสปกครองสงฆ์ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายในข้อหาทุจริต โดยร่วมกับองค์กรตรวจสอบทุจริตต่างๆ เดินหน้าตรวจสอบกรณี “เงินทอนวัด” มีการออกหมายจับพระผู้ใหญ่หลายรูป โดยตั้งธงว่าพระต้องรู้ทุกอย่างเหมือนที่สำนักพุทธฯ รู้ ทั้งที่การตั้งโครงการ การตั้งงบประมาณ การโยกงบต่างๆล้วนเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ที่ทำไปเสนอให้พระเซ็นรับด้วยหวังจะนำเงินไปในการซ่อมแซมวัด แต่กลับตกเป็น “ผู้ต้องหาร่วม” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้มีความเข้าใจในวิถีปฏิบัติของพระแต่อย่างใด

อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีกับพระในลักษณะพิลึกพิลั่น จนถูกครหาว่า “ไล่จับพระสึก” เพราะแม้สุดท้ายเมื่อคดีความถึงที่สุดและปรากฏว่าพระผู้ใหญ่หลายรูปไม่มีความผิด แต่กระบวนการกฎหมายทางโลกที่บังคับให้พระ “ลาสิกขา” ได้ทำลาย “ความเป็นพระ” ของท่านโดยสิ้นเชิง เพราะหากท่านลาสิกขาตามที่เจ้าหน้าที่บอกโดยไม่รู้ว่าระหว่างที่ถูกดำเนินคดีสามารถดำรงสมณเพศโดยไม่ต้องลาสิกขา เมื่อท่านกลับมาบวชก็ต้องนับอายุพรรษาใหม่ และไม่สามารถคืนตำแหน่งใดๆให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาวาสวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะภาค ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่สำคัญเมื่อชื่อเสียงและคุณงามความดีที่พระผู้ใหญ่แต่ละรูปสั่งสมมาถูกทำลายทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำผิด ท่านก็ไม่อาจฟ้องร้องทวงคืนความเป็นธรรมแบบที่ฆราวาสทำได้

ชาวจังหวัดฉะเชิงเทราเริ่มล่ารายชื่อเพื่อขอความเป็นธรรมให้ พระราชปริยัติสุนทร ซึ่งถูกถอดถอนจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
ในปี 2561 นาย พ.ที่ 2 และนาย พ.ที่ 4 ได้ร่วมกันขับเคลื่อนสร้างกลไกในการควบคุมเรื่องเงินๆ ทองๆ ของวัด โดยอ้างเรื่องการปฏิรูปวงการสงฆ์ ให้ พศ.จังหวัดเข้าไปสำรวจบัญชีวัดทั่วประเทศ ห้ามพระถือเงินสด ขณะที่มีข่าวลือว่าจะมีการเก็บภาษีพระ ซึ่งแม้รัฐบาลจะออกมาปฏิเสธ แต่การดำเนินการของ นาย พ.ที่ 2 และ นาย พ.ที่ 4 นำไปสู่ความหวั่นเกรงว่าอาจมีความพยายามเข้ามา “ล้วงเงินในย่ามพระ”

หลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งได้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ มาบริหารประเทศ ทั้ง 4 พ.ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในขั้วอำนาจ และกระบวนการฆราวาสปกครองสงฆ์ก็ได้ปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งกับคำสั่งปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งมีเสียงเล่าลือว่าอาจเกี่ยวข้องกับ นาย พ.ที่ 3 แต่ครั้งนี้มิใช่แค่สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการสงฆ์เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่แรงสะท้อนกลับที่รุนแรงด้วยเช่นกัน

“คือมหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศ แต่ตอนนี้ฆราวาสที่ต้องการปกครองสงฆ์เข้าไปบีบมหาเถรสมาคมให้ทำตาม หรืออย่างกรณีการปลดเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์นั้นคนมองว่าคนใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราชซึ่งคุมภาคอีสานอาจเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมา อยากตั้งใครก็ตั้ง อยากปลดใครก็ปลด ขณะที่พระครูเล็กซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์รูปใหม่ มีความสนิทสนมกับคนใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราช และเคยมีกรณีที่อาจทำให้พระครูเล็กไม่พอใจเจ้าคุณบัวศรีซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์รูปเดิม เนื่องจาก จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในสังกัดเขตปกครองสงฆ์ภาค 8 ส่วนหนองคายสังกัดภาค 9 เจ้าคุณบัวศรีเคยได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าคณะภาค 9 อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงที่รักษาการ มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพระครูเล็ก และพระอีกรูปหนึ่ง เนื่องจากพระครูเล็ก ได้นำเงินที่พระรูปดังกล่าวหามา มาบริจาคให้โรงพยาบาลแต่ใส่ชื่อตัวเอง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็เลยชงเรื่องให้รักษาการเจ้าคณะภาคพิจารณา เจ้าคุณบัวศรี ท่านก็ตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม พระครูเล็กเป็นฝ่ายแพ้แต่ไม่มีการลงโทษอะไร ซึ่งกรณีนี้อาจจะนำไปสู่ความแค้นเคืองกัน ดังนั้น เมื่อมีการปลดเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และแต่งตั้งพระครูเล็กมาแทนแบบผิดหลักผิดเกณฑ์ไปหมด ทำให้ถูกมองได้ว่ามีการเข้ามาแทรกแซงองค์กรสงฆ์” แหล่งข่าว ระบุ

นายกรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย
ขณะที่ นายกรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย แสดงความวิตกว่า กลไกฆราวาสปกครองสงฆ์เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก การสั่งปลดพระแบบไม่มีเหตุผลอาจจะเกิดขึ้นกับวัดใดอีกก็ได้ ขณะที่การดำเนินคดีกับพระในลักษณะรวบรัดจัดการ แค่ตั้งข้อกล่าวหาก็สามารถจับพระติดคุกได้ อาจเป็นการเปิดช่องให้มีคนอาศัยข้ออ้างทางกฎหมายเข้ามาข่มขู่เพื่อรีดเงินจากพระ

“เขาแค่บอกว่าพระทำอย่างนั้นอย่างนี้ผิดขั้นตอนนะ มีความผิดทางกฎหมาย เห็นไหมขนาดพระผู้ใหญ่ยังโดนจับติดคุกเลย ถ้าท่านอยากให้ช่วย ท่านสนับสนุนงบในการทำโครงการนั่นนี่ให้ผมหน่อย พระท่านกลัวติดคุกก็ต้องให้ ” นายกรณ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น